‘เราปรับ… โลกเปลี่ยน’ เป็นคอนเซ็ปต์ของงานสังคมสุขใจ งานประจำปีของตลาดสุขใจ ที่ปี 2563 นี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 ณ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยสามพรานโมเดล ซึ่งได้ชวนภาคีเครือข่ายสังคมอินทรีย์ มาเปิดพื้นที่ที่ให้ประโยชน์ทั้งฝั่งผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และมือใหม่ที่เริ่มสนใจวิถีชีวิตแบบอินทรีย์ พร้อมทั้งเปิดตัวสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) เพื่อเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ร่วมขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ไปด้วยกัน

งานนี้เปรียบเสมือนเป็นงานประจำปีที่ต่อยอดจากตลาดสุขใจ ตลาดนัดสุดสัปดาห์จากพ่อค้าแม่ค้าและเกษตรกรอินทรีย์ในโครงการสามพรานโมเดล จากทั้งในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2-3 วัน เพื่อให้ทุกภาคีในระบบนิเวศได้มาเจอกัน และสร้างความเข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ กับกิจกรรมหลากหลายที่เน้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทั้งทุกภาคส่วน ทุกช่วงวัย และทุกคนในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

ก้าวเเรกเมื่อเดินเข้างาน ถูกใจนักชิมด้วยอาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง ทั้งก๋วยเตี๋ยวต้มยำหมูหลุม หมูสะเต๊ะ ข้าวหลาม ขนมตาล ขนมจาก ขนมหวาน ที่ส่งกลิ่นหอมแข่งกันเรียกน้ำย่อย ถัดเข้ามาเป็นโซนออกร้านขายของจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จากทั่วประเทศ ที่นำผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้มาให้เราเก็บใส่กระเป๋า ทั้งของกิน ของใช้ และที่มากกว่าการช้อปฯ คือการชวนเกษตรกรเปิดวงคุยถึงที่มาและความตั้งใจเบื้องหลัง ที่เปลี่ยนจากคนซื้อคนขายกลายมาเป็นเพื่อนที่เเนะนำอาหารดีๆ ให้กัน


หากใครพาลูกหลานมา เด็กๆ ก็ได้สนุกกับกิจกรรมกันอย่างเต็มที่ ทั้งการปั้นดิน เวิร์กช็อปทำขนม ย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ หรือหากอยากทดลองเป็นเกษตรกรอินทรีย์รุ่นจิ๋ว ด้านในของปฐม วิลเลจ ก็มีผืนนาจำลอง ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ ให้เด็กๆ ได้รู้จักการคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมัก เพาะเลี้ยงไส้เดือน การเปลี่ยนกระถางและนำต้นกล้ากลับไปปลูกได้ฟรี และยังได้เปิดโลกการเรียนรู้ใหม่ๆ อย่างทำความรู้จักกับผึ้งชันโรง ให้อาหารกระบือ สีข้าว หรือใครอยากลองปลูกข้าว ก็เปลี่ยนชุดพร้อมลุยโคลนลงไปปักดำได้เลย

ได้ความรู้จากหมู่บ้านวิถีอินทรีย์แล้ว ยังมีเรื่องราวน่ารู้ให้เก็บเกี่ยวกลับไปได้อีกจากเวทีกลาง ที่มีทั้งเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเพลงเพราะๆ ให้ได้ฟังกันตลอดวัน ส่วนใครที่อยากขยับจากคนกินมาเป็นคนขาย ก็มีโซนธุรกิจที่นำโมเดลธุรกิจยั่งยืนมาให้ดูเป็นแบบอย่าง เช่น เซ็นทรัลทำ โครงการพัฒนางานหัตถกรรมและสินค้าเกษตรโดยห้างเซ็นทรัล การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีไกด์เป็นคนในชุมชน หรือทริปเที่ยวชมสวนเรียนรู้วิถีอินทรีย์ ไปดูที่มาของอาหารที่เรากิน ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กำลังมาแรงในปีนี้ และยังมีเสวนาเชิงธุรกิจ เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนธุรกิจและส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์

อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะพ่องาน เล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจที่อยากให้คนได้มาเรียนรู้จากเกษตรกรตัวจริงในงานนี้ และหวังให้งานสังคมสุขใจได้เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยการเติบโตในปีที่ 7 ของสามพรานโมเดลปีนี้ ได้ขยายให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ ส่งเสริมการเชื่อมต่อเกษตรอินทรีย์เข้าไปในกิจการต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร และเครือโรงเเรม ซึ่งเป็นการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์อินทรีย์และสนับสนุนเกษตรกร

“อาหารคือส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน ในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์”

“เราอยากให้ทุกคนไม่ได้เป็นแค่คู่ค้าซื้อขาย แต่เป็นพาร์ตเนอร์ที่เกื้อกูลการส่งต่อของดีๆ ให้กัน ทุกอย่างมีความโปร่งใส มีการเก็บข้อมูลการผลิต เรารู้ขั้นตอนการผลิต ทั้งความใส่ใจและปลอดภัย เพราะสังคมมันจะไปต่อได้เมื่อมีความโปร่งใส ลูกค้าก็เป็นพาร์ตเนอร์ที่มาใช้บริการกันต่อเนื่อง และเป็นพาร์ตเนอร์กับเกษตรกร ให้ได้บริโภคของดีในราคาที่สมเหตุสมผล เกษตรกรมีทุนไปทำเกษตรอินทรีย์ เป็นสังคมที่เกิดการเกื้อกูลกัน”

นภ พรชำนิ นักร้องหนุ่มที่สนใจวิถีในวิถีอินทรีย์ที่มาร่วมงาน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตัวเองว่า การใช้ชีวิตที่อเมริกา และได้เห็นความตื่นตัวในเรื่องอาหารออร์แกนิก ฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต มาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว จนเมื่อห้าปีก่อนเขาได้สัมผัสกับการเจ็บป่วยและปัญหาด้านสุขภาพของญาติผู้ใหญ่ ซึ่งทำให้เห็นว่าหากอายุมากแล้วอาจจะสายเกินไป และในวัยเช่นเขาก็ยังเป็นวัยที่ทันการหากจะหันมารักษาสุขภาพ โดยการเปลี่ยนวิถีการกินเป็นอาหารอินทรีย์ เพื่อตัวเองและเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันก็มีตัวเลือกให้เข้าถึงได้มากขึ้น แต่อาจยังมีปัญหาในเชิงธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ในแง่ที่ราคาสูงกว่า หรือไม่สะดวกสบายเท่าอาหารสำเร็จรูป เพราะฉะนั้น การจับมือกันจึงเป็นทางออกเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน หาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เชื่อมโยงคนจากหลายๆ ฝ่ายเข้ามาร่วมกันมากขึ้น

“เริ่มต้นง่ายๆ แค่เรารักใคร เราก็อยากให้เขาได้ทานสิ่งดีๆ”

“เป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งต่อแนวคิดและสุขภาพดีให้คนที่เรารัก และคนทั่วไปได้เข้าถึงอาหารออร์แกนิกได้ง่ายขึ้น ขยายสังคมอินทรีย์ออกไป ค่อยๆ เชื่อมไปสู่จุดอื่นๆ”

“ทุกคนมีส่วนอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อน เราต้องพยายามทำร้ายโลกให้น้อยลง ดูแลสุขภาพร่างกายซึ่งกันและกันทั้งทางกายและทางใจ ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและเข้าสู่สังคมสุขใจ สังคมออร์แกนิกนี้ด้วยกันได้”

โดยในงานนี้ เปิดให้ผู้สมัครสมาชิกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ (TOCA) เพื่อรับข่าวสารและกิจกรรม สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเก็บแต้ม ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการเข้าไปทำความรู้จัก พูดคุยกับเกษตรกร ทั้งได้เพื่อนใหม่ ได้คะแนน แล้วเอามาแลกของที่ระลึกได้อีกด้วย

โจน จันใด ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ หนึ่งในวิทยากร พูดถึงเกษตรอินทรีย์และแนวคิดการพึ่งพาตนเองบนเวทีกลางของงานว่า “การพึ่งพาตนเอง คือการพึ่งกันเอง ถ้าคุณอยู่คนเดียวคุณไม่รอดหรอก แต่เป็นการอยู่อย่างพื่งพากัน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้กัน เพื่อสร้างสังคมอินทรีย์”

และงานนี้ก็มีเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ที่อยู่ต่างภูมิภาค ได้มารวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ให้เราได้พบปะแลกเปลี่ยนเรื่องราว และได้เห็นถึงความตั้งใจของฝั่งผู้ผลิต ที่ล้วนปรารถนาผลิตวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ดีๆ อย่างใส่ใจต่อผู้บริโภคและใส่ใจสังคม ออกมาให้เราได้เลือกใช้สอยกันอย่างมั่นใจ เรียกว่าเกื้อกูลกันทั้งฝั่งคนซื้อและคนขายโดยมีเป้าหมายเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นตัวตั้งต้น

กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ สหกรณ์เชียงใหม่

เครือข่ายเกษตรกรเมืองเหนือ ที่ยกทัพกันมาถึง 9 กลุ่ม จากทั้งเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกชิม ช้อปฯ ตั้งแต่ ถั่ว งา เมล็ดพันธุ์พืช เต้าเจี้ยว หอมหัวใหญ่ กระเทียม ผักสลัด สตรอว์เบอร์รี่ ผลิตภัณฑ์จากกุหลาบ ชากุหลาบ และไส้อั่วหมูออร์แกนิกจากเครือข่ายเชียงดาว มิโซะจากเรือนคำอิน เก๊กฮวย แยมสตรอว์เบอร์รี่ และผลิตภัณฑ์ที่ให้ความหวานจากหญ้าหวานของเด่นจากฮานาดะ ออร์แกนิกฟาร์ม เซรั่มจากเห็ด กล้วยแปรรูปจากลำปาง และมันญี่ปุ่นทั้งสีส้มและสีม่วง จากเครือข่ายลำพูน

สนใจผลิตภัณฑ์ไหน ทักไปที่ สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ ได้เลย

กลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ บ้านทัพไทย สุรินทร์

ลำไย ฉวีทอง เกษตรกรจากกลุ่มสหกรณ์เกษตรจังหวัดสุรินทร์ เล่าถึง ‘ข้าวปะกาอำปึล’ ข้าวพันธุ์ท้องถิ่นไฮไลท์จากจังหวัดสุรินทร์ ที่มีกลิ่นหอมนวล เหนียวนุ่ม รสสัมผัสคล้ายข้าวโพดนึ่ง ที่บอกเคล็ดลับว่าข้าวใหม่ๆ นำไปต้มเป็นข้าวต้มจะได้น้ำข้นเหนียวเพิ่มความอร่อยขึ้นไปอีกขั้น

“การทำเกษตรอินทรีย์ต้องหาความรู้ ซึ่งเรียนรู้จากประสบการณ์จากที่เคยทำมา ดูว่าตรงไหนทำแล้วดี ลดต้นทุน ตรงไหนเพิ่มรายได้ หัวใจของการทำเกษตรอินทรีย์คือการรวมกลุ่ม การเคารพในกฎของกลุ่ม คนในกลุ่มจะคัดกรองและพึ่งพาดูแลกัน”

ข้าวอินทรีย์พันธุ์พื้นถิ่นของจังหวัดสุรินทร์ เป็นการทำนาดอน เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรในพื้นที่ที่ใช้น้ำน้อย เป็นข้าวหอมมะลิที่จะเริ่มปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ระหว่างที่พักนา เกษตรกรจะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น แตงโม ผักตามฤดูกาล ผสมกับพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดิน จากนั้นทำปุ๋ยหมักซึ่งใช้เวลาประมาณสองถึงสามเดือน ก็จะครบรอบการการเอาปุ๋ยลงดิน เตรียมพร้อมสำหรับทำนาในปีถัดไป หมุนเวียนการใช้ที่ดิน ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อความยั่งยืน นอกจากนั้นในกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ยังมีการลงทะเบียน การเก็บข้อมูลการทำแปลง และผลผลิตเพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนการจัดสรรทรัพยากรในเครือข่าย เช่น นำมูลจากปศุสัตว์มาทำปุ๋ย การหาช่องทางการแปรรูปและส่งต่อผลผลิตระหว่างครัวเรือน เพื่อให้ผลผลิตเกิดการหมุนเวียนด้วย

ใครอยากลองข้าวปะกาอำปึล สามารถสั่งตรงได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ข้าวอินทรีย์ทัพไทย จังหวัดสุรินทร์

กลุ่ม พีจีเอส ออร์แกนิก เชียงราย

กลุ่มนี้เริ่มจากกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนระบบการทำเกษตรของรุ่นพ่อรุ่นแม่มารวมตัวกัน เริ่มต้นจากแค่ 13 คน ในปี 60 จนกลายมาเป็นเครือข่ายที่มีมากกว่า 200 ราย ในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ผลิตภัณฑ์มี ชา กาแฟ ผักพื้นถิ่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงูซึ่งเป็นพันธุ์พื้นถิ่นของเชียงราย และปีนี้เป็นปีที่สองที่กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาร่วมด้วย โดยนำชา กาแฟ คะน้าดอย และรากซู  ซึ่งเป็นอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ มาเป็นตัวเชื่อมเกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้บริโภค ให้ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเรียนรู้กัน พวกเขาใช้เวลาในช่วง 3 ปีแรกทำเรื่องต้นน้ำ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจในกลุ่มเกษตรกร และในปีที่ 4 นี้ จะหันมาสร้างความเข้าใจและเชื่อมโยงผู้บริโภคมากขึ้น พวกเขาบอกว่างานนี้ไม่เน้นมาขาย แต่เน้นคุยและแจกให้นำไปลองชิม เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน

ใครอยากลองชิมรากซู หรือไปเยี่ยมสวนกาแฟบนดอย กดติดตามได้ที่เพจ พีจีเอส ออร์แกนิก เชียงราย

สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ และสวนฉันกับเธอ แม่จัน เชียงราย

สุพจน์ หลี่จา ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ตั้งใจส่งเสริมเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ผ่านการสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้พันธุกรรมพืชพื้นเมือง เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและอาหาร พร้อมดำเนินรอยตามทฤษฎีพระราชา เรื่อง ‘ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’ คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ ให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือพออยู่ พอกิน พอใช้ และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เขาเล่าว่า วิธีการนี้ทำให้ได้ทั้งรักษาป่า และได้ผลิตผลที่มีความหลากหลายตามฤดูกาล ตั้งแต่โกโก้ ฟักข้าว มัน ซึ่งเป็นไม้พืชหัวใต้ดิน ปลูกผสมกับไม้ยืนต้นให้ร่มเงา และไม้สมุนไพร การเก็บน้ำผึ้งจากป่าชุมชน เป็นการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล

ไปเยี่ยมชมไร่ และศูนย์การเรียนรู้ ได้ที่เพจ ฉันกับเธอ 

สมาคมอาหารธรรมชาติยั่งยืน นครศรีธรรมราช และ Food Bank Thailand

กลุ่มนี้ขนมาทั้งกล้วย มังคุด ลองกอง ทุเรียน เงาะ น้ำผึ้งจากสวนยาง อาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน และไฮไลท์ ‘ข้าวเมล็ดฝ้าย’ ข้าวไร่สีนิล ที่เป็นลูกผสมระหว่างข้าวหอมและข้าวเหนียวดำ ให้มีกลิ่นหอมเนื้อเหนียวนุ่ม และเมล็ดที่สีเข้มจนพี่เกษตรกรเตือนว่าระวังสีดำติดหม้อข้าว แต่กลิ่นหอมติดใจแน่นอน และความเข้มของสีเมล็ดนี่เองที่ทำให้ข้าวสายพันธุ์นี้อัดแน่นไปด้วยประโยชน์ ช่วยป้องกันอนุมูลอิสระและมะเร็ง อีกทั้งยังใช้น้ำน้อยในการปลูกและระยะเวลาปลูกสั้น เหมาะกับการเป็นสายพันธุ์ที่พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและภัยแล้ง โดยข้าวชนิดนี้ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 5 พันธุ์ข้าวใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ร.10 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ใครอยากลองชิมข้าวเม็ดฝ้าย พร้อมผลไม้ส่งตรงจากสวน กดสั่งได้ที่เพจ สมาคมอาหารธรรมชาติยั่งยืน นครศรีธรรมราช


แทนคุณออร์แกนิกฟาร์ม และเครือข่ายปศุสัตว์อินทรีย์พึ่งตนคนนอกกรอบ

ฟาร์มไก่อินทรีย์ครบวงจร ที่เริ่มมาจากการทำนาและสีข้าวเอง ทำให้เจ้าของฟาร์มเห็นช่องทางในการนำเศษฟางข้าวมาทำอาหารสัตว์อินทรีย์ ซึ่งในอาหารสัตว์ต้องมีส่วนผสมอื่นๆ นอกจากฟางข้าว จึงเกิดการรวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อสรรหาวัตถุดิบอินทรีย์มาผลิตอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง และอาหารทะเล (เศษเปลือกกุ้งเปลือกปู กากกุ้งแห้ง) จากร้านปลาออร์แกนิก ที่มองเห็นโอกาสในการเปลี่ยนของเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ คิดค้นเป็นสูตรอาหารไก่จากวัตถุดิบของเครือข่าย โดยทีมนักโภชนาการของแทนคุณฟาร์ม และมาทดแทนการใช้สารเคมี

“การทำอาหารสัตว์อินทรีย์นั้นเป็นเครือข่าย และมีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงประโยชน์ทั้งคนทำพืชไร่ พืชสวน ประมง ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน รวมทั้งการหาสายพันธุ์ที่เหมาะกับการเลี้ยงแบบอินทรีย์”

ท่ามกลางกระแสความนิยมออร์แกนิก ตัวเลือกส่วนมากที่มีในตลาดตอนนี้จะเป็นพืชผัก และการปศุสัตว์ก็เป็นปัญหาหนึ่งของการทำร้ายโลก อำนาจ เรียนสร้อยกษตรกรเจ้าของแทนคุณออร์แกนิกฟาร์ม ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า

“เราอยากเห็นโมเดลปศุสัตว์อินทรีย์มากขึ้น เราเชื่อว่าภาคการปศุสัตว์ใช้ทรัพยากรเยอะ ถ้าเรายังเลิกการบริโภคเนื้อสัตว์ไม่ได้  เรามาทำให้มันเป็นมิตรมากขึ้นจะดีกว่าไหม ถ้าเรามาสนับสนุนปศุสัตว์อินทรีย์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนเกษตรกรในภาคส่วนอื่นๆ ให้หันมาใช้อาหารสัตว์แบบอินทรีย์แทนอาหารสัตว์แบบอุตสาหกรรม หรือแม้แต่การหาสูตรอาหารสัตว์ใหม่ๆ มาแทนไร่ข้าวโพด เเละช่วยส่งเสริมชาวบ้านให้เปลี่ยนมาทำฟาร์มเลี้ยงไก่ส่งไข่ออร์แกนิกขายแทนได้ด้วย”

สนใจไข่ไก่สดออร์แแกนิก หรืออาหารสัตว์แบบอินทรีย์ ติดตามต่อได้ที่เพจ แทนคุณ ออร์แกนิกฟาร์ม

Bija Herbal

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากข้าวเสาไห้ปลอดสารเคมี มีทั้งน้ำตบหน้านุ่ม ครีมบำรุงใต้ตา โลชั่นกันแดด แฮนด์ครีม ที่ปลอดสารเคมี ตัวเด่นของร้านคือผงล้างหน้าที่ทำมาจากข้าว และส่วนผสมของขมิ้นชันและวิตามินซี เพียงใช้ผงข้าวผสมน้ำแล้วล้างหน้า ช่วยลดการเกิดสิว หน้านุ่ม และตัวใหม่ล่าสุด มาสก์หน้าแผ่นข้าว ที่แผ่นมาสก์ได้จากการสร้างเส้นใยของแบคทีเรียที่กินข้าว มีความละเอียดกว่าฝ้ายถึงสองร้อยเท่า แผ่นมาสก์ย่อยสลายได้ สวยแบบไม่สร้างขยะ และได้รางวัลนวัตกรรมจากสภาวิจัยแห่งชาติ

สนใจผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ ตามไปเลือกได้ที่เพจ Bija Herbal 

งานสังคมสุขใจเป็นอีกหนึ่งประตูสู่การรู้จักผู้คน อาหาร กิจกรรมในแวดวงอินทรีย์ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมที่ดีต่อใจ ดีต่อกาย และดีต่อโลก อย่างยั่งยืน ใครพลาดงานนี้ไม่ต้องเสียใจ ติดตามความเคลื่อนไหวแวดวงอินทรีย์เราได้นำเสนอกันเสมอมาได้ หรือทักไปหาเกษตรกรตัวจริงได้เลย และขอจบรีวิวนี้ด้วยคำจาก นภ พรชำนิ ที่บอกว่า

“สมมติเราอินอะไรสักอย่าง ไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหน เราก็จะหาทางไปเจอจนได้ ตลาดออร์แกนิกก็เช่นกัน”

เเละหวังว่าบทความชิ้นนี้จะเปิดประตูสู่โลกอินทรีย์ให้คุณเช่นกัน 😊

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, งานสังคมสุขใจ สวนสามพราน