พลังงานส่วนใหญ่บนโลกนั้นต่างก็ได้มาจากดวงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นความร้อน ลม หรือฝน รวมไปถึงพืชที่สังเคราะห์แสง โตมาเป็นอาหารให้คนหรือสัตว์กิน จนตายแล้วย่อยสลายทับถมกลายเป็นน้ำมัน ต่างก็มีพลังงานจากแสงและความร้อนของดวงอาทิตย์เป็นส่วนประกอบในการเกิด ทำให้เราคุ้นชินกับการใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์มานานแล้ว แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ทั่วโลกได้ใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์ในรูปแบบของเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar cell หรือ Photovoltaic cell) เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เหตุผลหนึ่งก็มาจากความกังวลในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผลักดันให้หลายประเทศรณรงค์เรื่องพลังงานทางเลือกมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมาก รวมถึงการผลิตจำนวนมากก็ทำให้ราคาถูกลง วันนี้ผมเลยอยากชวนมาคุยกันว่า ถ้าเราสนใจจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในบ้านเราบ้าง เราควรจะรู้อะไร?

Q: บอกหน่อยว่าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นยั่งยืนอย่างไร

ถ้าเปรียบเทียบกับพลังงานหลักที่มนุษย์เราใช้มานานอย่างน้ำมันและถ่านหิน เราจะเห็นว่าการเกิดขึ้นนั้นยากและใช้เวลานาน เพราะมาจากการทับถมของซากพืชและสัตว์ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นเวลาหลักล้านปีจึงจะเกิดปิโตรเลียมหรือถ่านหินขึ้นมาได้ ถ้าคำนวนอัตราการเกิดขึ้น และอัตราการใช้ไป เราจะเห็นว่าทรัพยากรที่เรานำมาใช้นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นมาใหม่และทดแทนได้ทัน ทำให้เราเรียกการใช้พลังงานแบบนี้ได้ว่าไม่ยั่งยืน

ต่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือน้ำที่เกิดขึ้นใหม่ (renew) ทุกๆ วันนั้น  แม้จะมากหรือน้อยต่างกันบ้างในแต่ละวัน แต่ก็ทำให้อัตราการใช้ และอัตราการสร้างยังสามารถทดแทนกันได้  ทำให้เราเรียกพลังงานประเภทนี้ว่าพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งมีความยั่งยืนกว่า คือใช้แล้วไม่หมดไป และยังสร้างผลกระทบทางธรรมชาติน้อยกว่าพลังงานแบบเดิมที่เราใช้กัน

Q: เราจะรู้ได้ยังไงว่าที่ตรงไหนเหมาะกับการติดตั้งโซลาเซลล์

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์นั้นจะต้องเป็นที่ที่ร้อนๆ แดดเปรี้ยงๆ คำตอบคือถูก แต่แค่ครึ่งเดียวครับ จริงๆ แล้วระบบไฟฟ้าแทบจะทั้งหมดไม่ชอบความร้อน และแผงโซลาร์เซลล์ก็ผลิตพลังงานจากกระบวนการเคมีที่ได้จากแสงอาทิตย์ ไม่ใช่ความร้อน เพราะฉะนั้นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดจะต้องไม่ค่อยมีเงามาบังแสง โดยพลังงานที่ผลิตได้ของแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันตามสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ แน่นอนว่าพื้นที่ที่ฟ้าใสก็จะผลิตได้ดีมากกว่าพื้นที่ที่ฝนตกบ่อย

แต่จากการสำรวจในประเทศไทยนั้นพบว่าทั้งประเทศเรามีศักยภาพที่ดีในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ครับ มากน้อยต่างกันบ้าง แต่มีความคุ้มค่าและเหมาะสม

แม้ในวันที่ฟ้าอาจจะมีเมฆเยอะอยู่บ้าง แต่แสงแดดที่ผ่านเมฆลงมาก็ยังสามารถผลิตพลังงานได้เพียงแต่จะน้อยลงบ้างครับ

Q: แล้วมีอะไรที่เราต้องเตรียมอะไรบ้าง

ถ้าสนใจจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ ก็จะต้องหาที่ที่ไม่ค่อยมีเงามาบังในระหว่างวันครับ แล้วถ้าสามารถระบายความร้อนได้ดีก็จะช่วยให้ผลิตพลังงานได้สูงขึ้น เช่น เกษตรกรจะติดตั้งใกล้แหล่งน้ำเพื่อใช้สูบน้ำ หรือการติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาก็จะได้ประโยชน์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะลดความร้อนในตัวอาคาร เพราะความร้อนจะไปอยู่ที่แผงโซลาร์เซลล์แทนหลังคาที่อมแดด และช่วยลดเสียงกระทบของฝนลงไปได้ด้วย

แต่เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีน้ำหนักประมาณ 20-25 กิโลกรัมต่อแผง ก็ต้องดูว่าโครงสร้างหลังคาจะสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 12 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

และเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด การติดตั้งควรหันแผงไปทางทิศใต้ มุมเอียง 10-15 องศา หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการหันแผงไปทางทิศเหนือ

Q: กระแสไฟฟ้าที่ได้เพียงพอไหมสำหรับใช้ในบ้าน

A: ระบบการผลิตไฟของโซลาร์เซลล์จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ซึ่งจะสามารถต่อกับอุปกรณ์ที่ใช้ไฟกระแสตรงครับ (เช่น ปั๊มน้ำ DC) แต่ถ้าจะติดตั้งเพื่อใช้ในบ้าน แนะนำให้ติดอุปกรณ์ Solar Inverter โดยอุปกรณ์ชนิดนี้จะแปลงพลังงานจากพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงให้กลายเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ที่เราใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป และเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการควบคุม เชื่อมต่อกับพลังงานหลักในระบบต่างๆ ของอาคารหรือบ้าน

เรื่องปริมาณพลังงานที่ได้ ปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์มีต้นทุนที่ถูกลงและมีประสิทธิภาพที่สูงมากขึ้น ทำให้สามารถเปิดแอร์โดยใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ได้ทั้งหมดในตอนกลางวัน

แต่จะเพียงพอกับแต่ละบ้านไหม ก็ต้องมาดูเรื่องพื้นที่ว่างของแต่ละบ้าน และลักษณะการใช้งานด้วยครับ เช่น บางบ้านที่ไม่อยู่บ้านในตอนกลางวัน ก็อาจจะไม่คุ้มค่าในการติดตั้งในตอนนี้

Q: เทียบกับอายุการใช้งานแล้ว โซลาร์เซลล์ช่วยประหยัดสตางค์ในกระเป๋าได้รึเปล่า

A: โซลาร์เซลล์มาตรฐานในปัจจุบันมีการรับประกันการใช้งานอยู่ที่ 25 ปี เป็นขั้นต่ำ โดยทุกๆ ปีพลังงานที่ผลิตได้ก็จะลดลงประมาณ 0.5-0.7% ต่อปี จากประสิทธิภาพที่ลดลงตามอายุการใช้งาน ซึ่งการลงทุนติดตั้งระบบแล้วทำให้มีไฟฟ้าใช้งานมากกว่า 20 ปี (ประสิทธิภาพในปีที่ 20 ยังสูงกว่า 80%) นั้น ค่อนข้างเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ถึงจะมีการลงทุนสูงในช่วงต้น แต่หลังจากคืนทุนแล้วก็เหมือนกับได้ใช้ไฟฟรี โดยเฉพาะเมื่อคำนวณค่าไฟฟ้าที่มีการปรับขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีมานี้

ปัจจุบันการลงทุนติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์นั้นมีระยะคืนทุนอยู่ที่ประมาณ 6-12 ปี ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าผลิตไฟได้มากหรือน้อย และลักษณะการใช้ไฟ

เช่น ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ใช้ไฟตลอดทั้งกลางวันทุกวัน ก็คืนทุนได้เร็วกว่าโรงเรียนที่เปิดเฉพาะจันทร์ถึงศุกร์ หรือบ้านที่ใช้ไฟเฉพาะตอนกลางคืน โดยหลังจากที่คืนทุน ก็เท่ากับว่าเราใช้ไฟฟรีไปยาวอีก 10 กว่าปี

มีเกร็ดเล็กน้อยที่อยากเล่าก็คือ ดาวเทียมหลายๆ ดวงที่ปล่อยตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นยังสามารถใช้งานได้ โดยแหล่งพลังงานอย่างเดียวของดาวเทียมคือโซลาร์เซลล์ ซึ่งแปลว่ามีอายุการใช้งานมาแล้วมากกว่า 30 ปี!

Q: โซลาร์เซลล์ช่วยลดการสร้างมลพิษได้แค่ไหน

A: โซลาร์เซลล์ 1 กิโลวัตต์ (ขนาดแผงโซลาร์ 120 X 60 เซนติเมตร จำนวน 10 แผง) ผลิตไฟฟ้าได้ 1,300 หน่วยต่อปี สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ 901.3 kgCO2e ต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น (การปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อปี)

ส่วนประกอบหลักของแผง เป็นทรายและแก้ว ซึ่งมีกระบวนการรีไซเคิลอยู่แล้ว มีสารเคมีประกอบน้อยมาก ส่วนประกอบอื่นๆ ที่ใช้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ เช่น โครงอะลูมิเนียม สายไฟ กระจกใสปิดด้านหน้า สามารถนำไปรีไซเคิล และมีแหล่งรับซื้ออยู่ทั่วไป มีเพียงเซลล์รับแสงเท่านั้นที่ยังไม่มีการรีไซเคิลในประเทศไทย จำเป็นต้องส่งไปให้โรงงานรีไซเคิลที่ต่างประเทศ

ตอนนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ได้จัดทำแผนแม่บทในการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อผลักดันการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลซากโซลาร์เซลล์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าอยู่


Q: ข้อเสียหรือข้อควรระวังหากเราคิดจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งที

ข้อแรกคือควรเข้าใจลักษณะการใช้ไฟฟ้าของตนเองก่อน เช่น มีอุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรบ้าง และใช้งานในช่วงไหนเป็นหลัก เพื่อให้เข้าใจถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการเลือกติดตั้งให้พอดี

ข้อที่สองคือมาตรฐานการติดตั้ง ถ้าเป็นบนหลังคาก็ต้องมีการสำรวจโครงสร้างเพื่อออกแบบให้เหมาะสมกับโครงสร้างและชนิดของหลังคา รวมถึงควรมีพื้นที่หลังคาพอให้สามารถเข้าถึงแผงได้เพื่อทำความสะอาดหรือซ่อมบำรุงถ้าจำเป็น

ข้อเสียของโซลาร์เซลล์คือความไม่แน่นอน เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมฟ้าฝนได้ บางวันโซลาร์เซลล์อาจจะไม่สามารถผลิตพลังงานได้หรือได้น้อยมากเพราะฝนตกทั้งวัน

ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังไม่สามารถใช้ไฟฟ้าโดยพึ่งพิงพลังงานไฟฟ้าจากทางเดียวได้ หรือถ้าได้ก็จะมีต้นทุนที่สูงมากจากการที่ต้องมีระบบกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในตอนกลางคืน หรือตอนที่ระบบผลิตไฟไม่ได้

ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน การใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนจะหันไปใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้นการหันมาเลือกใช้พลังงานที่ยั่งยืนจึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าบนหลังคา หรือหลังบ้านของเราเอง ก็ทำให้เราเข้าถึงไฟฟ้าในราคาที่ถูก และคุ้มทุนมากขึ้น เลยอยากฝากทุกคนเป็นทางเลือก แต่ก็อย่าลืมศึกษาทำความเข้าใจทั้งระบบและลักษณะการใช้ไฟฟ้าของตนเองก่อน เพื่อที่จะเลือกใช้ได้อย่างคุ้มค่าทรัพยากรและกระเป๋าตังค์ของเราที่สุดครับ

ภาพประกอบ: missingkk