เราเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในวงการเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่เด็ก พอรู้ตัวอีกทีก็รู้สึกคุ้นชินและชื่นชอบวิถีชีวิตชีวิตแนวธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์และด้านสิ่งแวดล้อมไปโดยไม่รู้ตัว ช่วงหนึ่งของชีวิต เราได้มีโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากการเรียนในหลักสูตรต่างๆ ที่เปิดมุมมองใหม่ให้กับตัวเองแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือการได้ออกไปเปิดประสบการณ์ ดูงาน ฝึกงาน และเป็นอาสาสมัครตามโครงการต่างๆ นอกหลักสูตร
ดังนั้นเมื่อมีโอกาสว่างเว้นจากการเรียน เราตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ WWOOF (World Wild Opportunities on Organic Farms) เป็นโครงการรับอาสาสมัครทั่วโลกที่สนใจงานด้านเกษตรอินทรีย์ ให้ได้ไปลองใช้ชีวิตกับโฮสต์ หรือเจ้าของฟาร์มตามประเทศต่างๆ เราจึงไม่พลาดที่จะสมัครโครงการและติดต่อโฮสต์ที่น่าสนใจเพื่อขอไปฝึกงานทันที
ฟาร์มแห่งนี้มี ชื่อว่า Aarde werk de stegge (ภาษาดัชต์) ซึ่งแปลว่า การทำงานเพื่อผืนดิน ตั้งอยู่เมือง Winterswijk อยู่ชายแดนฝั่งตะวันออกของประเทศเนเธอร์แลนด์ ติดกับประเทศเยอรมัน ภูมิประเทศของเมืองนี้เรียกได้ว่ายังมีความเป็นชนบท ผู้คนยังทำการฟาร์มเกษตร เลี้ยงสัตว์ และค้าไม้ ฟาร์มแห่งนี้มีคุณลุง Jan Willem คุณป้า Gea วัยเกษียณ เป็นเจ้าของและเป็นผู้ก่อร่างสร้างฐานฟาร์มนี้ด้วยกันสองคน
ภายในพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ ถูกจัดสรร ออกเป็น แปลงผัก สวนสมุนไพร ไม้ผล ไร่ข้าวสาลี เลี้ยงไก่ บ่อบำบัดน้ำเสียโดยพืช (helofytenfilter) บ่อน้ำธรรมชาติ และสิ่งปลูกสร้าง
ตลอดระยะเวลาประมาณเกือบสามอาทิตย์ เราได้มีโอกาสฝึกงานหลายๆ อย่าง โดยเริ่มจากการทำเกษตร โดยฟาร์มนี้เน้นการปลูกแบบผสมผสาน ทั้งผักกินใบ ดอกไม้ สมุนไพร ผสมผสานกันในแปลงเดียว ซึ่งบางชนิดมันก็มาเองตามธรรมชาติ
ตอนแรกที่เรามองดูสวนนี้แบบผิวเผิน รู้สึกว่าเจ้าของไม่ได้ดูแลจัดการ อาจจะดูรกหูรกตาไปหมด แต่จริงๆ แล้ว เป็นเทคนิคการปลูกที่เน้นการเลียนแบบธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
เพราะพืชผักแต่ละชนิดจะเสริมสร้างและเกื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่เราจะต้องพยายามเข้าใจ ศึกษาธรรมชาติของพืชผักแต่ละชนิด เข้าใจฤดูกาล นอกจากนั้นให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะดินที่ฟาร์มแห่งนี้เป็นดินตามธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่ต้องการบำรุงมาก แต่ก็มีบางวันที่เราได้ทำหน้าที่นำขี้วัว ขี้ม้าหมักดินทิ้งไว้ ก่อนที่จะหว่านเมล็ด หรือนำต้นกล้าลงมาปลูกต่อไป วิธีการจัดการสวนของที่นี่จะปล่อยให้พืชผักขึ้นตามธรรมชาติ มีการถอนหญ้า และตัดแต่งกิ่งที่เน่าเสียบ้าง โดยเศษหญ้า เศษกิ่งไม้ หรือเศษผักที่เหลือจากการตัดแต่ง เราจะทิ้งไว้ในแปลงปลูกเพื่อให้มันย่อยสลายไปในแปลง ถือได้ว่าเป็นการทำเกษตรแบบธรรมชาติโดยแท้เลยที่เดียว
นอกจากเรื่องการเกษตรแล้ว เรายังได้รับแนวคิดเรื่องการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรภายในฟาร์ม เริ่มตั้งแต่ อาคารสิ่งปลูกที่สร้างจากฟางและวัสดุธรรมชาติ เพื่อให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน และเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของประเทศ คือ ระบบอากาศดีในหน้าร้อน ช่วยสร้างความอบอุ่นในหน้าหนาว ติดตั้งระบบทำความร้อนจากเศษไม้ (woodchip heating system) โดยนำเศษไม้จากสวนมาย่อยแล้วนำไปเป็นเชื้อเพลิงสร้างความอบอุ่นให้อาคาร และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ อันได้แก่ ระบบเก็บน้ำฝนน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสียภายในครัวเรือน และพลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์
สำหรับระบบโซลาเซลล์ของฟาร์มแห่งนี้เป็นระบบ on grid ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกจ่ายเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งฟาร์มแห่งนี้ เป็นสถานที่แห่งแรกของประเทศเนเธอแลนด์ ที่ติดตั้งโซลาเซลล์แบบ on grid ในรูปแบบของครัวเรือน
แผงโซลาเซลล์ทั้งหมดสามสิบแผง ถูกติดตั้งเต็มพื้นที่บนหลังคาของโรงเก็บอุปกรณ์การเกษตรที่ถูกสร้างเพื่อการติดตั้งโซลาเซลล์โดยเฉพาะ ดังนั้นกระแสไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ทั้งหมดนี้จึงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 5,500 กิโลวัตต์ชั่วโมง ต่อปี
ส่วนระบบน้ำ ภายในฟาร์มแห่งนี้แบ่งออกเป็น สองส่วนหลักๆ คือ น้ำดี กับน้ำเสีย ส่วนของน้ำดีนั้น ฟาร์มแห่งนี้มีการใช้น้ำทั้งจาก น้ำประปา และจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งนอกจากแหล่งน้ำบาดาลที่ฟาร์มแห่งนี้ ใช้เพื่อการเกษตรแล้วนั้น การกักน้ำฝนก็เป็นอีกแหล่งน้ำสำรองหนึ่ง เนื่องจากประเทศเนเธอแลนด์เป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำฝน อยู่ที่ประมาณ 700-900 มม. ต่อปี ซึ่งถือว่าฝนค่อนข้างตกชุก ที่นี่จึงไม่ปล่อยน้ำฝนทิ้งไปให้เสียเปล่า โดยน้ำมาใช้สำหรับทำความสะอาด ชำระร่างกาย หรือบริโภคบ้างหลังเสร็จงานเกษตร
เมื่อมีระบบน้ำดี ก็ต้องมีระบบน้ำเสียที่เหลือจากการอุปโภค บริโภค
จุดเด่นของฟาร์มแห่งนี้คือ มีการหมุนเวียนน้ำที่ใช้แล้วกลับไปใช้ใหม่
โดยน้ำเสียจากห้องน้ำ ห้องครัว เครื่องซักผ้า และตามจุดต่างๆ ของบ้านและอาคารทั้งหมดในบริเวณฟาร์มแห่งนี้ จะถูกส่งไปที่ระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งติดตั้งอยู่ภายในบริเวณฟาร์ม ซึ่งระบบบำบัดนี้ประกอบไปด้วย septic tank และบ่อกรองหิน กรวด ทราย ที่ปลูกพืชไว้ ซึ่งระบบนี้มีชื่อเรียกว่า “Helofytenfilter” เมื่อน้ำเสียถูกบำบัดเรียบร้อยแล้วก็จะถูกวนกลับไปใช้ในระบบชักโครก และเครื่องซักผ้า คุณลุงบอกว่า เมื่อฟาร์มได้ใช้ระบบหมุนเวียนน้ำเข้ามาใช้ สามารถช่วยลดค่าน้ำไปได้ถึง 50% ของค่าน้ำเดิมที่เคยจ่ายอยู่
การมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เพียงไม่กี่อาทิตย์ เราบอกได้เลยว่าประสบการณ์ต่างๆ ช่วยเปิดมุมมองการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังช่วยตอกย้ำความมั่นใจในงานและสิ่งที่เราเป็น ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณลุงคุณป้าย้ำเสมอว่า
“การพึ่งพาตนเองมิใช่ การอยู่ตัวคนเดียวและไม่สนใจภายนอกเลย”
เพราะแน่นอนเราเองไม่สามารถดำรงชีวิตได้โดยขาดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็น ระหว่างคนกับคนก็ดี หรือ คนกับธรรมชาติก็ดี ดังนั้นการพึ่งพาตนเองและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน คือการมีชีวิตอยู่อย่างไรให้สมดุลกับตัวเอง คนรอบข้าง หรือสิ่งรอบๆ ข้าง (ธรรมชาติ) และคนรุ่นต่อๆ ไป เพราะตัวของคุณลุง คุณป้าเอง จะทำพื้นที่แห่งนี้ไว้เพื่อคนรุ่นใหม่รุ่นต่อๆ ไปที่พร้อม และมีแนวคิดแบบเดียวกัน พวกเขายินดีอย่างยิ่งที่จะส่งมอบให้กับคนรุ่นต่อไปได้ดูแลและสานต่ออุดมการณ์ต่อไป
หากใครที่กำลังคิดและกำลังแสวงหาการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ให้เริ่มจากคิด ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป ว่าผลที่จะเกิดตามมากับตัวคุณเอง คนรอบข้างและคนรุ่นต่อๆ ไปจะเป็นอย่างไร และลองตั้งคำตอบง่ายๆ กับตัวเองว่า “อะไรที่ฉันต้องการ และอะไรที่ฉันคิดว่าฉันต้องการ” แต่สำหรับเรา เราพบคำตอบแล้ว และไม่เคยคิดเสียใจกับคำตอบที่ตนเองเลือกเลย
ภาพถ่าย: กรชชนก หุตะแพทย์