เดี๋ยวนี้ไมโครกรีน หรือต้นอ่อนสีเขียวของพืชผัก เป็นที่นิยมของนักกินสายสุขภาพมากขึ้นกว่าเดิม และมักถูกนำไปปรุงเป็นอาหารได้ทุกประเภทเมนู จากที่เคยหาซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต หลายคนก็หันมาเพาะกินเองในบ้าน ยิ่งในช่วงที่ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน เพราะโควิด-19 กลับมาเยือนอีกแล้วอย่างนี้ การเพาะต้นอ่อนไว้ปรุงอาหารกินเองยามขาดแคลนผัก ก็ดูจะเป็นอีกที่พึ่งหนึ่งที่ไว้ใจได้ แถมยังสามารถนับวันรอได้เลยว่า ปลูกวันนี้ จะได้กินวันไหน

เพาะเมล็ดลงดิน รดน้ำ ฟังดูแล้วเหมือนจะเพาะง่าย งอกง่าย เหมือนที่เก็บกินง่าย แต่คำว่า ‘ง่าย’ นี้ อาจจะไม่ง่ายเสมอไป สำหรับคนที่ตั้งความหวังไว้ต้นอ่อนที่เราลงมือเพาะจะต้องโตได้โตดี เพราะบางทีก็โตมาแบบไม่ได้ผลเต็มร้อย ต้นไม่สวยบ้าง หรือที่แย่ไปกว่านั้น เมล็ดที่เพาะเกิดเป็นเชื้อรา หรืองอกออกมาแล้วรากเน่าไปเสียก่อนที่จะได้ตัดมากิน

สาเหตุที่ว่ามานี้ บางทีปัญหาก็อยู่ที่เส้นผมบังภูเขา คือเรื่อง ‘การปรุงดิน’ ที่ต้องนับว่าเป็นขั้นตอนสำคัญนั่นเอง

เราได้รู้แจ้งถึงปัญหาใหญ่ ที่มีที่มาจากต้นตอเล็กๆ นี้ ก็เมื่อคราวที่ไปทัวร์ฮิพอินทรีย์ ฟาร์มวิว ของโอ๋-ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล กับ Greenery Trip 02 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่วันนั้นได้มีเวิร์กช็อปสอนการปรุงดิน เพื่อให้ต้นอ่อนทานตะวันของเราโตดี ซึ่งถ้าทำได้ตามนี้ ต่อให้เป็นคน ‘มือร้อน’ ปลูกอะไรไม่ค่อยจะขึ้นกับเขา โอ๋ก็การันตีว่า ยังไงก็ได้กินแน่นอน

แต่ก่อนที่เราจะรื้อลิ้นชัก ดึงเอาเคล็ดลับที่ได้จากวันนั้นมาบอกต่อกันตรงนี้ ขอเล่าถึงความน่าจะปลูกของต้นอ่อนสักนิดก่อนว่า มีดีที่ตรงไหน

ข้อดีของไมโคกรีน หรือต้นอ่อน ก็คือเราสามารถเพาะได้จากเมล็ดพืชหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชกลุ่มกะหล่ำ ผักกาดหอม แครอต หัวไชเท้า แตงกวา แตงโม ต้นหอม กระเทียม และกลุ่มธัญพืชอย่างข้าวสาลี พืชตระกูลถั่ว ทานตะวัน ฯลฯ

ต้นอ่อนจากเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดก็ให้รสชาติและสารอาหารที่แตกต่างกันไป ตามแต่ชนิดของสายพันธุ์พืช

แต่หลักๆ ที่มีอยู่เหมือนกันคือการอุดมด้วยแร่ธาตุอย่างโพแตสเซียม เหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม และเป็นแหล่งสารอาหารที่มีประโยชน์ และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าผักใบเขียวที่โตเต็มที่ เรียกว่าเล็กจิ๋วแต่แจ๋วเกินตัวเชียว

เตรียมอุปกรณ์ปลูก

• เมล็ดทานตะวัน นอกจากเมล็ดทานตะวันแล้ว เราสามารถใช้เมล็ดพันธุ์ผักอื่นๆ ได้ตามความชอบ

• ภาชนะสำหรับปลูก เช่น ตะกร้าพลาสติก ที่เราอาจจะไม่ต้องถึงกับซื้อใหม่ เพียงลองหาตะกร้าที่ไม่ได้ใช้ภายในบ้าน หรือตะกร้าขนมจีนก็เป็นอะไรที่เหมาะมาก จับมารียูสซะเลย

• ดินถุง หาซื้อได้จากร้านต้นไม้ โอ๋ให้ข้อสังเกตว่าดินถุงที่ซื้อกันมาส่วนมากจะเป็นก้อนแข็ง ไม่ร่วนซุย หรือบางครั้งดูเป็นดินร่วนที่ผสมมาแล้วแต่มีความเป็นดินน้อย ดังนั้นเมื่อได้มาแล้วจึงยังไม่เหมาะที่จะเพาะไมโครกรีนหรือต้นไม้อื่นๆ ในทันที ควรต้องมีการปรุงดินเสียก่อน

• ขุยมะพร้าว จะช่วยเก็บความชื้นให้ดิน และการที่มีขุยมะพร้าวแทรกอยู่ในเนื้อดิน จะช่วยไม่ให้ดินเกาะกันแน่นเกินไปจากการที่ต้องรดน้ำทุกวัน

• ขี้เถ้าแกลบดำ หรือขี้เถ้าแกลบเผา ซึ่งมีค่า pH สูง จะช่วยปรับสภาพดินให้เหมาะกับการเพาะต้นอ่อน และด้วยคุณสมบัติของเนื้อแกลบเผาที่เป็นเหมือนทราย จะช่วยให้น้ำไม่อมอยู่ภาชนะ และไม่เก็บน้ำไว้ในถาดเพาะไว้มากเกินไป

• ขวดน้ำและจุกรดน้ำ โดยจุกรดน้ำสามารถหาซื้อได้ที่ร้านต้นไม้ทั่วไป หรือหากไม่มีจุกรดน้ำ สามารถดัดแปลงโดยการเจาะขวดน้ำให้เป็นรูแทนก็ใช้ได้

ได้เวลาลงมือแล้ว

1. ร่อนดิน ร่อนขุยมะพร้าว และร่อนขี้เถ้าแกลบ ด้วยตะแกรงหรือภาชนะแทนอย่างตะกร้า ความสำคัญของการร่อนส่วนผสมทั้งสามอย่างนี้ คือเคล็ดลับที่จะทำให้เมล็ดต้นอ่อนเดินรากได้ดี หากไม่ร่อน ดินที่ปลูกเป็นก้อนแข็งและใหญ่ จะทำให้เกิดปัญหาว่าเพาะไม่ขึ้น โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์จำพวกเมล็ดผักสลัดที่มีขนาดเล็ก เมื่อเมล็ดงอกขึ้นมาจะไม่มีแรงดันดินขึ้นมาได้

2. นำดิน ขุยมะพร้าว และขี้เถ้าแกลบที่ร่อนแล้ว มาผสมกัน ในอัตราส่วน 2:2:1 โดยมีดินและขุยมะพร้าว 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน ตรงนี้ขอเป็นสัดส่วนที่ไม่เป๊ะนักสำหรับดิน เพราะเจ้าของฟาร์มให้เคล็ดลับว่า ให้แถมดินเพิ่มขึ้นมาอีกสักนิดหนึ่งจะดี

3. เมื่อคลุกเคล้าผสมจนเข้ากันดีแล้ว เตรียมภาชนะเพาะต้นอ่อน โดยนำใยมะพร้าวส่วนที่หยาบซึ่งเราร่อนออกจากขุยมะพร้าว มาปูลงตะกร้าหรือถาดเพาะบางๆ โดยใยมะพร้าวจะทำหน้าที่ปิดรูถาดไม่ให้ดินร่วงทะลุลงไป และยังช่วยเป็นฉนวนกั้นความร้อนจากพื้นมาสู่เมล็ดด้วย แต่ก็ต้องระวังว่าอย่าโรยหนาไป เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้น้ำแฉะขัง ต้นอ่อนจะเสียหายได้

4. ใส่ดินที่ผสมไว้ลงไปในถาดเพาะ ให้เหลือความสูงจากขอบประมาณ 1 เซนติเมตร โดยไม่ต้องใช้มือกดดิน


5. โรยเมล็ดทานตะวันลงบนดิน เกลี่ยให้ทั่วถาดเสมอกันโดยไม่ให้เมล็ดซ้อนกัน จากนั้นกลบทับด้วยชั้นดินบางๆ พอไม่ให้เห็นเมล็ด

6. หมั่นรดน้ำทุกวัน เช้า- เย็น หรือหากจับดินดูแล้วยังมีความชื้นมากอยู่ ก็อาจจะวันละครั้งได้ เรื่องนี้ต้องใช้การสังเกตเข้าช่วย

7. การเพาะต้นอ่อนไม่ต้องใช้ปุ๋ยใดๆ เพราะในเมล็ดพันธุ์นั้นมีสารอาหารที่จะเลี้ยงต้นอ่อนอยู่แล้ว

8. ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ต้นอ่อนทานตะวันที่เพาะไว้ก็จะโตกำลังดี พร้อมให้เราตัดกิน

ต่อให้ช่วงนี้ต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน หรือคอนโด หอพัก ขนาดพื้นที่จะกว้างจะแคบแค่ไหน การเพาะต้นอ่อนก็ทำได้เหมือนกันหมด เพราะใช้พื้นที่เพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งแผ่นกระเบื้อง ช่วงที่รอต้นอ่อนโต ก็พลิกตำราหาเมนูอร่อยๆ เตรียมไว้ได้เลย 😊

ภาพถ่าย: ศวิตา แสงน้ำเพชร, อนันต์ ฉัตรศรัทธา