เวลาที่เราพูดกันถึงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ คนมักจะคิดถึงพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่หลายๆ ไร่ หรือนึกถึงการจัดการพื้นที่แบบโคก หนอง นา ตามโมเดลที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ได้ทำเอาไว้ให้คนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้กันอยู่ แล้วถ้ามีพื้นที่อยู่เล็กๆ หรือเป็นคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด เราจะสร้างความหลากหลายขึ้นมาบ้างเล่าจะทำได้ไหม แล้วพื้นที่นั้นจะเพียงพอสำหรับสร้างอาหารได้หรือเปล่า
เราเชิญอาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร เยือนชานบ้านของ Greenery. และชวนให้เล่าถึงเรื่องราวของการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวเดิม มาเป็นพื้นที่ของเรียนรู้ ที่บรรจุไว้ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่ธรรมชาติพากันสร้างขึ้นเอง จนมีภาพป่าครึ้มที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์และแหล่งอาหารอันอุดม ว่ากว่าจะมีภาพอย่างที่หลายคนที่เคยไปเยือนศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องได้เคยเห็นกับตา ที่นี่ที่มาอย่างไรกัน
ก่อนจะมาเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อาจารย์ยักษ์เล่าว่าที่นี่เคยเป็นป่าดงดิบเก่า แต่ได้ถูกคนเข้ามารื้อถางเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยวจนสภาพป่าหายไปหมด แรกเริ่มเดิมทีนั้นเป็นไร่ข้าวโพด จากไร่ข้าวโพดเปลี่ยนมาเป็นไร่อ้อย แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นไร่มันสำปะหลัง และเมื่ออาจารย์ตั้งใจจะให้ที่ตรงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ จึงเริ่มต้นด้วยการพยายามฟื้นป่ากลับมาก่อน เพื่อให้ป่ามีลักษณะเป็นป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง
อีกความตั้งใจหนึ่งของอาจารย์ยักษ์คือ อยากให้อากาศที่มาบเอื้องร่มเย็น เพราะย่านตะวันออกนี่อากาศร้อนจัดมาก สำคัญที่สุดคือตรงนี้เป็นเขตเงาฝน จึงทำการกำหนดพื้นที่ให้เป็นป่า นา หนอง และคลอง โดยเน้นป่ามากที่สุดเพราะต้องการให้สภาพแวดล้อมกลับมาสมบูรณ์ ให้ดินที่เคยเก็บน้ำไม่ได้เพราะเคยถูกชะหน้าดินออกไปหมดกลับมาเก็บน้ำได้ ระบบน้ำใต้ดินก็จะใช้ป่าเป็นตัวดึงน้ำฝนให้หายลงดินให้หมด แล้วในป่าก็มีคลองเล็กคลองน้อย ฝนตกลงมาน้ำก็ไหลลงคลอง พอป่าสมบูรณ์ ไม้ก็ขึ้นเต็มไปหมด ให้คนได้เก็บกินทั้งยอด เมล็ด ผล
ถ้าได้เดินดูในศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จะเห็นว่าที่นั่นมีพืชที่เป็นแหล่งอาหารอยู่แทบทั้งนั้น และแน่นอนว่าอาหารที่มาจากป่าแท้ คุณค่าทางอาหารที่มีต่อเซลล์ร่างกายย่อมดีกว่าผักซึ่งกินกันอยู่สามชนิดห้าชนิดเท่านั้นเอง คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง แต่ในนี้จะมีผักให้กินเยอะแยะไปหมด เป็นธรรมชาติ อันนี้เป็นเป้าหมายสำคัญซึ่งทางศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อยากจะสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
ซึ่งปีนี้กระแสโลกกำลังเอาจริงเรื่องการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อชีวิตของคนที่จะอยู่รอดในภาวะหลังโควิด หรือในภาวะที่โลกกำลังแปรปรวน
พอมาเห็นว่าเพราะเป็นป่า ต้นไม้จึงเกิด ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเกิด แบบนี้ก็ต้องมีพื้นที่หลายๆ ไร่สิ ถึงจะทำแบบนี้ได้ แล้วคนที่มีพื้นที่จำกัดอย่างคนในเมืองจะทำได้ยังไง อาจารย์ยักษ์ยืนยันเสียงดังฟังชัดเจนเลยว่า ทำได้
อาจารย์วาดภาพให้เราเห็นได้ชัดผ่านคำพูด เช่นสมมติเรามีที่อยู่แค่สองตารางวา สี่ตารางเมตร เราก็ปลูกพืชจำพวกหัวมัน แล้วเราก็จะมีมันอยู่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน เราจะมีไม้ชั้นสูง เช่น มะม่วง ซึ่งมะม่วงที่เพาะด้วยเมล็ดจะเป็นไม้ชั้นสูง แต่มะม่วงที่ตอนกิ่งพันธุ์มาจะเป็นไม้ชั้นกลาง หรือมีไม้ชั้นกลางประเภทอื่นที่ขึ้นอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ มีกล้วยเป็นไม้ชั้นเตี้ยเอื้อมถึง มีพริกเป็นไม้เตี้ยเอื้อมถึง แล้วมีไม้เลื้อยเรี่ยดินที่เลื้อยขึ้นไปตามไม้สูงด้วย ก็จะเห็นแล้วว่าในพื้นที่จำกัดเราสามารถทำไม้ห้าระดับได้ ก็แล้วไม้ห้าระดับนี้จะทำยาก็ได้ จะทำอาหารก็ได้ จะทำขนมก็ได้ เอามาทำเป็นของใช้ได้ พวกแชมพูสระผม สบู่ ยาสีฟัน ทำอะไรได้หมด และเอามาสร้างที่อยู่อาศัยได้ด้วย ดังนั้นประโยชน์สี่อย่างก็จะเกิดจริง สำคัญคือมันให้ออกซิเจน ให้ความร่มเย็นได้ดี
ดังนั้นในพื้นดินเพียงแค่สองตารางวา ถ้าเรามีพืชสักยี่สิบชนิด ก็เท่ากับเรามีที่สี่สิบไร่เลย เพราะมีหลายชั้น มีหลายเรือนยอด ทั้งชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นเตี้ย ลงระบบใต้ดินอีก แล้วเอาพืชเล็กพืชน้อยมาใส่กระถาง ห้อยบ้าง ตั้งบ้าง จัดเป็นชั้นๆ ให้สวยงาม เราจะมีไม้ได้เป็นร้อยชนิดเลยในพื้นที่เพียงเท่านี้
หรือในพื้นที่ขนาดเล็ก เราสามารถทำเป็นสวนแนวตั้งได้ อย่างเคสหนึ่งที่อาจารย์ยักษ์ได้ยกมาเล่า คือเขามีที่ดินอยู่นิดเดียว ระยะทางสักเมตรครึ่งเท่านั้นเอง แต่สามารถจัดสวนเป็นสองฝั่ง แล้วเดินผ่านทางเดินนี้ไปมาก็มีความสุขได้เวลากิ่งไม้มาระตัว บ้านเรามีกฎหมายว่าในการสร้างบ้านต้องมีระยะห่างออกจากรั้วเมตรครึ่งถึงสองเมตรอยู่แล้ว พื้นที่ตรงนั้นแหละเราสามารถจัดเป็นสวนแนวตั้งสวยๆ ได้เลย แล้วปลูกผักอย่างที่ว่ามา แล้วยังมีอีกเยอะแยะ มีประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าของกินล้นเหลือแบ่งกันกินก็ยังได้
ส่วนพวกพืชมีสายอย่างถั่วหรือตำลึงที่ต้นเลื้อยๆ สมมติว่าอยู่บ้าน หรือแม้แต่หอพักหรือคอนโด หาไม้ไผ่หรือไม้ระแนงมาต่อเป็นชั้นๆ ให้เป็นรั้วขึ้นไป เอาพืชเลื้อยพวกนี้มาปลูก พอเลื้อยขึ้นไปกับไม้ก็บังแดดได้ ออกแบบสวยๆ ตกแต่งให้สวย มองเป็นศิลปะก็งามตา ที่สำคัญกินได้ บางอย่างก็ทำยาได้ด้วย แล้วปลูกพริก ลงผักสวนครัว ข่าตะไคร้ ปลูกได้หมด ปลูกสวนครัวแล้วเอาผักปลาบมาเสียบเสียหน่อย ผักปลาบนี่ดีมากสำหรับเด็กนักเรียนนักศึกษาหรือคนที่นอนดึกแล้วมีปัญหาเจ็บตา อาจารย์ยักษ์เล่าว่าตอนเล็กๆ แม่ของอาจารย์เคยเอามาเขี่ยตาให้ ที่เจ็บตาอยู่ก็หายเลย ผักนี้เวลาดึงยอดออกมาจะมีเมือก และเมือกนั้นแหละคือของดี
หรือหากไม่มีที่ดินก็ปลูกลงกระถาง มีดินก็ปลูกลงดิน ผักพื้นบ้านอย่างมะตูมแขก ก้านตรงหรือผักหวานบ้าน ก้านจะอวบมากในหน้าฝน หน้าแล้งจะผอม แต่อร่อยทั้งสองฤดู ต้นดีปลากั้งหรือดีปลาช่อน กินกับลาบอร่อยมาก กินกับน้ำพริกก็อร่อยมาก ตำลึงก็เป็นยาล้างพิษที่ดีที่สุด เหมาะกับคนเมืองที่ชอบกินบะหมี่สำเร็จรูปที่มีโมโนโซเดียมกลูตาเมต เด็ดยอดตำลงลงไปสักห้าใบเจ็ดใบ จะล้างพิษได้ดีมาก ที่สำคัญคืออร่อยด้วย ทั้งหมดนี่ปลูกใส่กระถางได้หมด
ดังนั้นอย่าถอดใจแค่เพราะว่าเรามีพื้นที่ไม่ใหญ่พอ ถ้าจัดการดีๆ แล้ว ไม่ว่ามีพื้นที่อยู่เท่าไร เราก็จัดสรรสร้างพื้นที่อาหารขึ้นมาเองได้เหมือนกันทั้งนั้น
เรื่องโดย: วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ ของเหล่าลูกศิษย์แห่งมหาลัยคอกหมู ผู้ก่อตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และนายกสมาคมดินโลก ผู้สร้างตำราบนดินเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เกษตรกรและผู้คนที่สนใจสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ภาพประกอบ: Paperis