จะเรียกว่าเป็นธรรมเนียมก็คงไม่ผิดนัก สำหรับการตั้งปณิธานปีใหม่ เพราะหลายคนก็อยากเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เป็นธรรมดา แต่ท้ายที่สุดแล้ว การลงมือทำตามเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอต่างหาก ที่จะทำให้ความตั้งใจของเรากลายเป็นความจริง ซึ่งการทำอย่างสม่ำเสมอนี่เองที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะเป้าหมายนั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง หรือยากเกินไปที่จะทำได้ในหนึ่งปี และอาจเป็นไปได้ว่า เป้าหมายที่ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว อาจไม่ได้สร้างแรงจูงใจหรือแรงผลักดันมากพอ และท้ายที่สุด เราก็อาจจะลงเอยด้วยการตั้งคำถามถึงความหมายของสิ่งที่เราทำว่า ทำไปทำไม หรือเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไรกันแน่
ถ้าอย่างนั้นแล้ว ทำไมเราไม่ตั้งเป้าหมายที่ทำเพื่อคนอื่นหรือโลกใบนี้ดูบ้าง? บางทีเราอาจจะค้นพบความหมายใหม่ๆ ที่เราไม่เคยคิดมาก่อนก็ได้
อีกอย่าง การทำสิ่งดีๆ เพื่อคนอื่น หรือเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง ก็ทำให้หลายๆ คนทำในเรื่องที่ยากหรือท้าทายมากๆ ได้สำเร็จอีกต่างหาก
เราเลยนึกสนุกอยากสำรวจดูว่ามีปณิธานปีใหม่ของใครที่คิดจะทำเพื่อสังคม หรือเพื่อโลกใบนี้บ้างมั้ย แล้วเขาอยากทำอะไรกัน ที่สำคัญ เราอยากนำไอเดียเหล่านั้นมาแบ่งปันกันด้วยเผื่อจะเป็นแนวทางให้หลายๆ คนอยากตั้งปณิธานปีใหม่ของตัวเอง ซึ่งก็พบว่า ก่อนหน้านี้ สื่อระดับโลกอย่าง The New York Times ก็เคยทำแบบสำรวจความคิดเห็นคนอ่านผ่านอีเมล รวมทั้งสอบถามผู้ติดตามในทวิตเตอร์จำนวนมากด้วยว่า ปีใหม่นี้ อะไรคือ Green New Year’s Resolutions ของทุกคน เนื้อหาของเขาทำมาได้สนุกดี ซึ่งจากการรวบรวมประเด็นทั้งหมดที่คนตอบคำถามมา ก็พอจะแยกย่อยหัวข้อได้ดังนี้
การมีส่วนร่วมกับชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่
เพราะการรวมพลังของคนจำนวนมาก จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการปรับเปลี่ยนจากตัวเองเพียงคนเดียว ดังนั้นเมื่อไหร่ที่มีการลงคะแนนเสียงในนโยบายใดก็ตาม ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนได้ ทุกคนก็ต้องช่วยกันลุกขึ้นมามีปากมีเสียง ไม่เพิกเฉยต่อประเด็นนั้นๆ ถ้าเราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากพอ
บางส่วนของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่า “จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายการศึกษาในระดับท้องถิ่น เพื่อช่วยสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาที่ช่วยสร้างความตระหนักในวงกว้าง เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยลดความรุนแรงของมันด้วย”
ผู้อ่านจากอินเดียท่านหนึ่ง บอกว่า “จะช่วยเผยแพร่ความรู้ให้กับทุกคนที่พบเจอเกี่ยวกับผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ ที่มีผลเสียต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเรื่องนี้จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตัวพวกเราก่อน”
เดินทางด้วยวิธีการหลากหลาย (แต่เดินทางน้อยลง)
สำหรับเรา เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว เพราะคนที่รักการเดินทางคงแอบเขม่น และช่วงเวลาที่ผ่านมา การเดินทางท่องเที่ยวยังเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่างหาก แต่เราอยากให้เปิดใจกันสักนิดว่า
การเดินทางให้น้อยลง ก็อาจเป็นผลดีกับสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะถ้าเลือกการเดินทางที่สร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้น้อยลงด้วย
ซึ่งแน่นอน ในประเทศที่มีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย หรือประเทศที่มีขนส่งสาธารณะที่ดีมากพอ คนในประเทศของเขาก็สามารถเลือกรูปแบบการเดินทางได้มากกว่าพวกเรานั่นแหละ จึงไม่ต้องแปลกใจที่บางคนที่ตอบแบบสอบถาม ถึงกับพิจารณาอย่างจริงจังถึงการเดินทางโดยเรือ เพื่อทดแทนการเดินทางโดยเครื่องบิน บางคนก็บอกว่า “จะไม่เดินทางท่องเที่ยวเพื่อความสนุกด้วยเครื่องบินอีกแล้ว ในปีต่อๆไป” หรือ “ฉันซื้อจักรยานมาแล้ว ต่อไปคงขี่จักรยานหรือเดินให้บ่อยขึ้น”
นอกจากนั้น เรายังเห็นความตั้งใจในเรื่องการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ลดการกินเนื้อแดง หมักขยะจากเศษอาหาร ไม่ช้อปปิ้งเสื้อผ้าแบบ fast fashion แต่จะซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือจากร้านเสื้อผ้าที่คัดสรรมาจากแหล่งผลิตที่มีจริยธรรม ไปจนถึงการพิจารณาซื้อรถที่เป็นพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ
ในเวลาเดียวกัน เมื่อหันไปสำรวจแหล่งข่าวอื่นๆ ก็พบบทความที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมให้กรีนรับปีใหม่กันไม่น้อยเลย เราเลยขอคัดมาสักสองสามเรื่องที่ไม่ซ้ำซ้อนกับปณิธานที่พูดไปก่อนหน้านี้ก็แล้วกัน เช่น
• ใช้ภาชนะอะลูมิเนียมให้มากขึ้น เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า อะลูมิเนียมสามารถนำไปรีไซเคิลได้ไม่รู้จบ ไม่เหมือนพลาสติกที่เลอะเทอะ (จากการไม่แยกขยะตอนทิ้ง) ที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้แล้ว มีสถิติบอกไว้ด้วยว่า การรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมหนึ่งใบ สามารถประหยัดพลังงานที่ใช้สำหรับการเปิดทีวีได้ถึง 3 ชั่วโมง เลยทีเดียว
• รับใบเสร็จแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางอีเมล เพื่อช่วยประหยัดกระดาษ และจ่ายบิลค่าใช้จ่ายทุกชนิดผ่านระบบออนไลน์
• ทำสวน เพื่อปลูกผักไว้กินเอง อันนี้หลายคนทำกันไปบ้างแล้ว แต่หลายคนยังไม่แน่ใจว่าจะทำดีมั้ย เราเลยขอเชียร์อีกแรงว่า ลองทำดูกันสักตั้ง เพราะมันอาจจะไม่ได้ยากอย่างที่คิด และการปลูกผักกินเอง ยังแน่ใจด้วยว่าผักของเราปลอดสารพิษแน่ๆ
•ใช้สบู่ก้อน แทนสบู่เหลวที่มาพร้อมขวด เพราะมีการสำรวจพบว่า คนเรามักจะทิ้งขวดมากกว่าซื้อสบู่เหลวมาเติมใหม่ ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัว เราว่าสบู่ก้อน กลับใช้ได้นานกว่าสบู่เหลวด้วย
• ลดการช้อปปิ้งออนไลน์ แล้วอุดหนุนแบรนด์เล็กๆ หรือแบรนด์ท้องถิ่นบ้าง นอกจากจะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าแล้ว ยังช่วยลดกล่องกระดาษที่เกิดจากการช้อปปิ้งออนไลน์ด้วย เพราะกล่องกระดาษเหล่านี้ สุดท้ายเมื่อมันเยอะจนเกินพอดี ก็ต้องกลายเป็นขยะกันต่อไป
เรียกว่า มีสารพัดวิธีที่เราสามารถนำมาปรับใช้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราให้กรีนมากขึ้นในปีใหม่และปีต่อๆ ไป ซึ่งเอาจริงๆ เราว่าเรื่องความกรีน ความยั่งยืน และการคิดถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ทำแล้วจบไปด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องที่ควรทำกันต่อเนื่องทุกปี เพื่อที่ ในแต่ละปีที่ผ่านไป เราจะได้ตอบตัวเองได้ว่า เราได้ทำอะไรที่ไม่ใช่เพื่อตัวเองบ้าง
ที่มาข้อมูล
www.nytimes.com
www.cnn.com
www.ecologycenter.org
เครดิตภาพ: Greenery., Shutter Stock