คุณคิดว่า ‘สมาร์ตซิตี้’ คือเมืองแบบไหน? และถ้าบอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะมีสมาร์ตซิตี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ก็คงเหมือนเติมเชื้อไฟความสงสัยให้คุณขึ้นไปอีก เอาเป็นว่าอย่ามัวเสียเวลาจินตนาการกันอยู่เลย เพราะนับจากนี้ผู้เขียนจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ‘สมาร์ตซิตี้’ หรือ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ที่คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ให้เมืองที่คุณอยู่อาศัยนั้นเปี่ยมไปด้วยความหวัง โอกาส และความยั่งยืนในทุกมิติกัน
ในครั้งแรกที่เราจะพูดกันถึงเรื่องนี้ Greenery. เราได้พูดคุยกับ ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับเรื่องและช่วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานของรัฐ ในการพิจารณาคัดกรองเมืองอัจฉริยะในไทยให้ตรงตามเกณฑ์ที่วางเอาไว้ เพื่อไขข้อข้องใจเบื้องต้นเกี่ยวกับคำว่า สมาร์ตซิตี้
สมาร์ตซิตี้คืออะไร และทำไมต้องสมาร์ต?
นิยามของสมาร์ตซิตี้ประเทศไทย หรือเมืองอัจฉริยะของไทย ที่ทางคณะกรรมการวางไว้ก็คือ “เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมือง และประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ และภาคเอกชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมือง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน”
สมาร์ตซิตี้มีจุดเริ่มต้นจากประชากรโลกเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมือง พออพยพมากขึ้นก็ทำให้เกิดปัญหาและมลพิษมากขึ้น
ทีนี้เราก็มาคิดกลับกันว่า อย่างนั้นทำไมไม่ทำให้เมืองที่เขาอยู่มันเจริญและน่าอยู่ เขาจะได้ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน และเนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้น จึงเลือกหยิบเอาเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาของเมืองนั่นเอง จึงเกิดคำว่า Smart ขึ้นมา ซึ่งหมายถึงการสมาร์ตด้วยเทคโนโลยี โดยต้องสอดคล้องกับคีย์เวิร์ดสำคัญอื่นๆ คือ เน้นการออกแบบที่ดี การมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ และที่สำคัญคือความยั่งยืน
สมาร์ตซิตี้ในเมืองไทยก่อเกิดมาประมาณ 5 ปีแล้ว โดยเริ่มที่จังหวัดภูเก็ต แต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่เป็นทางการมากำกับดูแล กระทั่งในยุค คสช.ยุคแรก ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะขึ้นมา โดยมีท่านรองนายกฯ ในสมัยนั้นคือ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ขึ้นเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ ที่มาจากทุกกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด โดยมีรัฐมนตรีจาก 3 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน
โดยหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการ คือทำแผนแม่บทของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คำว่า ‘เมืองอัจฉริยะ’ นี้ ถูกระบุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนระดับที่ 2 เรียกว่า แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 23 ประเด็น โดยเมืองอัจฉริยะ อยู่ในประเด็นที่ 6 ชื่อว่า ‘พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ’ ซึ่งเป็นแผนปี 2561-2580
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะนี้ รัฐจะทำหน้าที่เหมือนเป็น กระบวนกร (Facilitator) ที่คอยให้คำแนะนำปรึกษา และอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนา ให้กับแต่ละพื้นที่ ที่ต้องการพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ช่วยทำให้คนอยากจะลงทุน ทำให้เอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม นับเป็นวิธีพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนกว่าวิธีเดิมที่รอการตั้งงบประมาณจากภาครัฐเป็นหลัก
เป็นสมาร์ตซิตี้ แล้วดีอย่างไร?
แน่นอนว่าดีในการช่วยให้คนในเมืองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เกิดการบริการ เกิดการจ้างงาน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้นำเมืองกับประชาชนจะต้องช่วยกันร่างแผนพัฒนาเมืองสมาร์ตซิตี้ของตน
และเพื่อให้ง่ายและเกิดแรงจูงใจ ภาครัฐจึงกำหนดเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะ เมืองที่ส่งแผนเข้ามาและแผนนั้นผ่านเกณฑ์ ก็จะได้รับตราสัญลักษณ์เมืองสมาร์ตซิตี้ พร้อมกับสิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ สิทธิพิเศษด้านภาษีโดย BOI ซึ่งให้สิทธิ์กับเอกชน ที่เข้าไปทำระบบสมาร์ตในบริการต่างๆ ของเมืองนั้น ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลในกิจการระบบ smart ถึง 8 ปี หรือเมืองนั้นมีโอกาสจะได้รับเงินงบประมาณเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการตามที่ระบุไว้ในแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ส่งมา ตลอดจนสามารถขอให้เมืองของตนเป็นเขตทดลองทดสอบเทคโนโลยีหรือบริการใหม่ๆ ที่เรียกว่า Regulatory Sandbox จากหน่วยงาน Regulator ที่เกี่ยวข้องเช่น ขอเป็น Regulatory Sandbox เพื่อทดลองทดสอบคลื่นวิทยุ 5G จากกสทช.
การได้ชื่อว่าเป็นเมืองอัจฉริยะยังบ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำเมือง และเป็นหน้าเป็นตาของเมืองที่มีส่วนช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาร่วมพัฒนาเมือง
ตลอดจนเป็นโอกาสการทำธุรกิจ การอยู่ดี กินดีในเมืองที่มากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถดำรงอยู่ในเมืองของตนได้อย่างมีสุขภาวะและยั่งยืน
ดังนั้นแผนพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่แต่ละเมืองส่งเข้ามา จึงมีความสำคัญมาก เพราะเมืองที่ดี ต้องเริ่มจากมีการวางแผนดี ต้องมีการวางแผนจัดการที่ดี ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแผนดังกล่าวก่อนเป็นอันดับแรก
อยากเป็นสมาร์ตซิตี้ ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์อะไรบ้าง
1. การกำหนดพื้นที่เป้าหมายชัดเจน เมืองต้องระบุพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นสมาร์ตซิตี้ให้ชัดเจน ตลอดจนกำหนดบริบทของเมืองที่ต้องการจะพัฒนา และทิศทางเพื่อแก้ไข Pain Point ของเมืองร่วมกับประชาชนในพื้นที่
หากเป็นพื้นที่ที่เอกชนเข้ามาเสนอทำเมืองสมาร์ตซิตี้ ต้องมีการทำลักษณะคล้ายประชาพิจารณ์ แต่ไม่ลึกขนาดนั้น ต้องเกิดการยอมรับของพื้นที่รอบๆ ต้องเห็นชอบกับการสร้างเมือง และพื้นที่ที่จะเป็นเมืองได้ต้องมีประชากรอยู่ในพื้นที่นั้นไม่ต่ำกว่า 10,000 คนขึ้นไป หรือ 1,000 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร และมีสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่สาธารณะเป็นองค์ประกอบ
2. แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแผนนี้ขึ้นอยู่กับข้อที่ 1 ว่าเขาต้องการบริบทให้เป็นเมืองอะไร ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการเป็นเมืองการค้าชายแดน คุณก็ต้องมีพื้นฐานด้านการคมนาคม ขนส่ง มีท่าเรือบกไหม หรือว่ามีพวกโกดังอะไรพวกนี้ มีระบบทางรถไฟ นอกจากโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพแล้วก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย เช่น ไฟเบอร์ออฟติค ระบบ 5G เครือข่าย CCTV ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่เมืองสมาร์ตซิตี้นั้นๆ วางเอาไว้ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมีนักลงทุนมาเกี่ยวข้อง
3. แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล คือ ยุคดิจิทัลนี้ data เป็นปัจจัยสำคัญ เมืองต้องทำ ทุกเมืองจึงควรจะมี City Data Platform ซึ่งมี 3 องค์ประกอบคือ
Data Catalog คล้ายสมุดหน้าเหลือง ที่บอกว่า data ของเมืองอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนเก็บ ใครเป็นเจ้าของ หน้าตาของข้อมูลเป็นอย่างไร ฯลฯ
Data Exchange เพราะข้อมูลที่ถูกเก็บไว้คนเดียวไม่ก่อเกิดประโยชน์ ควรจะเปิดเผยได้ เปรียบเหมือนเป็นตลาดไทของข้อมูล ซึ่งอาจจะซื้อขายก็ได้ ข้อมูลของเอกชนก็มี ไม่ใช่แค่ข้อมูลของรัฐอย่างเดียว ในส่วนนี้จึงต้องมี API (Application Programming Interface) เพื่อให้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์คุยกันเองโดยไม่ต้องผ่านมนุษย์ แล้วเครื่องจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเอามาประมวลผล
Data Governance ก็ต้องมีมาตรการในการรักษาความมั่นคงความปลอดภัยของข้อมูล ต้องปกปิดความเป็นส่วนบุคคล หากจะขายหรือเปิดเผย ต้องได้รับการอนุญาตและยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน
4. Smart City Solutions คือ ระบบบริการเมืองอัจฉริยะ โดยมิติการพัฒนามีทั้งหมด 7 ด้าน ซึ่งเมืองต้องชี้แจงในแผนที่เสนอมาว่าแต่ละด้านนั้นมีแผนย่อยอะไรบ้าง ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของเมือง หรือพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ตซิตี้ Smart City 7 ด้านมีดังนี้
• Smart Energy เป็นเมืองที่มีการบริหารจัดการพลังงาน ที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือเพิ่มพลังงานทดแทนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1% ต่อปี ตรงกับแผนของกระทรวงพลังงาน โดยมีสองมุมคือ เพิ่มประสิทธิภาพ หรือหาพลังงานทดแทนเข้ามา ทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
• Smart Economy ระบบหรือบริการที่เอื้อต่อการทำธุรกิจในเมือง ส่งเสริมให้รายได้ต่อหัวประชากรต่อปีเฉลี่ยมากกว่าสองแสนห้าหมื่น ตัวเลขนี้อ้างอิงตามเกณฑ์ของสากล แต่ในร่างแผนพิจารณาก็ทิ้งท้ายไว้ว่า ‘หรือให้เป็นไปตามบริบทของเมือง ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นเมืองอัจฉริยะ’ เพราะเมืองต่างกันอาจเปรียบเทียบรายได้ต่อหัวกันไม่ได้ เช่น รายได้ต่อหัวต่อปีของคนในจังหวัดระยอง อาจจะสูงกว่าจังหวัดแพร่และสูงกว่าเกณฑ์ ดังนั้นเมืองอัจฉริยะในจังหวัดระยองก็ต้องตั้งเป้าที่ท้าทายขึ้น
• Smart Living เป็นเมืองน่าอยู่ หรือมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ใช้สุขภาวะเป็นดัชนีชี้วัดอยู่แล้ว สุขภาวะนั้นมันดูทั้ง สุขภาพกายแลสุขภาพใจ โดยตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ เช่น ดูตัวอัตราการเข้ารักษาโรงพยาบาลของคนในพื้นที่ หรือจำนวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นต้น
• Smart Environment เป็นเมืองสีเขียว ที่มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี พิจารณาได้จากค่า Carbon Emission (การปล่อยค่าก๊าซเรือนกระจก) ต้องลดได้มากกว่า 1% ต่อปี ซึ่งทุกอย่างทุกกิจกรรมมันสามารถแปลงเป็น Carbon Emission ได้
• Smart People เป็นเมืองที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของประชาชน วัดได้จากสัดส่วนของประชากร ในพื้นที่ที่มี Digital Literacy (ความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัล) ไม่ต่ำกว่า 70%
• Smart Governance มีการบริหารจัดการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีความมีส่วนร่วมของประชาชน ดูที่ E-participation การมีส่วนร่วมของคนที่เข้ามาใช้บริการของภาครัฐ ต้องมีมากว่า 60%
• Smart Mobility เมืองที่มีระบบการจราจรขนส่งที่สะดวก ปลอดภัย พิจารณาสองตัวชี้วัด คือ ความพึงพอใจของระบบขนส่งสาธารณะ ข้อนี้ต้องทำการสำรวจ และระบุว่าต้องมีความพึงพอใจมากกว่า 60% และเรื่องที่สองคือ อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ต้องไม่เกิน 12 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปีนั้นๆ หรือลดลง 50% ต่อปี เพราะมันมีประเด็นของ Comfortability ความสะดวกสะบายในการใช้รถสาธารณะ การเข้าถึงความปลอดภัย ความสะอาด ประเด็นนี้วัดได้ยาก จึงต้องวัดที่ความพึงพอใจของคนโดยตรง
5. การบริหารจัดการที่ยั่งยืน ต้องเขียนรูปแบบการลงทุน กลไกการบริหาร หรือ Business Model เพราะว่าไม่อย่างนั้นต่อให้ทำ ข้อ 1-4 มาดี แต่สุดท้ายมาตายตรงข้อ 5 คือไม่รู้ว่าใครบริหารจัดการ แล้วใครเป็นเจ้าของแล้ว มี Flow ของเงินเข้ามาอย่างไร อาจจะได้งบประมาณมาแค่ปีเดียว แล้วปีหน้าไม่ได้งบก็หายไป แบบนี้ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน
การร่วมมือกันผลักดันสมาร์ตซิตี้ในระดับอาเซียน
ปัจจุบัน ใน Asian ก็มี Asian Smart City Network (ASCN) เป็นเครือข่าย 26 เมืองอัจฉริยะใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเหมือนกัน ข้อดีคือ เขาตั้ง Frame work ตรงกลางให้ทุกเมืองเรียนรู้กรอบแนวทางการพัฒนาเมือง แล้วก็ หน่วยงานของประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น ญี่ปุ่น อเมริกา จีน เกาหลี ออสเตรเลีย เขาก็สนใจที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือกับเมือง โดยผ่านทาง ASCN ประเทศไทยเองได้ส่งเมืองเข้าไปร่วม 3 เมือง คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งได้ความช่วยเหลือจากระดับอาเซียนในประเทศ Dialogue Partner อย่างเช่น ญี่ปุ่นเข้ามาทำโครงการที่ภูเก็ต ทางด้านการจัดการจราจร สหรัฐอเมริกาก็มาช่วยเรื่องการจัดการน้ำที่ภูเก็ต เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่ประเทศที่เข้ามาช่วยเหลือ จะจัดตั้งงบประมาณของเขาขึ้นมาเอง แล้วก็เข้ามาทำงานให้กับเมืองที่ต้องการพัฒนาเป็นสมาร์ตซิตี้ในอาเซียน หากเป็นโครงการ feasibility study เป็นการศึกษาความเป็นไปได้หรืออบรมคน มักจะเป็นเงินให้เปล่า แต่ในกรณีการลงทุนศึกษางานขนาดใหญ่ ประเทศที่เข้ามาช่วยเหลือจะลงทุนให้กับเอกชนของประเทศตนเองโดยขอใช้พื้นที่ของประเทศเขตอาเซียนที่ต้องการพัฒนาเป็นสมาร์ตซิตี้เป็นพื้นที่ทดลอง สิ่งที่ประเทศในเขตอาเซียนจะได้รับประโยชน์ก็คือ การเรียนรู้และองค์ความรู้ ที่ถูกนำมาใช้พัฒนา หรืออีกประเภทหนึ่งคือสนับสนุนลักษณะ เงินกู้ เช่น จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งโครงการในลักษณะนี้ หากเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ก่อน
สมาร์ตซิตี้เมืองไทย มีกี่แบบ
สมาร์ตซิตี้ของไทย แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลัก คือ
1. กลุ่มเมืองเดิมน่าอยู่ คือการพัฒนาพื้นที่เดิม ให้มีความสมาร์ตและน่าอยู่มากขึ้น ตามความต้องการของเมือง การพัฒนาสมาร์ตซิตี้ประเภทนี้ จะยึดเอาการแก้ปัญหา Pain Point ของเมืองเป็นหลัก อาจมี Smart City Solution ไม่ครบทั้ง 7 ด้าน หรือทั้ง 7 ด้าน มีสัดส่วนที่ต่างกัน ก็ได้ แต่จำป็นต้องมีแผน Smart Environment เพราะเป็นเกณฑ์บังคับ
2. เมืองใหม่ทันสมัย คือ พื้นที่ที่พัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมดเพื่อมุ่งหวังในการเป็นสมาร์ตซิตี้ เนื่องจากสมาร์ตซิตี้ประเภทนี้เริ่มจากศูนย์ สามารถพัฒนาได้ใหม่หมด จึงควรวางโครงสร้างพื้นฐานให้มี Smart City Solution ครบทั้ง 7 ด้าน และมีบริบทของความเป็นเมืองอัจฉริยะที่ชัดเจน เมืองใหม่จึงจะถูกพิจารณาอย่างเข้มงวด ยกตัวอย่างสมาร์ตซิตี้ประเภทนี้ เช่น วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเมืองที่ ปตท. พยายามจะสร้างเป็นเมืองใหม่ขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากพื้นที่สีเขียวยังไม่ได้มีคนเข้าไปอยู่ เราก็เรียกว่า เป็นการพัฒนาเมืองใหม่
เมืองสร้างคน หรือคนสร้างเมือง
มีคำถามหนึ่งว่า “เมืองสมาร์ตแล้ว คนต้องสมาร์ตด้วยหรือเปล่า?” บางคนบอกว่า ถ้าเมืองสมาร์ตจริง คนไม่ต้องสมาร์ต เมืองก็ต้องช่วยให้คนสมาร์ตได้ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามนั้น อธิบายเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้าเราให้คุณใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน แล้วคุณไม่เรียนรู้ ก็ใช้โทรศัพท์นั้นได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นคนก็ต้องเรียนรู้ ปรับตัว ยอมรับ และมีส่วนร่วมในการออกแบบ และพัฒนาเมืองด้วย เพราะว่าไม่มีใครรู้ความต้องการของเมืองได้ดีเท่ากับคนในเมือง จะบอกให้คนกรุงเทพฯ ให้ภาครัฐมาตัดสินเมืองของคุณคงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นคนในเมืองต้องมีส่วนร่วมกับเรื่องของการออกแบบพัฒนาเมืองของตนเองด้วย
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการร่วมมือของทุกภาคส่วน ผู้บริหารโครงการ จะต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เรื่องการวางแผน จนแล้วเสร็จโครงการ บางเมืองบางโครงการเขาทำ Smart People ด้วย ซึ่งพูดถึงการพัฒนาการศึกษา หรือไม่ให้โดนหลอกทางด้านการใช้งานดิจิทัล ส่วนของ Smart Governance ก็จะทำให้คนมี E-Participation ในการใช้บริการของเมือง ดังนั้นประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม มันคงไม่ใช่รอให้เมืองสมาร์ตแล้วจะทำให้ชีวิตดีขึ้นเลย
สมาร์ตซิตี้ไม่มีที่สิ้นสุด
ปัญหาหลายๆ ปัญหาแก้แล้วใช่ว่าจะจบอย่างถาวร ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น เกิดปัญหาว่าน้ำทะเลสะอาดเกินไป ทำให้แพลงก์ตอน หรือตัวสาหร่าย มันไม่สามารถเจริญเติบโต เหตุเพราะการบำบัดน้ำเสียมันดีเกินไป จึงต้องยอมลดความเข้มงวดของการบำบัดน้ำลง เพื่อจะได้มีแบคทีเรียปล่อยลงสู่ทะเลบ้าง ทำให้แพลงก์ตอน หรือสาหร่าย เติบโตได้ ประเด็นที่หยิบยกมานี้ เพื่อต้องการให้เห็นว่า การที่เราแก้ปัญหาจุดหนึ่งผ่านไป ก็อาจจะทำให้มีผลกระทบด้านอื่น หรือเกิดปัญหาอื่นขึ้นได้เช่นกันอย่างที่เราเผชิญกับโควิด-19
smart city ก็ต้อง smarter ขึ้นไปไม่มีสิ้นสุด ดังนั้นก็เลยจะต้อง responsive หรือ resilience ในการที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นปัญหาความต้องการของคน ก็จะเป็นตัวที่เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้วย อย่างเช่น วันนี้เรามีโควิด-19 คนทำงานก็ปรับตัวมา work from home มันก็กระทบกับอาชีพแท็กซี่ที่ไม่ได้ขนส่งคนแล้ว เพราะคนอยู่บ้าน จึงต้องปรับตัวว่าจะนำเทคโนโลยีอะไรจะเข้ามาช่วยคนขับแท็กซี่ เขาอาจจะปรับบทบาทหน้าที่มาทำเดลิเวอรี่อาหารแทนด้วยหรือเปล่า
เทคโนโลยีเปลี่ยนเพราะพฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนไป อย่างเช่น คนหันมาช้อปปิ้งออนไลน์แทนการออกไปเดินช้อปปิ้ง ความอดทนเริ่มน้อยลง เพราะเขาเลือกได้ หรือการดูทีวีเขาก็ดูออนดีมานด์ ดูแป๊บเดียวก็ผ่าน อันไหนไม่ชอบก็เลื่อนผ่านไป มีทางเลือกมากขึ้น พอพฤติกรรมคนเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็ต้องพัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไป
เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรม พอพฤติกรรมเปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยนอีก ตามไปเรื่อยๆ มันก็จะวนเป็นลูปแบบนี้ คนที่อยู่ในเมืองก็เช่นกัน เทคโนโลยีเปลี่ยน คนเปลี่ยนพฤติกรรม เทคโนโลยีก็ต้องเปลี่ยนอีก ก็จะวนไล่กันอยู่แบบนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น เรื่องของสมาร์ตซิติ้นั้น ผู้ที่เป็นผู้นำเมือง หรือผู้บริหารเมืองจะเข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลงทั้งปัญหา พฤติกรรมของคน และเทคโนโลยี ต้องรับมือให้ทัน
อยากฝากอะไรทิ้งท้ายเกี่ยวกับสมาร์ตซิตี้ให้กับผู้อ่าน?
“มีคนเคยถามว่า ตรงข้ามกับ Smart City คืออะไร? ก็ Dumb City ใช่ไหม? ผมเองก็ไม่ได้บอกว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในเมืองที่เป็น Dumb City นะ แต่ว่าคุณก็ลองไปดูเองสิว่า วันนี้คุณเจอปัญหาอะไรในเมือง เช่น มันมี PM 2.5 มีความไม่สะดวกในการเดินทางไหม หรือว่าเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหามันมีอยู่แล้ว แต่มันก็มีเกิดดับเกิดดับของมัน เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่เรารับมือไม่ทัน ถ้าจะรับมือทันในยุคนี้ก็ต้องมีคำว่า สมาร์ต ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยแก้ มาปรับตัวปรับเปลี่ยนให้มันแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น จึงอยากฝากไว้ว่า ในที่สุดเทคโนโลยีและวิธีการบริหารจัดการใหม่ๆ ก็ต้องเข้ามา และจะ disrupt วิธีบริหารเมืองที่เราทำอยู่ทุกวันนี้
“ผมจึงอยากลองให้ปรับความคิดใหม่ ให้เริ่มเปลี่ยนตัวเองก่อน เปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รูปแบบการบริหารและการลงทุนใหม่ๆ”
“ไม่ใช่ใช้ระบบเดิมๆ ที่ต้องรอภาษีจากรัฐ หรือทุ่มทุกอย่างโยนภาระให้ผู้ว่า โยนให้นายก อบต. หรือนายกเทศมนตรี ตรงนี้มันเป็นจุดที่ต้องเริ่มเปลี่ยน เอกชนก็เริ่มเข้ามาแล้ว ประชาชนก็ต้องเข้ามาเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องทนอยู่ในเมือง Dumb City ต่อไป” ดร.ภาสกร กล่าวปิดท้ายบทสัมภาษณ์
อ่านถึงตรงนี้แล้ว คิดว่าผู้อ่านคงเริ่มเข้าใจ และอาจพอเห็นเค้าโครงการการสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ตซิตี้ กันขึ้นบ้าง แต่เพื่อความชัดเจน ในเดือนถัดๆ ไป เราจะนำตัวอย่างเมืองที่ได้เสนอแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะมาเล่าสู่กันฟัง จะได้เห็นภาพของสมาร์ตซิตี้ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้น ส่วนจะเป็นเมืองไหน และแต่ละเมืองเขาทำเรื่องสมาร์ตๆ กันอย่างไร ต้องรอติดตามอ่านนะครับ
ขอบคุณ ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เอื้อเฟื้อข้อมูล
เครดิตภาพ: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, 123rf