“อาหารอายุสั้น ทำให้เราอายุยืนยาว”

นี่คือสิ่งแรกที่ ป้าตุ๋ย พรพรรณไม้ หรือ พรพรรณ แววสิงห์งาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผัก บอกกับทุกคนที่มาเวิร์กชอปเพาะเห็ดในGreenery Workshop

ตัวป้าตุ๋ยเองเป็นคนที่กินอาหารเพื่อสุขภาพอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน และมีความเชื่อว่าสุขภาพของเราจะดีได้ ถ้าเราเลือกกิน ‘อาหารอายุสั้น’ ซึ่งก็คืออาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี หรือผ่านน้อยที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ป้าตุ๋ยไม่กินเนื้อสัตว์ แต่หันมากินโปรตีนจากผัก ผลไม้ และธัญพืชที่เน้นความสด สะอาด และปลอดสารเคมีแทน

และนั่นคือเหตุผลให้ป้าตุ๋ยเริ่มหันมาเพาะเห็ดกินเองในบ้าน และเผยแพร่องค์ความรู้นี้ให้คนเมืองที่สนใจ ส่วนเรา ในฐานะคนที่ไม่เคยเพาะอะไรแล้วงอกงามมากไปกว่ากระบองเพชรต้นจิ๋ว เลยมาลงเรียนและถามป้าตุ๋ยเพื่อความแน่ใจว่าการปลูกเห็ดที่เขาว่าง่ายน่ะง่ายจริงไหม และถ้าจะปลูกเห็ดให้รอด ต้องประกอบด้วยปัจจัยอะไรบ้าง

ทำไมเราถึงควรปลูกเห็ดกินเอง

เห็ดเป็นอาหารให้โปรตีนที่ปลูกง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับพืชที่ให้โปรตีนทั้งหลาย แต่ไม่ใช่แค่เพราะปลูกง่าย สิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คืออันตรายจากการซื้อเห็ดขาวๆ ดอกโตๆ ตามท้องตลาด ซึ่งอาจจะใส่ยิปซั่มหรือยาฆ่าแมลงและเชื้อราลงไประหว่างการปลูก เพื่อให้เห็ดงามเตะตาเป็นพิเศษ

“เห็ดที่เราปลูกเองอาจจะไม่สวยมาก แต่ปลอดภัยนะ” ป้าตุ๋ยพูดยิ้มๆ ก่อนจะอธิบายต่อว่าการเพาะเห็ดในบ้านไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

ต้องมีอะไรบ้าง เห็ดถึงจะรอด

การเพาะเห็ดเพื่อบริโภคในครัวเรือน เราไม่จำเป็นต้องมีโรงเรือน เพียงแค่เรามี ‘ก้อนเพาะเห็ดแบบสำเร็จรูปขนาดเท่าสองฝ่ามือ ช้อนหนึ่งคัน และน้ำสะอาด’ ซึ่งสิ่งสำคัญมากๆ ที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการเพาะเห็ดก็คือ ‘ความชื้น’

พันธุ์เห็ดที่เหมาะกับอากาศบ้านเรา ประกอบไปด้วยเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรมดำ เห็ดนางรมฮังการี ซึ่งต้องการอุณหภูมิราว 26-30 องศาเซลเซียสและความชื้นประมาณบ้านเราพอดี

ป้าตุ๋ยบอกว่า เราไม่ควรปลูกเห็ดกลางแดด แต่ควรปลูกในที่ร่มและชื้น ใครพื้นที่น้อยอาจจะอาศัยความชื้นในห้องน้ำหรือห้องครัวเลยก็ยังได้ โดยเราอาจจะสร้างเป็นบ้านเล็กๆ ให้กับเห็ด ด้วยการจับก้อนเพาะเห็ดมาวางเรียงกันในตะกร้าโปร่งๆ ซ้อนขึ้นไปเป็นยอดแหลม เพื่อให้เวลาเรารดน้ำ ความชื้นจะได้ไหลลงไปทุกก้อนแบบทั่วถึงกัน

เมื่อเตรียมบ้านพร้อมแล้ว ก็ลงมือเปิดดอกเห็ดกันเลย

ขั้นตอนการเพาะเห็ด

1. ดูที่รอบๆ ก้อนเพาะเห็ดก่อนว่ามีสีขาวทั่วถึงแล้วหรือยัง ถ้ายังก็ปิดฝาทิ้งไว้อย่างเดิม รอให้เชื้อเต็มจนเป็นสีขาวทั่วก้อนก่อน แต่ถ้าทั่วถึงแล้วแปลว่าเชื้อเต็ม พร้อมที่จะเพาะได้

2. เปิดฝา ดึงจุกสำลีด้านในออกมาจนเห็นเม็ดข้าวฟ่างด้านในที่ใส่เอาไว้กันเชื้อราอื่นๆ เข้า ให้เราค่อยๆ เอาปลายด้ามช้อนเขี่ยหรือสะกิดเอาเม็ดข้างฟ่างที่อุดอยู่ตรงฝานั้น ออกมาให้หมด

3. เอาช้อนสะกิดให้ผิวข้างในเรียบเสมอกัน

4. ฉีดน้ำสะอาดเข้าไปด้วยขวดหัวฉีดแบบสเปรย์ ห่างจากปากขวดประมาณ 10 เซนติเมตร พ่นประมาณ 10 ครั้ง เพื่อให้ก้อนเชื้อมีความชื้น แต่ไม่แฉะ (ห้ามให้มีน้ำขังอยู่ในก้อนเด็ดขาด)

5. นำก้อนเชื้อไปเรียงกันไว้เป็นรูปตัว A ในตะกร้า (เวลารดน้ำนำ้จะไหลจากบนลงล่าง ไม่ขัง) จากนั้นรดน้ำก้อนเห็ดให้เปียก แล้วเอาผ้าขนหนูชุบน้ำมาคลุมไว้เพื่อรักษาความชื้น

6. คอยรดน้ำเช้าเย็นทุกวัน ดูแลให้ก้อนเห็ดชื้นอยู่เสมอ แต่ไม่แฉะ

7. รอดูเห็ดงอก อีก 7 วันถัดมา…

สิ่งที่เราต้องทำ เมื่อเห็ดเกิด

7 วันผ่านไป ถ้ามีอะไรงอกออกมา ยินดีด้วยค่ะ แต่ถึงเห็ดจะงอกออกมา การดูแลก็ยังไม่จบ สิ่งสำคัญเมื่อมันงอกเป็นดอกจิ๋วแล้วเราต้องไม่เอานิ้วไปจิ้มเล่น (หลายคนพลาดที่ขั้นตอนนี้) เพราะอาจจะทำให้เห็ดฝ่อระหว่างทางได้

เมื่อเห็ดเริ่มโต ก็อย่าปล่อยให้โตมากเช่นกัน เพราะมันจะแก่ไม่น่ากิน พอคิดว่าโตพอประมาณก็ให้เอามือของเราโยกดอกเห็ดไปมาเบาๆ แล้วดึงออกมา จากนั้นก็เอาไปประกอบอาหารได้เลย

ป้าตุ๋ยทิ้งท้ายว่าก้อนเห็ดที่เด็ดแล้ว ถ้าดูแลดีๆ ไม่ให้เชื้อโรคเข้า จะมีอายุประมาณ 3 เดือน ใช้เพาะเห็ดรุ่นต่อๆ ไปได้สูงสุดถึง 12 รุ่นจนกว่าเชื้อจะหมดไป ซึ่งสังเกตุได้ง่ายจากสีของก้อนเห็ดที่เปลี่ยนจากขาวเป็นน้ำตาล

ขอให้สนุกกับการเพาะเห็ด : )

หมายเหตุ: ก้อนเชื้อเห็ดแบบปลูกง่าย หาซื้อได้ตามตลาดนัดสีเขียวทั่วไป หรือจะออกมาเดินเลือกซื้อและพูดคุยปัญหาประสาคนเพาะเห็ดกับป้าตุ๋ยได้ที่ Greenery Market

ข้อมูล Greenery Workshop 15 เพาะเห็ดกินเอง อร่อยปลอดภัย โดยป้าตุ๋ย พร พรรณไม้ วันที่ 26 พฤษภาคม 2561 ณ บริเวณเวทีกลาง Plaza B @ ตลาดบอง มาร์เช่

ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก

ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ