ปัญหาเรื่องปากท้องนับเป็นเรื่องใหญ่ทั้งในระดับปัจเจกและระดับรัฐ ความพยายามลดภาวะอดอยากหิวโหยนับเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญ และใส่ความพยายามมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประชากรโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤตทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม และอาจเช่นกันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่วิกฤตโรคระบาดกำลังพาปัญหาปากท้องกลับมาเป็นโจทย์ใหญ่อีกครั้ง
มากกว่านั้น โจทย์ดังกล่าวกำลังผลักดันให้หลายฝ่ายกลับมาตั้งคำถามกับ ‘ระบบอาหาร’ กันชนิดว่าซีเรียสกว่าเดิม หนึ่งในหลายๆ คำถามก็คือ ระบบอาหารอุตสาหกรรมเปราะบางเกินไปหรือไม่สำหรับการเลี้ยงดูปากท้องของประชากรโลก—โดยเฉพาะคนเมืองในยุคปัจจุบัน
คำตอบอาจสะท้อนผ่านความปั่นป่วนของสายพานการผลิตอาหารที่มีโครงข่ายโยงใยทั่วโลก เมื่อวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้การนำเข้า–ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างประเทศต้องหยุดชะงัก ส่งให้หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ต้องตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหารฉับพลัน และทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สุดท้ายปัญหาปากท้องจึงกลับมาเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ต้องขอบอกว่านี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่
หากย้อนดูหน้าประวัติศาสตร์การพัฒนาระบบอาหารในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา จะพบว่าทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตนั้น มักเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบอาหารอย่างก้าวกระโดดเสมอ
อย่างกรณีของประเทศคิวบา ในยุคหลังการล่มสลายของสงครามเย็นช่วงทศวรรษที่ 90 ซึ่งทำให้การสนับสนุนด้านเศรษฐกิจจากสหภาพโซเวียตจบลง หลังจากนั้นภาวะอดอยากได้ขยายวงกว้างในระดับน่าเป็นห่วง คำถามใหญ่ของคิวบา ณ ตอนนั้น คือ จะทำอย่างไรให้ประชากรทุกคนอิ่มท้องทุกมื้อ?
คำถามพื้นฐานดังกล่าวเป็นแรงขับให้เหล่านักกิจกรรมด้านอาหารของคิวบาพยายามแก้ปัญหากันแบบสู้ตาย ก่อนจะค้นพบว่าการย่นระยะทางระหว่างวัตถุดิบกับคนกินลงให้มากที่สุด คือหนทางที่ดีที่สุดในการบรรเทาความอดอยากหิวโหย กล่าวคือ นักกิจกรรมด้านอาหารของคิวบาเลือกใช้วิธีการสร้างแหล่งอาหารร่วมของชุมชนเมือง หรือที่บางคนคุ้นหูกันในชื่อ ‘สวนป่าคนเมือง’ (forest gardens)
แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการนำคอนเซ็ปต์ ‘ป่าชุมชน’ มาปรับให้เข้ากับบริบทของชุมชนเมือง โดยแก่นของแนวคิดป่าชุมชนนั้น คือการใช้ทรัพยากรป่าไม้เพื่อสร้างอาหารยั่งยืนและงดเว้นการทำกำไรจากไม้ซุง (non-timber based forestry) หรือที่เราอาจเห็นในรูปของไร่หมุนเวียนหรือป่าชายเลน ที่เปิดให้เกษตรกรหรือชาวประมงรายย่อยสามารถใช้ทรัพยากรทำกินได้ตามวิถีทางวัฒนธรรม ฉะนั้นเมื่อนำแก่นดังกล่าวมาปรับให้เข้ากับบริบทเมือง จึงคือการจำลองลักษณะของ ‘ป่า’ ให้มาอยู่ใกล้กับบ้านและคอนโดใจกลางเมือง
ครั้งนั้นนักกิจกรรมด้านอาหารชาวคิวบานาม เปเรซ ริเวโร คือผู้นำการพัฒนาระบบสวนป่าด้วยเป้าหมายเรียบง่าย คือทำอย่างไรก็ได้ให้ชาวคิวบามีอาหารเพียงพอด้วยวิธีการผลิตที่ใช้พลังงานน้อยที่สุด เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวคิวบาขาดแคลนทั้งอาหารและพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต เมื่อคำนวณอย่างรอบด้านจึงพบว่า พลังงานในการผลิตอาหารส่วนมากเสียไปกับการขนส่งอาหารจากไร่ที่ตั้งอยู่ชานเมือง และการปลูกพืชแปลงใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งแรงงานและพลังงานในการดูแลและเก็บเกี่ยว
เมื่อเป็นเช่นนั้น วิธีลดการใช้พลังงานจึงหนีไม่พ้นการสร้างแหล่งอาหารที่ไม่เรียกร้องแรงงานมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องขนส่งทางไกล
เปเรซจึงจัดการระดมทุนและปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างกลางเมืองใหญ่ ให้กลายเป็นสวนที่เต็มไปด้วยพืชอาหาร ในหลักการที่ว่าพืชเหล่านั้นต้องดูแลรักษาง่าย มีความหลากหลายของสายพันธุ์และสอดคล้องกับวิถีการกินอยู่ของชาวคิวบาด้วย
นอกจากจะสร้างอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องชาวคิวบาจนสามารถรอดพ้นจากภาวะอดอยากไปได้ ในอีกทางแหล่งอาหารกลางเมืองเหล่านี้ยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ทางสังคมให้แน่นแฟ้น เพราะสวนป่านั้นเรียกร้องการดูแลแบบ ‘คนละนิดละหน่อย’ จากสมาชิกในชุมชนเพื่อแลกกับผลผลิตที่มีหมุนเวียนให้เก็บเกี่ยวทุกฤดูกาล ซึ่งนั่นทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘เจ้าของร่วม’ ของสวนป่าและการดูแลรักษาจึงดำเนินไปอย่างปราศจากการบังคับ ทั้งยังช่วยลดการใช้แรงงานและพลังงานลงมหาศาล
สวนป่าคนเมืองแบบคิวบา กลายเป็นโมเดลการสร้างแหล่งอาหารร่วม (the commons) ของอีกหลายประเทศหลังจากนั้น
หนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจคือสหรัฐอเมริกา ที่เปิดรับเอาแนวทางการพัฒนาระบบอาหารทางเลือกจากซีกโลกใต้มาประยุกต์ใช้ถ่วงดุลการเดินหน้าของระบบอาหารอุตสาหกรรมอาหาร และการสร้าง ‘แหล่งอาหารร่วม’ ขึ้นในชุมชนเมืองก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่แพร่หลายและยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ หลังอเมริกาเผชิญกับวิกฤตใหญ่หลายครั้ง และล่าสุดกับวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้ชาวอเมริกันรู้ซึ้งถึงความเปราะบางของระบบอาหารอุตสาหกรรม รวมถึงอัตราว่างงานที่พุ่งสูงจนเกิดความกังวลว่า สังคมอเมริกันจะไปเดินหน้าไปสู่ปัญหาปากท้องขั้นพื้นฐานเช่นในประเทศกำลังพัฒนาหรือเปล่า
กระแสการสร้างสวนป่าในหลายรัฐของเมริกาจึงกลับมาอยู่ในสปอตไลท์อีกครั้ง ภายใต้หลักการที่ว่า สวนป่าเหล่านั้นต้องไม่ใช่แค่พื้นที่สร้างอาหาร แต่เป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องอาหาร และทำหน้าที่เป็น ‘พื้นที่เชิงสังคม’ ด้วย กล่าวคือ สวนป่านั้นควรเกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาชิกในชุมชนและสถาบันต่างๆ ภายในชุมชน ไม่ว่าจะโรงเรียน โรงพยาบาล หรือหน่วยงานราชการ เพื่อสร้างสัญญาประชาคมร่วมกันว่าแหล่งอาหารแห่งนี้คือ ‘สมบัติสาธารณะ’ ที่จะช่วยให้สังคมรอดพ้นจากความอดอยากไปด้วยกัน ฉะนั้นสวนป่ายุคใหม่จะต้องมีทั้งฟังก์ชั่นทั้งมิติสร้างอาหาร และมิติการเป็นพื้นที่สาธารณะไม่ต่างจากสวนสาธารณะ มิวเซียม หรือสนามกีฬาอย่างไรอย่างนั้น
และเมื่อพิจารณาลึกลงไปว่าอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จ นักกิจกรรมด้านอาหารลงความเห็นว่าคือ ‘การเลือกและการแบ่งงาน’ อันหมายถึงเลือกสายพันธุ์พืชที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น และสอดคล้องกับวัฒนธรรมการกินของชุมชน และเลือกการปลูกแบบป่า
ซึ่งคือการปลูกพืชให้หลากหลาย เพื่อสร้างระบบนิเวศให้สวนป่าสามารถดำรงอยู่เองได้อย่างยั่งยืน
อาทิ การปลูกไม้ผลยืนต้นสลับกับพืชอาหารที่ต้องการร่มเงา แซมด้วยพืชสวนครัวล้มลุกที่คนในชุมชนช่วยกันดูแลได้ง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยทักษะอันซับซ้อน กว่านั้นยังต้องออกแบบให้สวนป่ามีสเปซโปร่งโล่งสำหรับกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะการปิคนิกหรือออกกำลังกายเบาๆ ใต้ร่มเงาสวนป่าคนเมือง ส่วนการแบ่งงานนั้นคือการออกแบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่และลักษณะประชากรในชุมชน อาทิ หากชุมชนมีจำนวนผู้สูงอายุมาก สวนป่าบริเวณนั้นก็อาจมีสัดส่วนของสมุนไพรหรือพืชอาหารเพื่อสุขภาพมากหน่อย รวมถึงเน้นปลูกพืชยืนต้นที่ไม่ใช้แรงงานในการดูแลมากนัก
ทั้งนี้ อีกปัจจัยความสำเร็จสำคัญที่หลงลืมไปไม่ได้ก็คือ ความร่วมมือในระดับนโยบายจากภาครัฐ ที่เป็นใบเบิกทางให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่ากลายเป็นแหล่งวัตถุดิบเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสมาชิกในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน เหมือนอย่างที่บรรพบุรุษของเราเคยอิงอาศัยป่าหล่อเลี้ยงทั้งกายและใจมานับล้านปี
ที่มาข้อมูล:
www.sustainableamerica.org
www.secondhelpingsatlanta.org
www.zingelaulwazi.org.za
หนังสือ No-Nonsense guide to world food โดย Wayne Roberts
ภาพถ่าย: อรุณวตรี รัตนธารี, Greenery.