หลายคนติดอกติดใจงานเขียนและงานวาดภาพของผู้ชายอารมณ์ดี กฤช เหลือลมัย ที่ว่าด้วยเรื่องผักพื้นบ้าน หรืออาหารรสเด็ด ทั้งจากคอลัมน์ ‘ท้ายครัว’ ในนิตยสารสารคดี คอลัมน์ ‘ต้นสายปลายจวัก’ ในมติชน (ที่ล่าสุดเพิ่งรวมเล่มออกมาให้อ่านกันเต็มอิ่ม) หรือกระทั่งคอลัมน์ ‘โอชากาเล’ ในเว็บไซต์ของนิตยสาร Way (เสียดายที่ปัจจุบันเขาหยุดเขียนคอลัมน์นี้แล้ว) ทั้งหมดนี้มาจากผลงานการค้นคว้าและทดลองทำอาหาร โดยใช้วัตถุดิบจากผักพื้นบ้านใกล้ตัว หรือผักริมรั้ว ริมทางเป็นส่วนใหญ่
ถ้ารสชาติอาหารคือการเปิดประสบการณ์ทางลิ้นให้หลากหลาย เรื่องราวของอาหารที่เขาสืบเสาะขุดคุ้ยมาให้เรารับรู้ ก็คือการเปิดประสบการณ์ทางสมองที่ทำให้เราตื่นจากความมืดบอดทางการกินนั่นเอง
เพราะหลายครั้งที่เราลิ้มรส แต่เราไม่เคยรู้รส หลายครั้งที่เราอิ่มท้อง แต่โหยหิวความเข้าใจว่าอาหารแต่ละชนิด ผักแต่ละประเภท มีที่มาที่ไปอย่างไร
นอกจากความหลงใหลในเรื่องอาหารและสำราญกับการลองลิ้มชิมรสแล้ว พื้นฐานความรู้ในเรื่องโบราณคดีที่ร่ำเรียนและทำงานมากว่าครึ่งชีวิตของเขา คือส่วนผสมชั้นดีที่ทำให้กฤช เหลือลมัย นำพาเราไปไกลกว่าเรื่องรสชาติของอาหาร และเชื้อเชิญให้เราเพลิดเพลินกับความเป็นมาและความเป็นไปของวัฒนธรรมอาหาร วิถีชีวิต การกิน การอยู่ ที่นับวันจะยิ่งสำคัญและส่งผลทั้งต่อสุขภาพกายและใจของทุกคน โดยเฉพาะคนเมืองที่มีเรื่องราวให้ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันมากมายในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ทั้งเรื่องวิถีชีวิตคนเมืองกับอาหาร ปัญหาการยอมสยบต่อสารพัดเครื่องปรุงรสที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงรสชาติเดิมแท้ของวัตถุดิบ ฯลฯ
“อาหารควรจะนำพาเราไปให้ไกลมากกว่าเรื่องของตัวมันเอง” กฤชบอกกับเราแบบนั้น แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องเปิดลิ้น เปิดใจ และเปิดรับประสบการณ์ต่างๆ ที่เราพึงมีพึงได้ จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
“เสียดาย นี่ถ้าฝนไม่ตั้งเค้า จะพาขี่จักรยานไปเก็บผัก หน้าฝนแบบนี้ผักข้างทางขึ้นกันงามมาก”
นอกเหนือจากฝนฟ้าที่ทำให้เราไม่ได้พากันออกไปสำรวจริมทางกันในวันนี้ ก็ไม่น่ามีอะไรเป็นอุปสรรคอีก สำหรับการเปิดโลกแห่งอาหาร และปลดปล่อยตัวเองออกจากกรอบการคิดบางอย่างที่ทำให้ชีวิตเราขาดรสชาติที่แท้จริงมานาน
นักสำรวจแห่งโลก (ของอาหาร)
ด้วยความรู้ความสามารถอันหลากหลาย ทั้งการเขียน วาดรูป และการบอกเล่าเรื่องราวอันน่าสนุกของการปรุงอาหารตามแบบฉบับของตนเอง และการขุดค้นประวัติที่มาของวัตถุดิบและอาหารแต่ละชนิด ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะถามว่า เขามองว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่อะไร หรือนิยามความเป็น อยู่ คือ ของตัวเองไว้อย่างไรกันแน่
“ไม่รู้สิว่าเป็นอะไรกันแน่ (หัวเราะ) ผมรู้แค่ว่าผมเป็นคนชอบกิน แล้วแม่ก็ทำอาหารให้กินตลอดตั้งแต่เด็ก ผมจึงกินได้ทุกอย่าง และอยากลองกินไปหมดทุกอย่าง สำหรับผม ผมมองว่าอาหารคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้อย่างมีความสุข”
“เพราะมนุษย์เราก็มักจะผูกพันกับอาหารที่พ่อแม่ทำให้กิน พอโตขึ้นมาอยู่ไกลบ้าน เราก็คิดถึงรสชาติแบบนั้นก็เลยลองทำเอง โดยอาศัยความทรงจำจากตอนเด็กๆ ว่ารสมันเป็นยังไง แม่ใส่อะไรก่อนหลัง ทดลองเอาเอง แล้วก่อร่างสร้างอาหารในแบบที่อยากกินขึ้นมาเอง”
“หรือเวลาเจอผักพื้นบ้านอะไรแปลกๆ ก็อยากรู้ว่ามันจะเอามาทำอาหารอะไรได้บ้าง เราไม่ยอมถูกจำกัด หรือไม่คิดจะจำกัดตัวเองอยู่ในสูตรมาตรฐานที่เรารู้มา พอมีเจตจำนงแบบนี้แล้ว มันก็เหมือนเราพยายามจะดิ้นหาอะไรที่แปลกๆ ใหม่ๆ ทำอยู่ตลอดเวลา แล้วยิ่งออกมาทำงานอิสระแบบนี้ก็มีเวลาไปสำรวจ รู้จักวัตถุดิบมากมาย จากแวดวงเพื่อนๆ ที่ทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้เราสนุก รู้สึกว่าโลกนี้มันเปิดกว้างมากๆ เลย ตื่นตาตื่นใจมาก คิดว่านี่เราไปอยู่ที่ไหนมาตั้งนาน มัวแต่ไปดูวัดอยู่ได้ แทนที่จะไปตลาดตั้งแต่แรก (หัวเราะ)”
เมื่อไม่คิดจะถูกจำกัดด้วยกรอบใดๆ จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นแห่งอิสระในการค้นหา รวมทั้งสำรวจว่าโลกของอาหารและวัตถุดิบพื้นบ้านมีอะไรที่น่าสนใจใคร่รู้บ้าง ทุกวันนี้ตลาดในแต่ละท้องถิ่นคือสถานที่ห้ามพลาดของเขาไปแล้ว เพราะมันเชื้อเชิญให้เข้าไปเห็นถึงวิถีอยู่ วิถีกิน ผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ ที่มาจากเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน หรือแม้แต่ผักที่พบหาได้ตามข้างทาง ก็น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
สำนวนของเขาบอกว่าตลาดท้องถิ่นสามารถตอบสนองผัสสะของมนุษย์คนหนึ่งได้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ ซึ่งหาไม่ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างกลางเมือง โดยเฉพาะในแง่ความหลากหลายของผักและวัตถุดิบ
เพราะของในซูเปอร์มาร์เก็ตมักจะผ่านการคัดสรรให้ลูกค้าเสร็จสรรพตามรสนิยมของคนเมืองส่วนใหญ่ ทำให้หลายครั้งเราก็ไม่รู้จักผักหน้าตาแปลกๆ หรือผักที่มีประโยชน์เต็มเปี่ยมแต่ไม่แมสเท่าผักแบบอื่น มากไปกว่านั้นก็คือ ต่อให้รู้จักผักมากขึ้นแล้ว จะเอาไปปรุงอาหารได้ยังไง
“ปัญหาตอนนี้คือ คนปลูกก็ปลูกไปเถอะ คนซื้อก็ไม่รู้จะซื้อไปทำอะไร ผมก็เลยหาวิธีปรุง ทำอาหารกินเอง ให้คนเห็นว่าผักรอบๆ ตัวเราหลายๆ อย่างมันกินได้นะ เพราะเพื่อนๆ ที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็มาปรึกษาว่า จนปัญญาจริงๆ ที่จะทำให้คนกินผักพื้นบ้าน เพราะไม่รู้จะบอกคนยังไง แม้จะอธิบายประโยชน์ของผักได้เป็นฉากๆ ว่าดีกับสุขภาพยังไง แต่คนซื้อก็เกาหัวแกรกๆ (หัวเราะ) เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำกินยังไง
“ความถนัดของผมก็คือทดลอง ทำกินเอง เพื่อให้รู้ว่ามันกินได้จริงๆ แต่ปัญหาคือ คนเรามันมีเพดานความคิดกับอาหารที่ตัวเองกินมากน้อยไม่เท่ากัน คนแบบผมก็คือเห็นอะไรน่ากินก็อยากเอามาทำกินเอง เพื่อให้รู้ว่ามันกินได้จริงๆ แต่บางคนเขาก็อาจจะติดอยู่แค่กับข้าวไม่กี่อย่าง นั่นแหละคือโจทย์ที่เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เขาเข้าใจตรงนั้นได้ อีกอย่างคือคนไม่กล้ากินผักแปลกๆ เพราะเขาไม่สามารถจะมีลิ้นที่จะมีความสุขกับการได้กินผักที่แตกต่างออกไป เหมือนเขาถูกตีกรอบจากอะไรหลายๆ อย่าง ที่บอกว่าผักที่ดีต้องมีแบบไหนบ้าง ทั้งๆ ที่มันมีผักมากกว่านั้น คือในความคิดของผม เนื้อสัตว์ที่เรากินยังมีไม่กี่ชนิด แต่ผักมีเป็นร้อยๆ ชนิด ผมอยากทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นว่า วัตถุดิบพวกนี้สามารถเอามาทำกับข้าวได้เยอะมาก หลากหลายเมนู แล้วมันก็มีความอร่อยในแบบของมัน”
เมื่ออาหารไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่ในจาน แต่พาเราข้ามพรมแดนความรู้ได้ไม่รู้จบ
เมื่อเปิดใจที่จะสำรวจความหลากหลายของวัตถุดิบ กฤชก็พบว่าอาหารไม่ใช่แค่อาหาร ไม่ใช่สิ่งที่กินเพื่อความอร่อยหรือแค่ยังชีพ แต่มันยังนำพาไปสู่เรื่องราวอื่นๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ และบ่อยครั้งก็ทำให้คนเราค้นพบตัวเอง
“จะว่าไปผมสนใจอาหารในเรื่องของนิยามความหมายของมัน หรือในเชิงมานุษยวิทยา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่พาเราไปไกลมาก และจริงๆ ของทุกอย่างในโลกก็ควรจะเป็นแบบนั้น มันควรจะทำให้คนที่สนใจเรื่องหนึ่งๆ ผ่านตัวของมันไปยังเรื่องอื่นๆ ได้อีก ไม่ใช่มาตกหลุมอยู่แต่ตัวของมันเอง เช่น สนใจเรื่องอาหารก็ตกหลุมแต่เรื่องอาหาร แล้วพูดเรื่องอื่นไม่ได้ มองเรื่องอื่นไม่เห็น”
“เราควรจะมองอาหาร ทะลุจาน ทะลุถ้วย ออกไปถึงความยากจนของผู้ผลิต การถูกเอารัดเอาเปรียบของเกษตรกร เป็นต้น เพราะมันมีอะไรอยู่เบื้องหลังเยอะไปหมด”
“ถ้าคุณทำเป็นไม่เห็นเบื้องหลังสิ่งที่คุณกินเข้าไป คุณก็เพิกเฉยเกินไป ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น ยกตัวอย่างเช่น ความสนใจของผมคือการเก็บผักริมรั้วมากิน หรือผักที่ขึ้นอยู่ข้างทางนี่แหละ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นของฟรีที่ดีมาก ใครก็เก็บได้ แถมมีตามฤดูกาลด้วย ซึ่งถ้าเป็นคนไม่ได้สนใจเรื่องผักพื้นบ้านมาก่อน เขาก็จะมองว่ามันคือวัชพืชที่ต้องกำจัด ต้องไปหายาฆ่าหญ้า หรือทำให้พื้นที่นั้นมันโล่งๆ เตียนๆ เพราะสำหรับคนเมืองสมัยใหม่ เขาก็ย่อมต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อย โล่ง สะอาดสะอ้าน
“แต่มันยังมีคนอีกกลุ่มแน่ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่กับการเก็บผักที่หาง่ายๆ เหล่านี้มากิน หรือเอาไปขายหารายได้ มันก็เชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่เราพูดตอนแรกคือตลาดพื้นบ้าน ผักที่เราเห็นป้าแก่ๆ มาวางขาย มันก็คือผักข้างทาง ริมรั้วนั่นแหละ เช่น ผักบุ้ง กระถิน กระทกรก ตำลึง เวลาเราเห็นในตลาดท้องถิ่น เราก็ตื่นตาตื่นใจไปซื้อมา ทั้งๆ ที่มันก็อยู่แถวบ้านเรา สอง ลองนึกดูสิว่ามันมาจากข้างทาง แล้วข้างทางก็กำลังถูกรุกราน ทำลาย ถางทิ้ง แค่นี้เราก็เห็นความเชื่อมโยงของปัญหานี้แล้ว เพราะแน่นอนว่าเมืองขยายตัว หมู่บ้านมีมากขึ้น พื้นที่เหล่านี้ก็เลยหายเกลี้ยง”
“เราก็ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งเลวร้ายนะ เพราะเมืองก็ต้องขยาย ต้องเติบโต แต่ก็อยากให้ตระหนักว่า เรื่องพืชผักข้างทางท้องถิ่น มันเริ่มหายไป การจะเก็บผักพวกนี้กิน ก็ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนอีกแล้วนะ โดยเฉพาะถ้าคุณยังคิดถึงการใช้พื้นที่สีเขียวในเมืองกันแบบเดิมๆ คุณก็จะไม่สนใจเรื่องแบบนี้”
“เพราะคุณจะมองแค่ว่า ถางก็ถางไปสิ มันจะได้ไม่รก แต่มันต้องคิดเชื่อมกันทั้งระบบด้วยซ้ำ เช่น รัฐจะทำสวนสาธารณะ หรือสงวนพื้นที่สีเขียวต่างๆ มันควรคิดถึงพื้นที่สีเขียวที่มีผักหรือต้นไม้ที่กินได้ด้วย เพราะว่าที่ผ่านมาไม่มีใครสนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่มองความเขียวแค่ให้ร่มเงา ให้ออกซิเจน แต่แทบไม่มีใครพูดถึงพื้นที่สีเขียวในแง่ของการกินเลย นโยบายต่างๆ ก็ไม่เคยรวมเรื่องการกินเข้าไปด้วย”
ที่แปลกไปกว่านั้น ผักข้างทางยังพาเราไปไกลถึงต้นทางแห่งความคิดหรือค่านิยมที่ฝังลึกโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วย ซึ่งกฤชบอกว่า เป็นเรื่องของปัญหาทางวัฒนธรรมที่ทำให้เขาแปลกใจมากพอสมควร
“เอาจริงๆ การเก็บผักข้างทางมันเป็นความสนุก แต่สำหรับบางคนก็อาจจะไม่กล้าเก็บ หรืออาจจะอาย เพราะหลายคนมองว่าการเก็บผักคือไม่มีเงิน มันมีเรื่องที่พี่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีคนชอบมาเก็บตำลึงหน้าบ้านเขา เขาก็เลยบอกให้มาเก็บได้บ่อยๆ เลย เพราะเขาไม่ได้เอาไปทำอะไร คนนั้นก็มาเก็บอีกได้สักพัก แล้วก็ไม่มาแล้ว พอพี่คนนี้ไปถามอีกที เขาบอกว่าเขาอายที่จะมาเก็บ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย”
“เราน่าจะมองให้มันเป็นเรื่องสนุก เพราะหารู้ไม่ว่าผักข้างทางมันอร่อยมาก และมันเปิดโอกาสให้เราได้รู้จักผักหลากหลาย”
“โดยเฉพาะหน้าฝนนี้ เราจะเห็นผักขึ้นกันงามมาก พูดแล้วก็อยากออกไปเก็บ (หัวเราะ) อย่างจิงจ้อขาว ถ้าเห็นก็เก็บมาต้มกับหมูบะช่อได้เลย ให้อารมณ์คล้ายตำลึง แต่ไม่ใช่ซะทีเดียว ตำลึงมันจะมีความละมุนละไมกว่า แต่จิงจ้อมันจะไม่เละ อุ่นสองสามครั้งก็ไม่เละ แล้วปริมาณมันมากจริงๆ ต่างกับตำลึงที่เด็ดมาต้มกว่าจะได้แต่ละหม้อ มันเหนื่อยมาก นี่คือผักที่หาได้ง่ายๆ และปลอดสารพิษเลย”
อาหารและการบำรุงบำเรอลิ้น ที่ทำให้เราสูญสิ้นอิสรภาพ
ถ้าเราไปอ่านหนังสือหรือคอลัมน์ภายใต้ชื่อ กฤช เหลือลมัย จะเห็นได้ว่าอาหารหลายๆ เมนูไปไกลเกินประสบการณ์หรือเพดานการกินของเราไปมาก บางครั้งก็ไม่ใช่เมนูที่คุ้นเคย เพราะอย่างที่บอกว่าเขาเป็นทั้งนักทดลองและสำรวจ เขาจึงนำพาความตื่นตาตื่นใจมาให้เราเสมอ ซึ่งในความน่าอร่อยนั้น แทบไม่มีข้อสงสัย หรือถึงขั้นเห็นภาพอาหารแล้วน้ำลายสอกันเลยก็ว่าได้ แต่ขณะที่บางคนอาจจะกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะลองดีมั้ย ผักริมรั้วแบบนี้กินได้จริงหรือ ปรุงแบบนี้ก็ได้หรือ ประเด็นนี้ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่ามันเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องการรับรสของลิ้น และการตกเป็นทาสของการปรุงรส ซึ่งกฤชบอกเราว่า สงครามครั้งนี้ เราแพ้อย่างราบคาบ ตราบใดที่เราไม่ฉุกคิดและปลดปล่อยตัวเอง
“ผมมองว่าการจะกินให้หลากหลาย ต้องมีความรู้ให้กว้างก่อนว่ามีอะไรกินได้ มีอะไรมากกว่าที่เราเคยกิน เช่น มีผักป่า ผักพื้นบ้าน เป็นต้น พอรู้ว่ากินได้ ก็อยู่ที่ความกล้าที่จะเปิดใจกินแล้ว ตรงนี้มันหนักกว่าความรู้นะ เพราะความรู้อ่านทีเดียวเราก็รู้แล้ว แต่การที่เราจะทำใจกินจริงๆ หรือความกล้ากิน มันคนละเรื่องกันเลย ศาสตราจารย์ทางพฤกษศาสตร์อาจจะกินแต่ผักคะน้าก็ได้ ใครจะไปรู้ (หัวเราะ)
“แล้วลำพังแค่ความอยากกินก็ไม่พอนะ มันต้องเป็นความกล้านิดนึง เพราะความอยากกินมันก็ยังมีเรื่องของการสลัดลิ้นแบบคนเมืองไม่ออก เราอยากกิน แต่ก็อยากกินรสแบบที่เคยกิน ซึ่งลิ้นแบบคนเมืองที่ผมบอก ก็คือลิ้นที่ถูกปรนเปรอด้วยเครื่องปรุงรส ไม่ว่าจะเป็นผงปรุงรส ซอสหอยนางรม ผงชูรส น้ำตาลทราย ประกอบขึ้นเป็นรสชาติชนิดหนึ่งซึ่งหนัก แน่น เกาะลิ้น ทำลายรสของวัตถุดิบในอาหารทั้งหมด เหลือแต่รสของมันเอง และแต่ละจานจะเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะสั่งผัดกะเพรา ผัดพริก ผัดฉ่า ผัดผัก มันจะมีรสของเครื่องปรุงคุมอยู่เสมอ
“ผมคิดว่าเครื่องปรุงรสทั้งหลายนี่แหละที่เหมือนกรงอันใหญ่ที่สุดที่ครอบเราไว้ ถ้าคุณยังติดกับมันมากๆ อยู่ ต่อให้เจอวัตถุดิบที่เป็นผักพื้นบ้านดีๆ ขนาดไหน ปรุงโดยพยายามจะให้รสชาติคงอยู่แค่ไหน คุณก็ไม่มีทางเข้าถึงรสได้ เพราะคุณพกเอาอัตตาของลิ้นไปด้วย”
“เหมือนแบกลิ้นอันเบ้อเร่อไปไหนต่อไหน มันไม่มีทางหลุดหรอกครับ เพราะกินอะไรก็จะรู้สึกว่าไม่อร่อย ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของเขาหรอก ก็ใครล่ะที่ทำร้ายคนกินได้ขนาดนั้น
“ดังนั้นนอกจากความรู้ นอกจากความกล้ากิน คุณยังต้องมีลิ้นที่เปิดกว้าง ซึ่งต้องกลับไปที่เรื่องความรู้เท่าทันเกี่ยวกับสิ่งปรุงรสในอาหารของคนเมือง พอรู้แล้ว จะทำยังไงให้สลัดออกไปได้ด้วย ตอนนี้เหมือนเราตกเป็นทาสของเครื่องปรุงรส และสงครามนี้เรายังแพ้อยู่อย่างราบคาบ การที่เราจะเป็นอิสระจากมันเป็นเรื่องยากมาก แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ แค่อย่างน้อยคือต้องรู้ก่อนว่า อาหารที่ไม่ปรุงมันเป็นยังไง ไม่ใส่ผงชูรสเป็นยังไง บางคนบอกว่าไม่ใส่ก็ไม่อร่อย ก็ต้องถามว่า ความอร่อยของแต่ละคนคืออะไร มันอาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละคนก็ได้
“อย่างผม ความอร่อยคือรสชาติของวัตถุดิบที่เราปล่อยให้มันระเบิดมาให้เต็มที่ ในกรณีที่เราอยากกินผักบวบ เราก็ไม่ได้อยากกินบวบปรุงรสไก่ หรือรสซอสหอยนางรม เราต้องการกินบวบเว้ย (หัวเราะ) ดังนั้นเมื่อเรามีความตั้งมั่นแบบนี้แล้ว เราก็จะเลือกกินผัดบวบที่ปรุงด้วยดอกเกลือ เกลือมันจะช่วยดึงรสออกมาเอง คนมากินของผมอาจจะบอกว่าจืด แต่ถ้าผมไปกินผัดบวบที่อื่น ผมก็อาจจะคิดว่านี่ผัดบวบหรือผัดน้ำมันหอย (หัวเราะ) เพราะการใส่ผงปรุงรสเยอะแยะก็ล้วนแต่ร้ายต่อไตหรือระบบคัดกรองของเสียในร่างกายเราทั้งนั้น เราก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าเราจะเอายังไง เพราะต่อให้เราหาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาปรุงรส มันก็อีกนั่นแหละ
“เชื่อผมเถอะว่า อาหารบางอย่าง มันอาจจะมีรสชาติเดิมที่อร่อยของมันในระดับนั้นแล้ว แต่เราติดการปรุงรส เราก็เลยรู้สึกว่าไม่อร่อย เพราะลิ้นเราโดนสปอยล์ไปหมดแล้ว ต่อให้กินอะไรที่เป็นสารปรุงรสจากธรรมชาติก็ตาม มันไม่พอ เพราะมันติดรสไปแล้ว นี่แหละคือปัญหา เครื่องปรุงรสมันดึงลิ้นของเราขึ้นไปติดเพดาน จนไม่สามารถลงมาอร่อยกับของที่เคยอร่อยได้แล้ว ทำให้เรากินอาหารที่ไม่ปลอดภัยไปเรื่อยๆ เพราะการกินอะไรที่รสชาติเข้มข้นเกินไป รสจัดเกินไป ก็ไม่ดีทั้งนั้น”
ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร