ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกปวดใจไปทุกครั้ง ที่เห็นต้นไม้เก่าแก่ต้องถูกตัดเพื่อเปิดทางให้อาคารหลังใหม่ได้มาแทนที่ อยากบอกว่ามีคนที่เจ็บปวดไปพร้อมกับคุณอยู่จำนวนไม่น้อย และก็มีคนอยู่จำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่หาทางออกให้กับเรื่องนี้ ด้วยความเชื่อว่า ต้นไม้ต้นเก่ากับอาคารหลังใหม่นั้นอยู่ด้วยกันได้ ไม่เห็นจะต้องเลือกใครแค่เพียงหนึ่งเลย
จริงๆ แล้วหลายประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมืองกันนานแล้ว เช่น กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้มีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้มาตั้งแต่ปี 1973 ใจความว่า ต้นไม้ในกรุงเวียนนา ไม่ว่าจะอยู่บนที่ดินของรัฐหรือที่ดินเอกชนก็ตาม จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกทำลาย (ห้ามไม่ให้มีการตัดเพื่อโค่นต้นไม้ทิ้ง) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีของเมืองให้คงอยู่ และเพื่อผลดีต่อสุขภาพของประชากรในเมือง โดยหากจำเป็นต้องมีการย้ายต้นไม้ในพื้นที่ออกไป จะต้องได้รับการอนุญาตก่อน และมีแนวทางเขียนกำกับไว้ในกฎหมายว่าต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง เช่น บอกจุดประสงค์ของการย้ายต้นไม้ และเขียนเรื่องขอเข้ามารออนุมัติไว้ก่อน เป็นต้น และมีกฎหมายเฉพาะอีกฉบับสำหรับคุ้มครองต้นไม้ในเขตป่า
ส่วนทางฝั่งเอเชียของเราก็มีกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ที่ในปี 2003 ได้มีการออกพ.ร.บ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะ และครอบคลุมไปถึงต้นไม้ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมในพื้นที่เข้าไปด้วย ซึ่งในปี 2015 ก็ได้เพิ่มเงื่อนไขเข้าไปให้ครอบคลุมต้นไม้ในเมืองไทเปมากขึ้นถึง 2,000 กว่าต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโค่นต้นไม้ทิ้งเพื่อการขยายเมืองใหม่
ต้นไม้ก็เหมือนสมาชิกของชุมชน
ส่วนในทางปฏิบัติ ที่ประเทศออสเตรเลีย หากต้นไม้ในสวนสาธารณะหรือต้นไม้ตามพื้นที่ทางเดินเท้าต่างๆ ต้องมีอันย้ายออกไป จะมีป้ายจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบมาติดแจ้งประชาชนไว้ก่อนที่จะทำการย้าย หลังจากนั้นก็จะนำป้ายมาติดตรงตำแหน่งที่ต้นไม้เคยอยู่ แล้วบอกไว้ชัดเจนว่าได้ย้ายต้นไม้ต้นนี้ไปไว้ที่ไหน เพราะเหตุผลใด เช่น นำต้นนี้ไปเป็นแม่พันธุ์ขยายพันธุ์ต้นไม้ท้องถิ่น ย้ายไปทำการดูแลเพราะต้นไม้ไม่แข็งแรง และจะเปลี่ยนเป็นต้นอะไรมาแทนให้เหมาะกับสภาพดินตรงนี้มากขึ้น และเมื่อไหร่ต้นไม้จะกลับมาที่เดิม ทำให้คนในพื้นที่ที่เดินผ่านไปมาทุกวันรู้ว่า
ต้นไม้ทุกต้นนั้นสำคัญกับเมือง และการมีอยู่ของต้นไม้นั้นไม่ถูกเพิกเฉย
บางแห่งเขียนละเอียดขนาดว่า ต้นไม้ต้นนี้ใครเป็นผู้ดูแล ปลูกไว้โดยใคร เช่น ปลูกและดูแลโดยโรงเรียนมัธยมประจำเขต หรือต้นไม้ต้นนี้เป็นสมาชิกใหม่ของสวน ได้ย้ายมาอยู่ที่นี่โดยฝ่ายออกแบบภูมิทัศน์ของเมืองเป็นผู้ดำเนินการ ร่วมดูแลโดยกลุ่มอาสาสมัครองค์กรใด วิธีนี้ก็ทำให้ผู้คนในเมืองรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของต้นไม้และช่วยกันดูแล เป็นหูเป็นตาไปโดยธรรมชาติ
แล้วเมื่อเราจะเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ โดยไม่ให้กิ่งก้านและรากของต้นไม้มาเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง และหลีกเลี่ยงปัญหาของสิ่งปลูกสร้างกับต้นไม้ในระยะยาว เราจะมีวิธีการออกแบบทั้งอาคารและต้นไม้อย่างไรบ้างโดยที่ไม่ต้องกำจัดทิ้ง
ในบทความนี้เราขออาสาพาไปดูตัวอย่างวิธีการเจ๋งๆ จากเว็บไซต์ homedit.com ผลงานที่สถาปนิกทั่วโลกได้ออกแบบสิ่งปลูกสร้างโดยเลือกที่จะรักษาต้นไม้ไว้ เพื่อให้ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของอาคารนั้นเลย โดยนอกจากจะได้ความสวยงามแล้ว ต้นไม้ยังได้ตอบโจทย์การใช้งานของพื้นที่นั้นๆ ไปด้วย อย่างการสร้างสรรค์กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ขึ้นมาร่วมกับการเติบโตขึ้นไปของกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ ทั้งยังให้ร่มเงา ช่วยผลิตอากาศบริสุทธิ์ และช่วยกรองอนุภาคของฝุ่นต่างๆ ที่คนเมืองอย่างเราๆ เผชิญกันในทุกวันนี้
ยกต้นไม้ใหญ่ให้เป็นหลังคาและสนามเด็กเล่น
ที่โรงเรียนอนุบาลฟูจิ (Fuji Kindergarten) ของประเทศญี่ปุ่น ได้นำเอาสนามเด็กเล่นที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนประกอบหลักมาเป็นหลังคาของห้องเรียน โดยแทนที่สนามเด็กเล่นจะแยกออกมาจากตัวอาคารแล้วอยู่บนพื้นดิน ผู้ออกแบบเลือกทำสนามเด็กเล่นไว้ด้านบนเป็นลู่วิ่งวงกลมเชื่อมอาคารเข้าด้วยกันและใช้เป็นหลังคาไปด้วย โดยที่ส่วนของลำต้นก็มาเป็นเสา ส่วนกิ่ง ก้าน และใบก็เป็นร่มเงาของสนามเด็กเล่นและหลังคาของอาคารเรียนแห่งนี้ไปด้วยในคราวเดียวกัน
หรือที่ไถตง อาร์ต มิวเซียม (Taitung Art Museum) อาร์ตแกลเลอรี่ของมณฑลไถตง ประเทศไต้หวัน ก็ได้มีการออกแบบสวนภายนอกอาคารขึ้นมาจากต้นไม้ใหญ่ที่อยู่บริเวณโดยรอบ โดยทำการสร้างโครงสะพานไม้โค้งรับไปกับตำแหน่งของต้นไม้แต่ละต้น เพื่อให้เด็กๆ ขึ้นไปวิ่งเล่นได้ ทั้งยังใช้พื้นที่ตรงนี้จัดเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ จัดการแสดงละคร ดนตรี เป็นลานกิจกรรมมากมายของทางแกลเลอรี่ไปด้วยในตัว
ส่วนที่อิสราเอล มิวเซียม แผนกศิลปะและการเรียนรู้ของเยาวชน (Israel Museum’s Youth Wing for Art Education) ทีมสถาปนิกของเขาตั้งใจให้ต้นไม้สื่อถึงความทรงจำในวัยเด็กและการเติบโตต่อไป จึงได้ทำการออกแบบเป็นทรีเฮาส์ล้อมต้นไม้ใหญ่เอาไว้บริเวณทางเข้าปีกอาคาร มีแพลตฟอร์มให้ขึ้นไปปีนเล่นได้ โดยใช้วัสดุไม้ที่เข้ากับสถานที่โดยรอบ ใช้ตาข่ายเชือกคลุมส่วนของลำต้นที่อยู่ด้านในเพื่อความปลอดภัย และมีโครงเหล็กยึดลำต้นส่วนล่างไว้อีกทีหนึ่ง ซึ่งโครงสร้างทั้งหมดนี้ก็ทำหน้าที่ช่วยยึดต้นไม้ไว้ไปด้วยกัน และต้นไม้เองก็ทำหน้าที่เป็นเสาหลักของบ้านต้นไม้หลังนี้ไปด้วยในตัว
ให้พี่ต้นไม้อยู่ภายในบ้านเสียเลย
ในประเทศค่อนข้างแล้งอย่างอิหร่านก็ไม่น้อยหน้า เมื่อบริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบอพาร์ตเมนต์ Niavaran Residential Complex ในกรุงเตหะราน ได้ออกแบบตึกโค้งเข้าไป เพื่อเว้นพื้นที่ให้ต้นไม้ได้เติบโตต่อไปเป็นร่มเงาของอาคารพักอาศัยโดยเฉพาะ โดยอพาร์ตเมนต์หลังนี้มีความสูง 5 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อปี 2010 และตอนนี้ต้นไม้ก็ได้สูงเลยความสูงของอาคารไปเรียบร้อยแล้ว เพราะพื้นที่มีความกึ่งภายใน-ภายนอก กิ่งของต้นไม้ที่อยู่ช่วงกลางลำต้นจะถูกเล็มออกเพื่อให้ต้นไม้มีฟอร์มโตสูงขึ้นไปสู่พื้นที่ว่างด้านบนเท่านั้น ตัดปัญหาการมีกิ่งตกหล่นลงมาภายในอาคาร
หรือออฟฟิศ สเปซในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่ได้ทำการเจาะช่องกำแพงด้านข้างอาคารไว้เพื่อให้ต้นไม้ที่มีอยู่ก่อนแล้วในพื้นที่คอร์ตยาร์ด ได้มีช่องให้กิ่งก้านเติบโตออกไปด้านนอกได้ ส่วนวิธีการเอาต้นไม้เข้ามาอยู่ในบ้านเลย ทำได้โดยเว้นช่องว่างระหว่างพื้นอาคารกับพื้นดินไว้ ให้รากของต้นไม้ขยายไปด้านล่างได้โดยไม่รบกวนโครงสร้างอาคาร เจาะรูที่พื้นบ้านไว้ประมาณหนึ่ง เพื่อเว้นที่ให้ต้นไม้โตขึ้นมา และเว้นช่องหลังคาให้ กิ่ง ก้าน แผ่ขยายไปด้านบน หรือทำเป็นกลาสเฮาส์ไว้ภายในบ้าน ให้ต้นไม้ได้เติบโตอยู่ด้านนอก แต่เราสามารถมองเห็นต้นไม้ได้จากด้านในบ้าน
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ จากการคิดไว้ตั้งแต่ก่อนสร้างอาคารแล้วว่า ยังไงก็แล้วแต่ เราจะอยู่ร่วมกับต้นไม้ผู้เป็นสมาชิกและอยู่ที่นี่มาก่อนเรา
ซึ่งวิธีการออกแบบสิ่งก่อสร้างและดูแลต้นไม้ไปพร้อมกันนี้ ต้องเกิดจากความตั้งใจของทั้งเจ้าของพื้นที่และทีมสถาปนิกผู้ออกแบบ
อีกคนหนึ่งที่ทุกฝ่ายควรหันมาปรึกษาเมื่อจะออกแบบอาคารและดูแลต้นไม้ให้คงอยู่อย่างถูกวิธีและปลอดภัย คือ ‘รุกขกร’ หรือหมอต้นไม้ เป็นอาชีพที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการตัดแต่งต้นไม้ให้ถูกวิธี ทำให้ต้นไม้ที่อยู่ตามถนนหนทางในเมืองและบริเวณส่วนอาคารต่างๆ ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ เพราะแน่นอนว่าต้นไม้แต่ละชนิดก็ต้องการวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน เหล่ารุกขกรจะมีวิธีตัดต้นไม้เพื่อให้เติบโตอย่างถูกต้อง ดูแลให้กิ่ง ก้าน แตกออกไปอย่างเป็นที่เป็นทาง เพราะหากตัดกิ่งผิดวิธีก็จะเป็นสาเหตุให้กิ่งที่โตออกมาไม่แข็งแรง ทำให้หักง่ายและอาจจะตกหล่นลงมาเป็นอันตรายได้อย่างที่เราเคยเห็นในข่าวกัน อีกทั้งรุกขกรยังสามารถให้คำปรึกษา ดูแลการย้ายต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องโค่นต้นไม้ทิ้ง และนำต้นไม้ย้ายไปปลูกในบริเวณใหม่ที่เหมาะสมในพื้นที่ต่อไป
รุกขกรอาจจะยังเป็นอาชีพเฉพาะทางที่น้อยคนจะรู้จักในประเทศไทย แต่พวกเราคงจะได้เห็นการทำงานร่วมกันมากขึ้นของนักพัฒนาพื้นที่โครงการต่างๆ ทั้งทีมสถาปนิกผู้ออกแบบ ทีมผู้สร้าง และทีมงานรุกขกรในประเทศไทย หรือถ้าใครคนไหนมีโครงการก่อสร้างหรือต่อเติมอะไรที่อาจจะเป็นการรบกวนต้นไม้ที่มีอยู่ ก็สามารถติดต่อสอบถามวิธีการที่ถูกต้องในการดูแลต้นไม้ได้จากเพจ รุกขกร.Urban Tree Care, ชมรมเกษตรศาสตร์รุกขกร, สมาคมรุกขกรรมไทย, รุกขกร กรมป่าไม้ และกลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง Big Trees
ที่มาข้อมูล
www.cityofsydney.nsw.gov.au
www.demilked.com
www.dezeen.com
www.ecolex.org
www.facebook.com/taitungartmuseum
www.homedit.com
www.taiwantoday.tw
www.worldarchitecture.org
เครดิตภาพ: www.homedit.com, Fuji Kindergarten, www.demmilked.com, Taitung Art Museum, KU รุกขกร, 123rf, ภูษณิศา กมลนรเทพ