คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคำว่า ‘Sustainable’ กำลังมาแรงชนิดที่ไปไหนก็ต้องได้ยินคำนี้ แบรนด์และบริษัททั่วโลกต่างกำลังขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง และผลักดันให้การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนนี้ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็น new normal ของโลกเช่นกัน โดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นแม่ทัพตั้ง 17 เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน Sustainable development goals ที่จะพิชิตให้ได้ภายในปี 2030
แล้วในไทยเราไปถึงไหนกันแล้วนะ?
Thailand Sustainability Expo 2020 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 เมื่อวันที่ 1-4 ตุลาคม 2563 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ โดยงานนี้เป็นงานที่ภาคธุรกิจมารวมตัวกัน เพื่อเล่าเรื่องและแลกเปลี่ยนสิ่งที่องค์กรกำลังทำเพื่อขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยมีตั้งแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ กลุ่มกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัย มูลนิธิ ไปจนถึงร้านค้าของนักออกแบบ และร้านค้าจากชุมชน
ชวนมาดูเทรนด์การออกแบบเพื่อความยั่งยืน ของภาคธุรกิจในประเทศไทย ที่มีตั้งแต่แอพพลิเคชั่นสแกนปริมาณสินค้าบนชั้นวางของที่ตรวจจับได้ละเอียดถึงวัสดุและปริมาณคาร์บอนที่ใช้ในการผลิต แพลตฟอร์ม cloud data นวัตกรรมการรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก จิเวลรีจากกระดาษ ไปจนถึงอาหารน้องหมาจากโปรตีนแมลง
สายเทคโนโลยี
Intelligent Image Recognition
เทคโนโลยีการประมวลผลจากภาพถ่าย โดยบริษัท Tspace Digital พัฒนา machine learning ให้สามารถจำแนกประเภทของวัสดุและยี่ห้อของสินค้าบนชั้นวางของได้จากการถ่ายภาพ หลักการทำงานง่ายๆ เพียงถ่ายภาพชั้นวางสินค้า คอมพิวเตอร์จะประมวลจำนวนสินค้าบนเชลฟ์โดยแยกประเภทวัสดุ แก้ว พลาสติก กระป๋อง ไปจนถึงยี่ห้อสินค้า ในเชิงธุรกิจเทคโนโลยีนี้สามารถบอกสัดส่วนของสินค้าของเราบนชั้นวางไปจนถึงตำแหน่งการวางที่มีผลต่อยอดการขายและการวางแผนธุรกิจ และคุณลักษณะของวัสดุที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อโลกด้วย นอกจากนั้นนี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ machine learning ในการจำแนกประเภทวัสดุจากภาพในประเทศไทย ซึ่งสามารถต่อยอดไปทำงานร่วมกับระบบการคัดแยกขยะ ให้สามารถแยกขยะตามประเภทวัสดุแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย
Goliath-Powered Smart City Concept Dashboard
คือแพลตฟอร์ม Data exchange and AI ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัย CMKL (สถาบันร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon สหรัฐอเมริกา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง) ภายใต้โครงการ Apex-Goliath หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยและพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์
ในยุคนี้ที่ข้อมูลคือขุมทรัพย์ และอาจมีค่ามากกว่าทอง การเข้าถึง เก็บรวมรวบ และใช้งานชุดข้อมูลในประเทศไทยยังมีช่องว่างและความซับซ้อนอยู่มาก แพลตฟอร์มนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เป็นห้องสมุดของข้อมูลที่เปิดให้นักวิจัยได้เข้ามาแลกเปลี่ยนและใช้งานข้อมูลเพื่อออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งออกแบบหน้าตาแสดงผล (dash board) ให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้ ซึ่งในงานนี้ทีมก็ได้นำโปรโตไทป์มาโชว์ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สวมบทบาทเป็นนักวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อข้อมูลเข้าถึงได้เพียงแค่ปลายนิ้ว ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ก็เกิดได้ไม่รู้จบ
บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
ภาคธุรกิจนำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ การขยับตัวของบริษัทน้ำดื่มรายใหญ่ ส่งเสริมการรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุ และการเพิ่มมูลค่าหลังการใช้งาน (upcycling) เช่น นำเม็ดพลาสติกจากการีไซเคิลมาผลิตเป็นเสื้อให้กับพนักงาน เปลี่ยนมาใช้พลาสติกที่รีไซเคิลได้ 100% เพิ่มบรรจุภัณฑ์แบบแก้วทดแทนการใช้พลาสติก
กระป๋องอะลูมิเนียม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของบรรจุภัณฑ์แทนขวดพลาสติกที่มีอัตราการรีไซเคิลในระบบสูงถึง 75% และเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ 100% โดยไม่มีการดาวน์เกรดของวัสดุ และเป็นวัสดุที่บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่หลายรายกำลังหันความสนใจและเลือกใช้แทนการผลิตขวดพลาสติก นอกจากนี้ โรงงาน TBC Ball ผู้ผลิตกระป๋อง ยังจับมือกับสมาคมซาเล้ง รับซื้อกระป๋องอะลูมิเนียม เพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิล พาวัสดุกลับเข้าลูป และหมุนเวียนในระบบอย่างยั่งยืน
นอกจากกระป๋องอะลูมิเนียมแล้ว ในงานนี้ยังมี บรรจุภัณฑ์ข้าวที่ผลิตจากแกลบเหลือใช้จากโรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์ของ Srisangdao Rice Packaging ที่สวยทั้งรูปสวยทั้งความคิดต่อกันด้วยแก๊งใบไม้ ที่มีมีตั้งแต่จานกาบหมาก เครื่องปั๊มจานใบไม้ ที่สามารถแปลงร่างใบไม่ทุกชนิดมาเป็นจานใส่อาหาร ไปจนถึงกระเป๋าจากใบตองตึงธรรมชาติ ของแบรนด์ Mr.Leaf
เขยิบมาที่เรื่องกินกันบ้าง
More meat
อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำร้ายโลกด้วยการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาล การกินแบบ Plant-based จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนอยากรักโลก แต่ก็มีคนอีกไ่ม่น้อยที่โลกก็อยากรักแต่เนื้อก็ยังอยากกิน นวัตกรรมโปรตีนจากพืชที่ให้ผิวสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์จึงถูกผลิตมาเพื่อตอบโจทย์นี้ More Meat คือโปรตีนทางเลือกยี่ห้อของคนไทย ที่อร่อยถูกปากคนไทยและไม่เบียดเบียนโลก
Space – F
สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร และโครงการบ่มเพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยีอาหาร แห่งเเรกในประเทศไทย ที่ยกเมนูแห่งโลกอนาคตจากห้องทดลองทั่วเอเชียมาเสิร์ฟในงานนี้ อาทิ Let’s Plant Meat เนื้อจากพืชที่เหมาะกับอาหารเอเชีย น้ำนมงา วุ้นจอกแหน พืชโปรตีนสูง จาก Advanced Green Farm และเทคโนโลยีในวงการอาหาร
Laika
ยังอยู่ที่ของกิน แต่คราวนี้เป็นของน้องหมากันบ้าง Laika คือขนมของน้องหมาที่อัดแน่นไปด้วยโปรตีน สารอาหาร ถูกหลักโภชนาการ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังช่วยลดอาหารขยะอีกด้วย เพราะนี่คือผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดมาจากฟาร์มหนอน ที่ใช้เศษอาหาร หรือผักผลไม้ที่ไม่สวยมาเป็นอาหารของหนอน และนำหนอนมาทำเป็นขนมของน้องหมานั่นเอง และหนอนนี้แหละที่ทั่วโลกยกให้เป็นซูเปอร์ฟู้ด โปรตีนทางเลือกให้โลกอนาคต แถมตอบโจทย์การกินของสุนัข ที่ชอบกินอาหารที่มีผิวสัมผัสและกลิ่น เรียกได้ว่าครบทั้งคุณประโยชน์ต่อสัตว์เลี้ยงแสนรักและโลกที่เรารัก
ต่อกันที่ สายช้อป
Basic Teeory
สร้อยคอ กำไล ต่างหู จากกระดาษ เศษแก้ว และเศษวัสดุจากการก่อสร้าง เจ้าของแบรนด์เล่าให้เราฟังว่า ไอเดียเริ่มจากเขาเชื่อว่าจิเวลรีทุกชิ้นมีคุณค่าในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำจาก เงิน ทอง ของมีค่าเท่านั้น จึงหยิบเอาวัสดุเหลือทิ้งมาแปลงโฉม คอลเล็กชั่นแรกคือจิเวลรีจากกระดาษ Paper you can wear เครื่องประดับสุดเก๋ ที่ไปฝากตัวอยู่ในมิวเซียมชอป ทั่วโลก ทั้ง เยอรมัน สิงคโปร์ ฮ่องกง และที่สำคัญทุกชิ้นสะท้อนว่าทุกวัสดุมีคุณค่าในตัวเอง คนใส่ก็เช่นกัน
Folkcharm
แบรนด์เสื้อผ้าฝ้ายแสนน่ารัก ที่น่ารักตั้งแต่ลวดลวย รูปทรง ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตและที่มาของฝ้ายทุกเส้นที่ทำงานแบบแฟร์ๆ กับชุมชน เส้นฝ้ายมาจากไร่ปลอดสารเคมีในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดเลย ทอด้วยมือชาวบ้านในจังหวัด และตัดเย็บด้วยช่างย่านบางกะปิ เพื่อส่งเสริมหัตถกรรมในชุมชน กลายมาเป็นเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า ที่เป็นมิตรต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในงาน และเราเชื่อว่ายังมีอีกลายคนหลายองค์กรที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกันในแบบของตัวเอง เพราะเรื่องนี้ไม่มีใครเข้าเส้นชัยคนเดียวได้ แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อเคลื่อนทั้งองคาพยพ
รายละเอียด: www.thailandsustainability.com
เครดิตภาพ: