หากติดตามข่าวสารในวงการกรีนอยู่สม่ำเสมอ ชื่อของ ‘Little Big Green’ ย่อมเป็นที่รู้จักและคุ้นหูคุ้นตากันดี เพราะกว่า 1 ปีที่ก่อตั้งขึ้นมา ชาว Little Big Green มีบทบาทอยู่ไม่น้อย ในการเป็นกระบอกเสียงซึ่งทำหน้าที่สื่อสาร ทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ การปรากฏตัวบนเวทีเสวนา หรือการนำเสนอข้อมูล ผ่านเว็บไซต์ littlebiggreen.co และเพจ Little Big Green
สำหรับใครก็ตามที่อาจจะยังไม่ได้รู้จักที่มาที่ไปของคนกลุ่มนี้ เราขอย้อนเรื่องราวกลับไปสักนิด…
‘Little Big Green’ เกิดขึ้นโดยการเริ่มต้นของ ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ติวเตอร์ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ Angkriz กับเชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงที่พักหลังมีเรื่องราวของการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นรูทีน และมี กอล์ฟ-รัฐวุฒิ ชัยวงศ์ขจร แห่ง The Flight 19 Agency เข้าร่วมด้วยจากคำชักชวนให้ร่วมกันทำงานในรูปแบบอาสา และเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นมนุษย์กรีนเต็มตัวเมื่อได้ซึมซับเรื่องราวของปัญหาสิ่งแวดล้อม
แท็กไลน์ของ Little Big Green คือ ‘As Green As You Can’ นั้น แสดงตัวตนผ่านความเชื่อว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ หากทุกคนให้ความร่วมมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยใช้สีเขียวเป็นตัวแทนในการสื่อสาร ว่ามนุษย์ทุกคนมีความเขียวอยู่ในตัว บ้างอ่อนบ้างเข้มไปตามไลฟ์สไตล์ และการเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว จะค่อยๆ เพิ่มเฉดสีเขียวให้กับตัวเอง พร้อมกับช่วยโลกให้ดีขึ้นไปด้วยกันได้
หากเทียบเฉดความเขียวของชาว Little Big Green ทั้งสามแล้ว แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่เขียวเล็กๆ เช่นในวันที่เริ่มต้น เพราะมากกว่าการพกถุงผ้า ติดกระบอกน้ำ ลดการใช้พลาสติก single use ฯลฯ แบบที่ชวนให้ทุกคนทำเท่าที่ไหว คือการได้ไปคลุกคลีและลงมือทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจนเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน และลับคมความคิดที่นำไปสู่ในไอเดียของการทำงาน ที่จะเพิ่มเฉดความเขียวให้เข้มขึ้น เพื่อชวนทุกคนฝ่าความป่วยไข้ของสิ่งแวดล้อม ด้วยการลงมือทำอย่างไม่ยอมเพิกเฉย
จาก As Green As You Can ในคอนเซ็ปต์ของ Little Big Green ถึงตอนนี้มีอะไรที่ได้ขยับตัวไปจากวันที่เริ่มก่อตั้งบ้าง
ลูกกอล์ฟ: หมุดแรกของเราตามคอนเซ็ปต์ As Green As You Can ก็คืออยากให้คนพยายามที่จะเขียวเท่าที่จะเขียวได้ ด้วยข้อความที่เป็นจริง ทำได้จริง ผ่านการทำให้ดูของบุคคลที่เขาติดตามอยู่ในวงจร Little Big Green เพราะเราเชื่อว่าถ้าทำให้คนเริ่มเขียว ทำให้คนปฏิเสธหลอดพลาสติกได้ เชื่อมโยงที่มาที่ไปให้เขาว่าเพราะอะไรที่เราต้องพยายามลดสิ่งเหล่านี้ เขาก็คงจะค่อยๆ เขียวขึ้น
ตอนนี้จากจุดแรกๆ ก็ลามไปต่อที่เราพยายามทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ด้วยการร่วมกับหลายๆ องค์กร จนเกิดเป็นภาคี ชื่อว่า เอิร์ธทน (Earth Tone) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับที่ใหญ่ขึ้น เพราะสุดท้ายเราต้องมองเป็นภาพรวม เราจะให้คนมี awareness อย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเราทำให้ทุกคนหกสิบล้านคนไม่ใช้หลอด ใช่แหละมันเวิร์ก แต่สุดท้ายแล้วผู้ผลิตหรือเอกชนที่ได้ประโยชน์ที่ผลิตโปรดักต์ไม่ได้มีทางเลือกให้ผู้บริโภค มันก็ยากเหมือนกันสำหรับการเปลี่ยนแปลง เราเลยมีอีกหมุดหนึ่งที่เราอยากสื่อสารไปถึงผู้ผลิตต่างๆ แล้วอาจต้องไปถึงเชิงนโยบายของประเทศเลย
เพราะสมมติมองให้เห็นภาพว่าเราให้คนลดหลอดเกือบตาย เราทำได้แล้ว เอกชนทำด้วยแล้ว แต่ถ้านโยบายรัฐบาลบอกว่าให้นำเข้าขยะพลาสติกได้ ตู้ม แล้วที่ทำมาคืออะไร
อันนี้ก็เป็นหนทางที่ยาวไกลของ Little Big Green ที่เรากำลังพยายามไปถึงให้ถึง ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคผู้ผลิต และวันหนึ่งหวังว่าคงไปถึงนโยบายระดับประเทศไทยได้
Little Big Green เองทำหน้าที่สื่อสารทั้งในแง่การเป็นสื่อเสนอข้อมูล และเป็นกระบอกเสียงในการออกไปร่วมกิจกรรม อยากรู้ว่ามีวิธีคิดอย่างไรในการออกแบบเนื้อหาเหล่านี้
กอล์ฟ: มันเหมือนเป็นการเดินทางของคนคนหนึ่งเหมือนกัน อย่างตัวกอล์ฟที่เข้ามาทำงานนี้ ตอนแรกเราไม่ได้เขียวเลยนะ พอเราเริ่มทำ เราเริ่มรู้ พอเราเริ่มรู้ เราเริ่มตระหนัก แล้วเราก็อยากรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วทุกวันเรามีคนเขียวใหม่ได้เสมอ ตัวเองจากวันแรกที่ไม่เขียวตอนนี้ค่อนข้างเขียวกว่าคนอื่นพอสมควร ดังนั้นคอนเทนต์ที่เราทำ As Green As You Can ก็ต้องเข้าถึงง่าย ส่วนกิจกรรมเองก็อาจไปตอบโจทย์เรื่องของบุคคล องค์กร สังคม หรือประเทศยังไงต่อไป
เชอรี่: เนื้อหาหลักๆ ของ Little Big Green ต้องย่อยง่าย เข้าใจง่าย ใครอ่านก็ได้ พออ่านแล้วก็รู้สึกสนุก เหมือนเป็นเพื่อนบอกต่อเพื่อน แล้วในเว็บไซต์จะมีควิซ มี 5 เฉดสี ใครที่เคยเขียวอ่อน ก็อาจจะมาเขียวเข้ม ใครที่เคยเขียวเข้มก็เข้มขึ้นไปอีกจากการได้ข้อมูลตรงนี้ แล้วเราก็อยากให้ที่ตรงนี้เหมือนเป็น hub ของข้อมูล เพราะการที่พวกเราเปลี่ยนก็มาจากการที่รู้มากขึ้น เลยคิดว่าการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเข้าถึงกลุ่มคนซึ่งเรามองว่าน่าจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เขามองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว เหมือนที่ตัวเราเองเคยเป็น แต่วันนี้เราอยากให้ทุกคนที่ในชีวิตในเมืองเริ่มคิดถึงว่า ถ้าคุณเปลี่ยนชีวิตสักนิดหน่อยจากการได้รู้ข้อมูลเหล่านี้ ก็ช่วยสร้างผลที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน
ลูกกอล์ฟ: หรืออย่างเวลาที่ถ้าเราจัดกิจกรรม ทุกงานของ Little Big Green ต้องผ่านการคิดให้มีขยะน้อยสุด หรือแทบจะไม่มี ตัวอย่างเช่นวันนี้ถ้าเราต้องไปจัดงานให้องค์กร เช่น เราทำโครงการลดใช้พลาสติกในทะเล โดยใช้เซเลบริตี้ เราจะไม่มีการเอาขยะพลาสติกมาให้เซเลบริตี้ถ่ายรูป คือลูกกอล์ฟว่าหลายๆ แคมเปญที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในโลกนี้ บางทีจัดโดยคนที่ไม่เข้าใจจริงๆ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด เช่น สมมติวันนี้เราจะจัดงานเพื่อเต่าทะเล เราเริ่มด้วยการหามาสคอตเต่าทะเลที่เป็นพลาสติก แล้วหลังจบงานไปไหน เราปิดงานด้วยการจุดพลุ มีเศษพลุออกมาเต็มไปหมด แล้วมันไปไหน หรือเราทำเก้าอี้ใหม่เป็นรูปเต่า ทำจากรีไซเคิล แต่ความเป็นจริงเรายืมเก้าอี้จากโรงแรมได้นี่ หรือแจกตุ๊กตาน้องเต่าเป็นของชำร่วย แล้วห่อด้วยพลาสติกเพื่อให้เต่าสะอาด มีป้ายห้อยคอคนร่วมงานเป็นพลาสติกล้วนๆ แล้วทุกอย่างแทบจะเป็น single use หมดเลย
ซึ่งลูกกอล์ฟรู้สึกว่างานสิ่งแวดล้อมในหลายๆ งานในโลกใบนี้เลย ไม่ได้เกิดจากคนจัดงานที่เข้าใจว่าขยะเหล่านี้จะไปไหนต่อ ลูกกอล์ฟเลยมองว่าสเต็ปที่ใหญ่ขึ้นของเราคือเราอยากเข้าไปเปลี่ยนตรงนี้ให้ได้ คือถ้าวันนี้คุณอยากจัดงานเพื่อโลก คุณต้องคิดใหม่
มองว่าคอนเทนต์ในเชิงที่ทำให้คนรู้สึกสนุกกับการได้ทำอะไรกรีนๆ มีพลังพอที่จะช่วยดึงคนกรีนหน้าใหม่ได้แค่ไหน
กอล์ฟ: กอล์ฟว่าอย่างแท็กไลน์ของเราที่บอกว่า As Green As You Can มันฟังดูไม่บังคับ แล้วก็เป็นคอนเซ็ปต์ที่ง่ายและสนุกดี ส่วนตัวกอล์ฟมองว่าแบ็กกราวนด์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ฉะนั้นวิธีการเรียนรู้ หรือการที่เราจะเข้าหาใครก็ต้องขึ้นอยู่กับแบ็กกราวนด์ของคนที่เราสื่อสารด้วย ถ้าเราอยากให้คนเขียวใหม่เกิดขึ้นทุกวันก็ต้องมีวิธีการที่เหมาะกับเขา
ลูกกอล์ฟ: ตอนนี้การจะเป็นคนกรีนๆ มันต้องไม่ควรเป็นเรื่องสนุกแล้ว มันต้องเป็นเรื่องจำเป็น แล้วต้องทำ เรื่องกรีนมันไม่ใช่เทรนด์ message ที่สนุกเราปล่อยได้นานๆ ที แต่สุดท้ายเราต้องมองความจริงแล้วว่า ในวันนี้มันมีปัญหาขยะล้นโลก เราก็ต้องจับมือทุกคนว่า wake up! ไปดูแพขยะ ไปดูความจริงกัน แล้วด้วยปริมาณขยะที่เยอะขนาดนี้ ไม่มีประเทศไหนหรอกที่มีระบบจัดการขยะได้ดีพอ แม้กระทั่งประเทศไทยหรืออีกห้าหกประเทศที่ปล่อยขยะลงทะเลเยอะที่สุด
เราไปงานสิ่งแวดล้อมหลายๆ ที่ก็จะเห็นนักวิชาการหรือคนหลายๆ คนเห็นตรงกันว่า พอยนต์ตอนนี้คือไม่ใช่การมานั่งรีไซเคิลแล้ว แต่คือการหยุดไม่สร้างขยะตั้งแต่ต้น หรือสร้างให้น้อยที่สุด ดังนั้นต้องย้ำอีกครั้งว่าการกรีนไม่ควรเป็นเรื่องสนุก แต่มันควรต้องเป็นเรื่องปกติ และการรักษ์โลกไม่ควรเป็นเทรนด์ เพราะถ้าเป็นเทรนด์คนจะเห็นเป็นเรื่องสนุก มันควรเป็นสิ่งจำเป็น
ควรต้องปลูกฝังกันว่าเรื่องกรีนเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะถ้าโลกอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้
เรื่องรักษ์โลกนี่ถ้า message มันผิดไปนิดหนึ่ง บางทีแทนที่จะรักษ์มันจะทำลายได้นะ อย่างพอบอกว่าใช้ถุงผ้า ทุกคนก็ผลิตถุงผ้าไปเรื่อย โดยลืมไปว่าทุกคนใช้ถุงผ้าหนึ่งใบนะ หนึ่งใบคือใช้ทุกวัน ใช้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่สะสมถุงผ้า แล้วการผลิตถุงผ้าเป็นการทำลายโลกสุดๆ สุดท้ายการใช้ถุงผ้าเป็นแฟชั่น ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นการใช้ถุงพลาสติกซ้ำๆ อาจจะดีกว่ามั้ย
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในตอนนี้ มองว่าประเด็นไหนเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด และเราอยากจะสื่อสารออกไปมากที่สุด
เชอรี่: เชอรี่มองว่าประเด็นความเพิกเฉยสำคัญนะ ความเพิกเฉยด้านสิ่งแวดล้อมฟังดูแล้วเป็นภาพกว้าง แต่ถ้าเกิดคุณไม่เพิกเฉย เรื่องขยะก็จะไม่เกิด ถ้าคุณไม่เพิกเฉย เรื่อง PM 2.5 ก็จะลดลง การไม่เพิกเฉยแทบจะช่วยได้ทุกเรื่องเลย
แล้วอะไรที่จะทำให้คนไม่เพิกเฉย ก็ต้องให้เห็นความเร่งด่วนว่าตอนนี้โลกเราวิกฤตมากแล้ว เป็นหน้าที่ของคนเจ็ดพันล้านคนบนโลกที่ต้องช่วยกันทั้งหมด ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ลูกกอล์ฟ: ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นรัฐบาล เป็นภาคเอกชน เราทุกคนเป็นผู้บริโภคนะ เราทำของมาขาย แต่เราก็เป็นคนซื้อของแล้วทิ้งขยะกลับออกไปด้วย ถ้าเราทุกคนไม่เพิกเฉย เมื่อเราไปอยู่ในบทบาทไหนก็ตามในสังคมเราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัท ฉันจะหาแพ็กเกจจิ้งที่ดีกว่านี้ให้คนอื่นใช้ได้มั้ย แล้วฉันจะรับผิดชอบขยะของฉันยังไงดี แล้วถ้าเราเป็นคนไม่เพิกเฉย ถ้าเราเข้าไปในคณะรัฐบาล แน่นอนก็ต้องมองแล้วว่าจะมีนโยบายไหนมั้ยที่จะทำให้ทุกคนโอเค
เชอรี่: ใช่ แล้วมันไม่ใช่แค่ผู้ผลิตที่ผลิตขยะนะ บางทีอาจจะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ บริษัทพลังงาน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ หรือใครก็ตามในทุกภาคส่วน ทุกคนล้วนมีหน้าที่ที่จะมาช่วยกันคิดช่วยกันทำเรื่องนี้ แล้วมันจะเป็นการเคลื่อนตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทำได้จริงๆ มันถึงจะแก้ไขได้ทันกับวิกฤตที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้
เราเห็นการทำงานหรือแคมเปญที่มีแนวคิดรักษ์โลกมีออกมาเยอะมาก ในแง่นี้ได้ช่วยขยับให้คนหันมาตื่นตัวหรือให้ความสำคัญมากกว่าเมื่อก่อนแค่ไหน
ลูกกอล์ฟ: ลูกกอล์ฟว่าตอนนี้มันดูดีขึ้น แต่มันยังไม่ดีพอ เราเริ่มเห็นแล้วว่าเวลาทะเลสำลักขยะกลับมาหาเราแล้วเป็นยังไง ผลกระทบมันเริ่มที่จะชัดมากขึ้น การที่ในท้องวาฬมีขยะเยอะขนาดนี้ ปัญหามันชัดมากขึ้น แต่ถ้ามองภาพกว้าง ซูมเอาต์ออกไปจากประเทศไทย ลูกกอล์ฟก็ยังมองว่าทั่วโลกยังให้คำมั่นกับเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ดีพอ แม้กระทั่งประเทศที่เจริญแล้ว ขนาดข้อตกลงที่ปารีสเรื่อง Climate Change ก็ยังไม่คืบหน้าไปไหน
เชอรี่: การปฏิบัติมันยังไปไม่ถึงข้อตกลง ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่ควรจะเป็น
กอล์ฟ: เวลาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม มันกลายเป็นหน้าที่ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่บอกว่ากลุ่มอนุรักษ์ หรือกลุ่มอะไรก็แล้วแต่ กอล์ฟคิดว่ามันตลกมากที่เราทุกคนยังกินน้ำจากมหาสมุทร เรากินอาหารจากดิน แล้วเราคิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องให้กลุ่มคนกลุ่มเดียวเป็นคนดูแล
เชอรี่: ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว คนสนใจสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศมันน้อยมาก มันกระผีกจริงๆ แล้วอย่างนี้จะแก้ได้ยังไง มันมองไม่เห็น
ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และเกี่ยวข้องกับทุกคนเท่ากันหมด
กอล์ฟ: เราทำเรื่องนี้มายังไม่เกิน 2 ปี แต่เวลามีคนเชิญ Little Big Green ไปพูดในงาน ในเรื่องที่เราก็เฮ้ย เราต้องรู้เรื่องนี้ด้วยเหรอ หมายความว่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นแล้ว ถ้าถามว่า awareness ดีขึ้นไหม ส่วนตัวกอล์ฟก็คิดว่าดีขึ้น แต่ถ้าในแง่ปฏิบัติ ก็ยัง suffering เหมือนที่ลูกกอล์ฟเล่าถึงคนจัดงานอีเวนต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่งานที่คุณจัด ก็ยัง oh my goodness แต่ส่วนตัวก็อยากเข้าไปในอยู่ในงานตรงนั้นนะ อยากเจอคนที่จัดงานแล้วคุยกับเขา เพื่อจะได้รู้ว่าเขาจะทำอย่างไรต่อ อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนคุยกันได้
ลูกกอล์ฟ: ในประเทศไทยเราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดขึ้นนะ มีคนพกขวดน้ำมากขึ้น มีองค์กรที่ได้รับความสนใจมากขึ้น มีกลุ่มคนมากขึ้น เริ่มมีเสียงของเซเลบริตี้มากขึ้น แต่มันยังไม่พอจนเป็นที่น่าพอใจ เพราะสุดท้ายลูกกอล์ฟคิดว่าประเทศที่มีปัญหาอื่นๆ อยู่เยอะในเชิงโครงสร้าง ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันมักจะถูกดันออกไปอยู่ท้ายๆ
เอาอย่างนี้ง่ายๆ เราเคยได้ยินนโยบายของพรรคไหนที่หาเสียงด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนมั้ย นึกสิ นึกไม่ออกใช่มั้ย ทั้งๆ ที่จริงๆ ถ้าเราทุกคนกลับมามองว่า บ้านหลังเดียวกันคือโลกใบนี้ อย่างน้อยถ้าบ้านมันดีในแง่อากาศดี แม่น้ำดี คุณภาพชีวิตคนมันก็ดีขึ้นจริงๆ แต่พอเรารู้สึกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน เพราะตอนนี้เรามีเรื่องปัญหาปากท้อง มีปัญหาโน่นนี่ เราก็เลยผลักเรื่องสิ่งแวดล้อมไปอยู่ท้ายสุดเสมอ ขนาดประเทศอังกฤษที่เจริญมากๆ พรรคกรีนก็ยังได้ที่นั่งมาแค่หนึ่งที่ในรัฐสภา แต่อย่างน้อยที่โน่นก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ ขนาดที่รัฐบาลก็ผลักดันเรื่องการแบนหลอดพลาสติก ลูกกอล์ฟเลยรู้สึก ไอ้คำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นเรื่องของทุกคน มันสำคัญมาก คือทุกคนจริงๆ ต้องเห็นร่วมกันว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเราทุกคนที่เป็นประชากรโลก
แล้วทุกครั้งที่มีนโยบายอะไรก็ตามเพื่อขับเคลื่อนประเทศ เรื่องของสิ่งแวดล้อมควรขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพราะถ้าโลกอยู่ไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์ที่เราต้องมาสู้รบกันเรื่องอื่น
เชอรี่: ในมุมของเชอรี่มองว่าของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ความสนใจของคนไม่ว่าหน่วยงานเอกชนหรืออะไรก็มีคนมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่คนที่ตั้งใจทำจริงๆ โดยการหาข้อมูล หาความรู้ ยังมีไม่มาก มีคนที่คิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่ดี แล้วก็อยากทำ แต่ทำแล้วเป็นแค่ผิวๆ ก็เยอะ ซึ่งถ้าเขาทำให้มันจริงขึ้น ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น มันจะเป็นทิศทางที่บวกขึ้นมากๆ เลย
จากงานที่เราทำกันอยู่ตรงนี้ พอจะมีแนวทางที่มองเห็นหรือยังว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเดินไปถึงระดับนโยบายอย่างที่เราคาดหวังได้
เชอรี่: ขอบอกเลยนะคะว่ามันไปถึงได้ แต่ถ้าแค่ Little Big Green กลุ่มเดียวทำไม่ได้ ตอนนี้เรามีภาคีที่รวมกันเป็นกลุ่มเอิร์ธทน มีการรวมตัวกันทำเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วเราจะขยับไปด้วยกัน ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยเอง หลายๆ ครั้งเอกชนเริ่มก่อน แล้วรัฐบาลถึงจะตามมา แล้วถึงจะมีนโยบายมาสนับสนุน วันนี้เราก็อยากจะส่งเสียงให้มีนโยบายช่วยเหลือเอกชนเหมือนกัน แล้วเอกชนที่ใหญ่ๆ เป็นบริษัทที่มีกำลังที่จะขับเคลื่อนสังคม ที่เขายังมุ่งประเด็นการทำกำไรเป็นหลัก ซึ่งพอทำกำไรเป็นหลัก สิ่งแวดล้อมมาทีหลัง ยังไงก็ส่งผลกระทบที่เลวร้ายมากอยู่ดี เชอรี่มองว่าถ้าบริษัทใหญ่ที่มีอิทธิพลแล้วทำเรื่องนี้จริงๆ ไม่ใช่ทำแค่เป็น CSR มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแล้วไปถึงระดับนโยบายแน่นอน
ลูกกอล์ฟ: ดังนั้นเราก็ต้องทำให้เสียงของผู้บริโภคดังขึ้นไปถึงผู้ผลิตเจ้าใหญ่ ให้เขาได้ยิน ก็ตอนนี้จะให้เราซึ่งเป็นผู้บริโภคจะทำยังไงในเมื่อเขาผลิตออกมาแต่แพ็กเกจจิ้งแบบนี้ ถ้าเธอไม่เปลี่ยนแล้วฉันจะมีทางเลือกอะไร ดังนั้นการได้กำไรจากผู้บริโภคมันแลกมาด้วยอะไร ก็แลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรบนโลกนี้ไง แล้วก็ทิ้ง
ลูกกอล์ฟเลยมองว่าในพาร์ตหนึ่งมันควรออกมาเป็นนโยบายจริงๆ สมมติลูกกอล์ฟออกกฎได้ข้อหนึ่ง คนที่สร้างขยะขึ้นมาบนโลกใบนี้ต้องรับผิดชอบขยะตัวเองทั้งหมด
ถ้าเธอออกแพ็กเกจจิ้งมาแล้วย่อยสลายไม่ได้ แล้วเธอเลือกใช้แพ็กเกจจิ้งที่ราคาถูกที่สุด ให้เอาคืนกลับไปที่บริษัทเธอเลย คนที่สร้างขยะทั้งหมดแล้วเอากำไรมาอยู่เหนือทุกอย่าง คนเหล่านี้ควรเสียค่าจัดการขยะเยอะๆ ด้วยซ้ำ
ตอนเด็กเราก็รู้สึกจริงๆ ว่าเราต้องทำได้ เพราะเขาบอกเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน เราก็พกขวดน้ำไปสิ แต่สุดท้ายถ้าทางเลือกไม่มี เราเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วมีแต่แพ็กเกจจิ้งอย่างนี้หมดเลย แล้วผู้บริโภคหลายคนก็มีเงื่อนไขจำกัด บางอย่างคือต้องแอบคิดใหม่ โดยที่ถ้าทุกคนเป็นคนไม่เพิกเฉย ถ้าทุกวันนี้ทุกบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่เพิกเฉยแล้วเราทุกคนต้องรับผิดชอบ คุณต้องยอมตัดกำไรออก
เชอรี่: ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกว่าตัวเราเองไม่ได้ zero waste ได้ทั้งหมด แต่เราก็ทำให้ได้มากที่สุด ทุกวันนี้เรายอมเสียสละความสะดวกสบายของการใช้ชีวิตประจำวัน และเราก็คิดว่าถ้าคนในสังคมโดยรวมได้เสียสละความสะดวกสบายแล้ว พวกเขาก็ควรมีคนมาสนับสนุนหรือมีทางเลือกให้เขา ถ้าผู้ผลิตทั้งหลายมีตัวเลือกให้เขา มันจะทำให้ไปด้วยกันได้ แล้วมันทำให้คนอื่นๆ ที่เขาไม่เคยได้ใช้ชีวิตกรีนๆ แบบนี้ เข้ามาสู่วงจรนี้ได้ง่ายขึ้น
นอกจาก Little Big Green จะทำหน้าที่ส่งเสียงออกไปให้ดังแล้ว หลังจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์อะไรรออยู่อีกไหม
กอล์ฟ: ในเชิงโปรเจ็กต์มีค่อนข้างเยอะมาก อย่างเช่นเรื่องของการมีภาคีเอิร์ธทนก็เป็นส่วนของคอมมูนิตี้ เพราะเราเชื่อในเรื่องของการมีเพื่อนร่วมเดินไปด้วยกัน แล้วในคำว่า Little Big Green มันคือ เล็ก ใหญ่ และเขียวไปด้วยกัน สิ่งที่เราจะทำในโปรเจ็กต์ต่อไป จะเน้นในภาคส่วนของ retail หรือ household และเราก็ยังไม่หยุดในการให้ข้อมูลความรู้คนทั่วไปผ่านเพจของเรา อาจจะมีโปรเจ็กต์ที่สนุกๆ อย่างปีที่ผ่านเรามีทำกับ TBC Ball ในการให้ความรู้เรื่องกระป๋องอะลูมิเนียม มีการทำร่วมกันออกมาเป็นกระป๋องน้ำ และให้ความรู้เรื่องรีไซเคิล ซึ่งเรื่องของ Sustainability Alternative Material ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่อยู่บนหน้ากระดานเรา
และในเรื่อง perception ของคนก็ยังเล่นได้อีกเยอะมาก ซึ่งพอเรารู้แล้วว่าคำว่า waste ที่เกิดขึ้น กับ perception ที่กำลังมี แล้วมีผู้คนแบบไหนล่ะที่เราควรจะคุยด้วย เราจะมีโปรเจ็กต์ที่ตอบโจทย์ของคนเหล่านี้ เป็นโปรเจ็กต์สนุกๆ ซึ่งยังบอกไม่ได้ตอนนี้ และนอกจากเรื่องของ Sustainability เราก็อยากจะเชื่อมโยงกับคำว่า Economic of Nature เพราะกอล์ฟคิดว่าการค้าขายกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ เป็นกราฟที่คู่กัน มันมีแค่ความโลภเท่านั้นที่ทำให้กราฟนี้ปรวนแปร
โดยหน้าที่ของเรา Little Big Green ก็เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่อยากจะสื่อสารเรื่องนี้ ในสไตล์ As Green As You Can ส่วนตัวกอล์ฟเองรู้สึกว่าถ้าเราเริ่มเขียวแล้ว คงเหี้ยมมาก ถ้าเกิดเขียวได้น้อยลง คือถ้าคุณรู้แล้ว แล้วยังเพิกเฉยต่อเรื่องนี้นะ
ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, Little Big Green