ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 ที่รัฐบาลและเอกชนประกาศการลด-งดใช้ถุงพลาสติกภายในประเทศ คล้อยตามกับเทรนด์ในหลายประเทศทั่วโลกที่เริ่มประกาศแบนถุงพลาสติกตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เมื่อเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายนปี 2019 แต่ก็น่าเสียดายที่ระหว่างที่ผู้คนกำลังปรับตัวกับการพกถุงผ้ากันได้มากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ  สถานการณ์โควิด-19 ก็เข้ามาทำให้ผู้คนกลับไปใช้พลาสติกเยอะขึ้นอีก เมื่อผู้บริโภคต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น และมีช่วงที่ต้องออกจากบ้านให้น้อยลง จึงเกิดการสั่งอาหารออนไลน์ สั่งของออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยจนมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

เพราะการระบาดในคราวนั้นเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ไม่น้อย ทางภาคเอกชนและภาครัฐเองจึงต้องมีการเพิ่มมาตรการความปลอดภัย และพลาสติกก็คือทางเลือกที่สะดวกที่สุดในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุพลาสติกมากั้นสถานที่ต่างๆ ในการให้บริการ ร้านอาหารเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติก ช้อน-ส้อมพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งในการบรรจุอาหาร แม้แต่การรับประทานอาหารภายในร้านเองก็ตามที ทำให้ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนที่ผ่านมา ขยะพลาสติกในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.68 ตันต่อวัน นอกจากขยะจากการอุปโภคบริโภคแล้ว อีกส่วนหนึ่งนั้นยังมาจากขยะติดเชื้อ เช่น ชุดป้องกัน ถุงมือ และหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งล้วนมีส่วนผสมของพลาสติกโพลิโพรไพลีน (Polypropylene) ในการป้องกันเชื้อโรคและของเหลว

จากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มจำนวนมากขึ้น และแม้ตัวเราอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบโดยตรง แต่ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ส่งผลกระทบต่อการติดเชื้อจากคนสู่คนได้เหมือนกัน เช่น การทิ้งขยะที่สามารถแพร่เชื้อได้ไม่เป็นที่ ส่งผลต่อพนักงานเก็บขยะ คนเดินถนน เป็นต้น แล้วต่อจากนี้ไปเราจะอยู่อย่างไรให้ปลอดภัย ในวันที่ชีวิตยังต้องเฝ้าระวัง โดยที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย


เราทุกคนทำได้
!

ในฐานะผู้บริโภค เราเริ่มจากตนเองได้โดยการย้ำเตือนตัวเอง โดยการพกอุปกรณ์การป้องกันตนเองส่วนตัวไปด้วยเมื่อออกจากบ้าน อย่างหน้ากากผ้าซักได้เพื่อจะได้ใช้ซ้ำได้อีก นอกจากจะเป็นการลดสิ่งของใช้แล้วทิ้ง ยังทำให้เรามั่นใจว่าของที่เราทำความสะอาดเองและใช้เองส่วนตัวนั้นปลอดภัยแน่นอน และยังช่วยป้องกันตัวเราจากเชื้อโรคที่อาจมากับสิ่งของที่ใช้ส่วนรวม และการพกถุงผ้า หลอดพกพา แก้วกาแฟส่วนตัว กระติกน้ำ ช้อน-ส้อม ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่ และน่าทำยิ่งขึ้นด้วย

เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรค เราพบว่ามีการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะป้องกันการแพร่เชื้อได้ แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในหลายประเทศก็เผยออกมาว่า

การใช้บรรจุภัณฑ์แบบพลาสติกใช้ครั้งเดียวไม่ได้ทำให้การติดเชื้อโควิด-19 ลดลงเลย เพราะไม่ว่าพื้นผิวของวัสดุนั้นเป็นอะไร ก็สามารถกระจายเชื้อได้ทั้งสิ้น แต่การติดต่อทางพื้นผิวสัมผัสนั้นก็มีโอกาสน้อย

กุญแจสำคัญที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการควรรับรู้ก็คือ การล้างทำความสะอาดภาชนะให้ถูกสุขลักษณะอยู่เสมอคือทางออกที่แก้ได้ ไม่ใช่การเปลี่ยนกลับมาใช้วัสดุพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งตามที่เชื่อกันมา ดังนั้นการใช้วัสดุพลาสติกเพื่อความสะอาด ปลอดภัย ยังคงเป็นเรื่องของการนึกคิด (perception) ไม่ใช่ความจริงในแง่วิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

เทรนด์ที่เปลี่ยนไปของฟากฝั่งธุรกิจที่สิ่งแวดล้อมคือโจทย์หลัก

หันมาดูทางภาคเอกชนที่ก็ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ และการปรับตัวนั้นก็ทำให้เราได้เห็นว่า การใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งไม่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้นเพราะสถานการณ์โควิด-19 เสมอไป เพราะแบรนด์สินค้าและการให้บริการต่างๆ นั้นมีวิธีการป้องกันเชื้อโรคและการติดต่อโรคโดยใช้วัสดุอื่นแทนพลาสติก ร้านอาหารอาจไม่จำเป็นต้องบรรจุอาหารหรือเครื่องปรุงแยกใส่กล่องพลาสติกเสียทุกครั้ง แต่สามารถใช้ภาชนะใช้ซ้ำโดยสื่อสารให้ผู้บริโภครับทราบว่าทางร้านได้มีกรรมวิธีในการล้างและฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เครื่องอบความร้อนฆ่าเชื้อโรคหลังจากล้างทำความสะอาดภาชนะตามปกติเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น

ในปี 2020 นี้ ธุรกิจที่มีนโยบายขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ยังคงมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นจากผู้บริโภค เพราะกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความอยากใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นของคนเมือง และการอยากเป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มปรับตัวด้านการบริการ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของผู้บริโภคทั่วโลก และการป้องกันเรื่องความสะอาดปลอดภัย

Mckinsey Report รายงานว่า เทรนด์การออกแบบผลิตภัณฑ์ในยุค 2020 ยังคงต้องตอบสนองความยั่งยืน (sustainability) ความสะดวกในการขนส่ง การใช้งาน และต้องไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร บรรจุภัณฑ์ต้องตอบโจทย์การซื้อ-ขายออนไลน์ทันที โดยไม่ต้องทำการแพ็กของหลายรอบ และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคปลายทาง โจทย์เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายการออกแบบยุคใหม่ที่นักออกแบบต้องขบคิดมากขึ้นกว่าเดิม

แล้วเราควรออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างไรหากยังคงต้องใช้พลาสติก โดยทั่วไปพลาสติกเป็นวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% หากถูกคัดแยกและจัดเก็บอย่างถูกต้องก็จะไม่รั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาการผลิตบรรจุภัณฑ์หนึ่งจะประกอบไปด้วยฟิล์มหลายชั้น ฟิล์มเหล่านั้นก็ประกอบหรือผสมกับวัสดุชนิดอื่นที่ไม่ใช่พลาสติกด้วย (Multi-Layer Film) ทำให้บรรจุภัณฑ์นั้นไม่สามารถรีไซเคิลได้  เมื่อมีการออกมาตรการควบคุมโรคก็ยิ่งทำให้ต้นทุนทางด้านทรัพยากรสูงขึ้น ดังนั้นธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับเทรนด์การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบ Mono Material หรือการผลิตบรรจุภัณฑ์หลายชั้นจากการใช้วัสดุชนิดเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น

การจัดการในภาครัฐที่ยังต้องเดินหน้า

ในสถานการณ์นี้ ภาครัฐเองสามารถดูแลจัดการการลดปริมาณขยะที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากทางการแพทย์ การสาธารณสุข และจากการใช้ชีวิตประจำวัน เมืองต่างๆ ก็สามารถใช้สถานการณ์หลังจากโควิด-19 มาเป็นโอกาสในการจัดการทิ้งและแยกขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเรื่องการระมัดระวังเรื่องความสะอาดและเชื้อโรคอยู่แล้ว

การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยการสื่อสารเรื่องการคัดแยกขยะ เพื่อให้พื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่นหรือรวมตัวกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ตลาด สวนสาธารณะ ชุมชนตึกแถว คอนโด หมู่บ้าน จุดรอขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ให้มีถังขยะที่ปิดมิดชิดและแยกประเภทของขยะชัดเจน จะช่วยให้ขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัยและถุงมือแบบใช้แล้วทิ้งได้รับการส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธี ส่วนขยะอื่นๆ เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทต่างๆ  ก็จะได้รับการคัดแยกจากประชาชนโดยการช่วยทิ้งลงตามถังขยะที่จัดไว้ กระบวนการนี้สามารถทำให้การรีไซเคิลเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจากไลฟ์สไตล์ที่ระมัดระวังตัวมากขึ้นของผู้คนด้วย

ในประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้เขียนแผนงาน Circular Economy Roadmap เพื่อลดปริมาณและเลิกใช้พลาสติกในประเทศไทยปี 2561-2573 ประกอบด้วยนโยบาย BCG คือ Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

โดยปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท คือ พลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก ส่วนปี 2570 นั้น มีเป้าหมายในการนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ใหม่ 100%

สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกหลังโควิด-19 บอกเราว่าเรายังจำเป็นที่จะต้องอยู่กับพลาสติก เพียงแต่ว่าเราจะมีวิธีการอยู่อย่างไรให้ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน ลดในส่วนที่ไม่จำเป็น โดยที่ทุกฝ่ายสามารถช่วยกันจัดการขยะพลาสติกและขยะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ได้

ที่มาข้อมูล:

www.asia.nikkei.com
www.bangkokbanksme.com
www.bangkokbiznews.com
www.greenpeace.org
www.marketingoops.com
www.mckinsey.com
www.techsauce.co
www.theconversation.com
www.weforum.org

เครดิตภาพ: ภูษณิศา กมลนรเทพ, pexels, vericool packaging