กระแสโลกที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันในวันนี้ หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของอาหารและการกินอยู่ ที่ชวนให้คนหันมาสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นภาพกันชัดเจนแล้วว่า หากระบบการผลิตที่ผูกขาดเกิดพังครืนขึ้นมา ความมั่นคงที่เคยมีก็กลับกลายเป็นความขาดแคลนได้ง่ายๆ

แนวคิดของการการสร้าง ‘อธิปไตยทางอาหาร’ (food sovereignty) ภายในสังคมนั้น หัวใจสำคัญที่นอกจากการทำให้สังคมหันมาสนใจอาหารในมิติเชิงวัฒนธรรมแล้ว ยังรวมถึงการพยายามเสนอทางเลือกอื่นๆ นอกจากการใช้กลไกเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาความหิวโหย ในข้อแม้ว่าใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด และทำให้เกิดผลกระทบด้านลบกับสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อาทิ การรณรงค์ให้รัฐและผู้คนใช้พื้นที่รกร้างเพื่อการสร้างอาหาร (the common food)​ หรือการผลักดันให้เกิดเทรนด์การกินใหม่ๆ ที่ทั้งรักสุขภาพและรักโลกไปพร้อมๆ กัน อย่างเทรนด์ ‘เก็บกิน’ (foraging food) ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่รัฐเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาเรื่องระบบอาหารอย่างจริงจัง และยิ่งได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอีกเมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดที่ทำให้การกระจายอาหารพบอุปสรรค

จนเกิดคำถามว่า ถ้าไม่มีตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วฉันจะมีชีวิตอยู่ได้ยังไง? ชีวิตเราพึ่งพิงคนกลางในการเข้าถึงอาหารมากเกินไปหรือเปล่า? ถ้าวันหนึ่งการนำเข้า-ส่งออกอาหารติดขัดขึ้นมา จะกระทบปากท้องของเราขนาดไหน?

และคำตอบที่นักกิจกรรมด้านอาหารหลายคนลงความเห็นตรงหันว่าน่าสนใจและพัฒนาต่อได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีพืชพรรณหลากหลายอย่างแถบสแกนดิเนเวีย อเมริกาใต้ รวมถึงเอเชีย แน่นอนว่าไทยเราด้วยเช่นกัน ก็คือ การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารให้กับผู้คน เพื่อเชื่อมโยง ‘พืชอาหาร’ ที่หยั่งรากอยู่ตามตรอกซอกซอยกลางเมืองหรือในป่าเล็กๆ ละแวกชานเมือง เข้ากับโต๊ะอาหารของทุกๆ ครัวเรือน รวมถึงผลักดันการสร้างอาหารบนพื้นที่ส่วนกลาง อย่างที่ดินรกร้าง เกาะกลางถนน ป่าชุมชน หรือริมถนนที่มีผืนดินเล็กๆ พอให้ผักสวนครัวเติบโตและผลิดอกออกผลให้เก็บกิน

เทรนด์เก็บกินที่ชวนชาวเมืองมาสร้างครัวส่วนกลาง

เพื่อให้เห็นภาพกว้างและแรงบันดาลใจ เราอยากชวนสำรวจเทรนด์เก็บกินที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามในสวีเดน อย่างโปรเจ็กต์ Edible Country ที่รัฐและนักกิจกรรมด้านอาหารจับมือกันผลักดันให้ชาวสวีดิชลุกขึ้นมาสำรวจว่ารอบๆ ตัวมีพืชพรรณอะไรกินได้อยู่บ้าง ผ่านการให้ความรู้เรื่องพืชอาหารผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น รวมถึงการสร้าง ‘ครัวกลาง’ ไว้ตามมุมเมือง โดยมีเครื่องครัว โต๊ะอาหาร และเชฟมืออาชีพผู้พร้อมนำวัตถุดิบที่เราเก็บหามาได้ มาใช้ปรุงอาหารแสนอร่อยเสิร์ฟเป็นมื้อเย็นที่ทั้งอิ่มอร่อยแถมยังอิ่มอกอิ่มใจ

โปรเจ็กต์ดังกล่าวได้เสียงตอบรับอย่างล้นหลาม จากทั้งคนรุ่นใหม่ที่อยากจะขยายอาณาเขตความหลากหลายของอาหารให้ไปไกลกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต และคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ผู้หวนคิดถึงอดีตอันแสนหวาน ครั้งที่วิถีการเก็บกินยังเป็นเรื่องสามัญในชีวิตประจำวัน และการปรุงอาหารกินเองนับเป็นทักษะจำเป็น

สำหรับบ้านเราเองก็ไม่น้อยหน้า ด้วยวิถีการเก็บกินนั้นถือเป็นรากเหง้าของสังคมไทยมาเนิ่นนาน จากความเป็นสังคมเกษตรกรรมเก่าแก่ที่อุดมด้วยองค์ความรู้ทั้งเรื่องอาหารสร้าง การปรุงอาหาร และการเก็บหาอาหารจึงไม่แปลกที่คนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าของเราจะรู้ว่าผักริมรั้วชนิดไหนกินอร่อย และผักริมทางชนิดใดสามารถนำมาปรุงอาหารรสเลิศ ทว่าเมื่อเวลาผ่าน องค์ความรู้และภูมิปัญญาเหล่านี้บ้างก็เลือนหาย บ้างก็ตายจากสังคมไปอย่างน่าเสียดาย

ลงขันความคิด ลงแรงสร้างอาหาร

ทว่าความหวังยังมี ด้วยปัจจุบันมีกลุ่มคนที่หันมาตระหนักถึงแหล่งอาหารรอบตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเกิดโปรเจ็กต์น่าสนใจชวนให้ทั้งคนเมืองและคนชานเมืองเข้ามาร่วมเรียนรู้ ลงความคิด และลงแรงสร้างอาหารไปด้วยกัน

อาทิ ‘สวนผักคนเมืองเชียงใหม่’ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และนักกิจกรรมด้านอาหาร ปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง 3 ไร่กลางเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างอาหาร โดยประเมินกันว่าผลผลิตจากผืนดินแห่งนี้จะสามารถหล่อเลี้ยงปากท้องของผู้คนได้ราว 300 ครัวเรือน โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตโรคระบาดที่อาหารกลายเป็นปัจจัยสำคัญลำดับแรกของชีวิต

นอกเหนือจากนั้นยังรวมถึงโครงการระดับตำบลที่ได้รับความสนใจระดับประเทศอย่าง ‘ถนนกินได้ ไร้สารพิษ’ ซึ่งเกิดขึ้น ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านการร่วมมือระหว่างรัฐส่วนกลางและการปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนเงินทุนและองค์ความรู้ให้แต่ละหมู่บ้านเปลี่ยนที่ดินริมถนนทางหลวงเป็นแปลงผักสวนครัว เน้นปลูกผักที่ดูแลง่าย เก็บกินได้นาน รวมถึงผักพื้นบ้านที่กำลังจะถูกหลงลืม โดยมีหลักการว่าห้ามใช้สารเคมีในการเพาะปลูก และห้ามเก็บไปขายทำกำไร

ซึ่งโครงการดังกล่าวค่อยๆ เดินหน้าพัฒนามาร่วมทศวรรษ กระทั่งปัจจุบันมีสวนผักริมถนนความยาวรวมกัน 21 กิโลเมตร และกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวสุราษฎร์ธานีอย่างไม่ต้องสงสัย

ความสำคัญและภาพความสำเร็จของการ ‘สร้างและหาอาหาร’ ที่กล่าวข้างต้น เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าอาหารนั้นมีอาณาเขตกว้างไกลกว่าตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตมากมาย เพราะแท้จริงอาหารนั้นคือสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบกายของมนุษยชาติ… อย่างที่มันดำรงและยังคงเป็นมานับล้านปี

ติดตามรายละเอียดโปรเจ็กต์ Edible Country ของสวีเดนได้ที่: Edible Country

ภาพถ่าย: อรุณวตรี รัตนธารี, Greenery