เมื่อความตื่นตระหนกลดลง จะหลงเหลือแต่เหตุผลที่ช่วยให้เรามองเห็นอะไรชัดขึ้น เพราะหากนิยามของโควิด-19 คือ ติดเชื้อง่ายและเร็วแต่อัตราการตายต่ำ ภัยร้ายใกล้ตัวอย่าง NCDs ก็คงนิยามได้ว่า ติดเชื้อไม่ได้และค่อยๆ แสดงอาการแต่อัตราการตายสูง และสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลก็มาจาก ‘พฤติกรรม’ การใช้ชีวิตของเรานั่นเอง

นอกจากสาเหตุ ‘ปอดถูกทำลาย’ แล้ว ยังมีโรคภัยประจำตัวอื่นๆ ที่ทำให้เสียชีวิตจากการติดโควิด-19 นั่นคือ กลุ่มโรค NCDs ซึ่งหากตรวจสอบอย่างดีแล้วจะพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วตายส่วนใหญ่ล้วนแล้วมีโรคประจำตัวเป็นกลุ่ม NCDs แทบทั้งสิ้น

ดังที่นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวไว้ว่า

“คนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วเสียชีวิต สัดส่วนที่เป็นโรค NCDs  สูงถึง 58% เมื่อเทียบกับคนไข้ทั้งหมด”

NCDs คืออะไร ทำไมไม่คุ้นเลย

NCDs ย่อมาจาก Non – Communicable Diseases เรียกกันง่ายๆ ว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งประกอบไปด้วย 6 โรคด้วยกัน คือ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง

รู้จัก 6 โรคกลุ่ม NCDs ให้ดีขึ้นกันดีกว่า

1. โรคเบาหวาน คือ การที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินบกพร่อง ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ที่พบบ่อยที่สุดคือประเภทที่ 2 จากทั้งหมด 4 ประเภท คือ เกิดอาการดื้อต่ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่หรือผู้มีน้ำหนักเกิน

• อาหารควรงด น้ำตาลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์จากนม อาหารหมักดอง อาหารที่ปรุงด้วยไขมันอิ่มตัว

• อาหารควรกิน กินได้เยอะๆ ผักก้าน ผักใบ และผักใบเขียวทุกชนิด

 อาหารกินได้แต่เบาๆ หน่อข้าวหรือแป้ง ผลไม้ (เพราะบางชนิดก็น้ำตาลสูงมาก)

แต่ถึงจะลดลดอาหารหวานและของกินจุกจิก พร้อมทั้งออกกำลังกายให้บ่อยแล้ว ก็อย่าลืมตรวจคัดกรองเบาหวานทุกปีด้วย

400 กรัมต่อวัน คือ ปริมาณผักและผลไม้ที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดให้กิน ยิ่งผักต้มสุกยิ่งต้องเพิ่มเป็นสองเท่า

2. โรคความดันโลหิตสูง คือภาวะที่ตรวจเจอว่าความดันสูงผิดปกติ (มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท) และอาจเป็นต้นตอของโรคอื่นๆ ต่อไป เช่น หัวใจวาย อัมพาต สมองเสื่อม หรือไตวายเรื้อรัง

ช่วยความดันโลหิตให้ต่ำ ด้วยการเลี่ยงรสเค็ม งดแอลกอฮอล์ งดบุหรี่ หมั่นออกกำลังกาย และสำหรับคนน้ำหนักเกินก็ลดน้ำหนักด้วย

3. โรคหัวใจ ว่ากันว่าโรคนี้ขึ้นอยู่กับอาหารการกินเสียส่วนใหญ่ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่กระทบต่อการทำงานของระบบหัวใจทั้งสิ้น สามารถแตกออกเป็นโรคย่อยๆ ได้อีกหลายอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ

ดูแลใจ (ตัวเอง) ด้วยการกินไขมันต่ำ เลี่ยงไขมันทรานส์ โซเดียมต่ำ กินแป้งหรือข้าวไม่ขัดสี เพิ่มผักผลไม้ เพราะพืชมีสารพฤกษเคมี (phytochemicals) ช่วยป้องกันโรคนี้ได้

4. โรคหลอดเลือดสมอง บางคนคุ้นปากว่า ‘สโตรก (Stroke)’ เป็นโรคที่อาจทำให้เรากลายเป็นอัมพาตได้ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคนี้กว่า 15 ล้านคนทั่วโลกและทุก 6 วินาทีจะมีคนตายเพราะโรคนี้ 1 คน …และอาจเป็นคนใกล้ตัวก็ได้ เพราะโรคนี้ไม่เคยมีสัญญาณเตือน

  ปัจจัยเสี่ยงคือ ความดันโลหิตสูงและความดันในเลือดสูงนั่นเอง แต่ป้องกันได้ด้วยการงดกินเค็ม กินผักผลไม้ ไม่กินของไขมันสูง งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ตรวจวัดความดัน แล้วอย่าลืมรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมด้วย

นับ 2-1-1 แล้วค่อยกิน

เราสามารถนำสูตรจานอาหารสุขภาพ หรือทฤษฎี 2-1-1 มาใช้เพื่อควบคุมการกินให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี

โดยผัก 2 ส่วน จะเป็นผักประเภทใดก็ได้ แต่ต้องกินให้หลากหลาย มากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป เนื้อสัตว์ 1 ส่วน คือให้พยายามเน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ หรือโปรตีนจากถั่วเหลืองและเต้าหู้ ส่วนแป้ง 1 ส่วนนั้น ให้เลือกกินข้าวไม่ขัดสี หรือข้าวที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจานข้าวก็ต้องไม่ใหญ่เกินเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 9 นิ้วด้วยนะ กินสูตรนี้ให้เป็นนิสัย ทั้งได้สารอาหารครบถ้วน และห่างไกลจากโรคภัยอีกต่างหาก

5. โรคไตวายเรื้อรัง วงการแพทย์บอกว่า ‘ไตวายร้ายกว่ามะเร็ง’ คือภาวะที่ไตเสื่อมสภาพจนไม่สามารถกลับมาทำงานแบบปรกติได้อีกแล้ว ซึ่งจัดอยู่ในระยะสุดท้ายของการเป็นไตวาย ตัวร้ายที่คร่าไตก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นความเค็มจากโซเดียม เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูป เนื้อ–หมูหมัก และน้ำจิ้ม

ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคนคนเป็นโรคนี้ เพราะกว่า 70% ของคนเป็นโรคไตวายเรื้อรังพบว่าเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงด้วย

6. โรคถุงลมโป่งพอง ภาพถุงลมน่าเกลียดน่ากลัวที่แปะอยู่บนซองบุหรี่ ช่วยเตือนใจถึงผลร้ายของการสูบบุหรี่อย่างถุงลมโป่งพอง อีกชื่อหนึ่งที่เราจะได้ยินบ่อยๆ ในช่วงโควิด-19 ก็คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และสาเหตุหลักก็คือสารพิษจากการดูดบุหรี่เป็นระยะเวลานาน หากจะป้องกันโรคนี้ เพียงเลิกบุหรี่หรืออยู่ให้ห่างจากควันพิษ

ไม่ว่าจะโรคไหนก็ทำร้ายเราไม่ได้ แค่จำสูตร 6 – 6 – 1

สูตรนี้คือปริมาณการบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา ต่อวัน ยังไงเสียก็ควรจำให้ขึ้นใจว่า ‘หวานเกินก็ไม่ดี มันไปก็ไม่ได้ ถ้าเค็มก็ไม่เอา’ จะดีกว่านะ

วัคซีนที่ทุกคนรอคอย แต่ NCDs ได้รับก่อนใคร

ข่าวดีสำหรับสถานการณ์โควิด-19 ช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘วัคซีนล็อตแรก’ ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย โดยผู้ที่มีโรคกลุ่ม NCDs ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อน ถึงแม้จะเป็นโรคไม่ติดต่อ แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในอัตราที่สูงลิบลิ่วหากติดเชื้อโควิด-19

ศ. พญ. วรรณี นธิยานันธ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่าย NCDs ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “คนที่ติดโรคแล้วมีโอกาสเป็นหนักหรือเสียชีวิต โดยหลักของการป้องกันโรค พวกเขาจะได้รับวัคซีนก่อน”

แต่รับรองว่าถ้าจำได้ทุกสูตร (และปฏิบัติตาม) ในบทความนี้ เราก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะถูกจัดเป็นหนึ่งในโรคเหล่านี้แล้ว แถมยังลดความเสี่ยงการตายของตัวเองหากเกิดติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาอีกด้วย ฉะนั้นต้องระวังอย่าให้พฤติกรรมของเราย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองก็จะดีที่สุด

รู้หรือไม่

แต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากโรค NCDs 41 ล้านคน คิดเป็น 71% ของการเสียชีวิตทั่วโลก
ผู้ที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 30 – 69 ปี มากกว่า 85% เสียชีวิตก่อนวัยอันควร มักอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง
กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด ปีละ 17.9 ล้านคน ตามมาด้วยโรคมะเร็ง (9 ล้านคน) กลุ่มโรคทางเดินหายใจ (3.9 ล้านคน) และโรคเบาหวาน (1.6 ล้านคน)
การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก และกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้

ที่มาข้อมูล
www.thaihealth.or.th/เลี่ยง NCDs ลดเสี่ยงมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19
www.thaihealth.or.th/กินอย่างไรคุมเบาหวานให้อยู่หมัด
www.thaihealth.or.th/โรคหลอดเลือดสมอง รู้ก่อนเป็น ป้องกันได้
www.thaihealth.or.th/อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
www.thaihealth.or.th/คู่มือ NCDs
www.thaihealth.or.th/ลด ‘หวาน มัน เค็ม’ 3 ตัวร้ายก่อโรค
www.petcharavejhospital.com/ไตวายเรื้อรัง ความเสี่ยงที่คนชอบกินเค็มควรระวัง
www.bangkokpattayahospital.com/การเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ
www.who.int
www.dmthai.org
www.siphhospital.com

ภาพประกอบ: missingkk