หากพูดถึงวงการจัดการขยะ ร้านรับซื้อของเก่าหรือร้านรับซื้อขยะ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนของเหลือทิ้งให้เป็นเงิน และเป็นตัวต่อสำคัญในการกระจายรายได้ในอุตสาหกรรมรีไซเคิล
และหากพูดถึงร้านรับซื้อขยะเบอร์ต้นของประเทศไทย ชื่อของ ‘วงษ์พาณิชย์’ คงจะขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ ด้วยระยะยืนในวงการมานานกว่า 40 ปี มีหน้าร้านกว่า 1,600 สาขาทั่วประเทศไทย นอกจากนั้นยังมี 3 สาขาในประเทศลาว 2 สาขาในมาเลเซีย 2 สาขาในญี่ปุ่น กับอีก 2 สาขาในประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังร้านรับซื้อขยะ วงษ์พาณิชย์คือธุรกิจการค้าขายวัสดุรีไซเคิลและโรงงานรีไซเคิลแบบครบวงจร ที่มุ่งมั่นรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ประชาชน ห้างร้าน องค์กร และหน่วยงานราชการ เห็นคุณค่าของขยะ และนำประสบการณ์มาเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดตั้งศูนย์รับขยะรีไซเคิลเพื่อรีไซเคิล การหามาตรการทางเลือกในการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง และเปิดหลักสูตรอบรมเรียนรู้ด้านการรีไซเคิลเชิงธุรกิจ
ในวันที่ขยะกับการเป็นสินค้านำเข้ายังคงอยู่ในการพูดถึง และไทยกำลังได้รับบทบาทเป็นถังขยะของโลก ไปฟัง ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด ว่าอะไรคือผลกระทบจากการนำเข้าขยะ และความสามารถในการรีไซเคิลของประเทศไทยตอนนี้มาไกลแค่ไหนแล้วในเวทีโลก
มาจับธุรกิจการจัดการขยะได้อย่างไร
ความสนใจของดร.สมไทย เริ่มต้นจากคำว่า ‘ธุรกิจ’ ที่หมายถึง ‘ธุระ’ ของคนหลายๆ คน และของส่วนรวม กว่าจะมายืนอยู่ในธุรกิจการจัดการขยะ ดร.สมไทยลองผิดลองถูกมากว่าร้อยอาชีพ จนมาจับเอาคุณค่าของขยะเข้าวันหนึ่ง ที่เมื่อย้อนกลับไปในสมัยที่เริ่มกิจการ ขยะยังถูกมองเป็นเรื่องน่ารังเกียจและเป็นปัญหาสังคม แต่เขาเห็นว่านี่คือทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด
“ผมเปลี่ยนวิธีคิดจากพ่อค้ามาเป็นนักธุรกิจ ถ้าเป็นพ่อค้า ซื้อมาขายไป อาจจะมีขายไม่หมด มีตกค้าง ต้องเอาไปเลหลัง ติดหนี้บ้าง สารพัด ในขณะที่ขยะนี่เป็นของที่ขายได้หมด มีมากเท่าไหร่ก็ขายได้หมด และขายได้เงินสดด้วย แต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักสำคัญว่า ขยะนั้นมีอะไรบ้าง จะสร้างมูลค่าได้อย่างไร หนึ่งคือชนิดของขยะ สองคือเส้นทางที่เราจะให้มันเดินไปได้เร็วที่สุด สามคือตลาดของวัสดุนั้นอยู่ที่ไหน
“เราศึกษาจนเข้าใจและแยกประเภทได้ว่าขยะมีชนิดอะไรบ้าง มี hazardous waste (กากของเสียอันตราย) non-hazardous waste (กากของเสียไม่อันตราย) จากนั้นรู้ว่ามีรายจ่ายในการจัดการเท่าไหร่ มีต้นทุนในการจัดการเคลื่อนย้ายต่อครั้งเท่าไหร่ ต่อมาเรื่องอำนาจทางเศรษฐศาสตร์ ดีมานด์-ซัพพลาย เราจะทำอย่างไรที่จะสร้างตลาดขนาดใหญ่ให้ขยะ ทำให้เกิดแรงซื้อ ซึ่งสุดท้ายเราพบว่ามันคือ Marketing Recycling Waste เราไม่ได้เริ่มจากวิธีการจัดการ แต่ตั้งโมเดลด้วยการเอาตลาดเป็นตัวตั้ง ดูมาร์เกตติ้ง เพราะถ้าหากไม่มีตลาด มันจะไม่มีพลังเงินในการย้อนกลับคืนมาเลย แล้วกิจการมันจะไปต่อไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เรามองเห็น”
“ปรัชญาที่ยึดมั่นคือ จริงๆ แล้ว โลกใบนี้ไม่มีขยะเลย มีเพียงทรัพยากรที่ไว้ผิดที่”
“และปรัชญาจีนว่า การกู้กลับคืนทรัพยากรธรรมชาติที่ตายแล้วทำให้เกิดใหม่ได้ ใครทำได้ถือว่าเป็นยอดคนขั้นขุนพล ซึ่งการกู้กลับคืนนี้ไม่ใช่แค่การรีไซเคิลนะ แต่คือการช่วยโลก การเปลี่ยนสิ่งสกปรกเน่าเหม็นให้กลับมามีประโยชน์ และยังเป็นการสร้างงานกระจายรายได้ให้ชนชั้นคนยากจนได้อีกด้วย ทรัพยากรมีวันหมด แต่วัสดุรีไซเคิลเป็นทรัพยากรที่ไม่มีวันหมด”
จากปรัชญาทั้งหมดที่ยึดมั่น สรุปออกมาเป็นหัวใจในการทำธุรกิจของวงษ์พาณิชย์ว่า ความสามารถในการเก็บรวบรวมทรัพยากรที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศและของโลก เข้าสู่การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ แล้วแปรรูปเป็นวัตถุดิบพื้นฐานให้ผู้ใช้ปลายทางในนานาชาติ
“เราไม่ใช่อาณาจักร แต่เรากำลังสร้างเป็นอุทยานการรีไซเคิล อุทยานที่มีความรื่นรมย์” ดร.สมไทยกล่าวเอาไว้อย่างนั้น
ขยะมีค่ามากกว่าทอง
ปัจจุบันในเครือข่ายธุรกิจ วงษ์พาณิชย์มีหน้าร้านรับซื้อที่เปิดขายแฟรนไชส์ไปทั่วประเทศ รวมทั้งมีโรงงานตัด โรงหลอม และโรงงานผลิตวัสดุรีไซเคิล ซึ่งสามารถจัดการขยะได้อย่างครบวงจร
“ทองคำมีมูลค่าแต่ไม่มีคุณค่า ต่างจากขยะที่มีทั้งมูลค่าและคุณค่า การจัดการที่ดีจะสามารถนำขยะกลับเข้าสู่ระบบและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เราต้องมองขยะรีไซเคิลเป็นทรัพยากร หากทองคำไม่มีในโลก โลกอยู่ได้นะ แต่หากไม่มีทรัพยากรรีไซเคิล โลกเราจะวิบัติได้เลย แล้วการส่งเสริมการจัดการขยะและรีไซเคิลยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว บ้านเมืองที่เป็นระเบียบสะอาดเรียบร้อย คนในก็มีความสุข คนต่างประเทศก็อยากมาท่องเที่ยว มาชื่นชม”
การนำเข้าขยะ ทำลายระบบการจัดการขยะภายในประเทศ
ในเรื่องการนำเข้าขยะที่เป็นประเด็นกันมานั้น ดร.สมไทยอธิบายว่า ราคาขยะภายในประเทศที่เปลี่ยนแปลง เกิดจากสมการความต้องการซื้อและต้องการขายจากโรงงานรีไซเคิล กล่าวคือ ในประเทศยังมีความต้องการใช้ขวดน้ำพลาสติก กระป๋อง หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่รีไซเคิลได้อยู่ โรงงานผลิตจึงมีความต้องการวัสดุรีไซเคิล ที่ผ่านมา การนำเข้าขยะซึ่งคือวัสดุรีไซเคิลมาขายต่อให้โรงงานผลิต เป็นขยะที่แยกมาแล้วตั้งแต่ต้นทาง และส่งเข้ามาในปริมาณมาก ทำให้มีต้นทุนต่ำ สามารถขายให้โรงงานได้ในราคาถูก ซึ่งต่างจากวัสดุที่ได้จากร้านรับซื้อรายย่อย ที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่า ทำให้ต้นทุนสูงกว่า จึงเกิดการขายตัดราคา และส่งผลให้ราคาขยะในตลาดลดลงกว่าครึ่ง กระทบต่อร้านรับซื้อขยะทั้งรายย่อยรายใหญ่ และวงการซาเล้งอย่างรุนแรงเป็นลูกโซ่ จากที่เคยขายพลาสติกได้กิโลกรัมละ 10 บาท ลดลงมาเหลือ 2 บาท มูลค่าในการซื้อขายลดลง ในขณะที่กว่าซาเล้งคนหนึ่งจะเก็บขยะได้หนึ่งกิโลกรัมนั้นใช้แรงงานเท่าเดิม แรงจูงใจในการแยกขยะจึงลดตามลงไป พร้อมๆ กับที่ซาเล้งเริ่มบอกลาอาชีพ และหันไปรับจ้างใช้แรงงานแทน ร้านรับซื้อรายย่อยทยอยปิดกิจการ ประชาชนก็ขาดแรงจูงใจและไม่เห็นความสำคัญของการแยกขยะ
“การนำเข้าทำให้ปริมาณขยะล้นตลาด เมื่อเกิดภาวะล้นตลาด ราคาขยะภายในประเทศก็ดิ่งเหว ผลประโยชน์จากการนำเข้าไปตกอยู่ที่นักธุรกิจบางราย แทนที่จะเป็นประโยชน์ส่วนร่วม คนที่เคยได้รายได้ เช่น ซาเล้ง รถขนของ คนขับรถบรรทุก คนเก็บขยะ คนคัดแยกขยะ ล้วนได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นประชาชนก็ขาดแรงจูงใจในการแยก ถ้าราคาขยะสูงก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนแยกขยะตามทฤษฎีการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งคนแยกเขาได้เงินและสังคมก็ได้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
“ผมถามว่าถ้าแยกขยะแล้วขายได้กิโลฯ ละ 2 บาท จะยังเหลืออีกกี่บ้านที่อยากแยกขยะ ขยะก็เบา มันทั้งเปลืองที่เก็บ เปลืองเวลา”
“แรงจูงใจในการให้คนแยก ควรให้เขาได้ทั้งคุณค่าและมูลค่า หากได้แค่คุณค่าแต่ไม่มีมูลค่า ขยะจะล้นไปที่บ่อฝังกลบ รถเทศบาลต้องทำงานหนักขึ้น เพราะคนทิ้งรวมกันหมด”
“ซึ่งนี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเจ้าของธุรกิจที่ได้ประโยชน์ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ได้สัมปทาน มีเงินทุนมาลงทุนเปิดโรงงานในไทย มีเครือข่ายที่รู้ว่าซื้อขยะจากร้านในไทยนั้นราคาแพง แต่ถ้าซื้อจากต่างประเทศนั้นถูกกว่า สาเหตุที่ราคาขยะนำเข้านั้นถูก เพราะในต่างประเทศเขาไม่มีโรงงานรีไซเคิล แต่มีการบริโภคขนาดใหญ่ อย่างญี่ปุ่นเขามีโรงงานรีไซเคิลแต่มีโรงเล็กๆ ด้วยขนาดประเทศและปัจจัยต่างๆ เขาจึงใช้วิธีส่งออกไปกำจัดต่างประเทศ หรือแม้แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรปบางประเทศ ไม่มีการรีไซเคิลภายในประเทศ ดังนั้นการรับซื้อขยะจากต่างประเทศไม่ใช่แค่ได้ของที่ต้นทุนต่ำให้โรงงาน แต่ยังได้ค่ากำจัดขยะจากประเทศต้นทางด้วย เพราะประเทศเหล่านั้นประชาชนเขาเสียค่ากำจัดขยะแพงมาก คนที่ได้ประโยชน์จากการนำเข้าจึงได้ประโยชน์สองต่อ
“การจัดการขยะในประเทศไทยเราเอาไปเปรียบอย่างญี่ปุ่นหรืออเมริกาไม่ได้ เพราะประเทศเหล่านั้นเขามีการแยกขยะที่ต้นทาง และรัฐบาลมีงบในการกำจัด รัฐเก็บภาษีได้แพง แต่ละบ้านจะทิ้งขยะต้องเสียเงินให้รัฐ ในขณะที่ไทยเราจ่ายกันน้อยมาก แล้วในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาไม่มีซาเล้ง ไม่มีคนที่หารายได้จากการขายขยะ ไม่มีระบบร้านรับซื้อของเก่า แต่ประเทศไทยมีระบบนี้มาเป็นร้อยๆ ปี ราคาขยะที่ดิ่งเหวกระทบต่อผู้คนจำนวนมากในระบบนิเวศนี้ และถ้าหากเราจะเลิกระบบนี้ รัฐก็ต้องหาทางชดเชยรายได้หรือทางเลือกให้กลุ่มคนที่ทำอาชีพเหล่านี้ด้วย และหาทางเก็บเงินจากครัวเรือนในการจัดขยะให้มากขึ้น บังคับใช้กฎหมายลงโทษคนที่ทิ้งขยะผิดที่ให้เข้มข้นมากขึ้น เรามีระบบการจัดการขยะในบริบทไทยๆ หากจะมองว่าไปเอาระบบของยุโรปมาใช้เลย มันไม่ได้”
ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน ในการรับมือขยะรีไซเคิล
“เฉพาะขวดน้ำเราผลิตออกมา 386,000 ตันต่อปี โรงงานเพิ่งรับซื้อไปได้แค่ 220,000 ตัน ที่เหลือยังไม่รับซื้อและหลุดวงจรไปฝังกลบ เฉพาะพลาสติกอย่างเดียวมีการผลิตกว่า 1,500,000 ตัน กำลังการผลิตของไทยยังไม่ถึงครึ่งเลย จึงต้องมีการอนุญาตให้คนจีนเข้ามาตั้งโรงงานรีไซเคิลในไทย”
ประเทศไทยมีความพร้อมและความรู้ในการจัดการ ทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี กำลังบุคลากร และทุน เป้าหมายต่อไปถ้าจะมีการรับซื้อ คือเพื่อช่วยโลก และมีศักยภาพที่จะเป็น Recycle Hub ของเอเชีย แม้แต่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องการจัดการขยะ ก็ยังอยากส่งมาจัดการที่เมืองไทย เพราะประเทศเหล่านั้นยังขาดพื้นที่ในการตั้งโรงงานและเทคโนโลยีในการรีไซเคิล แต่การปรับบทบาทจากถังขยะมาเป็น Recycle Hub ด้วยการสนับสนุนการแยกขยะในครัวเรือน โรงเรียน สำนักงาน อาคารราชการ และบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในสมการนี้สำหรับดร.สมไทย
“เดิมเรากำลังจะทำตัวเป็นถังขยะโลก ด้วยรูปแบบและนโยบายของการนำเข้า แต่จริงๆ เรามีความพร้อม เรามีนักรบรีไซเคิลที่เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ผมเห็นว่า แทนที่เราจะรับขยะจากต่างประเทศ ให้เสียพลังงานหรือสร้างคาร์บอนในการขนส่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราสามารถส่งคนที่มีความรู้ความสามารถของเราออกไปทำงานให้กับต่างชาติได้ หากผมเป็นรัฐบาล ผมจะหันมาลงทุนในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านรีไซเคิล แล้วสนับสนุนให้เขาไปทำงานกับองค์กรต่างประเทส ไปพัฒนาระบบการจัดการขยะที่ต้นทาง”
แล้วคนตัวเล็กๆ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
ต้นทุนในการจัดการขยะส่วนใหญ่ ถูกใช้ไปกับการขนส่งและแยกขยะ หัวใจสำคัญของการซื้อขายขยะคือการแยก เมื่อขยะไม่ได้รับการแยกจากต้นทาง ก็จะถูกนำไปฝังกลับ ทำให้ไม่สามารเข้าวงจรรีไซเคิลได้ เมื่อเรายังบริโภคเท่าเดิม (หรืออาจมากขึ้น) แต่วัสดุรีไซเคิลไม่ได้กลับเข้าระบบ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงงานมีการเรียกร้องขอโควต้านำเข้าวัสดุรีไซเคิล ทั้งที่หากเปิดตัวเลขจากฝั่งผู้ผลิต ปริมาณที่ผลิตภายในประเทศนั้นเป็นทรัพยากรที่เพียงพอต่อการหมุนวนในอุตสาหกรรม
ดังนั้น การแยกขยะในครัวเรือน แยกจากต้นทาง จึงเป็นกลไกสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้
และจากกระเเสการคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติกในโลกออนไลน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาขยะพลาสติกในประเทศปรับตัวขึ้นทันทีในวันรุ่งขึ้น ดร.สมไทยขยายความตรงนี้ให้เข้าใจมากขึ้นว่า แม้รัฐจะยังไม่ได้ออกนโยบายยกเลิกการนำเข้าอย่างเป็นทางการ แต่ข่าวการคัดค้านและกระแสสังคมมีผลต่อแนวโน้มของปริมาณวัสดุรีไซเคิลในประเทศ ซึ่งมีผลต่อการวางแผนของภาคธุรกิจ ทำให้เกิด demand surge หรือความต้องการซื้อที่สูงขึ้นอย่างรุนแรงแบบกระหายหิว เพราะโรงงานมีความตื่นตัวและตื่นกลัว ต้องทำการสต็อกของเก็บไว้
นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความตระหนักถึงปัญหาและการเรียกร้องทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์นั้น สร้างแรงกระเพื่อมได้จริง แม้อาจยังไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง แต่แรงกระเพื่อมเล็กๆ เหล่านี้สามารถรวมกันและสร้างคลื่นลูกใหญ่ได้ในวันหนึ่ง
ภาพถ่าย: Parppim Pim