สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนักหนายามนี้ นอกจากเราต้องตั้งการ์ดป้องกันตนเองจากภายนอกอย่างเข้มงวดแล้ว การดูแลสุขภาพภายในให้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็คือหนทางรอดที่จะช่วยให้ปลอดภัยต่อเชื้อโรคได้ และน้ำตรีผลา คืออีกหนึ่งเครื่องดื่มเสริมสุขภาพที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของคุณ

‘ตรีผลา’ เป็นพิกัดยาสามสิ่ง ที่คนเรียนแพทย์แผนไทยรู้จักกันดี คำว่า ผลา (อ่านว่า ผะ-ลา) แปลว่า ‘ผล’ ตรีผลาจึงแปลว่า ผลไม้สามอย่าง ซึ่งได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม ฉันเชื่อว่าเดี๋ยวนี้ ชื่อตรีผลาคงคุ้นหูคุณผู้อ่านกันอยู่บ้าง เพราะมีวางขายกันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ หรือรูปแบบยาแคปซูล แต่พอพลิกขวดมาดูราคาแล้วก็แพงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ฉันจึงจะบอกว่าถ้าไม่ลำบากนัก เราก็สามารถต้มน้ำตรีผลากินเองที่บ้านเพื่อเสริมสุขภาพได้

ตรีผลาปรับสมดุลธาตุทั้ง 4

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขอเจาะลึกถึงความดีงามของเจ้าตรีผลากันสักหน่อย ว่าประโยชน์แท้ๆ ของมันคืออะไรบ้าง หากอธิบายแบบแพทย์แผนไทย ‘ตรีผลา มีสรรพคุณแก้โรคอันเกิดจากปิตตะ เสมหะ และวาตะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฏฐาน นอกจากนี้ยังเป็นยาคุมธาตุที่เกี่ยวกับเสมหะเป็นหลักและอยู่ในกองฤดูร้อน และช่วยปรับธาตุทั้งสี่ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร’ อ่านจบปุ๊บ คุณผู้อ่านก็คงงงปั๊บ เอาเป็นว่า แปลไทยเป็นไทยให้ฟังว่า

ตรีผลา ช่วยปรับสมดุลธาตุทั้งสี่ในร่างกายได้ โดยเฉพาะช่วยคุมสมดุลของธาตุน้ำในช่วงฤดูร้อน

ช่วยปรับการเสียสมดุลธาตุเพราะเหตุของช่วงวัยเปลี่ยนไป หรือเพราะฤดูกาลเปลี่ยนไป หรือเพราะกระบวนการทำงานของธาตุในร่างกายผิดเพี้ยนไป และช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินอาหารนั่นเอง ถ้าอธิบายแบบนี้แล้วยังคงเป็นเจ้าหนูจำไมถามต่อไปว่า แล้วทำไมต้องปรับสมดุลธาตุ? ก็จะวิสัชนาว่า เมื่อธาตุเสียสมดุล กระบวนการทำงานของร่างกาย หรืออวัยวะบางอวัยวะ ก็จะเกิดความเจ็บป่วย ถ้าปรับให้สมดุลกลับคืนมาได้ อาการป่วยก็จะทุเลาลงหรือหายได้นั่นเอง

ตรีผลากับนานาสรรพคุณ รวมถึงการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ครานี้ตัดกลับมาที่ฝั่งของงานวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีวิจัยพบว่า ในการทดลองวิจัยกับมนุษย์ ตรีผลามีผลดีต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ช่วยผู้ป่วยท้องผูกให้ระบายดีขึ้น (ใช้ตรีผลาร่วมกับรากและเหง้าของโกษฐ์น้ำเต้า อัตราส่วน 1:1 ปริมาณ 1-2 กรัม กับน้ำ 1 แก้ว ก่อนนอน) ช่วยลดกรดและเพิ่มความรู้สึกอยากอาหาร ที่สำคัญคือไม่พบอาการข้างเคียง

หรือในกรณีผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งเคยใช้วิธีจำกัดโปรตีนเพื่อรักษาตัวมาแล้วแต่ไม่หาย เมื่อทดลองกินตรีผลาผสมกับมหาหิงค์ ขนาด 1 กรัม วันละ 3 เวลา นาน 2-3 สัปดาห์ มีอาการดีขึ้น เมื่อใช้ต่อเนื่องก็ไม่มีอาการกลับมาเป็นใหม่ และไม่มีผลข้างเคียง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคอ้วน เมื่อทดลองใช้ตรีผลาผสมกับมหาหิงค์ พบว่ามีน้ำหนักลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก

และนอกจากที่กล่าวมา สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตรีผลาสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งหลักใหญ่ใจความจากข้อมูลที่มีในมือ เขาพุ่งเป้าไปที่เจ้า ‘มะขามป้อม’ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนผสมของตรีผลา โดยมีวิจัยพบว่า ในมะขามป้อมมีวิตามินซีสูง และวิตามินซีในมะขามป้อมนั้นมีความคงตัวและดูดซึมได้ดีกว่า วิตามินซีชนิดสังเคราะห์ถึง 12 เท่า นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอีกมากมายที่ช่วยยับยั้งการเกิดพิษในตับและไต ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ต้านมะเร็ง ยับยั้งการกลายพันธุ์ และที่สำคัญ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ ถึงตรงนี้ถ้าใครพอหามะขามป้อมสดมาจิ้มพริกเกลือรับประทาน ก็นับว่าเป็นของขบเคี้ยวเรียกน้ำลายที่มากประโยชน์ไม่น้อย

ความดีงามของตรีผลาที่เล่ามานั้น จึงไม่แปลกใจที่กรมการแพทย์แผนไทย ออกมาให้ข้อมูลในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก เกี่ยวกับอาหารที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือน้ำตรีผลานั่นเอง เอาล่ะ เมื่อรู้ถึงประโยชน์ของตรีผลาแล้ว ครานี้เราไปดูวิธีต้มน้ำตรีผลากินเองที่บ้านกัน

มาต้มน้ำตรีผลาดื่มกระตุ้นภูมิคุ้มกันกันเถอะ

จริงๆ แล้ว การต้มตรีผลาเพื่อปรับสมดุลตามฤดูกาลนั้น มีเทคนิคในการปรับเพิ่มหรือลดปริมาณของผลไม้สามอย่างแปรผันกันไปตามแต่ละฤดู ทว่าครั้งนี้เราต้องการสรรพคุณในด้านการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นหลัก จึงขอปรับสูตรเพิ่มปริมาณมะขามป้อมมากขึ้น และปรับให้ลูกสมอไทย และสมอพิเภก มีปริมาณที่เท่ากัน ดังนี้

ส่วนผสมน้ำตรีผลา

มะขามป้อมแห้ง 120 กรัม

ลูกสมอไทยแห้ง 60 กรัม

ลูกสมอพิเภก 60 กรัม

น้ำสะอาด 3 ลิตร

น้ำผึ้งป่าเพื่อปรับรสชาติเครื่องดื่ม เล็กน้อย

วิธีทำ

บุบผลไม้แห้งแต่ละชนิดแค่พอแตก แล้วนำไปล้างฝุ่นออก ก่อนใส่ลงหม้อเคลือบ หม้อดิน หรือ หม้อสเตนเลส (สามชนิดนี้เท่านั้น เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง)

เติมน้ำสะอาด แล้วยกขึ้นตั้งไฟแรง ปิดฝาหม้อต้มจนเดือด จึงลดไฟอ่อนเคี่ยว 30 นาที จากนั้นรินเอาน้ำแรกเก็บไว้ เติมน้ำใส่ลงในปริมาณเดิม แล้วต้มด้วยวิธีเดิม พอครบเวลา ก็รินน้ำรอบที่สองมาผสมน้ำตรีผลารอบแรก แล้วทำซ้ำอีกครั้งรอบที่สาม ก่อนรินเอาน้ำตรีผลารอบที่สาม มาผสมกับน้ำตรีผลารอบแรกและรอบที่สอง เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ เพื่อเป็นการสกัดเอาสรรพคุณทั้งหมดของผลไม้ออกมาได้ครบถ้วน

 

จากนั้นจึงนำน้ำตรีผลาที่ได้มาดื่มวันละ 1 ถ้วยชา โดยอาจเติมน้ำผึ้งเพื่อปรับรสชาติเครื่องดื่มที่ค่อนข้างเปรี้ยวและฝาดให้รับประทานง่ายขึ้น  หรือหากรับประทานยาก อาจใช้วิธีนำน้ำสมุนไพร 1 ถ้วยชา มาละลายเจือจางในน้ำอุ่น 1 แก้ว เติมน้ำผึ้งเล็กน้อย แล้วจึงดื่มก็จะช่วยให้ดื่มได้ง่ายขึ้น ซึ่งวิธีหลังนี้สามารถเติมน้ำแข็งแล้วดื่มเป็นเครื่องดื่มเย็นได้ (แต่การออกฤทธิ์ของสรรพคุณจะสู้ดื่มแบบอุ่นๆ ไม่ได้)

ส่วนน้ำตรีผลาที่เหลือ ให้เก็บเข้าตู้เย็น จะเก็บไว้ได้นาน 1 สัปดาห์  เมื่อจะรับประทานให้รินออกมาอุ่นก่อนเสมอ เพื่อสรรพคุณที่ดี

ข้อแนะนำ

• การดื่มตรีผลาเพื่อเสริมสุขภาพ สามารถดื่มติดต่อกันเป็นเวลา 1-3 เดือนได้ หรืออาจดื่มติดต่อกัน 1 สัปดาห์ เว้น 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ตรีผลามีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ และขับปัสสาวะ การดื่มตรีผลาอาจทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น และขับถ่ายเหลวเล็กน้อย

• สมุนไพรแห้งที่ใช้ต้มน้ำตรีผลา มีขายตามร้านขายยาแผนโบราณ (ซึ่งเดี๋ยวนี้หลายร้านมีบริการสั่งสินค้าออนไลน์และจัดส่งได้ แต่เพื่อความมั่นใจในความถูกต้อง ควรเลือกสั่งจากร้านขายยาแผนโบราณที่มีเภสัชกรไทยกำกับดูแล)

เทคนิคการปรับสัดส่วนผลไม้ในตำรับตรีผลา เพื่อนำไปใช้ปรับสมดุลธาตุในแต่ละฤดู

การปรับสัดส่วนผลไม้ในการต้มน้ำตรีผลา

ฤดูร้อน (เม.ย.-ก.ค.) ใช้สมอพิเภก 12 บาท สมอไทย 8 บาท  มะขามป้อม 4 บาท

ฤดูฝน (ส.ค.-พ.ย.) ใช้สมอพิเภก 4 บาท สมอไทย 12 บาท  มะขามป้อม 8 บาท

ฤดูหนาว (ธ.ค.- มี.ค.) ใช้สมอพิเภก 8 บาท สมอไทย  4  บาท  มะขามป้อม 12 บาท

*1 บาท หมายถึง น้ำหนัก 15 กรัม เมื่อคุณผู้อ่านนำไปคูณกับตัวเลขของสมุนไพรต่างๆ ก็จะรู้สัดส่วนของน้ำหนักผลไม้แต่ละชนิดที่จะนำมาต้มน้ำตรีผลา ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งผลสด และผลแห้ง ตามแต่หาได้

ขอบคุณ อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์
เอกสารอ้างอิง
• หนังสือ ‘ตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย เล่ม ๑’ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี โดย คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ด้วยความร่วมมือจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
• จุลสารการแพทย์แผนไทย เรื่อง ‘มะขามป้อม บรรเทาไอ ขับเสมหะ’ เขียนโดย ภญ.สุภาพร ยอดโต และ ภญ.ศตพร สมเลศ, ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน ธันวาคม, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ภาพถ่าย: สิทธิโชค ศรีโช