ชาอุ่นๆ ช่วยคลายหนาวได้ดีในวันที่อุณหภูมิลงต่ำ นี่เป็นเหตุผลง่ายๆ ว่าทำไมในวันที่อากาศหนาว เราจึงมักสั่งชาร้อนเป็นเครื่องดื่มคู่กับของว่างที่รสชาติส่งเสริมกัน แต่รู้ไหมว่ารสขมบางๆ และกลิ่นหอมเฉพาะตัวของใบชาบนโต๊ะยามบ่ายนั้นมีประโยชน์อยู่ไม่น้อยเลย

ประวัติชาฉบับย่นย่อ

เมื่อค้นเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับชา เราได้รู้ว่าชาซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการกินไปจนถึงพิธีกรรม มีต้นกำเนิดในประเทศจีน ที่น่าจะเก่าแก่ถึง 2737 ก่อนคริสตกาลเลยด้วยซ้ำ และหลังจากนั้นชาจึงแพร่เข้าไปสู่วัฒนธรรมการดื่มในญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ และได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป โดยมีอังกฤษเป็นประเทศสุดท้ายที่ได้จิบชาซึ่งต้องลักลอบนำเข้าเพราะถูกเก็บภาษีหนักมาก ภายหลังมีการลดอัตราภาษีลงจึงทำให้ชาในอังกฤษกลายเป็นเครื่องดื่มที่ไม่จำกัดอยู่ในวงของคนร่ำรวย ส่วนในอเมริกาเริ่มมีการดื่มชาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1650 จากชาวดัตช์ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานต่างทวีป

มาถึงวันนี้ ชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงสุด เฉพาะในสหราชอาณาจักรนั้นมีการบริโภคชามากถึงประมาณ 75 ล้านถ้วยต่อวัน และคาดว่าทั่วโลกน่าจะมีการบริโภคชามากกว่า 3 พันล้านถ้วยต่อวัน อุตสาหกรรมการผลิตชาในโลกนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะชาเขียวนั้นมีการผลิตที่เติบโตถึงร้อยละ 7.5 ต่อปี และคาดว่าน่าจะแตะ 3.6 ล้านตันในปี 2027

ซึ่งความนิยมในการดื่มชาไม่ได้มาจากความพอใจในรสชาติเท่านั้น เพราะเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ชามีประโยชน์ทางการรักษาโรคและบำบัดใจด้วย และปัจจุบันก็มีการศึกษาจากหลายแหล่งที่ให้ข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ จนชาได้รับการยอมรับให้เป็นเครื่องดื่มที่ทุกคนควรหันมามอง


เหตุผลทางวิทย์ฯ ว่าทำไมเราควรจิบชาให้ชิน

มีอะไรบ้างที่อยู่ในชา 1 ถ้วย?

ชาอาจไม่ใช่ยาวิเศษ แต่ Qi Sun ผู้ช่วยศาสตราจารย์ใน ภาควิชาโภชนาการ Harvard School of Public Health ได้กล่าวเอาไว้ว่า ชา ซึ่งหมายถึงใบชาจริงๆ หรือ Camellia Sinensis สามารถรวมอยู่ในหมวดหมู่ของอาหารเพื่อสุขภาพได้ เพราะในชามีสารบางอย่างที่เชื่อมโยงกับสุขภาพที่ดีขึ้น ที่เรียกกันว่า โพลีฟีนอล กลุ่มของสารประกอบในพืชที่พบได้ในพืชผักผลไม้ทั่วไป และมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและลดภาวะการอักเสบ รวมทั้งช่วยลดปัจจัยความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง และจะมีอยู่มากในชาโดยเฉพาะชาเขียว ซึ่งการผ่านกระบวนการหมักจะทำให้ช่วยเพิ่มระดับของโพลีฟีนอล ที่ในชาดำหรือชาแดงจะมีปริมาณของโพลีฟีนอลอยู่น้อยกว่า

มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ออกมาสนับสนุนว่า ชาจะช่วยเพิ่มระดับการเผาผลาญของร่างกาย จากผลการศึกษา 15 ชิ้นพบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียววันละ 2-6 ถ้วย เป็นเวลานานกว่า 12 สัปดาห์ มีไขมันในร่างกายและน้ำหนักตัวต่ำกว่าผู้ที่ไม่ดื่มชาเขียว คาเฟอีนและแอล-ธีอะนีนในชา จะช่วยการประมวลความจำ และจัดระบบสมองเพื่อการประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟลูออไรด์ในชาช่วยลดจำนวนแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดฟันผุ

ยังมีการวิจัยพบอีกว่า ส่วนผสมในถ้วยชาทำให้คนอื่มอารมณ์ดีขึ้นและเพิ่มสมาธิได้

เพราะสารฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่ในชาจะช่วยลดระดับคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด โดยหลักฐานว่าการดื่มชาเขียวอย่างน้อย 100 มิลลิลิตร หรือประมาณครึ่งถ้วยต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าได้

ชาสี่เหล่าที่เราควรรู้จัก

คำว่า ‘ชา’ ในความหมายนี้ถูกใช้กันแพร่หลายทั่วไป เพราะไม่ว่าจะเครื่องดื่มจากสมุนไพรต่างๆ ชาจากดอกไม้ ผลไม้ ก็ถูกเรียกชาเหมือนกันไปหมด ดังนั้นการพูดถึงคำว่าชาในที่นี้ เราจึงขอจำกัดวงมาแค่ชาที่มาจากใบไม้พุ่มที่ชื่อ Camellia Sinensis ถึงจะมาจากใบไม้ชนิดเดียวกัน แต่การแปรรูปที่ต่างกันก็นำมาสู่การเรียกและคุณสมบัติของชาที่แตกต่าง

ชาขาว เป็นชาที่ถูกเก็บเกี่ยวขณะที่ใบชายังปกคลุมด้วยขนสีขาวเงิน เป็นชาที่ผ่านกรรมวิธีน้อยที่สุด และให้รสชาติที่ละเอียดอ่อน มีคาเฟอีนน้อยกว่าชาดำ

ชาเขียว เป็นใบชาเขียวสดที่นำมานึ่งหรือคั่วเพื่อหยุดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในใบชา ก่อนนำคลึงเพื่อทำลายเนื้อเยื่อของใบชา และทำให้สารต่างๆ ในใบชาแตกตัวขณะชง แล้วค่อยนำไปอบแห้งเป็นกระบวนการสุดท้าย จึงให้ประโยชน์ที่โดดเด่นกว่าชาชนิดอื่น ส่วนผงชาเขียวหรือมัทฉะนั้น จะแตกต่างจากชาเขียวตรงที่ใบชาจะถูกปกคลุมเอาไว้ก่อนเก็บเกี่ยว จึงทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นกว่า และยังมีคาเฟอีนกับสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่า

ชาอู่หลง เป็นใบชาที่ผ่านกระบวนการหมักบางส่วน ทำให้มีสี กลิ่น และรสชาติอยู่ระหว่างชาเขียวและชาดำ มีปริมาณคาเฟอีนใกล้เคียงกับชาเขียว และให้ประโยชน์ใกล้เคียงกัน แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่า

ชาดำ เป็นใบชาที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมากที่สุด ตั้งแต่การเก็บใบชาอ่อนมาผึ่งให้แห้ง คลึงด้วยลูกกลิ้งให้ช้ำแต่ไม่ขาด แล้วปล่อยให้เอนไซม์ในใบชาย่อยสลายเป็นการหมัก ทำให้ใบชาเปลี่ยนสีเกิดกลิ่นและรส แล้วนำไปผ่านความร้อนจนเปลี่ยนเป็นสีดำจึงตากหรืออบแห้ง ชาดำที่เป็นที่รู้จักและนิยมกันมากคือชาผู่เอ๋อและชาอัสสัม ให้คาเฟอีนมากกว่าชาอื่นๆ ที่มาจาก Camellia Sinensis

ชงชาบำบัดใจ

Stefan Borgwardt นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า มีหลักฐานชัดเจนว่าการดื่มชาในคนที่มีสุขภาพดีปกติ จะทำให้คนอารมณ์ดีขึ้นในระดับปานกลาง แต่จากการศึกษาก็ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าชาสามารถช่วยบำบัดอาการผู้ป่วยทางจิตได้ ในขณะที่ David Kennedy นักจิตวิทยาชีววิทยาจาก Northumbria University ในนิวคาสเซิล ก็ให้ความเห็นว่า กระบวนการผ่อนคลายของอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ขั้นตอนการเตรียมชาเพื่อชงดื่มก็มีผลแล้ว

ด้วยเหตุผลของความเครียดที่คลายลงผ่านกระบวนการชงชานี้เอง ทำให้ความสำคัญของชามีมากกว่าเครื่องดื่มหลังมื้ออาหาร วัฒนธรรมการชงชาจึงได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้ในการผ่อนคลาย อย่างพิธีชงชาของญี่ปุ่น ที่สร้างกุศโลบายให้ผู้ชงชาจดจ่ออยู่กับการชงที่ต้องอาศัยสมาธิและการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เพื่อดึงความร้อนรนของใจให้ค่อยๆ สงบลง หรือการชงชาแบบดั้งเดิมของจีนที่เราเลือกมาแนะนำในคราวนี้ คือ ‘การชงชากังฟู’ ซึ่งหมายถึงการชงชาที่ต้องใช้ความเพียรพยายามและประณีตพิถีพิถัน โดยอุปกรณ์ที่เราจำเป็นต้องมีก็ได้แก่ ป้านชา จอกชา ถาดชา ที่ตักใบชา ที่คีบใบชา เหยือกพักชา

วิธีการชงก็เริ่มจาก

1. ตักใบชาชนิดที่ชอบใส่ลงในป้านชา สัดส่วนประมาณ 20% ของป้านชา เพื่อเหลือเนื้อที่ให้ใบชาคลายตัวเมื่อถูกน้ำร้อน จากนั้นเทน้ำร้อนที่เดือดใหม่ๆ มีอุณหภูมิ 85-95 องศาเซลเซียส ลงไปให้ถึงขอบป้าน
2. น้ำร้อนรอบแรกจะเป็นการล้างและกระตุ้นใบชา เมื่อเทน้ำร้อนลงไปแล้วให้รินน้ำออกราดจอกชาทันที เพื่อทำความสะอาดไปในตัว
3. ใช้คีมจับจอกชาเทน้ำทิ้ง โดยน้ำนั้นให้นำราดมาราดใส่ป้านชาเพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ให้ร้อนอยู่เสมอ
4. เริ่มชงรอบแรก ด้วยการเทน้ำร้อนสูงๆ เพื่อให้น้ำร้อนราดลงใบชาอย่างทั่วถึง จากนั้นแช่ชาไว้ประมาณ 1 นาทีหรือน้อยกว่า อย่าลืมปิดฝาป้านชาไว้ แล้วใช้น้ำร้อนเทราดป้านชาเพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ตลอด
5. รินชาลงจอกโดยให้รินต่ำๆ เพื่อให้กลิ่นหอมของชาไม่กระจายฟุ้งออกไประหว่างริน
6. ดื่มชารอบแรก ระหว่างนั้นให้เทน้ำร้อนใส่ชารอบใหม่ เพื่อเตรียมชงดื่มในรอบถัดไป หากยังดื่มไม่หมด ให้รินชาที่ชงเสร็จใส่เหยือกพักไว้ก่อน แล้วเทจากเหยือกใส่จอกเพื่อดื่ม ไม่ควรชงเกิน 3 ครั้งต่อรอบใบชา

หรือหากจะเพียงต้องการเปิดกาหรือวางแก้ว แล้วรินน้ำร้อนชงดื่มง่ายๆ จากชาถุงสำเร็จรูป ก็สามารถทำได้ด้วยการเลือกชาที่กลิ่นโปรด เทน้ำร้อนลงบนถุงชา พักไว้ประมาณ 3-5 นาที ขึ้นอยู่กับรสชาติเข้มอ่อนที่ต้องการ มีข้อแนะนำว่าไม่ควรดื่มชาเขียวในตอนเช้าขณะท้องว่างเพราะแทนนินที่มีอยู่ในชาจะขัดขวางการดูดซึมอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงควรเลือกดื่มชาเขียวประมาณ 2 ชั่วโมงหลังอาหารเช้า ส่วนชาดำควรดื่มยามบ่ายหลังอาหารกลางวัน 1-2 ชั่วโมง สมองที่ล้าจะผ่อนคลายและตื่นตัวดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ควรอยู่ห่างจากการเติมเต็มรสหวานจากน้ำตาลลงในถ้วยชา เพราะมากกว่าอารมณ์ที่ผ่อนคลาย เราอาจได้พลังงานส่วนเกินมาเพิ่มแทน

ที่มาข้อมูล
www.nature.com
www.health.harvard.edu
www.mindbodygreen.com
www.goqii.com
www.chineseteas101.com

เครดิตภาพ: Pexels