หากคุณเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ต แล้วเลือกหยิบข้าว Jasberry ขึ้นมาสักแพ็ก พลิกดูด้านข้างคุณจะเห็นภาพถ่ายของครอบครัวเกษตรกรไทยกำลังยิ้มสดใส เคียงข้างข้อความที่เขียนไว้ว่า
“ข้าวกล่องนี้ ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย ข้าวแจสเบอร์รี่เป็นผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยภาคอีสานกว่า 1,000 ครัวเรือน โดยเป็นการส่งเสริมวิถีชีวิตการปลูกข้าวอินทรีย์อย่างยั่งยืนและผลิตข้าวคุณภาพสูงเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค”
นี่คือเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ หาก นิว-ปีตาชัย เดชไกรศักดิ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด (Siam Organic) ไม่ยืนหยัดทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นและฝันไว้ว่าต้องทำให้ได้
ทั้งที่มีเสียงรอบข้าง ตั้งคำถามมากมาย และหนักกว่านั้นก็คือ คิดว่าเขาบ้า…
มีที่ไหน เรียนจบสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจาก University of Melbourne มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย พอกลับมา ก็ไปเรียนบริหารธุรกิจที่ศศินทร์ แล้วตัดสินใจหันมาทำธุรกิจการเกษตร ทำนาปลูกข้าว พัฒนาสายพันธุ์ข้าว ทำงานร่วมกับเกษตรกรอยู่ท่ามกลางผืนนากว้างใหญ่แทบจะทั่วภาคอีสาน เพราะมุ่งหวังที่จะทำธุรกิจเพื่อสังคมและช่วยยกระดับชีวิตชาวนาไทยให้ลืมตาอ้าปากได้เสียที
9 ปีที่ผ่านมาบริษัท ‘สยามออร์แกนิค’ ผู้ผลิตข้าวแจสเบอร์รี่จำหน่ายไปทั่วโลก ได้ช่วยยกระดับชีวิตชาวนาไทยให้อยู่ดีกินดี พ้นความยากจนมาแล้วเป็นหมื่นๆ คน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะวันนี้ทุกคนเห็นแล้วว่าเกษตรอินทรีย์คือทางรอดของชีวิต และตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหารได้ทุกข้อ
“มีหลายคืนที่นอนคิดว่า มันจะรอดมั้ย ไม่ใช่ว่าเราทำถูกมั้ย เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราทำในสิ่งที่ถูก แต่มันมีเรื่องต้องตัดสินใจเยอะมากในรายละเอียด เพราะคุณไม่รู้หรอกว่า คุณจะตัดสินใจถูกหรือผิดจนกว่าคุณจะตัดสินใจไปแล้ว”
วันนี้ ธุรกิจการเกษตรที่เขารักและเชื่อมั่น พาเขาเดินทางไปทั่วโลก ได้รับรางวัลเกี่ยวกับผู้ประกอบการทางสังคมมาแล้วมากมาย อิ่มข้าวแล้วยังอิ่มใจที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขที่ตื่นมาทำงานทุกวัน ได้ช่วยคนอื่นได้อย่างยั่งยืน ทั้งฝั่งของผู้ผลิตและผู้บริโภค คงน่าจะตอบคำถามได้แล้วว่า ที่ผ่านมาเขาตัดสินใจถูกหรือไม่
ที่สำคัญ เขาภูมิใจมากที่จะบอกว่า คนที่ทำให้เขาตั้งเข็มทิศเป้าหมายในชีวิตได้ถูกต้องก็คือ สืบ นาคะเสถียร ผู้เสียสละชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องพงไพรและผืนป่า ณ ห้วยขาแข้ง
แม้ไม่มีอะไรจะทดแทนการสูญเสียบุคคลอย่างคุณสืบได้ แต่ความเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นตามมามากมายหลังจากนั้น ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงในใจของเด็กชายนิว วัยสิบกว่าขวบในเวลานั้นด้วยเช่นกัน
เพราะเขาเฝ้าถามตัวเองว่า งานแบบไหนกันที่ทำให้คนเรามั่นคงในความเชื่อได้ถึงขนาดนั้น? เขาอยากรู้สึกแบบนั้นบ้าง ซึ่งโชคดีที่วันนี้…เขาค้นพบงานที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้นแล้ว
คนต้นแบบ และเรื่องของคุณค่า
เราเริ่มต้นเรื่องนี้กันด้วยความบังเอิญ แม้ส่วนตัวแล้วเราจะเชื่อว่าโลกนี้ไม่มีความบังเอิญก็เถอะ…
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า นิวเอ่ยปากทักพวกเราขณะที่ถ่ายรูปกันอยู่ว่า “ผมเพิ่งอ่านเรื่องที่ไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับคุณสืบ นาคะเสถียร จาก greenery. สนุกดีนะ” คุยไปคุยมา ถึงได้รู้ว่า การติดตามอ่านและสนใจเรื่องราวของคุณสืบ นาคะเสถียร ไม่ใช่แค่เพียงเพราะเราไปสัมภาษณ์มา แต่มีความหมายกับเขามากกว่านั้น
“จะบอกว่าจริงๆ แล้วฮีโร่ของผมตั้งแต่เด็กเลยก็คือ คุณสืบ นาคะเสถียร ผมสนใจเรื่องราวของแกมาก เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม จนกระทั่งได้ไปเรียนด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่ออสเตรเลีย ผมดีใจนะที่มีแกเป็นแรงบันดาลใจที่ดี แล้วผมก็พูดได้เลยว่า สมัยนี้เราขาดฮีโร่ในความหมายแบบที่ผมมี เด็กสมัยนี้เติบโตมาโดยมีฮีโร่แบบ มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก อีลอน มัสก์ หรือคนในวงการสตาร์ตอัพอีกมากมาย จริงๆ มันก็ไม่ผิด แต่คุณค่าที่พวกเขาเห็นในคนเหล่านี้คืออะไร ส่วนใหญ่ก็คือ รวยให้เร็ว มีชื่อเสียง เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็เลยหันไปทำเทคสตาร์ตอัพกันมากมายอย่างที่เห็น
“แต่เนื่องจากฮีโร่ของผมเป็นคนแบบคุณสืบ นาคะเสถียร คำถามคือแล้วคุณค่าที่เขามีคืออะไร คุณค่านั้นก็คือการได้ช่วยสิ่งแวดล้อม การทำเพื่อส่วนรวม การเสียสละ เชื่อมั้ย เวลาไปขึ้นเวทีที่ไหน ผมก็เล่าว่ามีฮีโร่เป็นคุณสืบ ฝรั่งก็สนใจ ไปค้นดูว่าเป็นใคร แล้วผมก็โคตรภูมิใจเลยที่ได้เล่าเรื่องราวของเขา”
“การที่คุณมีคนคนหนึ่งเป็นเข็มทิศ จนทำให้คุณอยากเป็นแบบคนคนนี้ มันมีพลังมากนะ”
“ผมถึงบอกว่าสังคมเรายังขาดฮีโร่ ถ้าเรามีฮีโร่แบบคุณสืบ นาคะเสถียร หลายๆ คน ผมว่าพวกเขาจะพาเราไปในทิศทางที่พัฒนาประเทศ คนแบบคุณสืบคือคนที่เสียสละมากๆ หายากที่จะเจอคนที่เชื่อในสิ่งสิ่งหนึ่งมากจนกระทั่งยอมเสียสละชีวิตได้
“ปกติแล้ว ผมเป็นคนชอบคิดเรื่องชีวิต มักจะคิดว่า ถ้าเราตายไปพรุ่งนี้ เราจะทำอะไรที่มันเปลี่ยนไปจากเดิมมั้ย เราอยากทำอะไรที่มีความหมายบ้าง แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า ทุกวันที่เราตื่นมา เรามีความสุขทุกวันตลอด 9 ปีที่ทำธุรกิจนี้ แม้มันจะมีช่วงเครียด หรือติดขัดในการทำธุรกิจบ้าง แต่เพราะเราตอบคำถามได้ว่า เราทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร แค่นี้ก็อิ่มแล้วนะ ผมรู้ว่าต่อให้มีชีวิตอีกสิบครั้งก็จะทำแบบนี้ คือมันเป็นสิ่งที่อธิบายยาก แต่ผมรู้ว่าคุณสืบน่าจะรู้สึกแบบนั้นในสิ่งที่เขาทำ เขาจึงเป็นเหมือนต้นแบบ ผมต้องหาสิ่งแบบนั้นทำบ้าง แล้วสิ่งแบบนั้นส่วนใหญ่มันเป็นการทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เพราะความสุขคือการให้ คุณสืบก็เป็นคนที่อุทิศให้คนอื่น เขาถึงได้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้”
What is Your Purpose? จุดมุ่งหมายของคุณคืออะไร?
เปล่าหรอก นี่ไม่ใช่คำถามที่เราถามเขา แต่เป็นคำถามที่เขามักจะถามตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเริ่มต้นทำอะไรก็ตาม รวมทั้งการดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วย
เพราะเขาเชื่อว่า การตอบคำถามนี้ได้ ก็เท่ากับการปักทิศทางที่แน่วแน่ และดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ จุดเริ่มต้นของการตอบคำถาม จึงสำคัญมากพอที่คุณไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะคนที่สนใจธุรกิจยั่งยืน
“ตอนเริ่มต้นทำธุรกิจในปี 2011 พอผมบอกใครๆ ว่าจะทำ SE (Social Enterprise) จะทำงานกับเกษตรกร คนรอบตัวมักจะคิดว่าผมบ้า มีคุณแม่คนเดียวที่เข้าใจและสนับสนุน แต่คนอื่นๆ หรือเพื่อนฝูงจะถามคำถามอะไรที่มันไม่ใช่คำถามน่ะ แต่เป็นการดูถูกซะเยอะ เช่น แล้วจะมาเรียนปริญญาโททำไมเหรอ ถ้าจะขายข้าวแบบนี้ ดังนั้น ผมเลยเรียนรู้ว่า ความฝันน่ะ เรารู้ของเราก็พอ ไม่ต้องไปบอกใครหรอก มันเสียเวลา”
“ความฝันของคุณ ก็มีแต่คุณที่เข้าใจ สู้เราลงมือทำในสิ่งที่เราเชื่อ มี purpose ที่ชัดเจน มองหาคนที่เห็นแบบเดียวกับเรา ฝันแบบเดียวกับเรา แล้วมาทำงานด้วยกันดีกว่า”
“ตอนที่ผมเริ่มต้นธุรกิจ ผมมองในด้านของการเป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเดียวเลย ไม่ได้ไปคิดเรื่องเทคโนโลยี ในขณะที่หลายๆ คนคิดเรื่อง Agtech (Agriculture Technology) หรือเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ซึ่งจริงๆ ผมก็มองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีเลยละ แต่อย่าลืมว่า เทคโนโลยีทุกอย่างมันต้องมีคนใช้ แล้วคุณต้องเข้าใจว่า เกษตรกรเขาก็ไม่ได้มีการศึกษาทางด้านนี้เยอะ หลายคนที่พัฒนา Agtech มา ก็แทบไม่เคยลงไปเจอเกษตรกรเลย นั่งทำโค้ดดิ้งกันโดยแทบไม่เคยไปหาคนที่เขาต้องใช้ หรือยูสเซอร์ ผมเห็นเลยว่ามันคนละโลกกันมากๆ ดังนั้น เมื่อเราไม่ได้ลงไปเจอกับสถานการณ์จริงๆ เราจะไปหาทางออกให้เขาได้ยังไง แล้วอะไรคือ purpose ของเทคโนโลยีของคุณ
“ย้อนไปเมื่อสามปีที่แล้ว ผมได้รับรางวัลทางธุรกิจจากอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบาม่า (Global Entrepreneurship Summit 2016) แล้วในงานนั้น ผมก็มีโอกาสได้นั่งคุยกับผู้บริหารหลายท่าน รวมทั้งมาร์ก ซักเกอร์เบิร์กด้วย ซึ่งผมก็ได้แง่คิดในหลายๆ เรื่องเหมือนกัน รู้มั้ยครับว่ามาร์กทำเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่ออะไร เพราะเขาไม่มีเพื่อนตอนเรียนมหาวิทยาลัยเลย เขาเป็นคนที่เราเรียกกันว่าเด็กเนิร์ด เขาอยากมีเพื่อน แต่ไม่กล้าไปคุยกับคน ก็เลยสร้างเฟซบุ๊กขึ้นมาเพื่อจะได้เชื่อมต่อกับคนอื่น แปลว่าทุกอย่างมันมีวัตถุประสงค์ แต่ปัจจุบัน คนไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อวัตถุประสงค์ของมัน แต่กลายเป็นโดนเทคโนโลยีใช้เพื่อสร้างเงิน เหมือนสารคดีในเน็ตฟลิกซ์เรื่อง Social Dilemma นั่นแหละ เราจะเห็นว่า เทคโนโลยีกำลัง manipulate หรือชักจูงเราอยู่ ดังนั้นไม่ว่าเราจะพูดถึงเทคโนโลยีอะไร จะ Agtech Fintech Healthtech อะไรก็เถอะ เราต้องถามว่า purpose ของมันคืออะไรกันแน่ ซึ่งน่าเสียดายที่ แทบจะ 99% ก็ต้องการทำเงินให้ได้มากๆ ทำเพื่อผู้ถือหุ้นทั้งนั้น ไม่ใช่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ และไม่ได้สร้างทางออกจริงๆ”
People Planet Profit
ถ้าใครติดตามเรื่องราวของธุรกิจที่สนใจโลกและสังคม คงจะทราบดีว่า โลกของธุรกิจวันนี้ ไม่ได้พูดแค่เรื่องกำไรอีกต่อไปแล้ว เพราะกำไรเพียงเรื่องเดียว คงไม่สามารถทำให้โลกหมุนไปได้ด้วยดีและยั่งยืน แต่ triple bottom line ที่ว่าด้วย คน โลก และกำไร ต่างหากที่เป็นเรื่องที่ทุกบริษัทกำลังให้ความสำคัญและมุ่งไป
“triple bottom line เป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ เพราะวัตถุประสงค์ของเราคือ การช่วยเหลือเกษตรกรให้หลุดพ้นจากความยากจน ผ่านการสร้างผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ใช้นวัตกรรม เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้สินค้าที่ดีกับสุขภาพและผู้ผลิตหรือชาวนาอยู่ได้จริงๆ สิ่งที่เราภูมิใจมากๆ ในวันนี้ ที่นอกเหนือจากการทำให้ชีวิตชาวนาเป็นหมื่นๆ ครอบครัวอยู่ดีกินดีแล้ว เรายังเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเพียงธุรกิจเดียวในเมืองไทย ที่ได้มาตรฐานของ B Corporation ของอเมริกา ซึ่งเขาจะสำรวจเกี่ยวกับธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมทั่วโลก เกณฑ์ที่เขาดูก็คือเรื่อง การเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ปีที่แล้วเราก็ยังได้รับคะแนนโหวตให้เป็น Best for the World B Corp หรือรางวัลสำหรับบริษัทที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่ง B Corp ในโลกนี้มีประมาณ 5 พันกว่าแห่ง เราได้คะแนน Top 100 ของโลก และได้รับการยอมรับที่ดีมากจากต่างประเทศมาโดยตลอด
“ผมคิดว่าเมื่อเราทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร การคำนึงถึง triple bottom line ควรจะเป็น minimum requirement ด้วยซ้ำ เพราะเกษตรกรต้องอยู่ได้และอยู่รอด ต้องไม่ใช่สารเคมีที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เกษตร ทำให้มีสัตว์หลากหลายชนิดอยู่ในพื้นที่นั้น”
“เมื่อสภาพแวดล้อมดี มีสมดุลที่ดี ธรรมชาติก็อุดมสมบูรณ์”
“เพราะถ้าเราไม่ดูแลเรื่องการเกษตรให้ปราศจากสารเคมี ผู้บริโภคก็ถือว่ารับเคราะห์นะครับ เพราะสารเคมีพวกนี้ก่อมะเร็งทั้งนั้น แค่เฉพาะเรื่องข้าวก็สำคัญมากๆ แล้ว เพราะปกติเรากินข้าวกันอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ ถ้าเรากินทุกวัน สะสมกันไปนานๆ หลายปี ก็แน่นอนว่าต้องเป็นมะเร็ง ทุกวันนี้นอกจากข้าวแล้ว เรายังไปเจอพืชจีเอ็มโอ ตัดแต่งพันธุกรรมอีก ความเสี่ยงที่จะเจอสารพิษมันเต็มไปหมด แล้วในที่สุด ธุรกิจที่เติบโตที่สุดในบ้านเราก็หนีไม่พ้นธุรกิจการแพทย์หรือโรงพยาบาล เพราะปัญหาสุขภาพของคน มันเริ่มต้นจากอาหารที่เราทานกันอยู่ทุกวัน หรืออาหารที่ไม่ปลอดภัยนั่นเอง”
โมเดลการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ต้องมาจากผู้บริโภค
“ผมเชื่อในการตลาด เพราะการตลาดคือผู้บริโภค ผมจึงเชื่อว่าโมเดลในการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ต้องมาจากผู้บริโภค ยกตัวอย่างว่า คุณอยากจะซื้อข้าวที่เป็นออร์แกนิกเพื่อช่วยเกษตรกร และมันตอบโจทย์เรื่องสุขภาพทุกอย่าง สมมติว่าคุณสบายใจที่จะจ่ายเงินประมาณ 100 บาทต่อกิโลฯ เวลาผมทำธุรกิจ ผมก็เอาข้อมูลตรงนี้แหละมาคำนวณว่า 100 บาทที่ผู้บริโภคยอมจ่าย เราต้องคิดถอยกลับมาว่า เราต้องเสียอะไรไปบ้างระหว่างทาง เช่น ค่าเข้าห้าง ค่าขนส่ง ค่าอะไรต่างๆ แล้วเกษตรกรจะได้เท่าไหร่ คือผมคิดกลับด้านเลย
“เพราะคนส่วนใหญ่เวลาคิดเรื่องธุรกิจ เขาจะคิดจากการเอาต้นทุนมาบวกกำไร ถ้าต้นทุน 50 บาท อยากได้กำไร 30% ต้องขายเท่าไหร่ คนซื้อจ่ายเท่าไหร่ แต่ผมจะคิดในมุม sustainable market price เอาราคาที่ผู้บริโภคยอมจ่าย แล้วมาคิดว่าเราต้องมีต้นทุนเท่าไหร่ เพื่อให้เกษตรกรได้ราคาที่สูงที่สุดเท่าที่เขาจะได้ ถ้าผมไม่เคยถามคำถามแบบนี้ ผมจะไม่รู้เลยว่าเกษตรกรควรจะได้เงินเท่าไหร่ ทุกวันนี้ใครเป็นคนตัดสินใจว่าข้าวต้องขายกี่บาท? ใครเป็นคนตัดสินใจว่ากาแฟกิโลละกี่บาท? นายทุนตัดสินใจสิครับ แล้วเขาตัดสินใจจากอะไร? ก็จากกำไรไง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเกษตรกร ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้บริโภคเลยด้วยซ้ำ”
“SE จะคิดต่างไป เพราะแม้แต่ราคาที่ตั้ง ก็ยังต้องมาจากผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้าที่แท้จริง และตรงนี้สำหรับผมก็คือ หัวใจของความยั่งยืนของ SE”
“เพราะทุกคนสามารถอยู่ได้กันหมดในธุรกิจนี้ มันมีจุดสมดุลของธุรกิจร่วมกัน จริงๆ การคิด business model มันไม่ได้ยากหรอก ใครๆ ก็รู้ แต่การนำไปปฏิบัติจริงต่างหากที่ยาก”
การสร้างความยั่งยืนด้วยคุณค่า เพราะความยั่งยืนคือกำไร
ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้คนทำธุรกิจกางแผนตั้งรับกันแทบไม่ทัน นิวเล่าว่า‘สยามออร์แกนิค’ ก็หนีไม่พ้นคลื่นของการปรับตัว แต่ไม่ว่าจะปรับให้เติบโตอย่างไร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลาก็ยังเป็นเรื่องของคุณค่าในสินค้าหรือแบรนด์อยู่ดี
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมวิกฤต นั่นก็คือพวกประเด็นทางสังคมทั้งหลายที่มันชัดเจนคูณสิบเลย จากที่เดิมก็มีปัญหาอยู่แล้ว ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจนของเกษตรกร วิกฤตภัยแล้ง สถานการณ์ตอนนี้ยิ่งทำให้คนกลับมาคิดได้ว่า หลังจากนี้ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไร เราต้องคิดเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจังด้วย”
“ความยั่งยืนก็คือกำไรอย่างหนึ่ง ถ้าธุรกิจคุณทำได้แค่สองสามปีแล้วล้มมันก็จบ ธุรกิจทุกวันนี้มันจึงมีหลายมิติที่ต้องคิดถึงจริงๆ”
“ส่วนตัวผมเชื่อว่า การทำ SE ในทุกวันนี้ มันมีสองทางเลือก ทางแรกคือทำให้เล็กๆ เข้าไว้ หรือ stay small แต่สุดท้ายแล้วเราก็จะขยับขยายอะไรมากไม่ได้ อยู่เท่าเดิม ซึ่งเมื่อธุรกิจไม่โต มันก็ตาย โดนกลืนไปในที่สุด อีกทางเลือกคือ ถ้าจะโต ก็ต้องเสี่ยง ต้องออกไปหาพาร์ตเนอร์ใหญ่ๆ มาช่วย เพื่อที่เราจะได้มีทรัพยากร มีตลาด เพราะปัจจุบันคุณคงทำธุรกิจด้วยตัวคนเดียวไม่ได้อีกแล้ว หลายธุรกิจก็ไปเป็นพาร์ตเนอร์กันอย่างที่เราเห็นบ่อยๆ หลังจากนี้ เราน่าจะเห็นธุรกิจหันมาจับมือกันมากขึ้นแล้วมันจะ win-win ทุกฝ่าย รวมทั้งผู้บริโภคด้วย
“อย่างที่เห็นกันว่า ทำธุรกิจทุกวันนี้ค่อนข้างยากนะครับ ธุรกิจอื่นเขาก็แข่งกันไปตามประสารายใหญ่รายเล็กในสนามของเขา แต่ SE แบบเรา เหมือนขึ้นชกบนเวทีโดยมีน้ำหนักถ่วงไว้ที่ขาทั้งสองข้าง ข้างละ 10 กิโลฯ น้ำหนักที่ว่านั้นก็คือต้นทุนที่เราแบกนั่นเอง คือถ้าเทียบกับธุรกิจเพื่อการเกษตรรายใหญ่ๆ เขาจะไม่ได้มีการพัฒนาความรู้หรือฝึกอบรมกับเกษตรกรนะครับ รูปแบบของเขาก็อาจจะเป็นแบบ ซื้อสินค้ามาในต้นทุนที่ถูก แล้วทำสัญญาแบบ contract farming จบ
“แต่ SE อย่างเรา คือฝึกอบรมเกษตรกรเรื่องการปลูกข้าวอินทรีย์ ช่วยเรื่องพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำเงินกู้รายย่อย ทุกอย่างเป็นต้นทุนหมดเลย ในขณะที่บริษัทอื่นไม่มีต้นทุนพวกนี้ ดังนั้นเราจึงมีต้นทุนที่สูงกว่า แถมยังต้องไปแข่งบนเวทีเดียวกันอีก มันถึงยากที่จะอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ คนที่จะทำได้ต้องคิดต่าง ต้องสร้างอะไรใหม่ๆ และทำไม่เหมือนคนอื่น ต้องไม่แข่งในเวทีเดียวกัน ไม่งั้นสู้ไม่ได้ อย่างผมก็ต้องไปแข่งส่งออก แข่งในตลาดต่างประเทศ ตลาดตะวันตก เราต้องไปหาผู้บริโภคที่เขาสนับสนุนเราได้ และเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เขาถึงจะยอมจ่าย
“คนจ่ายเงินซื้อสิ่งที่เขาคิดว่ามีคุณค่า ราคามันคือสิ่งสะท้อนของคุณค่าของสิ่งนั้น หรือแบรนด์นั้น เราถึงเห็นกระเป๋าที่ใช้วัตถุดิบแทบไม่ต่างกัน แต่ขายได้ในราคาที่ต่างกันมาก มันเป็นเรื่องของแบรนด์ เป็นเรื่องของคุณค่าในสินค้านั้น หรือกระทั่งเป็นสถานภาพทางสังคม ดังนั้นเวลา SE ขายสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็ต้องเอาให้ชัดว่าคุณค่าของเราคืออะไร ไม่อย่างนั้น เราก็ขายราคาสูงๆ สู้ใครไม่ได้ เช่น เราบอกว่า คุณซื้อข้าว Jasberry เกษตรกรสามารถส่งลูกไปเรียนหนังสือได้เลย เพราะเขามีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี แทนที่คุณจะไปบริจาคเงินช่วยเขา แต่คุณได้มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เด็กคนหนึ่งได้เรียนหนังสือด้วยการซื้อข้าวยี่ห้อนี้ ซึ่งนี่คือคุณค่าที่เรามี ถ้าผู้บริโภคไม่ได้มองเห็นคุณค่าตรงนี้ เขาก็ไม่จ่ายเงินเพิ่ม บาทหนึ่งเขาก็ไม่จ่าย”
การสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องมีหัวใจ
ถ้าหันมาดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอด 9 ปี นิวบอกว่า เขายังไม่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ จุดหมายปลายทางที่ฝันไว้ ยังอยู่อีกไกลเลยก็ว่าได้ และสิ่งสำคัญเลยก็คือ เขาต้องการทีมที่ดีมาทำงานด้วยกันต่อไป เพราะเขาเชื่อว่า คนเก่งเพียงคนเดียว ทำอะไรไม่ได้มากนัก
“เราต้องการคนที่มองไปในทางเดียวกัน และเดินไปด้วยกัน สามัคคีกัน ตรงนี้แหละที่จะเกิดพลังหรือการเปลี่ยนแปลง
“โดยส่วนตัวผมว่าเด็กยุคใหม่มีพลัง และสิ่งที่เขาต้องการก็คือความหมายในชีวิต ต้องการความสุข ความสำเร็จ”
“ถ้าเทียบกับเจเนอเรชั่นที่แล้ว แค่มีความมั่นคงก็พอ แต่ gen ใหม่ เขาไม่ได้ต้องการแค่นั้น เขาต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความแตกต่าง ต้องการมีเป้าหมายในชีวิต ต้องการมีความสุข ผมคิดว่าตรงนี้มันตอบโจทย์ที่เขาจะหันมาทำ SE แต่แค่จะบอกว่า อย่าเพิ่งไปทำของตัวเอง ให้ลองมาช่วยคนอื่นก่อน มาเรียนรู้ มาทำธุรกิจให้เป็น อีกหน่อยอยากไปทำของตัวเองก็ไป แต่ควรมารวมตัวกันเพื่อให้เกิดพลังก่อน
“สิ่งที่ SE จะตอบแทนให้คนรุ่นใหม่ได้จริงๆ ก็คือความสุข ความพึงพอใจ การเติมเต็มและเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งหาไม่ได้จากธุรกิจทั่วไป ที่ให้คุณก้มหน้าก้มตาทำงานไป แล้วพอคุณลาออก คุณก็ไม่ได้มีความหมายอะไรกับเขาแล้ว เขาก็แค่เอาคนใหม่เข้ามา แต่สมมติคุณมาทำงานกับบริษัทเรา สิ่งที่คุณจะได้คือ ได้รู้จักเกษตรกร รู้จักครอบครัวเขา สร้างความสัมพันธ์ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตคนอื่นได้ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้เหมือนตัวเงิน แต่มันทำให้เราตื่นมาทุกวันแล้วอยากไปทำงาน
“ที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้จากโค้ชด้านธุรกิจหลายคน เขามักจะถามว่า ถ้ายังไม่ต้องเอาเงินเข้ามาเกี่ยว คุณคิดว่าตอนนี้คุณจะทำอะไร? มันเป็นคำถามที่ทำให้เราคิดถึงสิ่งที่มีคุณค่ากับตัวเอง ผมจะบอกทุกคนเสมอว่า ทำ SE ไม่มี work life balance มันไม่มีงาน มันมีแต่เรื่องชีวิต เพราะชีวิตคุณเกินครึ่งอยู่กับที่ทำงาน แล้วทำไมไม่ทำให้ชีวิตสนุกกับงานไปเลยในทุกๆ วัน ดังนั้น คนที่เราจะจ้างมาทำงานกับเรา เรามีหลักอย่างหนึ่งคือ เราจะดูว่า เขาเป็นใคร มากกว่าเขาทำอะไรได้บ้าง มันมีคำที่โค้ชเคยสอนผมว่า you hire people for what they know but you fire people for who they are คุณจ้างคนเพราะสิ่งที่เขารู้ แต่คุณไล่เขาออกเพราะตัวตนของเขา เพราะสิ่งที่เขาเป็น แทนที่จะจ้างเขาเพราะสิ่งที่เขาเป็นตั้งแต่แรก ดังนั้น ที่บริษัทของเรา เราจะ hire people for who they are and we’ll teach them what they need to know ผมมองว่ามันต่างกันนะ เพราะการมาทำงานฝั่งสังคม หรือการสร้างความเปลี่ยนแปลงมันต้องมีหัวใจ แต่มันก็ต้องใช้ทักษะด้วย”
การเป็นคนมีคุณค่า ทำงานที่มีคุณค่า เป็นเรื่องสำคัญ
อย่างที่นิวเกริ่นไปตอนต้น ว่าเมื่อสามปีที่แล้ว เขาเคยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติด้านผู้ประกอบการ หรือรางวัล Global Entrepreneurship Summit ซึ่งทำให้เขาได้พบกับผู้บริหารชื่อดังระดับโลกมากมาย และแน่นอน ก่อนจะจบบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เราเลยอยากให้นิวปิดท้ายด้วยการทบทวนว่า อะไรคือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการได้สัมผัสกับคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก
“อย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือ คนพวกนี้เป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันมาก เวลาคุยกันพวกเขาตั้งใจฟังมาก เขานั่งอยู่กับคุณ สติเขาก็จะอยู่กับคุณ ไม่หยิบมือถือขึ้นมาใช้เลย ทั้งๆ ที่เขาก็น่าจะต้องยุ่งมาก ที่สำคัญคนเหล่านี้เขาจะ stay hungry stay foolish เหมือนสตีฟ จ็อบส์ บอกเลย เขาหิวกระหายในการเรียนรู้ตลอดเวลา คิดดูว่าทำไมเขาต้องมานั่งฟังผมอธิบายเรื่องเกษตรกรเมืองไทย เรื่องการทำข้าวออร์แกนิก เพราะเขาอยากเรียนรู้ เขาก็เลยตั้งใจฟัง ตั้งใจถาม คนที่เขาประสบความสำเร็จ จึงมีส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญครับ เพราะเขาเป็นคนใฝ่หาความรู้ ขยัน และถ่อมตัว เชื่อผมเถอะว่า ถ้าคุณมีคุณสมบัติพวกนี้ ยังไงชีวิตคุณก็ไม่ล้มเหลว ยังไงก็จะมีคนให้โอกาสคุณตลอดเวลา เพราะเขาจะเห็นว่าคุณเป็นคนที่มีคุณค่า
“การเป็นคนมีคุณค่า และเลือกทำในสิ่งที่มีคุณค่านี่สำคัญนะ ถ้าผมไม่ได้เลือกทำธุรกิจแบบทุกวันนี้ แต่ไปทำงานด้านอื่น เพื่อจะได้มีเงินเยอะๆ ผมเชื่อนะว่า เมื่อ 3 ปีก่อนผมคงไม่ได้ไปนั่งเจอคนระดับโอบาม่า มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ซานเจย์ พิชัย ที่เป็นซีอีโอกูเกิล เพราะถ้าผมเป็นแค่คนมีเงิน ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเกษตรกร ไม่ได้ทำงานเพื่อสังคม ไม่ได้ทำอะไรที่สร้างคุณค่า คนพวกนั้นเขาจะอยากมาเจอผมทำไม แต่นี่เขามานั่งคุย นั่งถามเรื่องที่ผมทำเกี่ยวกับการเกษตร เรื่องที่ได้ช่วยชาวนาให้มีรายได้ ช่วยครอบครัวชาวนาได้เป็นหมื่นๆ ครอบครัว เขาถามผมตลอดว่าทำได้ยังไง เขาอยากคุย เพราะมันคือการแชร์ความรู้ แชร์ในสิ่งที่เราทุ่มเททำมา ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้อีกอย่างก็คือ คุณต้องกล้าที่จะทำตามความฝัน มันไม่สำคัญหรอกว่า จะทำสำเร็จเมื่อไหร่ แต่ต้องลงมือทำในสิ่งที่เชื่อ แต่ขณะเดียวกัน คุณก็ต้องถ่อมตัว ต้องเรียนรู้จากคนอื่น และเป็นนักฟังที่ดีด้วย
“วันนั้นผมถามอะไรพวกเขาบ้าง? เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเจอใคร สิ่งที่ผมจะถามคนเก่งๆ เสมอก็คือเรื่องการบริหารคน เพราะคน ถือเป็นเรื่องยากที่สุดในการทำงาน และสิ่งที่ผู้บริหารเก่งๆ มักจะบอกคล้ายๆ กันก็คือ คำพูดที่ว่า คนมักจะลืมสิ่งที่เราทำให้เขา แต่จะไม่มีวันลืมว่าเราทำให้เขารู้สึกยังไง ดังนั้น ผู้นำที่ดีจึงต้องแคร์คน ให้เกียรติคนด้วย”
ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร