“เราต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ไม่ใช่ร้องขอแต่ความช่วยเหลือ อย่างโควิดมา ทุกคนร้องขอเงินช่วยจากรัฐบาล แต่ตัวเองไม่คิดจะช่วยตัวเอง เขาช่วยได้ไม่หมดหรอก มันอยู่ที่เราด้วยว่าจะช่วยตัวเองยังไงให้เราอยู่ได้”

กนกพร ดิษฐกระจันทร์ หรือ ‘โอเล่’ เกษตรกรผู้ชัดเจนในทางเดินของชีวิตตัวเอง เล่าให้เราฟังขณะเดินอยู่บนคันนาที่เพิ่งผ่านภาวะน้ำท่วมอันยาวนานมาได้ไม่นาน น่าแปลกใจที่แม้ที่ที่เราอยู่จะห่างไกลจากบ้านของเธอในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แค่เพียงราว 150 กิโลเมตร แต่เรื่องราวของน้ำท่วมขังที่กินเวลานานกว่าสองเดือน ที่บ้านตาลลูกอ่อนแห่งนี้ กลับดูไกลเกินจะรับรู้

“ที่นี่น้ำท่วมทุกปี แต่ปีนี้ท่วมเยอะ ข้าวกำลังออกรวง ไม่ได้เกี่ยวเลย ธรรมชาติมันเปลี่ยน ฤดูกาลมันเปลี่ยน ฉะนั้นการปรับตัวเข้ากับฤดูกาลก็ยากขึ้น”

“ณ ปัจจุบันเป็นวงจรที่เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าธรรมชาติจะมาอย่างไรกับเรา แต่อย่าไปยอมแพ้มัน ธรรมชาติทำให้ตาย เราก็สร้างใหม่”

กนกพรเล่าอย่างไม่ทุกร้อน เพราะเข้าใจดีถึงธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุม มีก็แต่ใจเราเท่านั้นเองที่ต้องคุมให้ได้

นกกินปลากระพือปีกบินหนีให้พรึ่บเมื่อเราเดินเข้าใกล้ ศัตรูพืชถูกจัดการด้วยห่วงโซ่ของธรรมชาติ เราจึงเห็นที่นาแปลงนี้มีสัตว์น้ำอยู่ในแปลงนา และมีพืชผักอยู่บนดิน พร้อมแปรเป็นอาหารที่กินได้อย่างวางใจ

บนคันนาที่หญ้าคลุมเหนือดิน ก่อนหน้าน้ำท่วมนั้นเต็มแน่นไปด้วยพืชผักผลไม้ที่เธอปลูกไว้เพื่อกินและขาย เป็นพืชผักอินทรีย์ที่หากใครได้ไปเดินตลาดสีเขียว คงคุ้นเคยกับผลผลิตของเธอกันอยู่ คันนานี้คั่นอยู่ระหว่างนาข้าวสองแปลง ฝั่งหนึ่งกำลังอวดกอสีเขียวคือข้าวหอมปทุมที่ปลูกแบบอินทรีย์ ที่เห็นว่าทางเดินไม่รกนั้นก็ด้วยการจัดการวัชพืชที่ใช้เพียงเกลือและน้ำส้มสายชูฉีดพ่น ไม่ได้หวังให้ตายถึงรากถึงโคน แค่เพียงจัดการให้คนเดินได้สะดวก

อีกฝั่งหนึ่งที่ต้นข้าวเพิ่งจะแทงยอดพ้นน้ำไม่นาน คือแปลงข้าวหอมมะลิดำ หนึ่งในข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่เธอปลูกเพื่อเก็บรักษาสายพันธุ์ ที่ตอนนี้หากนับนิ้วดูก็มากกว่า 10 สายพันธุ์แล้วที่ผ่านการประคบประหงมจากเธอมา

“ที่เห็นน้ำเยอะนี่ไม่ใช่น้ำท่วมนะ” เธออธิบายเมื่อเห็นเราทำหน้าสงสัยว่าทำไมน้ำในแปลงนาจึงเยอะนัก “แต่เราใช้น้ำคุมวัชพืช แล้วปล่อยให้น้ำแห้งเองตามธรรมชาติ ส่วนหอยเราปราบด้วยปลายข้าว เพราะหอยเป็นสัตว์เลือดเย็น พอกินแป้งเข้าไปจะย่อยไม่ได้ อืดในท้องแล้วตายไป”

“ในดินเราก็มีจุลินทรีย์ เพราะเราทำน้ำหมักเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ในการย่อยฟางเพื่อให้เป็นปุ๋ย”

อีกไม่นานนัก ข้าวหอมมะลิดำแปลงนี้ จะเติบโตและออกรวงให้เธอเก็บเกี่ยว ก่อนจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์อื่นมาแทนที่หมุนเวียนกัน เป็นภารกิจที่เธอกำลังเดินหน้าอยู่ต่อเนื่อง และเป็นเหตุผลสำคัญที่เราได้มานั่งสนทนากับเธอในวันนี้

วิถีชาวนาก่อนการเข้ามาของการปฏิวัติเขียว

“เราทำนามาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่อนุบาลก็ไปอยู่ตามท้องไร่ท้องนา ตามเขาไป โดนตีประจำ เพราะว่าพ่อกับแม่ต้องไปหาบข้าว สมัยก่อน บ้านพ่อกับแม่ไม่ได้เป็นแบบนี้นะ เป็นบ้านไม้ ตรงที่เรานั่งอยู่เป็นลานกว้าง มีไว้สำหรับลอมข้าว สมัยก่อนเขาเรียกว่าลอมข้าว เป็นลานข้าวที่จะไปหาบข้าวมาก็เอาไว้นวดๆ แล้วลานจะเป็นดิน ใช้ขี้วัวขี้ควายยาพื้น” กนกพรวาดภาพให้เราเห็นในจินตนาการ เธอบอกว่าตัวเองก็ช่วยพ่อแม่ทำนาตั้งแต่เด็ก

“เราดำนาเกี่ยวข้าวเป็นตั้งแต่เด็ก สมัยนั้นไม่มีเคมี ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวลอย ต้นสูงประมาณสามเมตรห้าสิบถึงสี่เมตร หนีน้ำได้น้ำมาก็ยืดต้นตามระดับน้ำ ถ้านาล่ม ข้าวลอยจะไม่ล่ม พอน้ำท่วมก็ออกรวงพอดี พอน้ำไป ต้นข้าวจะล้มโน้มลงไป แต่ตรงคอรวงจะมีข้อและกระดกคอรวงตั้งขึ้นมา เวลาเกี่ยวก็จะเกี่ยวได้”

อีกครั้งที่คำว่า ‘ข้าวลอย’ คือบทเรียนใหม่ที่ได้ฟังจากวันนี้ เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ข้าวที่มีคุณสมบัติพิเศษ ปรับตัวตามสภาพและฤดูกาลได้ขนาดนี้ ทำไมจึงดูเหมือนว่าสูญหายไป

“เอาง่ายๆ จำเพลงผู้ใหญ่ลีได้ไหม พ.ศ.อะไร” กนกพรถามกลับ แน่ละเพลงนี้เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก “ปี 2504 มีปฏิวัติเขียวเข้ามา ที่อื่นเริ่มเปลี่ยนแล้ว แต่ตอนนั้นชาวนาที่นี่ยังไม่เปลี่ยน ยังทำนาปี ปลูกข้าว ข้าวหอมจันทร์ ปิ่นแก้ว ข้าวรากแห้ง ข้าวเหลืองอ่อน เหลืองปะทิว พวกนี้เป็นข้าวลอย เพราะที่นี่น้ำหลาก มาเปลี่ยนเอาจริงๆ น่าจะปี 2529-2530 ชาวบ้านเริ่มปลูกนาปรัง เปลี่ยนพันธุ์ข้าว เนื่องจากว่ากรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าวเข้ามาให้ความรู้กับชาวบ้าน เปลี่ยนจากข้าวที่ปลูกไว้กิน เก็บข้าวไว้ทำพันธุ์เอง สมัยก่อนไม่ได้ซื้อพันธุ์ข้าวนะ เขาจะมียุ้งอยู่หลังบ้าน เก็บพันธุ์ข้าวไว้เอง และชาวนาจะเป็นคนกำหนดราคาขายเอง เวลาที่เขามาซื้อข้าวก็มีกระบุงปากบานๆ เป็นถังก็มี มีติ้วเป็นไม้เล็กๆ เสียบไว้นับ และจะขายก็ต่อเมื่อข้าวออกรวงหรือตั้งท้อง ถึงได้มีคำบอกว่า-ไม่เห็นหน้าน้อง จะไม่ยอมขายข้าว”

ความเจ้าบทเจ้ากลอนของคนสุพรรณฯ มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ กนกพรบอกว่า คำว่า ‘รอน้อง’ นั้น ไม่ได้หมายถึงรอผู้หญิงอย่างที่คนทั่วไปคาดเดา แต่คือการรอข้าวใหม่ หากไม่เห็นข้าวใหม่จะไม่ยอมขายข้าวในยุ้ง และขายในราคาที่ชาวบ้านพอใจขาย

“สมัยก่อนชาวนามีตังค์ขายข้าวส่งลูกหลานเรียนได้ ไม่เหมือนตอนนี้ที่เราต้องไปถามโรงสีว่าจะให้ราคาเท่าไร”

วิถีชาวนาที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากที่ไม่ใช้เคมี ก็เริ่มใช้ จากใช้แค่ตัวสองตัว ก็เริ่มเยอะขึ้นตามตัวเลือกที่มีในร้านเคมีเกษตร และเริ่มเป็นหนี้

“บ้านเราไม่ได้เป็นหนี้จากการทำนาก็จริง เพราะเรายังมีนาที่เมืองกาญจน์ที่ปลูกข้าวไว้กินเอง ตั้งแต่เล็กจนโตบ้านเราไม่เคยซื้อข้าวกิน แต่สังคมเพื่อนบ้านเราเป็นแบบนี้ ตอนนั้นบ้านเราก็ทำแบบเคมีตามสมัยที่เขาเปลี่ยนกัน สมัยก่อนมีแค่ยากะโหลกไขว้กับหมาแดง ฉีดฆ่าวัชพืชแต่ตอนนี้มีเต็มไปหมด ทั้งไกลโฟเซต กรัมม็อกโซน ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ยาคุมวัชพืช ยาฆ่าวัชพืช

“เราก็สังเกตว่าชาวบ้านสมัยก่อนไม่เห็นจะเป็นโรคอะไรกันเลยจนแก่ แต่พอมารุ่นหลังเปลี่ยนวิถีกันขึ้นมา คนเริ่มเป็นเบาหวาน เริ่มเป็นไขมัน เริ่มเป็นความดัน เริ่มเป็นโรคไตตั้งแต่เด็ก มีความบกพร่องทางสมองตั้งแต่เด็ก อันนี้เกิดจากที่ทุกคนกินอาหารเข้าไปและมีสารเคมีตกค้าง” สิ่งเหล่านี้เป็นข้อสันนิษฐานของเธอในตอนนั้น และเมื่อถึงวันหนึ่งเธอตัดสินใจกลับมาเป็นชาวนา เธอจึงตั้งใจที่จะเปลี่ยนวิถีจากเคมีมาสู่การปลอดเคมี ซึ่งไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการดึงเอาวิถีชาวนาแบบเดิมกลับมา โดยผนวกเข้ากับองค์ความรู้ใหม่ และเป็นชาวนาคนแรกในแถบนี้ ที่ยืนอยู่ฝั่งการทำนาข้าวแบบอินทรีย์เต็มตัว

เมื่อวิถีใหม่ไม่ใช่หนทาง การกลับสู่วิถีเดิมจึงเป็นทางออกครั้งใหม่

ต้องบอกก่อนว่า กนกพรไม่ได้ยึดอาชีพทำนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ดำนาเกี่ยวข้าวเป็น เพราะช่วงหนึ่งเธอห่างหายจากท้องนาไปทำงานอยู่ฝ่ายผลิตของโรงงานผลิตเครื่องมือแพทย์เป็นเวลา 9 ปี แต่เมื่อถึงหน้านาก็จะกลับมาช่วยพ่อแม่ทำนาในวันหยุด จนถึงวันหนึ่ง ชีวิตเธอก็พลิกกลับมาสู่สุพรรณฯ บ้านเกิด ในปี 2548 และเริ่มเรียนรู้การทำข้าวอินทรีย์กับมูลนิธิข้าวขวัญ

“ปีนั้นพ่อเราเสีย ก็กลับมาเดือนกุมภาฯ ต้นปีเลย หักดิบตัวเองแล้วทำนารอบใหม่ ไปอบรมเรื่องการทำข้าวอินทรีย์สี่คืนห้าวัน มีคนมาชวน เราก็อยากรู้ว่าเป็นยังไง อีกอย่างตอนนั้นพ่อเราทำกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรของที่นี่อยู่ เรากลับมาก็มาทำเรื่องนี้ต่อจากพ่อ”

การได้เห็นต้นทุนการทำนา ที่ชาวนาต้องหมดไปทั้งค่าหว่าน ค่าไถ ค่าพันธุ์ข้าว ค่ายา ฯลฯ และทำนาโดยไม่ได้คิดค่าแรงตนเอง สุดท้ายแล้วหักลบกันเท่ากับว่าขายข้าวได้กำไรมา 1,200 บาท นั้นไม่ใช่แล้ว เธอจึงคิดว่า ทำอย่างไรชาวนาถึงจะใช้ต้นทุนที่ถูกลงได้

“คิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ต้นทุนมันถูกลง เพื่อให้เราได้กำไรมากขึ้น เพราะว่าอย่างน้อยเราไม่ต้องซื้อยาถ้าเราทำเกษตรอินทรีย์”

การได้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์เดชา ศิริภัทร แห่งมูลนิธิข้าวขวัญ คือการเปิดทัศนคติใหม่ให้กับกนกพร

“มันไม่ใช่วิถีใหม่เลย เราแค่ย้อนกลับไปหาวิถีเดิม จากที่เราเห็นตอนเด็ก คือภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายเราทั้งนั้นแหละที่เราเอากลับมาทำ ต่างกันก็แค่วิธีการที่เราจะทำยังไงให้มันทันสมัยขึ้นเท่านั้นเอง และอาจารย์เดชาบอกกับเราว่า ไม่ต้องเชื่อ ให้กลับไปทำ แต่ใจเราเชื่อนะ เพราะว่าเราผ่านวิถีนั้นมา วิถีที่พ่อมานั่งเลือกรวงข้าวดึกดื่นมาแขวนเป็นราวไว้ทำพันธุ์ข้าว พอมาถึงเรา แทนที่เราจะมาเลือกเป็นรวง เลือกจากเมล็ดข้าว ปลูกจากข้าวกล้องได้ อย่างที่เราเรียนจากอาจารย์ พอเราเอาไปดำเสร็จปุ๊บ เราได้ทั้งหมด เสร็จแล้วเราเอามานวดปนกันแล้วเอามาทำพันธุ์ได้ นั่นคือเลือกตั้งแต่ต้นเลย ไม่ได้เลือกที่ปลาย และเราก็สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ของเราต่อเองได้ อันนี้คือสิ่งที่บางทีเรามองข้าม พอเราได้กลับไปสะกิดอะไรบางอย่าง เราก็เปลี่ยนได้เอง”

ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงไหนที่ไม่มีคนเห็นตรงกันข้าม เช่นเดียวกับกนกพรที่คนไม่เห็นด้วยนั้นมาจากแม่ของเธอเอง แต่เธอก็ยังดึงดันและลงมือทำมาเองคนเดียวจนเห็นผล

“ทะเลาะกับแม่ทุกวัน แม่บอกว่าไม่ได้กินหรอก (หัวเราะ) แต่เราก็จะมีแปลงทดลองของเรา เป็นแปลงทำพันธุ์ ปลูกข้าว 15-16 สายพันธุ์ บางทีก็ 20 สายพันธุ์ แล้วแต่รอบ แล้วเราดำแบบข้าวต้นเดียวด้วยไง การทำพันธุ์เราต้องคัดจากข้าวกล้อง แล้วไปดำกล้าต้นเดียว ดูว่าข้าวพันธุ์นี้สามารถปรับตัวกับพื้นที่บ้านเราได้รึเปล่า อันไหนที่ปรับตัวดี แตกกอดี แสดงว่าอันนั้นสามารถอยู่ในแปลงได้ อย่างข้าวหอมปทุม เราเคยดำด้วยระยะห่าง 50-60 เซนฯ ต่อต้น ได้ออกมาประมาณเกือบร้อยรวง หรือมีดำต้นเดียวแตกกอออกมาได้ 160 ต้น ได้ 160 รวง แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ข้าวที่แตกกอเยอะจะแก่ไม่เท่ากัน ฉะนั้นดีที่สุดควรห่างกัน 25 เซนฯ เพราะจะแตกกอประมาณ 30 กว่าต้น การเรียนรู้พวกนี้จะสอนเราเอง”

กนกพรช่วยงานอยู่ในมูลนิธิข้าวขวัญนานหลายปี เธอได้บ่มเพาะตัวเองในการเป็นเกษตกรอินทรีย์ และวิทยากรให้กับมูลนิธิฯ ขณะเดียวกันก็นำความรู้นี้มาส่งต่อในชุมชน ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์อู่ทอง สร้างกลุ่มก้อนเครือข่ายที่แข็งแรง และเธอยังได้รับโอกาสไปศึกษาดูงานในประเทศญี่ปุ่น โดยครั้งแรกนั้นไปกับสถานทูตญี่ปุ่น และอีกครั้งไปกับบริษัทเอกชนอย่างกระทิงแดง ซึ่งได้เปิดโลกเรื่องข้าวให้เธอมาต่อยอดในเวลาต่อมา

“ตอนไปกับสถานทูตเราได้ไปดูบริบทของสหกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่าเขาทำกันอย่างไร อย่างแรกเลยคือชาวบ้านได้งบจากรัฐมาเหมือนการกู้ยืมแต่ไม่มีดอกเบี้ย ต้องทยอยคืนให้หมดภายใน 20 ปี ชาวบ้านจะขายผลิตให้ใครก็ได้ รัฐไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และชาวบ้านกำหนดราคาเอง กับอีกกลุ่มคือรัฐสนับสนุนวัสดุในการแปรรูป โดยไม่ต้องคืนรัฐ แล้วเอาผลผลิตนั้นมาขายให้รัฐ รัฐจะเป็นคนเอาผลผลิตนั้นไปขายต่อเอง เราได้เห็นว่าที่นั่นเขาเอาข้าวมาทำแป้ง และมาทำแยมโรลโดยไม่ใช้แป้งสาลีเลย ซึ่งอร่อยมาก เราก็นั่งมองว่าเรามีข้าวสารพัด มีทั้งข้าวที่เหนียว ข้าวที่แข็ง ข้าวที่นุ่ม มากมายไปหมด ทำไมเราจะทำไม่ได้”

นั่นเป็นจุดกำเนิดของการทำแป้งข้าวจากข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ที่กนกพรเริ่มต้นด้วยเครื่องบดธรรมดา แล้วใช้แป้งข้าวมาทำขนมสาลี่ ขนมเอกลักษณ์ของเมืองสุพรรณฯ และเริ่มทำเรื่องแป้งข้าวอย่างจริงจังช่วงปี 2556 โดยจับมือกับเกษตรกร ทดลองใช้แป้งข้าวทำขนมปัง โดยไม่ต้องใช้แป้งสาลีได้เลย

“ไปครั้งที่สอง เราได้ไปดูในบริบทของผู้บริโภค คือผู้บริโภคจะลงไปช่วยเกษตรกรปลูกด้วย ทำด้วย และซื้อด้วย มีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่ง ที่ทำให้เราได้คิดมาก คือเขาขึ้นป้ายหน้าร้านเลยว่า ในหน้านี้คุณต้องกินอะไร ฉันมีผักอยู่แค่นี้ แต่ฉันมีเมนูจากผักนี้เป็นสิบๆ เมนูเลย หรือหน้านี้ฉันมีคะน้านะ แต่อีกหน้าหนึ่งไม่มี ดังนั้นคุณไม่ต้องถามหาผักคะน้า คือผู้ผลิตเป็นผู้กำหนด

“เรามองว่านี่เป็นสิ่งประเทศไทยต้องมี และคนไทยก็ต้องยอมรับให้ได้ ต้องกินผักพื้นบ้านให้เป็น”

“คุณไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่ทำอย่างไรให้คนในเมืองรู้วิธีที่จะกินผักพื้นบ้านที่ฉันมี รู้ว่าก้านตรงกินได้ทั้งปี ผัดได้ ต้มได้ อร่อยเหมือนผักเหลียงเลย และลดการอักเสบได้ด้วย วอเตอร์เครสไม่จำเป็นต้องมากินกับผักสลัดอย่างเดียว ใส่ไข่เจียวก็ได้ ใส่ต้มจืดก็ได้ ใส่ยำ กินดิบก็ได้ สอนวิธีกินที่หลากหลายในผักที่เรามีอยู่แล้ว

“และเราก็เอามาใช้กับแปลงของเรา โดยให้มีความหลากหลาย และอีกอย่างหนึ่งความหลากหลายมันช่วยแก้ความเสียหายในเรื่องของแมลง เพราะบางอย่างแมลงชอบ บางอย่างแมลงไม่ชอบ ในความหลากหลายมันต้องมีสิ่งที่เราขายได้”

ภารกิจเก็บเมล็ดพันธุ์ เมื่องานอนุรักษ์ไม่ควรวางอยู่บนหิ้ง

จากกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง ที่กนกพรรับไม้ต่อจากพ่อ ตอนนี้มีสมาชิกอยู่กว่าร้อยครอบครัวที่มีทั้งเกษตรกรอินทรีย์และไม่อินทรีย์ นอกจากดูแลกันเรื่องหนี้สิน กนกพรยังใช้วิธีการของเกษตรอินทรีย์มาแนะนำเกษตรเพื่อช่วยลดต้นทุน ในจำนวนนั้นมีเกษตรกรราว 40 กว่าครอบครัวที่ผันตัวมาทำเกษตรอินทรีย์จริงจัง และตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อู่ทอง ที่ทำเรื่องการปลูกผักอินทรีย์และแปรรูปด้วย

หนึ่งในนั้นคือผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ที่ติดโลโก้ชาวนากำลังทำพิธีบูชาแม่โพสพ โดยมีตาเหลวเป็นเครื่องประกอบพิธี พร้อมสโลแกน ‘ข้าวคืนนา ภูมิปัญญาคืนถิ่น’ ที่ถ่ายทอดความคิดของกนกพรได้เป็นอย่างดี เพราะการทำนาของเธอนั้น คือการอนุรักษ์วิถีชาวนาดั้งเดิม ทั้งการเคารพบรรพบุรุษ การรักษาพิธีกรรม อย่างพิธีแรกไถ การทำขวัญข้าว แพ้ท้องข้าว กำรำเคียว ตลอดไปจนถึงการรักษาพันธุกรรมข้าว ที่กำลังเพิ่มสายพันธุ์ขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่า ข้าวลอยที่เราพูดถึงกันตอนต้น ก็กำลังอยู่ระหว่างเตรียมเพาะพันธุ์ต่อในฤดูกาลข้างหน้า

“พันธุ์ข้าวสมัยก่อนมีหลากหลายมาก การหุงข้าวแต่ละอย่างก็ต่างกัน มีข้อดีแต่ละอย่างต่างกัน”

“อย่างหอมปทุมมีโฟเลตสูง เหมาะสำหรับบำรุงสมองทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แล้วสารอาหารมันอยู่ที่ผิวของข้าว ถ้าเรากินแต่ข้าวขาวๆ ที่ขัดพวกนี้ออก มันไม่เหลืออะไรแล้ว

“จากที่ปลูกอย่างเดียวเราเริ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าว เริ่มปลูกข้าวที่ละหลายสายพันธุ์ปนกัน ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 12-13 สายพันธุ์อย่างหอมมะลิ 105 มีหอมมะลิแดง หอมมะลิต้นเขียว ข้าวเหนียวดำ ข้าวก่ำกาดำ ทับทิมชุมแพ เป็นข้าวพันธุ์ใหม่ มีหอมปทุมที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เป็นหอมปทุมที่อาจารย์เดชานำไปถวายกรมสมเด็จพระเทพฯ เราเรียกกันเองว่าข้าวพันธุ์หอมปทุมเทพ เป็นสายพันธุ์ที่ท่านทรงคัดและสามารถปลูกในระบบอินทรีย์ได้เลย มีข้าวหอมนางมล ข้าวขาวตาเคลือบ ที่เราเอามาทำเส้นขนมจีน ที่เราปลูกอยู่”

ความหมายของคำว่า ‘อนุรักษ์’ ในทางปฏิบัติของกนกพร ไม่ได้เป็นการอนุรักษ์แล้วเก็บเอาไว้เพื่อการเรียนรู้ แต่เป็นการนำไปเผยแพร่ต่อ เพื่อให้เกิดการปลูกที่แพร่หลายของข้าวสายพันธุ์พื้นบ้าน และเข้าถึงคนกินได้ง่ายขึ้น

“เมล็ดพันธุ์นี่ใครขอเราก็ให้ด้วยส่วนหนึ่ง แต่ก็มีคนมาขอซื้อด้วยส่วนหนึ่ง และเราอยากให้คนได้กินข้าวหลากหลายขึ้น ทำให้คนรู้ว่าข้าวไม่ได้มีแค่หอมมะลิ ข้าวไม่ได้มีแค่ขาวตาแห้งที่คุณกินอยู่ในกระสอบ แต่มันมีสายพันธุ์อื่นอีกหลากหลายมากมายที่ควรรู้ว่าคุณได้กิน มันมีวิตามินที่แตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ เราโชคดีที่พอเราทำงานนี้ก็มีอาจารย์มาสนับสนุนเราอย่างนี้ อย่าง ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กับอาจารย์ยุ้ย (ศศิธร ง้วนพันธุ์) ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ก็มาเอาข้าวเรา ไปตรวจคุณค่าทางโภชนาการให้ ทำให้เรารู้ว่าข้าวเราที่ปลูกก็มีข้อเปรียบเทียบอีก ว่าข้าวที่ปลูกที่อื่นก็จะไม่เหมือนปลูกที่บ้านเรา ขึ้นกับธาตุอาหารของดิน และระบบนิเวศอีก ทำให้เรามีความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น

“เราอาจจะไม่ได้มีข้าวเป็นร้อยสายพันธุ์ แต่สิบกว่าสายพันธุ์ที่เรามีนี่ก็ทำให้เรารู้จักวิธีการกินให้มากขึ้น รู้จักกินให้หลากหลายขึ้น กินให้ตรงกับบุคคลที่เป็นโรคด้วย”

“อย่างหอมมะลิแดงเหมาะสำหรับคนที่เป็นเบาหวานนะ ข้าวหอมปทุมเหมาะสำหรับกลุ่มเด็ก หรือว่ากลุ่มที่นอนไม่หลับ พอเราทำข้าวหอมปทุมระยะน้ำนมมันก็ต่างอีก คือทำแบบนี้ได้ผลผลิตน้อย แต่ได้คุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะเป็นข้าวในระยะที่ยังไม่แก่จัด แต่พอปลายรวงแก่ปุ๊บ ตรงปลายรวงคือคาร์โบไฮเดรตที่เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล กลายเป็นว่าในข้าวหนึ่งรวง มันได้คุณค่าทางโภชนาการที่ต่างกัน และเราสามารถกินวิตามินในแต่ละช่วงอายุของข้าวก่อนที่จะกลายเป็นคาร์โบไฮเดรตเต็มตัวได้”

ดูเหมือนว่า ที่สุดแล้ว การที่เรามีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ให้ได้บริโภคนั้น ปลายทางแล้วความสำคัญคือเรื่องสุขภาพ ที่ความพิเศษของข้าวแต่ละสายพันธุ์นั้นมีให้เรา

“เรามองเรื่องอนุรักษ์ก่อน พออนุรักษ์แล้วเรามองว่าจะทำอย่างให้คนได้กินด้วย ให้คนได้เห็นประโยชน์ของความหลากหลายนี้ด้วย”

“ถ้าเรามองข้าวเป็นอาหาร ไม่ได้มองข้าวเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เราจะมองเห็นความหลากหลายของโภชนาการ อย่างที่เขาบอกว่ากินข้าวเป็นยา กินอาหารเป็นยา อันนี้เรื่องจริง สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้จึงไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่มันเป็นองค์รวมใหม่ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องตระหนักถึงเรื่องการกินมากขึ้น เราก็เลยอยากฟื้นข้าวพันธุ์พื้นบ้านสมัยก่อนกลับมาเพื่อให้ทุกคนได้กิน ได้รู้รสชาติของข้าวที่มันแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ด้วย ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์แล้วเก็บเอาไว้”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร