ขยะชิ้นนี้จะแยกทิ้งอย่างไรดี? เราจะช่วยแก้ปัญหาขยะให้มากกว่าการแยกขยะได้อย่างไรบ้าง? หากใครมีปัญหานี้ ขอให้ยกมือขึ้นค่ะ เรามีคำตอบมาให้
เพียงแค่คุณยกมือขึ้น หยิบโทรศัพท์มือถือ แล้วกดโหลดแอปพลิเคชั่น Green2Get แพลตฟอร์มที่จะช่วยตอบทุกคำถามของการแยกขยะ ตั้งแต่ขยะชิ้นนี้แยกอย่างไร แลกเปลี่ยนเทคนิคการแยกขยะ ไปจนถึงชี้เป้าปลายทางใกล้บ้าน ที่คุณสามารถส่งขยะในมือกลับเข้าระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy) เพื่อให้ขยะได้หมุนกลับไปเป็นเป็นทรัพยากรรีไซเคิลอีกครั้ง แถมยังสามารถช่วยกันสร้างแหล่งเก็บข้อมูลวัสดุ (database) เพื่อแบ่งปันวิธีการแยกให้คนอื่นได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้เพียงแค่สแกนบาร์โค้ดเท่านั้น
สแกน ก่อนทิ้ง
หลังจากโหลดมาแล้ว ก็เริ่มลงทะเบียน แล้วเริ่มสแกนขยะในมือเราได้เลย
แอปพลิเคชั่น Green2Get จะช่วยตอบคำถามหลัก 3 ข้อ คือ
What ขยะในมือเราชิ้นนี้คือวัสดุอะไร
Who ใคร หรือหน่วยงานใดที่จะรับขยะชิ้นนี้ไปรีไซเคิลได้บ้าง
Where ที่ไหน ในบริเวณใกล้บ้านเรา ที่เราสามรถนำขยะไปทิ้งเพื่อการรีไซเคิลได้
หากผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เคยมีคนลงข้อมูลไว้แล้ว เมื่อผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดปั๊บ ก็จะเห็นว่าสินค้าชิ้นนี้แยกอย่างไร แยกแล้วเป็นวัสดุอะไรบ้าง แล้วสามารถส่งไปที่ไหนได้บ้าง ในบริเวณใกล้ตัว มีใครรับซื้อหรือบริจาคได้ที่ไหนบ้าง แต่หากชิ้นนี้ยังไม่มีข้อมูล ก็สามารถร่วมเป็นผู้สร้างข้อมูล โดยการระบุวัสดุบันทึกเพิ่มลงไปในคลังข้อมูลได้
แพลตฟอร์มวงในแห่งการแยกขยะแบบ user-generated content
“ผมเชื่อว่าเราจะจัดการขยะใดๆ ก็ตาม เราต้องรู้จักมันก่อน”
คำพูดนี้แสดงความมุ่งมั่นของเปรม พฤกษ์ทยานนท์ หรือที่หลายคนคุ้นตาในนามเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป เพจที่ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อม และผู้อยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชั่น Green2Get
แอปพลิเคชั่นเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์สตาร์ตอัพเพื่อสิ่งแวดล้อม Green2Get ที่พัฒนาขึ้นจากความตั้งใจให้เป็น Circular Economy Platform พาผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ส่วนคือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้รีไซเคิล มาเจอกัน และช่วยกันทำให้ทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ได้กลับเข้าวงจร เป็นเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน
“ไอเดียเริ่มจากผมเห็นว่า เรื่อง circular economy ถูกพูดถึงเยอะ แต่ยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ ยังไม่มีแพลตฟอร์มให้คนสามกลุ่มนี้ได้มาเจอกัน”
เปรมเล่าว่า เขาเริ่มจากเห็นปัญหาฝั่งผู้บริโภคผู้บริโภคที่ซื้อของมาใช้ ใช้เสร็จแล้วเหลือเป็นขยะที่ต้องเอาไปจัดการต่อ แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าของที่เขาซื้อมาใช้ต้องจัดการยังไงต่อ ถึงจะได้เข้าสู่ระบบ circular economy ให้ทรัพยากรใช้ประโยชน์ต่อได้
“เราจึงเริ่มโดยเอาทรัพยากรมาเป็นตัวกึ่งกลาง ซึ่งผู้ผลิตมีสินค้าของตัวเอง ผู้บริโภคมีทั้งสินค้าและขยะ ผู้รีไซเคิลต้องการวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ ผมจึงพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อเป็นเครื่องมือให้แต่ละกลุ่มได้ใช้”
แอปพลิเคชั่นนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย ผู้บริโภค ที่เมื่อสแกนบาร์โค้ดตัวสินค้า แล้วแอปฯ จะบอกว่าตัวสินค้านั้นต้องถูกจัดการอย่างไร ควรแยกส่วนประกอบอย่างไร ซึ่งแต่ละชนิดมีความซับซ้อนต่างกัน ส่วนที่สองคือฝั่งผู้รีไซเคิล ที่สามารถสมัครเข้าร่วมเครือข่ายผ่านเว็บไซต์ hero.green2get.com เพียงแจ้งว่าตัวเองเป็นใคร เช่น ร้านรับซื้อของเก่า มูลนิธิที่รับบริจาค โดยเรียกทุกหน่วยงาน ร้านค้าที่สมัครเข้ามาว่า ‘ฮีโร่’ คือเป็นผู้มารับขยะเพื่อไปทำประโยชน์ โดยร่วมมือกับหลายองค์กรรับจัดการขยะรีไซเคิล เช่น Yolo, Precious Plastic, Won มี EJS เข้ามารับเรื่องขยะอวน และรับสมัครซาเล้งรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ส่วนสุดท้ายคือฝั่งผู้ผลิต ซึ่งเป็นผู้ที่ทราบดีที่สุดว่าผลิตภัณฑ์ของตนนั้นประกอบด้วยวัสดุชนิดใด เป็นพลาสติกชนิดใด เกรดใด ผู้ผลิตจึงเป็นอีกผู้เล่นสำคัญที่สามารถมาบอกผู้บริโภคได้ว่าของชิ้นนั้นทำมาจากอะไร แยกอย่างไรได้บ้าง
เปรมเล่าเพิ่มเติมว่า เนื่องด้วยหลายเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้ยังไม่สามารถขอข้อมูลจากผู้ผลิตได้โดยตรง และเชื่อว่าผู้บริโภคเป็นตัวละครที่สำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วม ทุกฝ่ายควรเข้ามามีส่วนร่วม ในช่วงแรกแอปฯ จึงใช้กลยุทธ์สร้าง user generated content คือให้ผู้บริโภคเป็นคนใส่ข้อมูล ด้วยหลักการทำงานง่ายๆ คล้ายบางแอปพลิเคชั่นที่ผู้บริโภคเป็นผู้รีวิว/แนะนำร้านอาหาร ผู้บริโภคสามารถปักหมุดร้านอร่อยแนะนำให้ผู้บริโภครายอื่น และเมื่อร้านอาหารมาเห็นก็สามารถมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ นี่เป็นเป้าหมายของ Green2Get ว่า วันหนึ่งเมื่อฝั่งผู้บริโภคช่วยกันใส่ข้อมูลสินค้า ฝั่งผู้ผลิตมาเห็นแล้วเขาจะสมัครเข้ามาเพื่อให้ข้อมูลที่ละเอียดและครบถ้วนมากขึ้น ไปจนถึงร่วมมือกันนำขยะจากสินค้าของเขากลับไปจัดการอย่างเหมาะสม
ปัจจุบันในระบบของ Green2Get มีวัสดุกว่า 200 ชนิด และสามารถช่วยกันเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ โดยกระดาษและพลาสติกเป็นวัสดุประเภทที่คนสนใจเข้ามาหาข้อมูลมากที่สุด
“ผมไม่สามารถทำคู่มือการแยกขวดน้ำได้ เพราะแต่ละยี่ห้อใช้วัสดุไม่เหมือนกัน มีความหลากหลายมาก ดังนั้นการจะแก้ปัญหาจึงต้องใช้ big data เข้ามาช่วย”
นอกจากให้ความรู้เรื่องการแยกและสถานที่ส่งต่อขยะเพื่อรีไซเคิลแล้ว แอปพลิเคชั่นนี้จึงเป็นก้าวแรกของการสร้างฐานข้อมูล (database) การแยกขยะในประเทศไทย
ในอนาคต เปรมวางแผนพัฒนาแอฟพลิเคชั่นนี้ ให้สามารถแสดงประเภทขยะที่พบเยอะในพื้นที่ เพื่อจับคู่กับผู้รับหรือองค์กรฝั่งผู้รีไซเคิลในบริเวณใกล้เคียง หรือแสดงให้เห็นความต้องการในส่งต่อขยะแต่ละประเภทในแต่ละพื้นที่
ในโลกธุรกิจ สินค้าและบริการต่างแข่งขันกันซื้อใจผู้บริโภคด้วยการเสนอบริการที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ช้อปปิ้งออนไลน์ สั่งอาหารออนไลน์ เราสร้างขยะในทุกคำสั่งซื้อ ในทุกมื้อ ง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส
ในขณะที่การแยกขยะนั้นช่างยุ่งยาก เสียพลังงาน เปลืองเวลา โจทย์สำคัญในวันนี้ต่อการแก้ปัญหาขยะคือ จะมีบริการใด ที่จะง่ายไปกว่าการทิ้งขยะแบบไม่รับผิดชอบ?
“Green2Get เชื่อว่าผู้บริโภคอยากทำอะไรให้สังคม การช่วยกันสร้างเดต้าเบส เป็นสิ่งที่ไม่เหนื่อยเกินไป ที่เราจะมาสร้างสิ่งนี้ร่วมกันได้”
เครดิตภาพ: Green2Get, Parppim Pim, Greenery.