คำว่า ‘เกษตรอินทรีย์’ หรือ ‘ออร์แกนิก’ ในยุคนี้ถือเป็นเรื่องแพร่หลาย เป็นความจำเป็นของคนรักสุขภาพและคนที่สนใจการกินดี อยู่ดี หรือ กินดี กรีนดี (แบบพวกเราชาว Greenery.) ไม่ใช่แค่อาหารทางเลือก แต่เป็นอาหารทางรอด ที่ดีต่อสุขภาพเราและสุขภาพโลกอย่างแท้จริง
แต่ถ้าย้อนไปอย่างน้อย 23 ปีที่แล้ว นี่ไม่ใช่คำที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่คำที่พูดแล้วจะทำได้เลย แต่ต้องผ่านการบ่มเพาะ ให้ความรู้ พัฒนา ต่อยอด จนปักหลัก ลงรากลึกไม่โอนเอน เหมือนมิชชั่นที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เรากำลังพูดถึงเรื่องราวของเลมอนฟาร์ม กิจการที่ถือกำเนิดมาเมื่อ 23 ปีที่แล้ว กับ 16 สาขาในวันนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายชัดเจนว่า จะส่งต่ออาหารที่ดีมีคุณภาพให้ผู้บริโภค และทำให้ชีวิตของเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ โดยไม่ต้องทำการเกษตรแบบเดิมที่ใช้แต่สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตให้งาม แต่ไม่ปลอดภัยทั้งกับชีวิตคนและโลก
สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ ผู้บริหารเลมอนฟาร์ม พูดให้เราฟังอย่างอารมณ์ดีว่าตอนที่เริ่มทำเลมอนฟาร์มนั้น แนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์ยังเป็นเรื่องใหม่ จึงเป็นช่วงที่ต้องตั้งมั่นในความเชื่อและให้ความรู้คนทั่วไปรวมทั้งเกษตรกรไปด้วย ส่วนแนวคิดอื่นๆ เช่น ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง…
สุวรรณายิ้ม ไม่พูดต่อ แต่เราอดคิดต่อไม่ได้ว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนทำหน้าเหรอหราเลิ่กลั่กไม่น้อย
การทำเกษตรอินทรีย์ในความหมายของสุวรรณา ไม่ใช่แค่การซื้อสินค้ามาขาย แต่ต้องลงลึกไปถึงระดับปรัชญา หรือแก่นของมัน คือความรักในธรรมชาติ ที่เราจะได้อ่านต่อใปในรายละเอียดจากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
กล่าวได้ว่า ถ้าเป็นคน ก็ต้องเริ่มจากแก่นความคิดที่จะตั้งทิศทางในชีวิตต่อไป ถ้าเป็นต้นไม้ ก็ต้องเริ่มจากดินที่ดีและมีคุณภาพ
และช่างพอเหมาะพอดีเหลือเกินที่เกษตรอินทรีย์ก็มีจุดเริ่มต้นในสิ่งที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง นั่นคือการรักษาดินให้ดี เพื่อก่อเกิดพลังงานชีวิตที่ดี ส่งต่อพลังงานนั้นไปสู่สิ่งที่จะเป็นอาหารที่ดี และทำให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดีต่อไป
เลมอนฟาร์ม ก็เช่นเดียวกัน กว่าจะปัก positioning จนกลายเป็น branding กว่าจะลงหลักปักฐานให้ยั่งยืน งดงาม มาจนวันนี้ได้ ก็เพราะแก่นแกนความคิดที่อยู่บนพื้นฐานที่ดี มั่นคงในสิ่งที่เชื่อ และที่สำคัญ “ต้องบอกว่าเราอึดมาก เหมือนที่ช่วงนี้ทุกคนพูดกันถึงเรื่อง resilience และเราก็คิดว่ามันคือสิ่งนี้แหละ ที่ทำให้อยู่มาจนถึงวันนี้” สุวรรณาบอก
ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราทึ่งในคำตอบ แต่เรื่องเดียวที่ไม่มีคำตอบคือ ทำไมเลมอนฟาร์ม ถึงชื่อนี้ สุวรรณาบอกว่า ไม่มีอะไรพิเศษเลย แค่อยากให้มันเป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับเกษตร แล้วทำไมต้องมะนาว? ไม่มีคำตอบจากสายที่ท่านเรียก…
23 ปี 16 สาขา
สุวรรณาเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า เมื่อ 23 ปีที่แล้ว คนยังไม่ได้สนใจเรื่องอาหารปลอดภัย อาหารออร์แกนิก ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายคนทำงานเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะทำอย่างไรให้คนมีความรู้และหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรียกว่าต่างกับช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาอย่างลิบลับ เพราะคนเริ่มหันมาสนใจออร์แกนิกมากขึ้น
“ถ้าย้อนกลับไปในช่วงก่อตั้ง เราเห็นปัญหาอยู่สองปัญหาหลักๆ นั่นคือ ปัญหาของคนเมืองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ และปัญหาของคนในชนบทซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพและรายได้ เพราะเกษตรกรจะมีปัญหาเรื่องความจนซ้ำซาก ผู้หลักผู้ใหญ่ในยุคนั้นคือ นายแพทย์ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์ ระพี สาคริก นายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว คุณโสภณ สุภาพงษ์ ก็ช่วยกันคิดว่ามันจะมีโมเดลอะไรที่จะช่วยคนทั้งสองภาคนี้ได้ เลยก่อตั้งเลมอนฟาร์มขึ้นมา ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือของการพยายามแปลความคิดที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนจากทั้งสองภาคส่วนดีขึ้น คุณภาพสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ดีขึ้น
“บริษัทนี้จึงมีชื่อที่จดทะเบียนบริษัทว่า บริษัทสังคมสุขภาพ จำกัด โดยมีเลมอนฟาร์ม เป็นเครื่องมือที่ทำให้วงจรของการเชื่อมต่อสมบูรณ์ นั่นคือเชื่อมต่อเรื่องอาหารที่ดีหรืออาหารปลอดภัยให้คนเมือง หรือส่งต่ออาหารที่ดีให้ผู้บริโภค และยังสามารถช่วยชาวบ้านได้ด้วย เกษตรกรเองก็จะได้มีโอกาสที่จะสร้างอาหารปลอดภัยให้ตัวเองและส่งต่ออาหารนั้นให้คนเมืองที่มีกำลังซื้อและเห็นความสำคัญของสุขภาพ ดังนั้นทุกอย่างจึงต้องตั้งต้นที่อาหาร เพราะอาหารเป็นยา และสำคัญต่อร่างกาย จากนั้นก็ใช้กำลังซื้อนี้ไปช่วยเกษตรกร เอาพลังผู้บริโภคไปหมุนให้วงจรนี้ขับเคลื่อนไปได้เรื่อยๆ”
นอกจากให้ความรู้ผู้บริโภค เพื่อให้มีมายด์เซ็ตใหม่ว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่กินอะไรก็ได้ ไม่รู้ที่มาที่ไปก็ไม่เป็นไร เพราะอาหารไม่ใช่แค่การกิน แต่มันคือการบำรุงรักษาร่างกาย ทำนองที่ว่า กินแบบไหน เราก็ได้แบบนั้น แต่ต้นทางในการผลิตอาหาร หรือกลุ่มเกษตรกร ก็เป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องให้ความมั่นใจหากต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใหม่ เช่น การทำเกษตรแบบไร้สารเคมี
“ทุกคนในทีมงานก็ต้องช่วยกัน เพราะเรากำลังสร้างเรื่องใหม่ ที่ทุกคนยังไม่เข้าใจ และยังไม่มีความต้องการในตลาด แต่เราต้องทำให้เกิดความต้องการขึ้นมา เกิดการผลิตที่ต่อเนื่อง มันก็จะไปได้ แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่เราก็ต้องทำบนพื้นฐานของความเชื่อ ต้องมี resilience หรือความอึด เราจะไปเปลี่ยนวิถีชีวิตเกษตรกรที่เคยชินกับการใช้สารเคมีมานาน ก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าทางเลือกที่ดีกว่ามันมีอยู่ และมันอยู่ได้จริงๆ ดังนั้นหน้าที่ของเราในช่วงเริ่มต้นก็คือขายของให้ชาวบ้านให้ได้ เพราะถ้าเขาขายไม่ได้เขาก็ผลิตต่อไม่ได้ เพราะเราเข้าใจนะว่า การจะให้คนเปลี่ยนจากการใช้เคมี มาสู่เรื่องออร์แกนิกส์มันก็เสี่ยงเหมือนกันว่า จะมีรายได้มั้ย จะขายใคร”
“แต่ถ้าเราช่วยในการขาย เขาก็อยากปลูก เพราะมันได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพของเขาและครอบครัว และยังขายได้ด้วย”
“แล้วเราก็ไปช่วยเขาฝึกอบรมการปลูกต่างๆ เรียกว่าทำมาด้วยกันเลยตั้งแต่ต้น เหมือนเราสร้างชุมชนที่ดีไปด้วยกัน ทุกวันนี้ชาวบ้านก็เหมือนนักอนุรักษ์ไปโดยไม่รู้ตัว เพราะเขาซึมซับและมีความเข้าใจเรื่องอินทรีย์ ทำให้เขาค่อยๆ รักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อมไปเอง ”
คุณค่าของสิ่งที่ทำ สู่ความยั่งยืนในสิ่งที่เป็น
มีคำคำหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงนี้ นั่นก็คือคำว่า resilience หรือความอดทน ฮึดสู้ ลุกขึ้นได้ ไม่ว่าจะล้มลงกี่ครั้ง โดยเฉพาะในโลกวันนี้ที่เราเริ่มเห็นความไม่แน่นอนและความยากลำบากในการดำรงชีวิตได้ชัดเจนต่อหน้าต่อตา แต่เชื่อเถอะว่า เราจะไปถึงความอึด ฮึดสู้ ที่ว่านั้นไม่ได้เลย ถ้าเราตอบไม่ได้ว่า อะไรคือคุณค่าของสิ่งที่เราต้องอึดไปกับมัน
“การทำธุรกิจให้ยั่งยืนนั้น ก่อนอื่นต้องคิดก่อนว่าคุณค่าหรือ value ของสิ่งนั้นคืออะไร สำหรับเรา เราชัดเจนว่า งานที่เราทำต้องมีคุณค่าอะไรบางอย่าง เราอยากจะเห็นอะไรในสิ่งที่เราทำ เช่นได้ช่วยคน ได้ช่วยเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ใช่แค่มองว่าทำธุรกิจได้เงินเท่าไหร่เป็นตัวตั้งตัวแรก แน่นอนว่าเราปฏิเสธเรื่องรายได้ไม่ได้หรอก เพียงแต่มันไม่ใช่ตัวแรกที่คิดถึง แต่เราต้องมีมิชชั่นว่า ทำอะไร เพื่ออะไร เหมือนทฤษฎีตอนนี้พูดเรื่อง Start with Why หรือทำไมต้องมี ทำไมต้องทำ เมื่อตอบได้แล้วก็ใช้เครื่องมือของธุรกิจเป็นตัวทำงาน
“เอาจริงๆ ตอนที่เราเริ่มต้นทำงาน เราก็ไม่มีทฤษฎีอะไรหรอก แต่เรามีความเชื่ออย่างมนุษย์ เพราะได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธเยอะ เราก็จะถามหาความหมายของชีวิต เกิดมาทำไม มีชีวิตเพื่ออะไร เพราะเรามีโอกาสได้ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ได้เห็นความเหลื่อมล้ำเยอะ เราเลยรู้สึกกับเรื่องพวกนี้มากๆ เราจึงไม่ได้โตมาด้วยการคิดว่า ต้องรวย ต้องหาเงิน แต่มันโตมาแบบตั้งคำถามกับชีวิตเยอะ”
“ส่วนตัวมักจะชอบคิดว่า มนุษย์น่าจะต้องมีอะไรมากกว่าการอยู่ไปเรื่อยๆ บริโภคไปเรื่อยๆ ชีวิตมันมีโอกาสทำอะไรหลายอย่างที่ดีได้ พร้อมๆ กับการมีชีวิตหรือการบริโภคด้วย แล้วเราทำอะไรได้บ้าง? พูดอีกอย่างว่าสิ่งที่เราทำ มันเริ่มจากแพสชั่นนั่นเอง ถ้าเริ่มจากจุดนั้นเราก็จะพัฒนาไปมากขึ้นๆ เมื่อทำแล้ว เราก็จะเห็นว่า สิ่งนี้มันทำได้จริง มันเกื้อกูลคนอื่นได้ มันก็จะถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ จนยั่งยืนได้”
“ความยั่งยืนมันจึงต้องเริ่มจากการพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อน เพราะถ้าเมื่อไหร่คนเราพึ่งพาตัวเองไม่ได้มันก็เกื้อกูลคนอื่นยาก แต่ถ้าเราพึ่งตัวเองได้ แล้วทำให้มันชัดจริง มันก็จะพบทาง”
“ทุกอย่างแหละ ถ้าลงมือทำเราก็จะพบทาง แล้วทำจนเข้าใจก็จะเป็นตัวจริง เพราะเราจะเข้าใจหลักของมัน จิตวิญญาณของมัน จากนั้นเราก็จะเจอทาง เจอเพื่อน มันเป็นเรื่องของการเหนี่ยวนำคนเหมือนๆ กันเข้ามา เราเชื่ออะไรเราก็จะส่งสัญญาณนั้นออกไป คนที่รับรู้ก็อาจจะเป็นลูกค้าเราในอนาคตก็ได้ แต่เราต้องสร้างเนื้อตัวให้ชัดเจน เพื่อให้ส่งพลังความเชื่อนั้นออกไปด้วยการกระทำ ไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว เพราะการลงมือทำมันเป็นกระบวนการของการพัฒนา เรียนรู้ และสร้างความยั่งยืนต่อไป”
จิตวิญญาณของการเป็นเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ไหน
“ต้องเคารพธรรมชาติและเคารพคนกิน หลักการของคนที่ทำเกษตรอินทรีย์คือ คุณต้องให้ของที่ดี ที่สะอาด ให้กับผู้บริโภค ส่วนเคารพธรรมชาติคือไม่ทำร้ายธรรมชาติ คุณถึงจะเอาอาหารดีๆ มาให้คนได้ อาหารต้องสะอาดมาจากดิน ต้นไม้ต้องได้ธาตุอาหารจากดิน ได้อากาศ ได้แสงแดด ถ้าทำได้ครบ แร่ธาตุในตัวมัน คุณค่าอาหารในตัวมันก็แตกต่างจากการปลูกแบบอื่น แต่ถ้าต้นไม้กินอาหารได้ไม่กี่ตัว เช่น ใส่ปุ๋ยเคมี เพราะธาตุอาหารในปุ๋ยมันจะมีไม่เกิน 16 ตัวหรอก แต่ในดินมันมีเยอะมากกว่านั้น แล้วต้นไม้แต่ละต้นกินอาหารไม่เหมือนกัน ก็เหมือนคนนี่แหละที่กินอาหารไม่เหมือนกัน”
“ดังนั้นการที่ต้นไม้จะได้อาหารที่ดี ต้องมีการถ่ายเทพลังที่ดี ทั้งจากดิน อากาศ แสงแดด ต้องเข้าใจก่อนว่า เราไม่ได้กินฟอร์มของอาหาร แต่เรากินฟังก์ชั่นในอาหาร”
“อีกอย่าง การที่เกษตรกรมีความเคารพคนกิน ก็เกิดจากประสบการณ์ของตัวเขาเองนั่นแหละ เช่น บางคนป่วยเพราะใช้สารเคมีเยอะ หรือพ่อแม่ป่วยเพราะกินอาหารไม่ดี พอเขากลับบ้านไปปลูกผักที่ปลอดภัย ไร้สารพิษ เป็นผักอินทรีย์จริงๆ มันก็เป็นผลดีกับสุขภาพ พ่อแม่ก็หายป่วย เขาก็เลยเชื่อเรื่องนี้ แล้วสังเกตว่าคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ จะไปทางสายธรรมะมากขึ้น เพราะเมื่อเราสนใจเรื่องธรรมชาติ เราจะเคารพธรรมชาติ เคารพปัจจัยที่จะทำให้เกิดชีวิต มันคือพุทธะ คือธรรมชาติ พอเขาเข้าถึงตรงนี้ เขาก็จะไม่ทำร้ายธรรมชาติ เคารพคนกินคือเมตตา คือการไม่หลอกกัน เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องเดียวกันหมด”
PGS กับเกษตรอินทรีย์
มีเรื่องหนึ่งที่เลมอนฟาร์มทำอย่างจริงจังเคร่งครัดมาตลอดหลายปี นั่นก็คือการตรวจแปลงเกษตร หรือที่เรารู้จักกันดีว่า PGS (Participatory Guarantee Systems (PGS) ระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม) เพื่อสร้างความมั่นใจในสินค้าที่จะส่งมอบให้กับผู้บริโภค ดังที่เลมอนฟาร์มระบุไว้ชัดเจนในเว็บไซต์ว่า “เป็นกระบวนการที่สร้างการเรียนรู้ พัฒนา สร้างความภาคภูมิใจ เปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรรายย่อย สร้างคุณค่าที่สอดคล้องไปกับวิถีชุมชน และสังคมที่เข้มแข็งยั่งยืน ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง”
“เราว่ากระบวนการทำ PGS มันสร้างคน และมีเสน่ห์มากๆ เพราะต้องเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องผลกระทบต่างๆ พอเกษตรกรตกลงใจที่จะทำด้วยกัน ก็มีการไปตรวจแปลง มีการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้กัน เราว่ามันเป็นกระบวนการอบรมชาวบ้านที่ดีที่สุดแล้ว และเมื่อกระบวนการนี้ต้องอยู่ต่อหน้าคนอื่น ชาวบ้านเขาก็ต้องตรงไปตรงมา พอเห็นคนอื่นทำแล้ว เขาก็ต้องทำของเขา แล้วมันก็ไปช่วยสร้างกระบวนการคิดของชาวบ้านเกี่ยวกับอาหารอินทรีย์ เพราะแน่นอนว่า เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดเรื่องอาหารอินทรีย์ แต่มันไม่ใช่แค่นั้น มันมีมิติของมัน ซึ่งเริ่มจากการตั้งต้นว่า ทำเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นถึงได้กลายเป็นเรื่องสุขภาพ”
“ถ้ามองย้อนกลับไป เกษตรอินทรีย์มันเกิดที่ยุโรป แล้วที่นั่นก็สนใจเรื่องโลกร้อนมานาน บางกลุ่มก็สนใจเรื่องการป้องกันสารพิษในอุตสาหกรรมเกษตร ก็เลยมีแนวคิดแบบเกษตรอินทรีย์หรืออาหารอินทรีย์ขึ้นมาเพื่อบอกว่า เราควรทำการเกษตรที่ไม่ทำลายโลก จึงได้มีข้อกำหนดต่างๆ ออกมามากมาย ซึ่งเขาคิดมาก่อนเราหลายสิบปี แต่พอเราจะเอาวิธีการคิดของเขามาใช้ สิ่งที่เราลืมไปคือเราไม่ได้เน้นเรื่องปรัชญาของมันเพียงพอ เพราะเราไปเน้นผลลัพธ์สุดท้ายคือได้สินค้า พอเราเน้นสินค้า มันก็จะกลายเป็นว่า ขออะไรที่ง่าย เร็ว อะไรก็ได้ แต่ถ้าเน้นที่ปรัชญา มันก็จะคิดอีกอย่างว่า ทำไมถึงห้ามใส่สารตัวนี้ตัวนั้น หรือทำไมต้องมีเกณฑ์ต่างๆ
“เพราะจริงๆ เรื่องเกษตรอินทรีย์คือการหลีกเลี่ยงสารตกค้าง หรือการลดความเสี่ยงจากสารตกค้างทั้งมวล และด้วยสิ่งนั้นเองมันก็จะไม่ทำร้ายดิน ดินก็จะมีโอกาสฟื้นฟู เพราะอย่างที่เล่าว่า อินทรีย์มันต้องได้อาหารจากดิน ต้นไม้ต้องได้อาหารจากดิน เพราะฉะนั้นดินต้องสมบูรณ์มาก มีชีวิต จุลินทรีย์ ต้นไม้ถึงจะได้รับพลังต่อไปและเป็นอาหารที่ดีให้เรา ดังนั้นถ้าจะทำอินทรีย์ต้องตั้งต้นที่ดิน หัวใจของอินทรีย์คือ ต้องสร้างผืนดินที่มีชีวิต ไม่ใช่แค่ซื้ออะไรมาหยอดใส่เหมือนเคมี และเมืองไทยเราก็ต้องฟื้นฟูดินเยอะมาก เพราะเราใช้เคมีมาตลอด ดินเลยถูกทำร้ายเยอะ ยิ่งไปปลูกข้าวโพด หรือแม้แต่ปลูกยาง มันก็ทำลายหน้าดินหมด ยางพาราก็กินน้ำเยอะ หลายที่ถึงได้แล้งมากเพราะการปลูกยางต้องดึงน้ำมาหมด ระบบการผลิตของเรามันไม่เอื้อให้ยั่งยืน ถ้าจะพูดเรื่องนี้ต้องคิดว่าเราจะทำยังไงให้ดีกว่านี้ เช่น กลับไปโมเดลของ วนเกษตร ที่ดูแลเรื่องป่า เรื่องดิน และทำให้เกิดความยั่งยืน มั่นคงทางอาหารให้ชุมชน อย่างที่เลมอนฟาร์มให้ความสนใจในตอนนี้
“มีเคสหนึ่งที่เราภูมิใจมาก เป็นเรื่องของชาวเขามูเซอที่ลำปาง เขาทำเกษตรอินทรีย์ และเป็นฟาร์มที่อยู่ใน PGS กับเรานี่แหละ เมื่อวานเขาส่งรูปโบสถ์ใหม่มาให้ดู เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านรื้อโบสถ์เดิมออกไปเพื่อเตรียมสร้างใหม่ แล้วโบสถ์หลังนั้นก็เป็นที่ที่พวกชาวบ้านปฏิญาณเรื่องการทำการเกษตร เพราะการปฏิญาณเป็นส่วนหนึ่งของการทำ PGS ในการสร้างความมั่นใจ เขาบอกว่าเขาไม่ได้ปฏิญาณกับเรานะ แต่เขาปฏิญาณกับพระเจ้าว่า เขาจะทำเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ไม่ใช้สารเคมีใดๆ และเขาส่งรูปโบสถ์มาให้ดูเพราะอยากบอกว่า โบสถ์หลังนี้มาจากเงินที่พวกชาวบ้านขายสินค้าให้เลมอนฟาร์ม แล้วทุกคนหักเงินเข้ากลุ่ม 10% เขาเก็บหอมรอมริบกันมา 3 ปีเพื่อสร้างโบสถ์ที่เป็นพื้นที่รวมของชุมชน เราก็รู้สึกดีกับเรื่องแบบนี้ เพราะมันเห็นความเป็นชุมชนที่แท้จริง แล้วหมู่บ้านนี่ห่างจากพม่า 18 กิโลฯ แล้วเป็นที่เดียวที่มีป่าเหลืออยู่ ที่เหลือเตียนหมดแล้ว”
“ดังนั้นความยั่งยืนมันก็เกิดจากอะไรแบบนี้ มันไม่ใช่แค่ผลิตอินทรีย์เพื่อขาย แต่พูดถึงความยั่งยืนของชาวบ้าน ของกลุ่ม ของชุมชน ที่มันเกิดขึ้นและทำให้เรามีความสุข”
ความท้าทายในวันนี้
ไม่ต้องพูดก็คงเห็นตรงกันแล้วว่า วันนี้โลกเผชิญกับความท้าทายมากมายทั้งเรื่อง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพ การปรับตัว การเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันโลก จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและยากจะหนีพ้น หากอยากเติบโตและก้าวต่อไปได้ในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น ไม่ใช่แค่การสาละลนหาคำตอบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามที่ถูกด้วย
“คำถามคือ เราจะทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ให้มากขึ้นได้ยังไง? เพราะวันนี้สังคมและธรรมชาติก็เปลี่ยนเร็ว เปลี่ยนแรง ปีนี้เป็นปีที่แล้ง ร้อน ท่วม หมดทุกอย่าง เพราะฉะนั้นธรรมชาติมันถูกท้าทายเยอะ ถูกทำร้ายเยอะ เราก็คิดว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของการใช้ชีวิต ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนได้ยากมาก เพราะธรรมชาติก็จะถูกรุกไปเรื่อยๆ ผู้คนก็สุขภาพไม่ดีไปเรื่อยๆ เราก็คิดว่า แล้วความยั่งยืนของเราคืออะไร สุดท้ายเราก็มองว่า การบริโภคที่มันยั่งยืนนี่แหละที่มันจะช่วย แล้วก็มีผู้บริโภค มีคอมมูนิตี้ของการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น มิชชั่นเราไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่มันชัดเจนมากขึ้น เห็นรูปรอยมากขึ้น”
“วันนี้ไม่ใช่แค่เจอสินค้าออร์แกนิกแล้วหยิบมาขาย แต่มิติของออร์แกนิกมันหมายถึงดิน น้ำ ป่า ที่มีผลกับสุขภาพ หรือด้านผู้บริโภคก็หมายถึงการการันตีอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้ยังไง”
“วันนี้มันต้องพูดเรื่องความเชื่อใจ ความโปร่งใส ความยั่งยืน จึงต้องมีเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานในการทำงาน มาตรฐานเหล่านั้นมีไว้เป็นแนวทางที่ทำให้คนทำงานได้ตรงทิศทางมากขึ้น พร้อมกับแสดงตัวได้ชัดขึ้น ถึงจะมีเครื่องมือมารับประกันอาหารให้ผู้บริโภคได้ เพราะวันนี้การตลาดไม่ใช่แค่เอาของมาขาย เพราะของก็คือของ แต่เราต้องมองว่าสิ่งที่จะส่งมอบคืออะไร ถ้าในแง่ของอาหาร เราก็ต้องมองว่าอาหารเป็นพลังชีวิต เราไม่ได้กินแค่ฟอร์มของอาหาร แต่เรายังกินพลังชีวิตบางอย่าง และอาหารอินทรีย์ก็ทำหน้าที่นี้ได้”
“ปีนี้เลมอนฟาร์ม พบความหมายของคำว่ายั่งยืนชัดขึ้นมากๆ จากงานที่ทำ เราเริ่มเชื่อมถึงคำว่า Planet เห็นทางที่จะไปตรงนั้น ตรงกับที่ทุกวันนี้เขาพูดเรื่อง People Profit Planet ตอนทำ PGS เราเห็นคน ตอนนี้มันมาถึงเรื่องการเห็นโลก เราจึงมุ่งไปทางวนเกษตร เรื่องฟื้นฟูป่า รักษาป่าต้นน้ำ เพราะมีผู้คนที่อาศัยอยู่กับป่า ทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน ตอนนี้เราเลยเห็นคำตอบว่า ความยั่งยืนหมายถึงแบบนี้ ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ช่วยเอาของชาวบ้านมาขาย หรือทำให้ชาวบ้านมีรายได้อย่างเดียว แบบช่วงแรกๆ ที่เราทำ แต่ตอนนี้มันพาไปสู่การสร้างสังคม สิ่งแวดล้อมดีๆ ด้วยกัน ถึงได้บอกว่ามันเพิ่งเห็นเรื่องความยั่งยืนได้ชัดเจนมากขึ้นในปีนี้”
และเมื่อเราถามถึงเทรนด์ที่คนยุคนี้ หันมาสนใจเรื่องการเกษตรมากขึ้น ผู้ที่มาก่อนอย่างเลมอนฟาร์ม มีคำแนะนำดีๆ อะไรฝากถึงพวกเขาบ้าง
“รักอะไรก็ทำไป แต่ต้องมองไปไกลกว่าการทำสินค้า ทำของขาย เพราะสินค้ามันเป็นแค่เครื่องมือในการหารายได้ ในการทำธุรกิจ แต่หากสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์จริงๆ ต้องรักในวิถี ต้องพูดเรื่องวิถีด้วย แล้วมันจะเป็นเรื่องที่งอกงามไปอีกมากมาย เพราะมันจะสร้างอะไรขึ้นมาอีกเยอะภายใต้วิถีนี้ มันเหมือนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การไม่ใช้พลาสติก เราทำเพราะเรารักสิ่งแวดล้อม เราห่วงสิ่งแวดล้อมว่ามันจะได้รับผลกระทบ เราก็จะเริ่มหยุดการใช้อะไรที่ไม่ดีกับสิ่งแวดล้อมไปเอง ดังนั้นความเชื่อที่เป็นวิถีมันก็จะมาเปลี่ยนพฤติกรรมเรา คนที่อยากทำอินทรีย์ ก็ต้องเชื่อในวิถีว่าการเกษตรที่ไม่ทำร้ายโลก สร้างอาหารที่ดีให้คน ต้องทำแบบไหนบ้าง? แต่จะไม่ได้พูดถึงเทคนิคในการทำการเกษตรว่าจะขายได้กี่กิโล ได้เงินกี่บาท”
“วันนี้ใครๆ ก็อยากกลับบ้านทำการเกษตร ซึ่งเรามองว่าดีนะ แต่อยากให้ทำจริงๆ ทำจนเป็นตัวจริง แล้วมันจะเจอคำถามมากมายในกระบวนการทำงาน เราจะเริ่มมองหาคนให้คำปรึกษา หาคนแชร์ มันก็จะต่อยอดไปเรื่อยๆ ทำไปเถอะ มันอาจจะผิดพลาดได้ แต่ถ้าได้เรียนรู้ซ้ำ ทำใหม่ เราก็จะได้ความเข้าใจ ได้ทักษะ แต่ถ้าคิดตั้งต้นว่าทำเพราะอยากได้เงิน มันก็อาจจะเหนื่อยหน่อย ที่สำคัญเมืองไทยควรพัฒนาเกษตรกรจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ Artisan แบบญี่ปุ่น เพราะมันจะตามมาด้วยคุณภาพสินค้าที่เหนือกว่าใคร ไม่ใช่ทำของแมส
“อินทรีย์ไม่ใช่การทำของแมส จึงไม่ได้ดูที่เรื่องราคาอย่างเดียว ถ้าทำของแมส อาจจะได้ราคาถูก แต่ถ้าทำของที่มีคุณภาพ ประณีต ก็จะมีเอกลักษณ์ มีคุณภาพที่เหนือกว่า ราคาก็สูงกว่า พูดง่ายๆ ว่าต้องทำแบบคราฟต์ไปเลย อีกอย่างเมื่ออาหารอินทรีย์ราคาสูง การไปกินตามร้านจึงเป็นเรื่องยากมาก เพราะผู้บริโภคต้องคำนึงถึงเรื่องราคา แต่ถ้าเห็นคุณค่าของการกินดี กินอาหารปลอดภัย ก็ไม่พ้นต้องทำอาหารกินเอง แต่จะทำยังไงได้ในเมื่อวิถีชีวิตในเมืองแทบไม่เอื้อให้ทำแบบนั้น เรื่องนี้เลมอนฟาร์ม ก็กำลังคิดอยู่ว่า ควรไปในทิศทางไหน เพราะเราก็ต้องปรับตัวเช่นกัน”
ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ