รู้หรือไม่ว่าองค์การอนามัยโลก มีข้อกำหนดให้เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกที่มีประชากรหนาแน่นต้องมีพื้นที่สีเขียว เป็นสัดส่วนอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน เพราะพื้นที่สีเขียวนั้นสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองได้อย่างยั่งยืน ทั้งในแง่ของการพักผ่อนหย่อนใจ สร้างบรรยากาศเมืองที่ร่มรื่นและเป็นมิตร ช่วยลดมลภาวะและทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นไปด้วย
องค์การสหประชาชาติซึ่งก็เห็นถึงความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียว จึงได้กำหนดเรื่องการพัฒนาและการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสำหรับคนทุกกลุ่ม รวมทั้งสนับสนุนให้เมืองมีนโยบายที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไว้ในเป้าหมายที่ 11 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยเป้าหมายที่ 11 นี้ ยังแยกย่อยลงไปอีกถึงหลายๆ มิติของเมือง ซึ่งสรุปรวมได้ว่า คือการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน
ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในประเทศภาคีทั่วโลก ในการนำทั้ง 17 เป้าหมายนี้มาเป็นแนวทางพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายในปี 2030
ในบทความนี้ Greenery. ชวนมาดูนโยบาย การออกแบบ และการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองใหญ่ ว่ามีไอเดียในการเพิ่มคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตคนเมืองอย่างไร เพราะหากออกแบบดีๆ โดยคำนึงถึงศาสตร์หลายๆ แขนงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวจะไม่เพียงแค่ทำหน้าที่เป็นปอดของคนเมือง เพราะยังช่วยแก้ปัญหาบางอย่างที่เมืองเคยมี จนยกระดับเป็นพื้นที่สันทนาการ หรือแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องไปเยือนของเมืองนั้นๆ ได้เลย และหลายเมืองก็ทำสำเร็จมาแล้ว
เปลี่ยนทางรถไฟร้างเก่าเป็นทางเดินเท้าชมธรรมชาติแบบลอยฟ้า
เมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอย่างมหานครนิวยอร์ก มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 16.97 ตารางเมตรต่อคน นอกจากจะมีสวนสาธารณะที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างเซ็นทรัล ปาร์ก ซึ่งมีขนาด 750 ไร่ (ประมาณสนามฟุตบอล 460 สนามเรียงต่อกัน) ใจกลางมหานครแล้ว ด้วยประชากรเมืองมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และคาดว่ายังจะมีประชากรย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050 ทำให้นิวยอร์กเร่งวางแผนให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่ม โดยใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟเก่าลอยฟ้าของเกาะแมนฮัตตันให้กลายเป็นเส้นทางเดินเท้ากลางแจ้งยาว 23 ช่วงตึก ชื่อว่า The High Line โดยแบ่งเป็นพื้นที่สวนและพื้นที่นั่งเล่นหลากหลายรูปแบบ ไปจนถึงพื้นที่แสดงดนตรีและงานศิลปะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสวนสาธารณะไม่จำเป็นต้องอยู่บนพื้นดินอย่างเดียว และทางเดินเท้าลอยฟ้าก็ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่เสมอไป เพียงแค่คิดสร้างสรรค์ต่อจากเส้นทางเดิมที่เคยมีอยู่ ทางรถไฟร้างเก่าที่เคยไร้ประโยชน์ก็เปลี่ยนมาเป็นปอดของคนเมือง และใช้เดินเท้าสัญจรไปมาในชีวิตประจำวันได้
Green Global Connect
เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวถึง 235.73 ตารางเมตรต่อคน เมื่อไม่ได้มีปัญหาในเรื่องพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ ซิดนีย์จึงเน้นวางแผนเรื่องการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับประชากรที่จะย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยแทน โดยออกแบบให้ประชาชนเดินทางด้วย Active Transports เช่น การเดินหรือขี่จักรยานมาต่อรถบัสประจำทาง เรือข้ามฟาก รถรางไฟฟ้า และรถไฟ ซึ่งมีสถานีอยู่ที่ทางเข้าสวนสาธารณะต่างๆ เพื่อลดการใช้รถยนต์ เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชน กลยุทธ์ Green Global Connect ที่วางไว้เป็นแนวทางถึงปี 2030 เน้นการพัฒนาพื้นที่เดิมที่มีอยู่ให้ตอบสนองการใช้งานและวิถีชีวิตในปัจจุบันพร้อมๆ กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปในศตวรรษนี้ โดยที่เมืองและผู้คนต้องมีความสามารถในการปรับตัวได้
เราจึงเห็นการปรับปรุงพื้นที่ต่อยอดมาจากสวนหย่อมและสวนสาธารณะที่มีอยู่แล้วทั่วเมืองในแต่ละย่านชุมชน ไปจนถึงสวนต้นไม้น้ำสำหรับเด็กที่ทำหน้าที่เป็นเขื่อนทดน้ำ ป้องกันน้ำท่วมหากฝนตกหนัก และสวนสาธารณะที่พัฒนามาจากพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า หรือโครงการเซ็นทรัล พาร์ก มอลล์ ย่านช้อปปิ้งและที่อยู่อาศัยแนวสูงกลางเมืองที่โครงการได้ออกแบบการปลูกต้นไม้ไว้ทุกๆ บานกระจกรอบนอกตึก เพื่อให้ต้นไม้ช่วยกรองแสงแดดระหว่างวันได้
เป็นการออกแบบพื้นที่สีเขียวให้มีฟังก์ชั่นตอบสนองกับอาคารพาณิชย์ และสภาพภูมิอากาศแห้งและร้อนของออสเตรเลียได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเพิ่มความโดดเด่นสวยงามให้กับย่านนี้ขึ้นมาด้วย
กลยุทธ์ทั้งหมดนี้ช่วยดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอยู่อาศัย ใช้ชีวิตในการทำงานหรือการเรียน เป็นการเพิ่มทั้งมูลค่าของย่านต่างๆ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ไปด้วยพร้อมกัน
คุ้มครองต้นไม้ด้วยพ.ร.บ.
สิ่งที่เมืองไทเปของไต้หวันโดดเด่น อาจจะยังไม่ใช่ตัวเลขของสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมืองต่อจำนวนประชากร เพราะในปี 2019 ตัวเลขนั้นยังอยู่ที่ 5.94 ตารางเมตรต่อคนสำหรับในพื้นที่ย่านใจกลางเมือง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองที่แซมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้ตามถนนหนทาง ร้านค้า และบ้านเรือนต่างๆ โดยที่ไม่มีเสาไฟฟ้าหรือสายไฟต่างๆ กีดขวางกิ่งก้านของต้นไม้ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องคอยตัดต้นไม้ทิ้งเพราะเกรงว่าจะไปพันกับสายไฟจนเกิดอันตรายได้
ที่เป็นอย่างนี้ได้ก็เพราะในปี 2003 รัฐบาลเมืองไทเปได้ร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองต้นไม้ที่สูง 15 เมตรขึ้นไป และต้นไม้ที่มีอายุเกิน 50 ปี
และยังคุ้มครองต้นไม้ขนาดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น มีวงรอบลำต้น 80 เซนติเมตร หรือต้นไม้ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมในท้องถิ่น ต่อเนื่องมาจนถึงพ.ร.บ.คุ้มครองต้นไม้ฉบับแก้ไขในปี 2015 ที่เพิ่มการติดตามดูแลต้นไม้ในเมืองทั่วทั้งเกาะไต้หวัน เพื่อแก้ไขอดีตที่มีการตัดต้นไม้ไม่ให้ขวางการก่อสร้างต่างๆ ของเมือง โดยตอนนี้มีต้นไม้กว่า 2,000 ต้นในไทเปที่เข้าเงื่อนไขของพ.ร.บ.คุ้มครองต้นไม้นี้ไปแล้ว
และด้วยเทรนด์ของโลกที่เน้นการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ทางรัฐบาลเมืองไทเปใหม่ (New Taipei City Government) จึงทำให้ไทเปเป็นเมืองสีเขียวที่น่าอยู่ขึ้นไปอีก นอกจากจะรักษาต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ และการปลูกต้นไม้เพิ่มร่วมกับชาวเมืองแล้ว ยังมีสวนผักกลางเมืองที่ถนนฟูจิน ถนนสายฮิปสเตอร์ของชาวไทเป ซึ่งปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักสวนครัว ให้ผู้อยู่อาศัยในย่านนี้ได้ใช้ประโยชน์ ส่วนพื้นที่บนทางเดินเท้าที่ไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ ก็มีการปลูกต้นไม้ในกระถางวางเรียงรายแซมเข้าไปกับต้นไม้ใหญ่ๆ ที่อยู่ตามเกาะกลางถนน และมีต้นไม้ปลูกตามสะพานลอยต่างๆ ไปจนถึงตามระเบียงตึกที่อยู่อาศัย ทำให้ไทเปสามารถเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับธรรมชาติได้แม้ว่าจะมีพื้นที่จำกัด
กรุงเทพมหานคร โอกาสการเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียว
กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ของโลกที่มีประชากรหนาแน่นอย่างที่เล่ามา จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ในปี 2018 เมืองหลวงของเรามีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรอยู่ที่ 6.23 ตารางเมตร ซึ่งตัวเลขนี้คำนวณจากจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ตามสำนักทะเบียนราษฎร์ที่ 5.68 ล้านคน แต่ยังไม่รวมถึงประชากรแฝง ซึ่งหากว่ารวมเข้าไปด้วยก็จะมีประชากรประมาณ 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ ดังนั้นอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรจริงๆ จึงจะอยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งยังห่างจากเกณฑ์มาตรฐานของ WHO อยู่มากเลยทีเดียว
ถึงอย่างนั้นกรุงเทพฯ เองก็กำลังพัฒนาเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามอย่างเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร วางเป้าหมายไว้ว่าเราจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเป็น 9 ตารางเมตรต่อคนให้ได้ใน 10 ปีข้างหน้า โดยปี 2018 ได้เปิดสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น 3 แห่ง ได้แก่ สวน 9 เนิน เดินตามรอยพ่อ ย่านฝั่งธนบุรี สวนบางแคภิรมย์ บริเวณ ซอยเพชรเกษม 69 และสวนสาธารณะบึงลำไผ่ ย่านมีนบุรี
ตอนนี้สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มีจำนวนทั้งหมด 39 แห่ง แต่การจะไปสวนแต่ละที่ต้องมีความตั้งใจที่จะไป เพราะไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถเดินผ่านเข้าไปได้ง่ายๆ และแต่ละสวนก็อยู่ห่างกัน
ดังนั้นหากกรุงเทพฯ ในอนาคต มีการออกแบบพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับสัดส่วนที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่อย่างน้อย 9:1 ก็สามารถออกแบบให้พื้นที่สีเขียวแต่ละแห่งสามารถเชื่อมถึงกันได้โดยง่าย เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียวตามถนนที่สามารถเดินเท้าได้จนถึงสวนสาธารณะ ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มการเข้าถึงธรรมชาติของคนเมืองได้มากขึ้นในชีวิตประจำวัน
ล่าสุดทางกรุงเทพมหานครจึงได้มีการประกาศความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชน นำโดยกลุ่ม We Parks และ Big Trees ทำโครงการ Green Bangkok 2030 ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองให้ดีขึ้นผ่านการปรับปรุงและเพิ่มเติมพื้นที่สีเขียวริมทาง ระยะเริ่มแรก 11 โครงการ และทำให้ประชาชนสามารถเดินทางโดยเท้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 5 นาที (ระยะห่างจากพื้นที่สีเขียวไม่เกิน 400 เมตร) โดยโครงการแรกจะเป็นการปรับปรุงสะพานเขียว ทางเดินจากสวนลุมพินีที่ตัดผ่านชุมชนจนถึงสวนเบญจกิติ
กรุงเทพฯ ยังคงเป็นเมืองที่มีศักยภาพ มีความพร้อมทุกด้าน และมีเสน่ห์ในการเข้ามาใช้ชีวิตทำงานและอยู่อาศัย หากเรายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองขึ้นมาได้ ผ่านการออกแบบและดูแลพื้นที่สีเขียวที่เรามีและกำลังจะมีเพิ่มขึ้นอย่างชาญฉลาด ด้วยการคำนึงถึงความยั่งยืนของความเป็นอยู่ในเมืองแบบระยะยาวทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง เมืองหลวงแห่งนี้ก็จะน่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่ม อย่างที่เราอยากเห็นกัน
ที่มาข้อมูล
www.aroundonline.com
www.centralparksydney.com
www.cityofsydney.nsw.gov.au
www.dsignsomething.com
www.gfms.gistda.or.th
www.naewna.com
www.palanla.com
www.propertytoday.in.th
www.sdgmove.com
www.taiwantoday.tw
www.thebangkokinsight.com
www.thehighline.org
www.thestandard.co
ภาพถ่าย: ภูษณิศา กมลนรเทพ, Shutter Stock