เราได้ยินชื่อสวนผักดาดฟ้าของครูอุษา-กัญญ์ณัทพัชร บุณยะโหตระ มาเนิ่นนาน ตั้งแต่เรื่องการปลูกผักบนดาดฟ้ายังเป็นเรื่องชวนฉงนว่าจะทำได้จริงหรือ จนเดี๋ยวนี้มีดาดฟ้าหลายแห่งที่ขนดินยกกระถางกันขึ้นไปตั้งรับน้ำรับแดดกันบนตึกสูง แต่ถึงที่สุดแล้ว เวลาที่มีใครสักคนพูดถึงเรื่องสวนดาดฟ้า สวนของครูอุษาจะต้องเป็นหนึ่งสวนที่อยู่ในการพูดถึง เพราะความงอกงามของผลผลิตจากสวนเป็นเครื่องการันตี และในฐานะที่ครูอุษาเป็นคนแรกๆ ที่คิดจะทำสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ให้เป็นไปได้ขึ้นมา
ไม่เพียงแต่เรื่องราวของสวนผักดาดฟ้า ที่นำมาสู่การเป็นครูที่ให้ความรู้เรื่องการปรุงดิน ปลูกผักปลูกต้นไม้ในกระถาง ผ่านเวิร์กช็อปต่างๆ ครูอุษามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่ในวงการเต้าหู้ออร์แกนิก เพราะเต้าหู้ของครูอุษาที่ห่อด้วยใบตองสีเขียวสดยามออกตลาดอินทรีย์นั้น มีคำยืนยันจากคนกินว่าอร่อยนัก รวมไปถึงบรรดาของกินประดามีอื่นๆ ที่แปรรูปจากวัตถุดิบในสวนที่เธอลงมือปลูกเองและซื้อหาจากเครือข่ายผลผลิตปลอดสารที่รู้แหล่งที่มาที่ไปกันดี ทั้งนมถั่ว กิมจิ ผักดอง ที่ไม่ใช่แค่แบ่งไปขายเปล่าๆ เพราะบ่อยครั้งที่เธอได้เปิดเวิร์กช็อปให้คนทั่วไปได้มาเรียนกันฟรีๆ เพื่อจะได้กลับไปทำกินเองอย่างไม่หวงความรู้
ใช่… วันนี้ครูอุษาไม่ได้จำกัดความเป็นครูอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแบบเดิมเพียงอย่างเดียว หากเธอพามันไปด้วยในทุกที่ที่มีคนต้องการเรียนรู้ แม้กระทั่งวันนี้ที่เรามาเยือนเธอในสวนปูนกลางเมือง สวนอีกแห่งของเธอที่ถอดแบบมาจากสวนผักดาดฟ้าอย่างไม่มีผิดเพี้ยน สวนปูนกลางเมืองที่มีพืชผักไม้ต้นยืนรากอยู่ในกระถางบนพื้นกระเบื้องที่เคยเป็นห้องเรียนเก่าของโรงเรียนรังษีวิทยา ในซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 1 ซึ่งเจ้าของสวนต้อนรับเราด้วยชาโรสแมรี่ที่เด็ดยอดจากต้นสดๆ มาต้มในหม้อใบเล็ก และหอมจนเพียงนึกถึงก็จดจำได้ถึงกลิ่นและรสชาติที่เจืออยู่ในชาอุ่นๆ กับความรู้และแง่คิดที่สอดแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดของการสนทนา
นั่นเพราะจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่หลอมรวมเป็นเนื้อเป็นตัวและหัวจิตหัวใจของครูอุษา ซึ่งเป็น ‘ครู’ มาทั้งชีวิต
สวนผักของครูอุษา
สวนในซอยแห่งนี้ ครูอุษาเล่าว่าเป็นที่พักของต้นไม้ที่ต้องลำเลียงลงจากดาดฟ้าที่ต้องมีการปรับปรุงพื้นที่เมื่อสองปีก่อน ด้วยวิธีการทำที่ยังเหมือนเดิม ทั้งกระบะที่ก่ออิฐขึ้นมาจากพื้นเพื่อปลูกกล้วยและมันเทศญี่ปุ่น บ่อปุ๋ยหมักที่เป็นอาหารของผักในสวน ซุ้มไม้เลื้อยที่โค้งเป็นวง ผูกระแนงด้วยเชือกแบบเงื่อนที่เราเคยเรียนในวิชาลูกเสือ โต๊ะนักเรียนไม้แบบเก่าคือฐานรองกระถางผัก ริมกำแพงอีกฝั่งคือเล้าไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้กว่าสิบตัว และออกไข่ให้ได้กินมิได้ขาด
“สวนดาดฟ้าก็เป็นแบบนี้เป๊ะเลย เป็นปูนร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีพื้นดิน ปูกระเบื้องยาวไปถึงข้างหลัง ทุกสิ่งที่เห็นปลูกในกระถางทั้งหมด ยกเว้นต้นมะพร้าวที่โตในโถสุขภัณฑ์เก่า ข้างล่างเป็นบ่อเกรอะ รากเขาก็เลื้อยไปหาดินเอง”
ต้นคนทีสอในกระถางโตจนกลายเป็นซุ้มสูงตรงทางเข้า ไชยาที่เห็นนั้นขึ้นเองในซอกกำแพง เมื่อไม่มีดินก็แผ่รากนอนไปกับพื้นแล้วเหยียดต้นขึ้นเทียมกำแพง ฟักเขียวติดลูกขนาดมหึมาจนต้องตัดแบ่งกันไปกิน เช่นเดียวกับบวบหอมที่ให้ลูกยาวเป็นวา และตอนนี้มันเทศญี่ปุ่นก็กำลังได้ที่ให้ครูอุษาเก็บไปทำเมนูต่อ
“ที่เห็นว่างามนี่งามเพราะดิน เราสร้างอาหารให้ดิน การปลูกในกระถางเราจะอาศัยธรรมชาติไม่ได้เลย เราต้องผลิตปุ๋ยให้เขา เราต้องมีความรู้ และรู้จักธรรมชาติของเขา”
“อย่างเช่นกล้วย ที่ปลูกในกระบะดินได้เพราะเขาไม่มีรากแก้ว เป็นรากแผ่ ดังนั้นดินไม่ต้องลึก แต่พอต้นโตขึ้น เราก็ต่อกระบะให้สูงขึ้นมา แล้วเสริมดินเข้าไป แค่นั้นเอง หรืออย่างต้นสมอ ที่จริงเขาเป็นไม้ใหญ่ คนก็บอกว่าปลูกในกระถางแบบนี้ไม่ได้ลูกหรอก เราบอกไม่เป็นไร จะทำให้ดู เราให้เขาอยู่แบบนี้ วิธีก็คือพอครบแปดเดือนเราตัดรากออกแล้วปลูกใหม่ เหมือนทำสาวเขาใหม่ เขาจะไม่โตไปกว่านี้ แต่เราบำรุงให้เขาออกผลได้ เรารู้ว่าต้องใส่ปุ๋ยหรือฮอร์โมนอะไรช่วยเขา
“ฉะนั้นการปลูกในกระถางเป็นไปได้หรือ เป็นไปแล้วนี่ไง แต่เราต้องปลูกอยู่ตามหลักความจริงที่ควรจะเป็น สำคัญคือเรื่องการปรุงดิน ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ครูไม่ทิ้งอะไรเลย ที่บ้านครูนอกจากเราเอาพลาสติกเข้าบ้านน้อยแล้ว เราก็ไม่เอาของนอกบ้านทิ้ง ทานเสร็จต้องเก็บหมด แม้แต่กิ่งไม้หรือไม้เป็นท่อนๆ ก็เก็บหมด ไม่ขนอะไรทิ้งนอกบ้านเลย ของที่กินได้ทุกอย่างเอาไปทำปุ๋ยหมดเลย”
สิ่งที่เธอเล่านั้นชวนให้เรายิ่งใคร่รู้ แล้วเราก็ได้เห็นจริงว่าต้นไม้เหล่านี้งอกงามดีไม่ต่างกับต้นไม้ที่โตบนดิน ครูอุษาบอกกับเราว่า เธอไม่เคยเข้าอบรมที่ไหนเลย ที่ทำอยู่นี้ก็เรียนรู้ด้วยตัวเองจากตำราทั้งนั้น
“ครูมีข้อคิดอย่างหนึ่งว่า อะไรที่คนอื่นทำไม่ได้ ฉันต้องหาวิธีทำให้ได้ อันไหนที่มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีทางสิ แต่จะเป็นวิธีไหนเท่านั้นเอง”
เมื่อขอให้เล่าย้อนไปสักหน่อยว่าทำไมครูอุษาถึงได้มาทำสวนผักบนดาดฟ้าได้ ทั้งที่ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้เรื่องการปลูกผักมาก่อน เธอฉายภาพให้เราเห็นว่า เธอเป็นคนเมืองคนหนึ่งที่แม้จะเกิดในจังหวัดสงขลา แต่ก็ไม่ได้เกิดในครอบครัวเกษตรกร เมื่อเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ จนจบมาก็เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่เคยปลูกผักเลยแม้แต่ต้นเดียว จะมีก็แต่ความสนใจเรื่องโภชนาการ ที่เธอให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งมาตั้งแต่เด็ก
“เราเรียนด้านคหกรรม ก็จะได้เรียนเรื่องโภชนาการด้วย ทุกวันนี้ครูกินอาหารตามตารางของตัวเองมาเป็นเวลาสามสิบกว่าปีแล้ว วันนี้ฉันได้โปรตีนเท่าไร วันนี้ฉันกินผักอะไรบ้าง อะไรจะทำให้เราแข็งแรง อะไรจะทำให้เราดูดี ส้มให้วิตามินซีเท่าไร มีแคลเซียมในนม ในนมถั่วเหลือง ในปลาตัวเล็ก ในผักใบเขียว แล้วอะไรให้แคลเซียมมากที่สุด เราก็เอาสิ่งนั้นไปปรุงอาหารให้ตัวเอง ตารางพวกนี้อยู่ในหัวเราตลอด
“ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการคำนวณ เพราะตอนที่เราเรียน เราจะเจอเรื่องเด็กมีทุพโภชนาการ ผู้ใหญ่เป็นโรคกระดูกพรุนเพราะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เด็กในวัยหนึ่งเขาต้องการแคลเซียมวันละ 1,200 มิลลิกรัมนะ ผู้ใหญ่อย่างเราต้องการวันละ 1,000 มิลลิกรัม ดังนั้นเราต้องกินอะไร สมัยนี้คนกินวิตามินเหมือนเป็นทางลัด ไม่ต้องคิดอะไรเลย หนึ่งเม็ดจบ แต่มันดูดซึมได้ไม่ดี”
การกินตามตารางโภชนาการของครูอุษา จึงเป็นเรื่อง ‘กันไว้ก่อน’ แต่แม้จะทำถึงขั้นนั้นแล้ว เธอก็ยังไม่วายต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย
“ตอนแรกเรามั่นใจว่าเราแข็งแรงมาตลอด มีเผลอไปกินจังก์ฟู้ดตามกระแสนิยมบ้างเพราะเรามีสังคม เพื่อนกินเราก็กินด้วย แต่เพื่อนไม่เป็นอะไร เราป่วย เริ่มเป็นโรคลำไส้แปรปรวน และอาจจะเพราะต้นทุนวัยเด็กไม่ดีด้วย กับเป็นคนทำงานแล้วชีวิตสุดโต่ง กลางวันสอนหนังสือ เลิกมาทำงานพิเศษ เรามีความชำนาญในการทำงานคราฟต์ทุกอย่าง ก็เลยทำขาย ออร์เดอร์ระเบิดระเบ้อ ยิ่งช่วงเทศกาลครูไม่นอนเลย อาศัยนอนในรถเอา
“พอป่วยก็หันมามองวิถีชีวิตตัวเอง ครูนี่เข้าข่ายความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดนะ วันๆ ฉันทำอะไร แล้วที่บอกว่าฉันกินดี ฉันกินไม่ดีต่างหากล่ะ มันไม่ดีเพราะเราไปพลาดตรงที่เราซื้อกิน หนึ่งคือเราไม่รู้ว่าปนเปื้อนอะไร สองคือเรากินซากผัก อย่างฉันต้องกินสลัด ไปซื้อผักในห้าง ตักสลัดบาร์ แต่เขาหั่นไว้นานแล้ว วิตามินสลายไปหมดแล้ว เรากินปลาตัวเล็ก แต่ปลาตัวเล็ก กินกุ้งแห้งเพื่อให้ได้แคลเซียม แต่ในนั้นก็มีอะไรเยอะแยะ คนที่กินเหมือนเราเขาอาจไม่เป็นอะไรมากเท่าเรา เพราะภูมิคุ้มกันแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจละ เราต้องทำกับข้าวกินเอง”
เมื่อต้องทำกับข้าวกินเองในยุคยี่สิบปีที่แล้วที่ผักออร์แกนิกหายาก อย่างที่เธอเปรียบว่า “ซื้อทองยังง่ายกว่า” ดังนั้นการซื้อแต่ละครั้งจึงต้องซื้อเผื่อให้ครบอาทิตย์ เพื่อที่จะพบว่าช่วงปลายอาทิตย์ ผักเหล่านั้นก็กลายเป็นซากผักไปเสียอีกแล้ว
“ต้องเลาะเอาใบเหลืองออกแล้วได้กินแต่ก้าน แต่ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องทนอยู่สภาพนี้ไป จนบังเอิญได้อ่านเจอว่าเว็บไซต์สวนผักคนเมืองเขารณรงค์ให้คนเมืองปลูกผัก ก็เอ๊ะ คนเมืองปลูกผักได้ด้วยเหรอ เข้าไปดูก็เห็นว่าเออ มันง่ายนี่
“การทำเกษตรในหัวเราคือการไปตากแดด ไปจับจอบ แต่ที่เราเห็นเขาทำมันไม่ยาก”
“แล้ววิทยากรในสวนผักคนเมืองเขาทำสวนสวย เราเป็นคนชอบของสวย แบบนี้ฉันได้แหละ ตอนนั้นที่ที่จะปลูกได้ ก็มีแต่ดาดฟ้า แล้วตอนนั้นทางสวนผักคนเมืองเขามีโครงการให้คนเมืองทำสวน ให้สตางค์ทำด้วย ให้เขียนโครงการไป เรื่องเขียนโครงการเราถนัดอยู่แล้วนี่ พอเขียนไปเราก็ได้รับเลือก ทีนี้ปัญหามาละ ฉันจะทำยังไง ฉันปลูกไม่เป็น (หัวเราะ)”
การเริ่มต้นเป็นคนทำสวนของครูอุษา จึงเริ่มจากการอ่าน “บอกไม่ได้ว่าครูอ่านเรื่องเกี่ยวกับปลูกผักวันละกี่ชั่วโมง แต่ขอบอกว่าทุกเวลาที่ครูว่าง หนังสือที่เป็นเรื่องปลูกผักในเมืองมีอยู่บ้านครูทุกเล่ม อ่านหนังสือไม่หนำใจ เข้าเว็บไซต์ม.เกษตร เด็กเกษตรเขาเรียนอะไรกัน เด็กพืชสวนเรียนอะไรกัน อยากรู้เรื่องจุลินทรีย์ เราก็ไปสรรหาหนังสือที่เด็กเรียนกันมาอ่าน เรียกว่าข้อมูลทฤษฎีแน่นเลย
“วิธีอ่านของเราก็คือ วันนี้ครูต้องการรู้อะไร ก็ไปหาหนังสือนั้นมาอ่านให้รู้เป็นเรื่อง อ่านเสร็จแล้วลงมือปลูก ถ้าต้นไม้กลายเป็นสีเหลือง เกิดอะไรขึ้น ไปอ่านอีก อ๋อ มันขาดธาตุอาหารตัวนี้ แล้วต้องแก้ยังไง ก็มาทำกับต้นไม้ของเรา โดยไม่ต้องมีการจด”
“เราใช้ประสบการณ์ เกิดปัญหาก็ไปหาข้อมูล แต่เราจะไม่ซื้อหนังสือทั่วไปนะ ใช้หนังสือที่เป็นตำราเรียน จึงเชื่อถือได้ ทุกวันนี้สามารถตอบคำถามได้ทุกคำถาม ว่าต้นไม้เป็นแบบนี้มันเกิดอะไรขึ้น”
ข้อมูลเหล่านั้นเอง ที่ทำให้โครงการสวนผักดาดฟ้าของครูอุษาไปได้ตลอดรอดฝั่งในปีที่รับบทคนสวนตั้งแต่ปีแรก กระทั่งกลายเป็นวิทยากร จัดเวิร์กช็อปปลูกผัก และกลายเป็นครูขายต้นไม้กระถางไปด้วย
“เพราะครูเป็นคนที่ปลูกไม่เป็นมาก่อน แต่ครูอยากปลูก แล้วครูเล็งเห็นว่าคนเมืองโดยเฉพาะคนที่อยู่คอนโด เขาซื้อดิน ซื้อกระถาง ซื้อต้นไม้มา แต่ปลูกแล้วตาย งั้นไม่ต้อง คุณอยู่เฉยๆ ดิฉันปลูกให้คุณเสร็จเลย คุณมีหน้าที่รดน้ำแล้วตัดทาน จบ” เธอเล่าถึงงานปลูกต้นไม้อย่างรื่นรมย์ เพราะเดี๋ยวนี้การทำสวนกลายเป็นสิ่งที่เธอรักไปแล้ว
ห้องเรียนไร้ผนัง ในโรงเรียนหลังเก่าของครูรังษี
ทุกๆ วัน ครูอุษาและสามี คือครูอัศวิน-จารุวิทย์ บุณยะโหตระ จะมาดูแลพืชผักในแปลงนี้ และใช้ชีวิตอยู่จนมืดค่ำ แม้ที่นี่จะยังไม่มีไฟฟ้า เธอก็อาศัยแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้หลอดไฟมีแสงสว่างตอนกลางคืน ช่วงแรกนั้นต้องขนน้ำใส่รถกระบะมาจากบ้านมารดต้นไม้ กระทั่งต่อท่อจากบ้านอีกหลังได้ในภายหลัง จึงเก็บน้ำพักไว้ในถังสำรอง มีเพิงพักเล็กๆ ไว้เอนหลัง ตั้งเตาแก๊สและติดเครื่องครัวมาทำกับข้าวกินกันที่นี่
“พอเราปิดประตู ตรงนี้จะเหมือนอีกโลกเลยนะ เราอยู่ที่นี่กันได้ทั้งวัน” ครูอุษาวาดภาพให้เราเห็นในวันที่ไม่มีแขกมาเยือน และสวนแห่งนี้ปิดประตูมิดชิด
ครูอัศวินเล่าให้เราฟังว่า แต่เดิมนั้นพื้นที่ตรงนี้คือโรงเรียนรังษีวิทยาของคุณพ่อครูเอง คืออาจารย์รังษี และอาจารย์บุญเกื้อ ผู้บุกเบิกซอยนี้ที่ในอดีตชาวบ้านเรียกกันว่าซอยรังษี โรงเรียนนี้เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.2500 แต่ปัจจุบันย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่กำแพงเพชรเพราะพื้นที่นี้ขยายต่อไม่ได้แล้ว อาคารไม้เหล่านั้นจึงถูกรื้อไปสร้างโรงเรียนที่กำแพงเพชร ที่ดินบางส่วนแบ่งขายไปบ้าง เหลือแปลงนี้ที่ยังอยู่ซึ่งเป็นของพี่สาวครูอัศวิน จึงได้ขอมาให้ครูอุษาทำสวน
“ครูอุษาทำด้วยจิตวิญญาณของเขา เขาทำเพื่อนักเรียน” ครูอัศวินเอ่ยถึงภรรยา พลางเล่าว่าที่บ้านของทั้งคู่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนดาดฟ้านั้น ได้เปิดเป็นเนิร์สเซอรี่ด้วย เมื่อผู้ปกครองส่งลูกหลานมาเรียน ก็จึงต้องมีอาหารดีๆ ให้เด็กได้รับประทาน จนถึงแบ่งปันให้ผู้ปกครองของเด็กด้วย การทำสวนของครูอุษา จึงไม่ใช่เพื่อสนองความต้องการของตัวเองเพียงอย่างเดียว
“เราอยากให้ที่นี่ได้เป็นตัวอย่างของสังคม และเป็นครู เป็นต้นแบบให้ผู้ปกครองนักเรียนว่า ด้วยพื้นที่คอนกรีตอย่างนี้ เราสามารถปลูกพืชในกระถางกินเองได้ ไม่ต้องไปเสี่ยงกับสารเคมีที่มีมหาศาล เราเป็นครูจริงๆ คำว่าครูหมายความว่าต้องให้ชีวิตดีๆ กับลูกศิษย์ ไม่ว่าในแง่มุมไหนก็ตาม ต่อไปเราคิดว่าจะทำเป็นฟาร์มสเตย์เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้มาสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ หรือเห็นเป็นตัวอย่างว่า ถ้าคุณมีทาวน์เฮาส์หรือบ้านเดี่ยว หรือแม้แต่คอนโดมิเนียม คุณปลูกผักกินเองได้”
ทั้งสองช่วยกันสร้างสวนแห่งนี้ตามกำลัง ครูอุษาเล่าว่า สิ่งที่เห็นทั้งหมดในสวนนี้ ไม่ว่าจะซุ้มระแนง กรงไก่ทั้งกรง เธอใช้เชือกมัดเองกับมือ ทั้งหมดตั้งวางอยู่บนพื้นปูกระเบื้องเก่าของห้องเรียนเดิม
“ที่นี่เราแทบไม่ตอกตะปูเลย เพราะครูทำไม่เป็น เราเป็นผู้หญิง ข้อมือไม่แข็ง ตอกไม่ได้ ก็เลยมัดเอา มัดด้วยลวด ผูกเชือก ถักตาข่าย เหมือนที่เราเรียนวิชาลูกเสือเลย ที่เลือกทำเองเพราะครูรู้สึกว่าเราได้ทำงานกับสมอง แล้วในการสร้างสวน สวนต้องมีประโยชน์สูงสุดกับครู คือนอกจากปลูกผักได้ผลผลิตสวยงาม ครูต้องออกกำลังกายได้ เลยจะมีรันเวย์ให้เดินวน เราสามารถจ็อกกิ้งตรงนี้ได้ ก็ทำวันละนิด”
ในฐานะเจ้าของเนิร์สเซอรี่ ครูอุษายังมีสอนพิเศษให้กับเด็กๆ อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วช่วงสองปีมานี้ ลูกศิษย์ของเธอคือผู้ใหญ่ ที่ให้ความสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ
“หลังจากที่ได้ออกตลาดสีเขียวในหลายๆ ตลาด ครูสังเกตเห็นว่าคนยุคนี้ต้องการความรู้เรื่องสุขภาพมากๆ และเขาต้องการทำอาหารกินเอง อยากเลี่ยงสารเคมี แต่เขาทำไม่เป็น เราเลยเปลี่ยนมาสอนเด็กน้อยลง แล้วไปสอนผู้ใหญ่แทน อะไรที่สอนได้ครูสอน เพื่อที่เขาจะได้กลับไปทำเองได้ สิ่งที่เราพบว่าผู้ใหญ่ขาดคือความรู้ที่แท้จริง ขาดประสบการณ์ เขาพยายามจะหลีกเลี่ยงสารเคมี แต่เขาไม่เข้าใจหลักธรรมชาติและสารอาหารที่ควรจะได้รับ ตรงนี้เราเลยพยายามบอกทุกครั้งที่ทำเวิร์กช็อปว่า คุณจะหลีกเลี่ยงสารเคมีอย่างเดียวไม่ได้นะ คุณต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสารอาหารของพืชผักนั้นด้วย ต้องเข้าใจการเลือก วิธีการปรุง อันไหนทำก่อน อันไหนทำหลัง แล้วทำยังไง เพื่อจะไปบอกให้คนรักสุขภาพทั้งหลายรู้ถึงสิ่งเหล่านี้
“ยกตัวอย่างเช่น ไม่ควรหั่นผักก่อนล้าง เพราะเราจะสูญเสียวิตามินไปกับการล้าง บางคนต้องการวิตามินซี แต่เอาอาหารไปปรุง วิตามินซีหายหมด ฉะนั้นต้องมีวิธีการ”
“อย่างทำกิมจิ เราต้องการโปรไบโอติกส์ ดังนั้นเราต้องทิ้งวิตามินซี เพื่อเอาโปรไบโอติกส์แทน แล้วเราไปหาวิตามินซีจากที่อื่น หรือมะเขือเทศมีวิตามินซี แต่ความสำคัญคือเราต้องการไลโคปีนจากมะเขือเทศต่างหาก ฉะนั้นหากอยากได้ไลโคปีน เราต้องกินซอสมะเขือเทศ ไม่ใช่เอามะเขือเทศมาหั่นสดๆ แล้วกินเป็นสลัด เพราะเมื่อเจอความร้อนไลโคปีนจะเพิ่มอีกสี่สิบเท่า” ครูอุษายกตัวอย่างในหลายเรื่องที่เราเองก็ต้องสารภาพว่าไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน
วิชาความสุขที่ออกแบบได้
“ผลผลิตคือได้จากสวน คอนเซ็ปต์ของเราคือ กินก่อน แล้วแจก แล้วแปรรูป” ครูอุษาเรียงลำดับความสำคัญ มันเทศญี่ปุ่นที่เธอกับน้องข้าว หลานสาววัยสิบขวบ ช่วยกันเก็บนั้น เธอบอกว่าหัวมันกำลังได้ที่ และคิดว่าจะทำแกงกะหรี่เผื่อขายในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ด้วย ตลาดประจำที่จะมีสินค้าแปรรูปจากสวนนี้ไปวาง คือตลาดธรรมธุรกิจ ที่ฐานธรรมพระรามเก้า ซึ่งเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์
“เมื่อก่อนเวลาคนนึกถึงครูอุษา อันดับแรกเขาจะนึกถึงคนทำสวนดาดฟ้า แต่ช่วงหลังเริ่มมีเรื่องทำเต้าหู้มาแทรก ที่จริงครูทำเต้าหู้มาสามสิบกว่าปีแล้วนะ แต่ทำกิน มีอยู่วันหนึ่งครูทำแล้วเอาไปฝากคนโน้นคนนี้ เขาก็บอกทำขายสิ ฉันไม่เคยกินเต้าหู้ที่ไหนอร่อยเท่าของเธอมาก่อน ก็เลยลองทำแล้วไปขาย แล้วขายดี เลยขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้จนถึงบัดนี้
“เต้าหู้ออร์แกนิกคนทานได้หมดอยู่แล้ว และจะมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถทานเนื้อสัตว์ได้ จะต้องทานโปรตีนจากเต้าหู้ ก็เลยมีคนต้องการตลอด ทุกวันนี้เหนื่อยมาก ถึงได้เปิดเวิร์กช็อปเพราะอยากให้คนได้ทำเอง หรือใครที่มีความสามารถในกลุ่มเพื่อน คุณทำขายเพื่อนเลย ส่วนเราก็ยังทำ แต่ทำตามกำลังของเรา ที่เราไม่อยากทำเยอะเพราะว่าครูหลุดจากการทำงานตรากตรำหาเงินแล้ว สมัยหนึ่งที่เราทำงานฝีมือ ทำโรงงานหล่อเทียน เราเหนื่อยมาก กลายเป็นมีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะมีออร์เดอร์มา ก็มีกรอบมาบังคับเรา ไม่รับก็ไม่ได้ เพราะนอกจากลูกค้าที่รับของเราไปขาย เรามีลูกน้องที่ต้องดูแล วงจรมันบีบเราทุกอย่าง สุขภาพเราก็เสื่อมไปเรื่อย เราไม่ได้นอน ไม่ได้มีเวลาทำกับข้าวกินเอง จนเริ่มป่วย เลยต้องหักดิบตัวเอง ทิ้งทุกคน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แย่มาก แต่จบ ฉันจะไม่เป็นทาสของอะไรอีกแล้ว”
“ตอนนี้รายได้เราน้อยลง แต่รายจ่ายเราก็ไม่เยอะนะ เพราะเราปลูกผักกินเองแล้ว”
“แต่ถึงจะรายจ่ายน้อย เราก็ขออีกหน่อยน่ะ ขอกินฟรีได้มั้ย คำว่าขอกินฟรีของเราก็คือ วันนี้เราอยากกินอะไร เราก็ทำเผื่ออีกเท่าตัวเพื่อเอาส่วนนั้นไปขายได้สตางค์มา ก็กลายเป็นว่าเราได้กินฟรี ดังนั้นของที่ครูขายจึงค่อนข้างหลากหลาย เพราะขายทุกอย่างที่ครูกิน นี่คือคอนเซ็ปต์ครูอุษา”
จากที่ตั้งต้นปลูกผักกินเองด้วยมีปัญหาสุขภาพ ถึงวันนี้ในวัย 54 เธอบอกกับเราเชิงเย้าว่า “โห สาวๆ สู้ไม่ได้เลยนะ แข็งแรงมากถึงมากที่สุด แรงเยอะ อึด แล้วไม่ป่วยเลย เมื่อก่อนเป็นภูมิแพ้หนักมาก ขนาดที่ว่ากินยาแก้แพ้ไม่ได้เพราะดื้อยาแก้แพ้ทุกชนิด เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอะไรเลย ตื่นมาไม่มีจาม ไม่มีน้ำมูก ไม่ต้องพึ่งยาพ่นจมูกเพื่อให้หายใจได้
“การออกแบบสวนให้มีรันเวย์ มันทำให้เรามีที่ออกกำลังกาย อยากวิ่งก็วิ่ง อยากเดินก็เดิน อยากทำอะไรก็ทำ ชีวิตเราดีขึ้น ที่จริงการพึ่งตนเองของเรามีมานานแล้ว แต่เป็นการพึ่งที่ไม่ถูกวิธี เรายังซื้อวัตถุดิบอยู่ เลยยังต้องเจอเคมี แต่ตอนนี้เป็นการพึ่งตนเองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เรียกว่ามาถูกทางและห่างไกลจากเคมีโดยสิ้นเชิง
“เราเคยประสบกับตัวเองมาแล้วว่าเราดูแลสุขภาพแต่เราดูแลผิดวิธี สิ่งที่เราคุยกับผู้ใหญ่เราไม่ค่อยเน้นคนป่วยนะ เพราะคนป่วยเป็นแรงขับเคลื่อนอยู่แล้วว่ายังไงเราก็ต้องทำให้ความรู้เรื่องนี้ แต่สำหรับคนที่ไม่ป่วย และต้องการไม่ป่วย สำคัญกว่า คือทำยังไงไม่ให้ป่วย ทำยังไงให้มีความสุขทุกวัน
“มีบางคนบอกว่าทำไมครูเป็นคนขี้เกียจ ทำไมไม่ทำงานประจำ เพราะเรานี่ถึงเวลาก็ไปชำต้นโรสแมรี่สักสิบต้น ง่วงก็มานอน ตื่นเช้ามาแทนที่จะรีบทำงานก็มัวแต่นั่งเอาใยบวบขัดผิว ล้างพิษตัวเอง ทำกับข้าว ก็เรื่องใหญ่ของเราคือเรื่องทำกินไง เรื่องใหญ่มาก แล้วต้องกินให้ได้ครบตามเป้าประสงค์เราด้วยนะ เอาการอยู่นะ (หัวเราะ)”
ความสุขของครูอุษาทุกวันนี้จึงแสนจะเรียบง่าย “นี่เห็นกุหลาบสามดอกนี้มั้ย ถ้าครูเก็บสามดอกนี้ พรุ่งนี้ครูก็จะได้กินชากุหลาบโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อชา ครูขุดมันมาได้ห้าหัว วันเสาร์นี้ครูขายแกงกะหรี่ได้แล้ว ทุกวันนี้ตื่นเช้ามาเรามีความสุขมากเลย สุขภาพดีอะไรก็ดีไปหมดนะคนเรา เราอยากให้คนมีความสุขเหมือนเรา ถ้าคุณอยากลดค่าใช้จ่าย ทำแบบนี้รายจ่ายก็จะลดลง แล้วคุณจะมีเวลาได้ดูแลตัวเอง และไม่ป่วย ไม่ต้องหาเงินเยอะๆ เพื่อไปจ่ายประกันสุขภาพ
“เข้าใจนะว่าเงินคือสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต แต่ถ้าเกิดว่าเราหาเงินให้น้อยลง แล้วเรารู้จักวิธีการที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เงินมันอยู่กับเราได้นานที่สุดและมากที่สุด ไม่กระเด็นไปอยู่กับที่อื่น เราก็ไม่จำเป็นต้องหาจนเหนื่อย ชีวิตเราออกแบบได้จริงๆ ขึ้นอยู่กับมุมที่เราจะมอง”
ถ่ายภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, ครูอุษา