วันนี้ หากเดินไปบนถนนวิทยุตั้งแต่แยกเพลินจิตไปจนจรดถนนเพชรบุรี คงต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายตามยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงของวันนี้ คงเป็นสิ่งที่คนในอดีตนึกไม่ถึง เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็อาจเป็นสิ่งที่คนในวันนี้ไม่อาจจินตนาการได้ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม สิ่งที่น่าจะทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ในระยะยาวก็คือ ความรู้ตน ความชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองทำ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับที่ผู้บริหารอย่าง คุณหนิง-อลิสรา ศิวยาธร ผู้บริหารรุ่นที่ 3 แห่งโรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ ตอกย้ำตลอดการพูดคุยในวันนี้
การบริหารธุรกิจของครอบครัว ที่ปักหลักอยู่บนพื้นที่ทำเลเดิม…บนถนนวิทยุมาเกือบครึ่งศตวรรษ อาจมีรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งเดียวที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือ ความสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม ศิวาเทลในยุคอากง กับ ศิวาเทลในยุคของเธอ ยังมี DNA เดิม คือใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมต่อยอดในยุคของเธอ คือการสร้างแบรนด์ที่ตั้งอยู่บนฐานความยั่งยืนและเกื้อกูลชุมชน ที่สำคัญคือ…ทำในสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายกับชีวิตทั้งของตัวเองและคนอื่น
คุณหนิงบอกกับเราว่า การเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Brand ไม่ใช่เรื่องของการหาจุดขาย แต่เป็นจุดยืนที่เธอมั่นใจว่าจะยืนในระยะยาว โดยตั้งต้นจากความเชื่อที่ว่า ‘การกินเปลี่ยนโลกได้’ ‘พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากผู้บริโภค’
ที่เธอเริ่มสนใจเรื่องอาหารก่อน เพราะการกินอาหารปลอดภัย ดีกับสุขภาพของตัวเอง จึงเริ่มสรรหาอาหารปลอดภัย หรือวัตถุดิบออร์แกนิก ที่มีที่มาจากเกษตรกรไทยทั่วประเทศมาปรุงเป็นอาหารเพื่อให้บริการลูกค้าของโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นไก่ตะเภาทองอินทรีย์จากแทนคุณออร์แกนิกฟาร์ม นครปฐม หมูหลุมอินทรีย์จากราชบุรี ปลาสลิดอินทรีย์จากสมุทรปราการ ดอกเกลือของสวนศิลป์หนองมน ชลบุรี ฯลฯ จากนั้นเมื่อสั่งวัตถุดิบมาก ทำอาหารมาก เธอก็วางแนวทางการลดขยะที่เคยผลิตปีละเป็นหมื่นๆ ตัน ให้ลดลงมาได้เกือบ 60% ในวันนี้ และยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมาในอนาคต
ทั้งหมดทั้งปวงที่เธอทำในวันนี้ เป็นไปบนความเชื่อที่ว่าธุรกิจโรงแรมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมและเกื้อกูลสังคมรอบตัวได้ สร้างคุณค่าและความหมายในชีวิตในระยะยาวได้ แม้ต้องเจอกับคำถามมากมายรวมทั้งความเหนื่อยยากที่ต้องฝ่าฟัน แต่เธอบอกเราว่า เธอมองเห็นจุดหมายและอนาคตข้างหน้าที่จะไป และแน่นอนว่า…ไม่มีอะไรตอบคำถามทั้งหมดที่ถาโถมได้ดีไปกว่า การอดทนทำในสิ่งที่เชื่อมั่น ทุกวันและทุกวัน
ก่อนอื่นต้องเริ่มจากประเด็นที่ว่าคุณมองคำว่า ความยั่งยืน หรือ Sustainability เป็นอย่างไร
สำหรับเรา คำว่า Sustainability คือจุดที่เราทำงานหรือใช้ชีวิตแล้วมันมีความสุข แล้วมันก็มีความพอดีกับตัวเอง กับบริบทของตัวเอง ดังนั้นความยั่งยืนของคนคนหนึ่งหรือของเราเอง มันอาจจะไม่เหมือนของใคร บางคนถามว่า ความยั่งยืนคือต้องลุกมาทำธุรกิจที่ต้องมีสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม หรือเปล่า เราว่ามันขึ้นอยู่กับตัวเอง ถ้าคุณทำแล้วมันพอดี มันพอเพียงและมีความสุขกับตัวเอง ไม่ได้รู้สึกว่ามันเหนื่อย หรือต้องไปมีคู่แข่งทางการตลาดมากมาย เราก็ว่ามันน่าจะเป็นความสุขได้แล้ว แต่ถ้ามีการไปเกื้อหนุนกับคนอื่นได้ด้วย เป็นสิ่งที่ดีกับโลก กับประเทศได้ด้วย เราก็มองว่าตรงนั้นก็เป็นมุมมาเพิ่มเติมในเชิงคุณค่า สุดท้ายมันจะกลับไปที่ความรู้ตน ว่าตัวเองเกิดมาชีวิตหนึ่ง หรืองานที่กำลังทำอยู่มีจุดมุ่งหมาย คุณค่า หรือมีประโยชน์กับใครมากกว่ากับตัวเอง
นั่นหมายความว่าการจะเป็นแบรนด์ที่ Sustainable จึงไม่สามารถเป็นไปตามไบเบิ้ลใดๆ ที่มีการกำหนดมา?
ไม่มีหรอก เพราะถ้าถามเรา มันก็เหมือนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเรายึดเป็นโมเดลของเรามาตลอดทุกอย่างเริ่มต้นที่ความรู้ตน หรือ brand purpose เราต้องถามตัวเองว่าการมีอยู่ของเรา หรือชีวิตนี้ของเราเกิดมาเพื่ออะไร หรือเพื่อทำอะไร
ซึ่งสำหรับเราแล้ว ถ้าลองสังเกตดู ชีวิตที่มีคุณค่า มันมักจะเป็นชีวิตที่มีประโยชน์กับคนอื่น ดังนั้นสุดท้ายสิ่งที่เราทำ มันก็จะไปในเรื่องของ ชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยอัตโนมัติไปเอง
ย้อนกลับไป วันที่คิดว่าจะเลือกเส้นทางของการทำธุรกิจที่ยั่งยืน เกิดจากอะไร
เกิดขึ้นจากตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต แล้วเรารู้สึกว่า ต่อไปเราจะไม่มีท่านแล้ว จะทำยังไงกันต่อไปดี เพราะเราโตมากับการเห็นท่านทรงงานเพื่อพัฒนาประเทศมาตลอด เราก็คิดว่า แล้วประเทศไทยจะเป็นยังไงต่อไป ถ้ายังคิดแค่ว่าประเทศจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับรัฐบาลหรือพรรคการเมืองอย่างเดียว มันพอเหรอ? บางทีประชาธิปไตยมันอาจจะหมายถึงการที่ประชาชนต้องลุกมาทำอะไรด้วยตัวเองหรือเปล่า บวกกับช่วงนั้นเราไปเรียน พอแล้วดี The Creator กับอาจารย์หนุ่ย (ดร.ศิริกุล เลากัยกุล) มันก็เลยเป็นมุมมองที่ว่า ในการทำธุรกิจ นอกจากเรื่องของกำไรแล้ว มันยังมีเรื่องประโยชน์กับสังคม กับประเทศได้ด้วยนี่
แล้วมันก็เป็นการเปลี่ยนมุมมองให้เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว โรงแรมมันสามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้ เพราะว่าการท่องเที่ยวมันเป็นตัวบ่งชี้ 20% ของจีดีพี เลยนะ ทุกจังหวัดมีโรงแรม แล้วโรงแรมเนี่ยแหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของการบริโภคเยอะและผลิตขยะเยอะ
ดังนั้นถ้าวันหนึ่งโรงแรมเชื่อมโยงกับเกษตรกรในจังหวัด ในพื้นที่ มันอาจจะช่วยแก้ปัญหารายได้เลี้ยงปากท้องของชาวนาชาวไร่ได้ทันทีเลยนะ
เช่น ถ้าคุณเป็นโรงแรมใหญ่ในจังหวัด แล้วจากที่ไม่เคยมองเลยว่าในจังหวัดคุณ มีใครเป็นส่วนประกอบในสังคมบ้าง คุณแค่ก้าวออกไปจากโรงแรม แล้วมองออกไปว่าคุณลุงคนนี้ทำนา คุณอาคนนั้นเลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือทำอะไรบางอย่างที่คุณต้องซื้ออยู่แล้ว เพราะคุณต้องทำอาหารให้ลูกค้ากิน แทนที่คุณจะไปซื้อข้าวในซูเปอร์ คุณอาจจะไปซื้อจากชาวนา คุณลุงคุณป้าที่ทำโอท็อปก็ได้ แล้วโอท็อปก็จะไม่จำเป็นต้องมาจัดงานระดับประเทศเพื่อเรียกนักท่องเที่ยวตลอดเวลา ถามว่าทำไมโอท็อปต้องขายนักท่องเที่ยว ในเมื่อจังหวัดคุณเองยังไม่ซื้อกันเองเลย แล้วจะไปชูโอท็อปจังหวัดยังไง โรงแรมอันดับหนึ่งของจังหวัดยังไม่ซื้อสินค้าไปใช้เลย หรือไม่ซื้อไปทำอาหารโรงแรมเพื่อเชิดชูคุณค่าของจังหวัดเลย มันน่าคิดมั้ย
ส่วนฝั่งโรงแรม ก็ต้องทบทวนเรื่องการใช้พลังงานเยอะ ผลิตขยะเยอะ อย่างเราเนี่ยผลิตขยะเดือนละหมื่นกว่ากิโล แต่ว่าถ้าคุณเก็บตัวเลขบันทึกไว้ทุกเดือน คุณจะนั่งมองมันเฉยๆ หรือนั่งมองแล้วคิดว่าฉันจะทำยังไงให้มันลดลงไปกว่านี้ ซึ่งศิวาเทลเลือกที่จะลดตัวเลขนั้นลง เพราะเราคิดว่าไม่ได้แล้ว มันเป็นหมื่นแล้ว มันต้องลด ดังนั้นเรื่องนี้จึงทำให้เราคิดได้ว่า โรงแรมคือส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศได้ เพราะว่าทุกจังหวัดมีโรงแรม แล้วถ้าใครเห็นสิ่งที่ศิวาเทลทำได้ แล้วเอาไปใช้ในการทำงานบ้าง อย่างน้อยทำจังหวัดละหนึ่งโรงแรม มันต้องมีอะไรดีขึ้นสิ อย่างน้อยขยะต้องลดลง เกษตรกรในจังหวัดนั้นต้องมีเงินหมุนเวียนดีขึ้น
พอคุณคิดได้แล้วว่าโรงแรมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงคืออะไร เรียนรู้อะไรจากขั้นตอนเหล่านั้น
ในแต่ละสเต็ปมันก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะในเรื่องการกำจัดขยะ หรือเรื่องคลีน ศิวาเทลมีมาตั้งแต่วันแรก และมีมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่เราจะเข้ามาบริหาร เพราะตอนที่อากงสร้างโรงแรมตรงนี้ ม็อตโตเดิมของเราคือ Clean Green Smart ด้วยซ้ำ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเรามีความกรีนอยู่ใน DNA ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตัวระบบแอร์ หรืองานระบบต่างๆ ที่โรงแรมเราใช้จะเป็นระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แอร์ก็แยกขาดจากกัน สามารถควบคุมการใช้แอร์ได้แต่ละตัว ทำให้ประหยัดพลังงาน ระบบแอร์ก็ใช้อากาศในการระบายความร้อน ดังนั้นตั้งแต่แรกเริ่ม เราไม่ได้ทำอะไรใหม่ ไม่ได้มาเปลี่ยน DNA ของที่นี่ เพียงแต่เราอาจจะทำให้สิ่งที่มีมาอยู่แล้วมันลึกขึ้น และชัดขึ้น
เพราะตอนอากงสร้างโรงแรม เขาก็เชื่อว่า ที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวก็เพราะเขาอยากเห็นทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เราก็ควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นไว้ มันเป็นความรับผิดชอบของเราในการทำโรงแรม เพราะเราก็ได้ประโยชน์จากการที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย
ส่วนในมิติของการเลือกใช้อาหารหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ต้องบอกว่ามันเกิดจาก pain point ของตัวเอง คืออยู่ ๆ เราก็เป็นสิว แล้วตามตัวก็เป็นผื่นแพ้ที่ไม่รู้สาเหตุ จนสุดท้ายก็ไปอ่านเจอว่า แชมพูที่เราใช้ทุกวันมันจะมีสารเคมี แล้วพอเราเปลี่ยนไปใช้แชมพูที่มันไม่มีสารเคมี อาการผื่นแพ้ก็หายไปจริง ๆ แล้วเราก็ไปอ่านเจออีกว่า ตับของคนเราเป็นส่วนที่กรองเคมี ดังนั้นทุก touching ที่เราเจอแต่ละวันสุดท้ายมันจะไปกรองที่ตับ ตับจึงต้องแบกสารเคมีไว้มากมาย เราก็เลยเริ่มสนใจอาหารพวกออร์แกนิก ไร้สารเคมี พอกินเองแล้ว เราก็คิดต่อไปว่า ในเมื่อทำธุรกิจโรงแรม เราก็อยากให้ลูกค้าได้กินอาหารปลอดภัยเหมือนที่เรากิน มีคุณภาพในระดับเดียวกันกับที่เรากินเอง เลยเป็นที่มาของการเริ่มต้นทำอาหารออร์แกนิก แต่มันยังอยู่ในระดับที่ว่าเราเลือกกินอาหารปลอดภัยก่อน ยังไม่ได้เชื่อมโยงไปจนถึงจุดที่หาทางสนับสนุนเกษตรกรได้
แต่พอเราไปเรียนพอแล้วดี The Creator ทำให้เราได้เปลี่ยนมุมมองที่ว่า เรื่องของออร์แกนิก มันสามารถขยายไปในเชิงการเกื้อกูลได้นะ พอมาบรรจบกับช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ก็เลยคิดว่านี่คือสิ่งที่เราทำได้ในส่วนของเรา นั่นคือทำให้ธุรกิจของเรามีความหมาย ยิ่งพอมาคิดเรื่องธุรกิจครอบครัว เราจะเห็นว่าตามสถิติมักจะไปกันไม่รอด ต้องมาแตกกันเพราะยึดเอากำไรเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าวันนี้เราปรับให้ยึดไปที่คุณค่า และทำให้ครอบครัวภูมิใจในการทำงานที่มีคุณค่ากับสังคมหรือประเทศชาติ เราก็จะปลูกฝังให้ Gen ต่อๆ ไปได้ ซึ่งนั่นน่าจะช่วยให้หลานๆ หรือใครก็ตามที่มาต่อจากเรา ภูมิใจที่จะช่วยครอบครัวในการส่งต่อคุณค่านี้ต่อไป
เท่าที่คุยกัน คุณย้ำบ่อยๆ ว่าการจะทำแบรนด์ให้ Sustainable มันต้องเริ่มจากคุยกับตัวเองให้รู้เรื่องก่อน
ถูก เพราะมันคือเรื่องของ brand purpose หรือเป้าหมายของชีวิตนั่นแหละว่าตกลงเราทำไปเพื่ออะไร สำหรับเรา brand purpose เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เพราะถ้าเราตอบตัวเองได้เมื่อไหร่ วันไหนที่เรารู้สึกเหนื่อยแทบตาย ท้อแท้ยังไงก็ตาม นอนพักตื่นหนึ่งแล้วเราจะลุกมาทำต่อได้ เพราะว่าเราจะรู้สึกว่ามันยังทำไม่สำเร็จ มันจะเป็นแรงขับให้ยังคงทำงานนี้ต่อไป ซึ่ง brand purpose ของศิวาเทล ก็คือเราอยากเห็นผู้คนมีความสุข และตระหนักถึงพลัง และศักยภาพของตัวเองที่จะส่งต่อความสุขนั้นไปสู่ผู้อื่น จริงๆ เรื่องตรงนี้มันใช้ได้กับทุกคน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับศิวาเทลด้วย ไม่ว่าจะตัวเรา พนักงาน ลูกค้า เกษตรกร ซึ่งมันก็โยงไปที่หลักการทำงาน 23 ประการของในหลวง หนึ่งในนั้นคือการทำงานอย่างมีความสุข เพราะเราเป็นธุรกิจการบริการ เราคงคิดขั้นตอนการทำงานไม่ได้ว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ทุกอย่างมันต้องออกมาจากใจ
ดังนั้นถ้าคนทำงานมีความสุข เขาก็มีความเต็มใจที่จะทำงาน แล้วก็ส่งต่อความสุขให้คนอื่นได้ เพียงแต่มันสำคัญที่ เมื่อคุณมีความสุขแล้ว คุณรู้หรือเปล่าว่าคุณได้ส่งต่อความสุขนั้นไปให้คนอื่น
มันก็เหมือนลูกค้ามาพักที่ศิวาเทล คุณมาใช้บริการ มาเที่ยว คุณก็มีความสุข แต่รู้มั้ยว่าบริการที่คุณใช้ หรืออาหารที่คุณกิน มันคือการส่งต่อความสุขไปให้เกษตรกร ให้กับชุมชน หรือการที่เราบอกว่าเราลดพลาสติกแบบ single use หรือการประหยัดพลังงาน ลูกค้าก็มีส่วนร่วมกับเราในการส่งต่อความสุขนี้ไปให้โลกด้วย
คนเรา ถ้าตอบตัวเองได้ว่าทำไปเพื่ออะไร วิธีการมันจะตามมาเอง มันก็เหมือนคุณมีเป้าหมายอยู่แล้ว มันก็แค่เดินไปตามนั้น เหมือนการที่ศิวาเทลลดขยะ ทุกวันนี้เราลดมาได้ 60% แล้ว เราก็มาคิดว่าแล้วอะไรที่ยังเหลืออยู่ นั่นก็คือ food waste จากนั้นเราก็ค้นพบว่า food waste ของเราเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับเกษตรกร เพราะเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ เช่น พี่อำนาจ (แทนคุณออร์แกนิกฟาร์ม) ต้องลุกขึ้นมาผสมอาหารสัตว์เอง ในอาหารสัตว์ต้องมีแคลเซียม แล้วแคลเซียมมีอะไรบ้าง ก็เปลือกไข่ แล้วเปลือกไข่เป็นขยะของเรา แต่เป็นอาหารของไก่ได้ เราก็ส่งเปลือกไข่ไปให้พี่อำนาจ เพื่อหวังให้เขาลดต้นทุนได้ไม่มากก็น้อย ส่วนถาดใส่ไข่ รับมารวมๆ กันหลายๆ ครั้งก็เป็นกิโล เราก็ขายแล้วส่งกลับไปให้พี่อำนาจ reuse เขาก็ประหยัดต้นทุนถาดเหล่านี้ไปอีก
พอมาทำงานเรื่องออร์แกนิก อาหารปลอดภัย เรื่องการร่วมมือกับเกษตรกร คุณเรียนรู้อะไรที่มีคุณค่าจากการทำงานเหล่านี้บ้าง
เรียนรู้ว่างานเราก็มีความหมายนะ คือถ้าทำงานแล้วได้เงินไปมากกว่านี้ เราก็กินอยู่เท่าเดิม ยังใส่เสื้อผ้าประมาณนี้ ยังกินอาหารมื้อละประมาณนี้แหละ ไม่ได้ข้ามไปกินอะไรที่เวอร์วังไปกว่านี้ ถ้าจะต้องทำงานให้ได้เงินเยอะขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือทำไปเพื่ออะไรล่ะ? มันไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้ก็ได้ เพราะได้ไปเยอะกว่านี้ ก็ใช้อยู่แค่นี้ เอาแค่ตื่นมาแล้วรู้สึกว่าในงานที่ทำ มันทำให้ชุมชนดีขึ้น เกษตรกรดีขึ้น อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเปลี่ยนประเทศนี้ได้ แต่แค่หวังว่า มันน่าจะดึงดูดคนที่คิดเหมือนๆ กันแล้วมาร่วมมือกันได้
จริงๆ แล้วการทำงานร่วมกันกับเกษตรกรทุกคน ทำให้เราได้ค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนทั้งนั้น เพราะว่าในวันที่เราเริ่มลงไปตรวจฟาร์มไปเรื่อยๆ มันทำให้เราค้นพบชีวิตเบื้องหลังวัตถุดิบ และค้นพบว่าเราในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ส่วนใหญ่แล้ว เราก็บริโภคกันอย่างเดียวจริงๆ โดยไม่เคยรู้เลยว่าเกษตรกรคือใคร แล้วทุกครั้งของการเลือกตั้ง นักการเมืองจะบอกว่าชาวนายากจน ชาวนาเป็นหนี้ เกษตรกรเป็นหนี้ แต่เราก็ไม่ได้รู้ว่าแล้วพวกเขาคือใคร ทั้งที่เราได้ยินมาสี่สิบกว่าปีแล้วมันก็ยังเป็นปัญหาอยู่
จนวันที่เราลงไปตรวจฟาร์มแล้วเราไปรู้จักกับเกษตรกรแต่ละคน รู้จักชีวิตของแต่ละคน เห็นชีวิตเบื้องหลังวัตถุดิบ ได้เข้าใจว่าเกษตรกรต้องเจออะไรบ้าง แล้วความยากลำบากมันอยู่ที่ไหน แล้วทำไมเขาจึงยังจนอยู่ เราเห็นว่าทุกคนก็พยายามที่จะหลุดออกมาจากวงจรนั้น เพียงแต่ว่าการที่เขาจะหลุดออกมาได้ มันก็อยู่ที่ผู้บริโภค ภาครัฐอาจจะส่งเสริมให้เขาทำเกษตรอินทรีย์ แต่งานของรัฐมันจบตรงที่ มีงบ มีโครงการ ฉันทำแล้ว ถ่ายรูปแล้ว ส่งรายงานแล้ว งานของฉันจบแล้ว จากนั้นเกษตรกรก็มานั่งคิดและงงอยู่ที่บ้านว่า แล้วเอาไงต่อ สิ่งที่ทำออกมาแล้วจะขายใครต่อ
อยากจะบอกว่าการให้ชาวนา เกษตรกร เขาเปลี่ยนแปลงการทำงาน เพื่อให้ได้รับการยอมรับใดๆ จากองค์กร หน่วยงาน ด้านออร์แกนิก ต้องเข้าใจก่อนว่าการเปลี่ยนผ่าน หรือเปลี่ยนแปลงใดๆ มันมีต้นทุนทั้งนั้น
ไหนจะปรับดินทำแนวกันชน ไหนจะทำนั่นทำนี่ ในภาคส่วนของคนเลี้ยงไก่ยิ่งฮากว่า เช่น พี่อำนาจต้องการได้มาตรฐานออร์แกนิก ไทยแลนด์ ถ้ายึดไบเบิ้ลฝรั่งมากำหนด มันต้องมีอัตราส่วนพื้นที่ต่อไก่เท่านั้นเท่านี้ สรุปว่าพี่อำนาจต้องสูญเสียที่นาออกไปอีก เพื่อให้ได้สัดส่วนการเลี้ยงไก่ที่ต้องการ แต่ถามว่าในความเป็นจริง ไก่มันวิ่งไปถึงตรงนั้นมั้ย ไก่ไม่วิ่ง (หัวเราะ) คือถ้ามีดงกระถินอยู่ตรงนี้ ไก่มันก็อยู่ตรงนี้ ถามว่าไก่ได้วิ่งเล่นแล้วมั้ย ได้แล้วนะ แต่ตามไบเบิ้ลแล้วบอกว่าสัดส่วนพื้นที่ต่อไก่กับพื้นที่ในส่วนของไร่ ต้องได้เท่านั้นเท่านี้
สุดท้ายพี่อำนาจก็คิดว่า ผู้บริโภคอาจจะถามหามาตรฐาน เพราะฉะนั้นก็ต้องเสียที่นานี้ไป เพื่อให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ certificate นี้ อีกหลายเคสก็เป็นแบบนี้ นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมศิวาเทลถึงไม่ได้รีเควสต์ว่าคุณต้องมี certificate แต่เราต้องไปลงพื้นที่ ไปดูทัศนคติ ดูความตั้งใจในการทำงาน ดูฟาร์ม เราเลือกจะไปทำความรู้จักกับเกษตรกร เพื่อจะได้มั่นใจเรื่องการทำงาน เราแค่ต้องการคนที่บอกเราตรงๆ ได้เลยว่า ช่วงนี้วัตถุดิบไม่มี เพราะเราจะเข้าใจว่าของมันต้องตามฤดูกาล ไม่ต้องมาปวดหัวกับการที่ส่งของแบบสอดไส้มา เพียงเพราะอยากส่งวัตถุดิบ เหมือนที่วันดีคืนดีมีคนไปสุ่มตรวจผักในซูเปอร์แล้วพบสารเคมี เพราะเกษตรกรต้องเร่งผลิต ต้องฝืนธรรมชาติของผักผลไม้ต่างๆ
เรามองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มันเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริโภคแบบพวกเราคิดถึงแต่ตัวเอง จะกินก็ต้องมีกิน ไม่ได้คิดว่ามันต้องไปฝืนธรรมชาติ ต้องใช้สารเคมีจนตกค้างในดิน น้ำ อากาศ และกลายเป็น global warming ในที่สุด
ดังนั้นถ้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง คนที่มีพลังมากที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็คือพวกเราทุกคน คือผู้บริโภค
เราถึงได้บอกเสมอว่า การกินเปลี่ยนโลกได้ เราทุกคนเปลี่ยนโลกได้ แทนที่วันนี้จะไปซื้อของในซูเปอร์ ที่ทำโดยฟาร์มใหญ่ๆ ที่เขามีทุนอยู่แล้ว แล้วเป็นต้นเหตุให้เกษตรกรมีหนี้สิน เราก็แค่เปลี่ยนไปซื้อกับเกษตรกรไปเลยเพื่อช่วยให้เขาอยู่ได้ เพราะเราอยู่ได้ เขาก็อยู่ได้ เขาไปทำวิถีอินทรีย์ เขาลดการใช้สารเคมี โลกก็จะดีขึ้น เขาทำอาหารที่ปลอดภัย เรากิน มันก็ดีกับเรา เราก็จะสุขภาพดี ไม่เป็นโรคภัย เพราะฉะนั้นทุกชีวิตมันเกื้อกูลกัน
มีแผนมั้ยว่าภายในกี่ปี หรือนับจากนี้เป็นต้นไป อยากให้คนรับรู้เกี่ยวกับศิวาเทลในแบบไหน
เราไม่ได้อยากหรือไม่อยาก แต่มันกลายเป็นเรื่องที่ทำโดยอัตโนมัติไปแล้วสำหรับเรื่องออร์แกนิก ตอนนี้ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการ เพราะเขามองว่าศิวาเทล เป็น top of the mind ของแบรนด์ที่ทำงานในเชิง sustainability เพราะมันมาจากสิ่งที่เราทำทุกวันนั่นเอง ซึ่งมันต่างกันกับการที่คุณไปปักธงว่า เราต้องการเป็นเบอร์หนึ่งของโรงแรมที่เป็น sustainable ในประเทศไทย เทียบกับการบอกว่าเราต้องการทำในสิ่งที่ sustainable จะเห็นว่ามันต่างกันนะ ทุกวันนี้เราทำงานเพื่อความยั่งยืนของตัวเรา ของภาคส่วนอื่นของสังคม เราถือว่าเราทำของเราไป แต่คนรับรู้และให้คุณค่ามันเอง เราไม่ได้ทำเพราะอยากให้เป็นจุดขาย หรือทำให้มันเป็นความแตกต่าง แต่เราทำเพราะมันเป็นจุดยืน เป็น brand purpose ของเรา
สังเกตได้ว่าเวลาทำธุรกิจ ทุกคนมักจะถามเหมือนกันหมดว่าจุดขายคืออะไร พอคุณใช้คำว่าจุดขาย คุณก็เลยไปหาว่าลูกค้าจะชอบอะไร มันก็เหมือนจีบผู้หญิงสักคน ถ้าเกิดต้องทำให้เขาชอบ กับเป็นตัวของตัวเองคูลๆ แล้วเดี๋ยวมันก็ดึงดูดคนที่ใช่มาเองแหละ สำหรับเราถึงได้บอกว่า ความรู้ตนก็คือการเป็นตัวของตัวเอง ทำงานในแบบที่ตัวเองตั้งใจ แล้วทำไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นคุณค่า มีคนรับรู้และให้คุณค่าเราเอง
จะว่าไป ความยั่งยืนคือสิ่งที่ต้องแท้จริง หรือมีความ Authentic มากๆ เลยทีเดียว
มันจึงขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละคนเพราะแต่ละคนมีบริบทไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นความยั่งยืนที่จะเป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง มันจึงต้องเริ่มจากคุยกับตัวเอง เพราะไม่มีใครตอบได้ ก็เลยเป็นเหตุผลว่า เราเปิดโอกาสเต็มที่ให้คนมาเรียนรู้ มาดูงาน ดูไปเลย ไม่กลัวใครมาก๊อปปี้ด้วย ถ้ามีคนมาก๊อปปี้แล้วทำได้สำเร็จ เราจะโคตรดีใจเพราะเราอยากให้มีคนเอาไปทำเยอะๆประเทศมันถึงจะดี เราไม่เคยหวงไอเดียเลย ถึงได้บอกว่ามันต่างกันกับการที่คิดว่าต้องสร้างแบรนด์ให้แตกต่าง เพราะคุณจะรู้สึกว่าต้องอุบ กลัวคนมาก๊อปปี้ แต่อันนี้มันไม่ใช่ไง เพราะ brand purpose มันใหญ่กว่านั้น
เราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในภาคสังคมจริงๆ เราต้องการคนมาทำเยอะๆ ไม่กั๊กความรู้เลย เพราะเราเชื่อว่ามันก๊อปปี้เหมือนกันเป๊ะไม่ได้หรอก เนื่องจากแต่ละคนมีบริบทไม่เหมือนกัน โรงแรมที่อยู่ในเชียงใหม่ก็ต้องไปดูบริบทของตัวเอง เราถึงไม่กลัว ไม่ต้องสนใจว่าใครจะมาเลียนแบบ นี่จึงเป็นความหมายที่แท้จริงของคำว่าภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเมื่อทำด้วยความจริง ความชัดเจนในการรู้ตน มันก็จะเป็นภูมิคุ้มกันไปเอง หัวใจที่สำคัญที่สุดคือความรู้ตน ซึ่งโคตรยาก เพราะมันต้องใช้เวลาในการคิด ในการถาม เค้น ต้องมีคนไกด์ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่มานั่งคิดแล้วปิ๊งขึ้นมาในวันเดียว แต่เมื่อลงมือทำไปแล้ว แน่นอนมันเจอความยาก เกษตรกรทุกคนกว่าจะมาถึงวันนี้เขาก็ผ่านความลำบาก ความไม่เชื่อจากคนอื่นมาเยอะ ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องการก็คือกำลังใจ เพราะมันมีความท้าทายทั้งจากคนใกล้ตัว stakeholder ที่บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้
ทุกคนต้องมีภาวะที่เหนื่อยและท้อ แต่สุดท้ายเราว่ามันต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้งห่วงโซ่อาหาร ขาดจากกันไม่ได้ ทุกคนต้องเชื่อมโยงกัน เกื้อกูลกัน เราจึงจะไปรอด
แต่ก่อนที่จะให้ใครเชื่อเรา เราต้องทำให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้ ถ้าเรายังทำไม่ได้ แล้วเราจะไปป่าวประกาศว่ามาทำๆ แบบนี้เถอะ ก็เป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้เราไม่ได้ลุกมาประกาศว่าศิวาเทลจะ sustainable แต่เราแค่บอกความเชื่อของเราว่า โรงแรมมันสามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศทำงานเชื่อมโยงกับคนอื่นแล้วเราก็ทำงานในแบบที่เราเชื่อ ทำไปเรื่อยๆ ถามว่าปลายทางสำเร็จหรือยัง ก็ยังนะ เรายังต้องเดินทาง ต้องเรียนรู้ ต่อยอด ปรับเปลี่ยน แต่มันก็จะยังอยู่บนคุณค่าเดิมที่เรายึดมั่น
ทุกวันนี้การทำงานมันก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเรา เราก็โดนถามนะว่าไหนล่ะลูกค้า จะมีลูกค้ามาพักเพราะโรงแรมมัน sustainable เหรอ? แต่สำหรับคนทำงานสายนี้ มันคือการทำงานกับอนาคต เราเชื่อว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว พี่ๆ เกษตรกรเขาก็เหมือนเรา เจอคำถามยากๆ เจอความท้าทายในแบบของเขา เราถึงบอกว่าสิ่งที่ทุกคนต้องการคือเพื่อนร่วมทาง ที่ต้องสนับสนุนกัน ทุกคนไม่ใช่คู่ค้า แต่คือพี่น้องที่เราต้องทำงานควบคู่กันไป ต้องร่วมมือกัน ถึงจะไปรอด ทุกวันนี้คนที่ทำงานจนประสบความสำเร็จ เขาต้องทำงานล่วงหน้ามากี่ปีกว่าลูกค้าจะเดินทางมาเจอเรา ศิวาเทลก็เหมือนกัน
ทุกวันนี้คนที่เห็นคุณค่าเราคือฝั่งยุโรป เวลาไปออกงานแฟร์ที่ยุโรป เขาตื่นเต้นกับเรามากเลยนะ เรื่องที่เรามีการไปเยี่ยมฟาร์มออร์แกนิก ดังนั้นอยากจะบอกว่าสินค้าและบริการใดๆก็ตาม คงไม่สามารถที่จะเป็นแบรนด์เพื่อทุกคน แต่สุดท้ายคุณจะมีลูกค้าของคุณเอง บางอย่างก็ต้องทำงานไปล่วงหน้าและรอเวลา ต้องมีความอดทน คนอื่นอาจจะไม่เห็นว่าข้างหน้าเป็นยังไงแต่เราเห็น เพราะมันคือหนึ่งใน megatrend ของโลกที่จะต้องไปทางความยั่งยืน
ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร