ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเดินผ่านประตูรั้วเข้ามายังบ้านของ ‘คุณตา’ คือความเย็น เป็นความเย็นที่ไม่ใช่จากลมฟ้าอากาศใดๆ แต่เป็นความร่มเย็นทั้งที่บ้านหลังนั้นก็ไม่ได้มีต้นไม้ใหญ่โตเก่าแก่ แต่อาจจะเป็นเพราะคำว่า ‘บ้าน’ ก็ได้ที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบนั้น

บ้านหลังนี้คือ ‘สวนผักบ้านคุณตา’ หรือ ‘Grandpa Urban Farm’ สวนผักกลางเมืองที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในการทำสวนผักในเมืองให้กับคนเมืองมาหลายต่อหลายรุ่น นับสิบปีที่เปิดเวิร์กช็อปสอนมานั้น ก็น่าจะส่งต่อความรู้ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนได้นับร้อย และเป็นแรงบันดาลใจให้คนอยากหันมาพึ่งพาตนเอง ด้วยการจัดสรรพื้นที่ข้างบ้านเป็นแหล่งอาหารได้อยู่ไม่น้อย

บ้านของคุณตา เป็นบ้านไม้แบบโบราณหลังสีขาว-ฟ้าสองชั้นอายุราว 50-60 ปี ในซอยสุขุมวิท 62 ที่กำแพงตั้งแต่ประตูทางเข้า ไปจนถึงด้านหลังของบ้าน คือสวนผักขนาดย่อมที่อยู่ในอาณาบริเวณ 100 ตารางวา ราว 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่คือสัดส่วนของตัวบ้าน ส่วนที่เหลือจัดสรรเป็นแปลงผัก เล้าไก่ รอบด้านของบ้านขนาบด้วยอาคารสมัยใหม่ ริมกำแพงอีกด้านหนึ่งก็กำลังมีการก่อสร้างอาคารสูงที่คงจะเสร็จสิ้นในอีกไม่นาน

ฝ้าย-กรชชนก หุตะแพทย์ หนึ่งในผู้ดูแลสวนผักบ้านคุณตา ชวนเราหย่อนตัวลงบนเก้าอี้ไม้แบบโบราณภายในบ้าน เหลือบตามองเห็นโต๊ะตัวยาววางวารสาร ‘เกษตรกรรมธรรมชาติ’ ไว้ราวกับเป็นแผงหนังสือย่อมๆ ความสำคัญของวารสารเหล่านี้นอกจากจะเป็นตำราวิชาเกษตรธรรมชาติให้ผู้สนใจ ยังเป็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงที่ทำให้เกิดสวนผักบ้านคุณตาแห่งนี้ขึ้นด้วย

บทสนทนาของเราเริ่มขึ้นหลังจากนั้น ระหว่างที่แม่ไก่ยังคุ้ยเขี่ยดินอยู่ข้างบ้าน และผักในสวนเพิ่งเริงระบำรับน้ำยามเช้ากันเต็มที่…

บ้านของคุณตา จากพื้นดินที่วิ่งเล่น กลายมาเป็นพื้นที่ก่อประโยชน์

เราขอเริ่มจากการเท้าความให้ฟังว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านของคุณตาสุทธิ โอมุเณ คุณตาซึ่งเป็นพี่ชายของคุณตาของฝ้าย ที่สร้างบ้านสองหลังอยู่ในรั้วเดียวกัน คุณตาสุทธินั้นครองตัวเป็นโสด แต่ก็รักและเอ็นดูคุณแม่ของฝ้ายเหมือนลูก เมื่อคุณแม่ของฝ้ายมีครอบครัว และย้ายบ้านไปอยู่ในย่านรังสิต ก็มักจะพาลูกๆ มาสวัสดีคุณตาอยู่เสมอ ความผูกพันจึงโอบเอื้อมาถึงหลาน เมื่อคุณตาอายุมากขึ้น ก็ได้ย้ายไปอยู่กับครอบครัวของฝ้ายที่รังสิต แต่ก็ยังคอยมาดูแลบ้านอยู่เสมอเพราะไม่ต้องการทิ้งร้างให้ว่างเปล่า

ส่วนคุณพ่อของฝ้าย คมสัน หุตะแพทย์ นั้นคลุกคลีอยู่ในแวดวงของเกษตรธรรมชาติมานานแล้ว เขาก่อตั้งมูลนิธิศูนย์สื่อเพื่อการพัฒนา ขึ้นเมื่อ 30-40 ปีก่อน ทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูล อบรม และส่งเสริมด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืน การบริโภคที่ไร้สารเคมี ผลิตวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ และเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมก่อตั้งโครงการสวนผักคนเมืองขึ้นมา

“พอจะเริ่มโครงการสวนผักคนเมือง เราก็เลยคุยกันว่าต้องมีพื้นที่ตัวอย่างที่จะให้คนเมืองได้เห็นตัวอย่างการปลูกผักสวนครัว จึงขออนุญาตคุณตาว่าจะทำให้พื้นที่บ้านเป็นสาธารณะประโยชน์ คุณตาก็ยินดีมากๆ เพราะท่านไม่อยากให้บ้านเป็นเหมือนบ้านร้าง เราก็เลยเข้ามาช่วยกันเริ่มบูรณะบ้านก่อน ทำบ้านพึ่งพาตัวเอง เป็นบ้านเรียนรู้ทางเกษตร โดยทำทั้งสามด้านคือ อาหาร พลังงาน และการจัดการทรัพยากรภายในบ้าน”

สวนผักบ้านคุณตา จึงตั้งชื่อตามที่มาของการเป็นบ้านคุณตา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นบ้านต้นแบบในการทำเกษตรอินทรีย์ในเมือง และศูนย์เรียนรู้สำหรับคนเมือง เพื่อผลิตอาหารอินทรีย์ พลังงานทดแทน และสนับสนุนการใช้ชีวิตแบบพอเพียงและพึ่งตนเองในพื้นที่เมือง บนชายคาบ้านที่ชั้นสอง มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ติดตั้งระบบตั้งเวลาเข้ากับโซลาร์เซลล์เป็นระบบรดน้ำในโรงเพาะเห็ด มีการหมุนเวียนน้ำใช้ภายในบ้านโดยไม่ทิ้งให้สูญเปล่ากระทั่งน้ำจากการล้างหน้าแปรงฟัน ที่เมื่อใช้งานแล้วจะไหลลงเก็บไว้ในถังบำบัด แล้วนำมารดน้ำในแปลงผักผ่านการปั่นจักรยานรดน้ำ ทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษอินทรีย์ภายในบ้าน เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้เข้ามาเยือนได้เห็น

“อย่างเวลาเพาะต้นอ่อน ต้นกล้า ช่วงหน้าฝนที่ไม่มีแสงแดด ต้นอ่อนจะไม่ค่อยงอก หรือการที่เรามีตึกสูงบัง ก็ต้องใช้ไฟ LED ทดแทนแสงอาทิตย์ เอาความรู้มาปรับใช้ ก็เป็นสิ่งท้าทายแบบคนเมืองจริงๆ ว่าแดดไม่ดีทำยังไง พื้นที่ไม่มีทำยังไง ถ้าน้ำไม่ไหลทำยังไง”

“เราต้องจัดการให้มันอยู่ได้ และให้เป็นตัวอย่างว่าเราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ แม้จะอยู่ในเมืองแบบนี้”

ความท้าทายที่ผ่านข้อพิสูจน์ ในวันที่ต้องพึ่งพาตัวเองอย่างสมบูรณ์

ครอบครัวของฝ้ายปลูกผักกินเอง ทำน้ำยาต่างๆ ใช้เองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เรื่องราวเหล่านี้ซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตเธอตั้งแต่เด็ก

“ที่บ้านรังสิตก็ปลูกเหมือนกัน แต่แปลงเล็กกว่าที่นี่ มีตำลึงอยู่กอหนึ่ง มีแปลงผักกางมุ้งปลูกคะน้า ตอนฝ้ายอายุสิบขวบ พี่นก (นิรมล เมธีสุวกุล) เคยมาสัมภาษณ์ไปออกรายการทุ่งแสงตะวัน เป็นคนเมืองที่ปลูกผักกินเอง ทำสบู่ทำแชมพูใช้เอง ซึ่งตอนนั้นเป็นอะไรที่ใหม่มาก  เรื่องลดการใช้สารเคมีในบ้าน จุดเริ่มคือพอพ่อกับแม่มีลูกคือฝ้าย เขาเห็นว่าเด็กคลาน เดินเอานิ้วไปแตะอะไรเข้าปาก ดังนั้นอะไรที่มีเคมีอยู่ในตู้นี่คุณแม่โละออกให้หมด ใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

“แล้วตั้งแต่จำความได้ ฝ้ายจะเห็นคุณพ่อทำวารสาร ทำหนังสือ กับการเผยแพร่ความรู้อยู่แล้ว  บางทีคุณพ่อต้องไปสัมภาษณ์ชาวบ้านในต่างจังหวัด ไปสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน เราก็จะติดสอยห้อยตามไปด้วย วารสารเกษตรกรรมธรรมชาตินี่เราคิดว่าเราเป็นสิ่งที่แตกต่างคือ

“เราพยายามย่อยข้อมูล หรือหาแหล่งความรู้ที่นำกระแส ไม่ได้ตามกระแส ศึกษาข้อมูลเสร็จเราต้องทำจริงให้เป็นก่อนที่เราจะนำมาเผยแพร่”

“อย่างเช่นได้ข้อมูลเรื่องโซลาร์เซลล์หรือกล่องเตาพลังงานแสงอาทิตย์ เราต้องมานั่งทำกันเองก่อนว่าทำยังไง ทำได้จริงไหม เพื่อที่จะเอามาเผยแพร่ได้จริง อะไรที่อ้างอิงจากฝรั่งเราก็จะประยุกต์ให้เข้ากับคนไทยให้ได้มากที่สุด เข้ากับชีวิตคนเมืองให้ได้มากที่สุด”

สวนผักบ้านคุณตา ได้เป็นที่พึ่งให้กับครอบครัวของฝ้ายอย่างเห็นผลจริงจังก็เมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ บ้านที่รังสิตต้องจมน้ำอยู่นาน ทุกคนจึงพากันอพยพมาอยู่ที่บ้านหลังนี้

“มาอยู่กันที่นี่ทั้งหมดเกือบสิบชีวิต และอยู่สามเดือน บอกเลยว่าเราอยู่ได้จริงๆ เราทำกับข้าวและกินสิ่งที่เราปลูก อาจจะยังต้องไปซื้ออะไรข้างนอกบ้าง แต่ว่าตอนนั้นเป็นเหมือนวิกฤตเลย และประสบกับตนเองคือถือเงินแบงก์พันเข้าไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เห็นผักวางอยู่ถุงหนึ่งกำลังจะเข้าไปคว้า ปรากฏว่ามีคนชิงตัดหน้าไป มันเกิดการแย่งชิง มันเกิดวิกฤตที่แบบทุกคนไม่เคยประสบมาก่อน ก็รู้สึกว่าเราที่เราทำกันมานั้นมันถูกทางแล้ว

“ตอนนั้นเราเพิ่มเริ่มทำสวนผักบ้านคุณตาได้สักปีสองปี แต่ก็เปิดอบรมแล้ว เพียงแต่ยังไม่เต็มที่เท่าตอนนี้ เรามีปลูกผัก เราเพาะเห็ดแล้ว ณ ตอนนั้นเราบอกเลยว่าเราเพียงพอ ผักที่เรากินกันอยู่สามเดือนเกือบสิบชีวิตนี่เพียงพอ แทบไม่ต้องออกไปซื้อหาอะไรข้างนอกเท่าไรเลย จะซื้อก็พวกเนื้อสัตว์ ข้าวสาร”

วิกฤตในครั้งนั้นจึงเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าหากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา การมีพื้นที่อาหารของตัวเอง มันทำให้เราอยู่รอดได้หากรู้วิธีพึ่งพาตัวเอง

“คำว่าพึ่งพาตัวเองสำหรับฝ้าย มันเป็นเหมือนทักษะคนในอดีตหรือคนในต่างจังหวัดมี เช่น เขาต้องซ่อมไฟเองได้ ซ่อมประปาเองได้ ซึ่งปัจจุบันคนที่เกิดมาในเมืองทักษะพวกนี้มันหายไป แต่ถ้าเรามีทักษะพวกนี้ หรือทำให้ทักษะเหล่านี้กลับมา มันจะเป็นศาสตร์ที่เรามีติดตัว แล้วทำให้เราเกิดความมั่นใจ สามารถเอาไปถ่ายทอดหรือต่อยอดช่วยเหลือผู้อื่นได้ อย่างปี 2554 พวกเราทีมงานสวนผักบ้านคุณตา พอตั้งตัวได้เราก็ร่วมกับสวนผักคนเมือง ออกไปพื้นที่ประสบภัย เอาองค์ความรู้ในเรื่องของการสร้างอาหารในระยะสั้นๆ เช่น การเพาะถั่วงอก การเพาะเห็ด หรือทำชุดเครื่องกรองน้ำอย่างง่ายๆ เพื่อที่จะให้เขาประทังชีวิตได้อยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นไอเดียที่เราไปบอกเขาว่า ไม่ใช่เรานั่งรอความช่วยเหลือจากข้างนอกอย่างเดียวนะ แต่เราต้องเริ่มลงมือทำ เมื่อวิกฤตมาหาเรา ดูสิ่งรอบข้างตัวซิและหาว่าจะทำอะไรได้ พอพึ่งพาตัวเองได้ ก็จะเกิดการพึ่งพากันและกัน เกิดเป็นเครือข่าย ตัวเราเองเมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่น มันเกิดความภูมิใจกลับมาสู่ตัวเราเองด้วย”

หลานสาวทั้งสาม กับงานเกษตร

นอกจากฝ้ายซึ่งเป็นพี่สาวคนโต สวนผักบ้านคุณตายังมีรุ่นหลานอีกสองคนที่ช่วยกันดูแล คือฟ้า-กรรณชนก หุตะแพทย์ และฝน-กฤดิ์ชนา น้องสาวของฝ้าย ทุกคนล้วนมีงานประจำให้ต้องรับผิดชอบ แต่ก็จะมีงานที่ประจำกว่า คือการผลัดกันเข้ามาดูแลและนอนค้างที่บ้านหลังนี้

“หลายครั้งก็เกิดคำถามนะคะ เพราะการทำเกษตรหรือทำอะไรเองบางครั้งมันก็เหนื่อยนะ บางทีเราใช้แรงงาน ตากแดด ไม่เหมือนงานออฟฟิศที่เริ่มแปดโมง มีเวลาหยุดเสาร์อาทิตย์ คำถามที่เอ๊ะอะไรพวกนี้จะมีมาบ้างเวลาเราเห็นใครทำอะไรในโซเชียล แต่คุณพ่อไม่เคยบังคับนะว่าฝ้ายต้องทำแบบนี้ เขาปล่อยให้เราได้ไปเรียนรู้อย่างอื่น อยากทำอะไรก็ลองทำหรือไปทำได้เลย

“แต่เหมือนเขาทำให้เห็นมากกว่าว่าที่เรากันอยู่นี่มันมีผลกับชีวิต เพราะสุดท้ายทำงานมาแล้วเราก็ต้องเอาเงินมาซื้อผักซื้อข้าวใช่ไหม ก็คือการอยู่คือกลับมาสู่ปัจจัยสี่ นั่นต่างหากคือสิ่งที่สำคัญกับชีวิตจริงๆ โอเคอย่างที่ฝ้ายบอก มันเหนื่อยก็จริง พอนอนตื่นมามันก็หาย หรือบางทีเราได้ให้ความรู้เวลาคนเข้ามาเรียน ได้เห็นเด็กหรือใครที่เข้ามาแล้วชื่นชมว่าบ้านน่ารักจังเลย เขาถาม เขาตื่นเต้นไปทุกจุดเลย  ความประทับใจก็เป็นผลย้อนกลับมา เรามีความสุขแค่นี้นะ ก็คือหายเหนื่อยละ”

ที่สวนผักบ้านคุณตามีเวิร์กช็อปสอนคนเมืองปลูกผัก ทำน้ำยาต่างๆ ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่เนืองๆ ทุกคนจึงต้องคอยเคลียร์คิวสลับกัน ที่นอกจากสามสาวพี่น้องแล้ว คุณพ่อของเธอก็ถือตำแหน่งวิทยากรประจำสวนผักบ้านคุณตาอยู่ด้วย

“เป็นหน้าที่รับผิดชอบที่เราทำกันเป็นอัตโนมัติไปแล้ว เวิร์กช็อปเสาร์นี้ใครจะเตรียมอาหาร  เตรียมน้ำ เตรียมเพาะกล้า ถ้าเรารู้ว่าเสาร์นี้จะมีอบรม ตอนเย็นหลังเลิกงานเราต้องมาเพาะกล้าแล้ว”

การทำสวนผักในบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละบ้านก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป เราขอให้ฝ้ายช่วยถอดประสบการณ์ของเธอให้เราฟัง เพื่อให้เห็นภาพว่าสิ่งที่คนเมืองต้องเจอเมื่อจะทำแปลงผักในบ้านคืออะไร

“บ้านในเมืองจะมีปัญหาคือดินไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนดินข้างนอกหรือดินที่ต่างจังหวัด อย่างที่สวนผักคุณตาเอง พื้นที่ที่เป็นแปลงผักเมื่อก่อนนั้นเป็นบ้านไม้ (อย่างที่เธอเล่าว่าในรั้วนี้มีบ้านอยู่สองหลัง) ดังนั้นเวลาที่เรารื้อบ้านไม้ออกไป ข้างล่างก็จะเป็นดินหินก่อสร้างทั้งหมดเลย เริ่มแรกของการบูรณะหรือว่าทำแปลงก็จะยาก ปลูกผักไม่ขึ้นแน่นอน ก็ต้องเอาดินข้างนอกมาปรับปรุงดิน เอาปุ๋ยคอกมาปรับปรุงดิน ปรับปรุงอะไรใหม่หมดเลย สองคือเรื่องของพื้นที่ การจัดสรรพื้นที่ เพราะว่าการที่เรามีพื้นที่จำกัดอยู่แค่นี้ ก็ต้องจัดสรรให้เข้ากับตัวบ้าน อย่างการทำสวนแนวตั้ง และใช้ภาชนะเหลือใช้

“เราตั้งใจเลยว่าจะทำตรงนี้ให้คนเมืองมาดูเป็นตัวอย่าง ดังนั้นเราก็ต้องเริ่มใช้สิ่งของรอบตัว และทำให้เขาเห็นแล้วเกิดความรู้ เกิดความคิดที่สามารถกลับไปต่อยอดได้เองที่บ้าน เช่นเรื่องการจัดสรรพื้นที่ แปลงตรงกลางบ้านจะเป็นจุดที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ดังนั้นผักส่วนใหญ่ที่ปลูกก็จะเป็นผักกินใบที่ชอบแสงแดด อย่างผักคะน้า  กวางตุ้ง  ผักบุ้ง ผักกะหล่ำ คือดูทิศทางของแสงแดดว่าบริเวณไหนมีแสงแดดก็ปลูกผัก ส่วนพื้นที่แดดรำไร หรือพื้นที่ที่เป็นผักแนวตั้งก็จะเน้นพวกผักเด็ดยอดทาน หรือผักสวนครัวที่ชอบแดดรำไร เราต้องศึกษาหาข้อมูล รู้นิสัยของผักด้วย

“ในช่วงแรกผลผลิตจะไม่ได้งามมาก เราต้องทำไปเรื่อยๆ ให้เขาปรับสภาพ ทั้งสิ่งแวดล้อมเอง หรือว่าระบบนิเวศต่างๆ อย่างไส้เดือนนี่แต่ก่อนไม่เคยมีเลยนะคะ นก หนอน แมลง แต่ก่อนไม่มีเลย  แต่พอเราเอาอินทรียสารเข้ามาช่วยปรับปรุงดิน เขาก็ค่อยๆ กลับมา ตอนที่ตรงนี้ยังไม่ขึ้นตึกสิบสองชั้น มีทั้งงู ทั้งตัวเงินตัวทองออกมาจากข้างๆ หรือสมัยแรกๆ ที่ฝ้ายกลับมาอยู่บ้านหลังนี้ กลางคืนที่นี่มีหิ่งห้อยนะคะ ถือว่าเป็นจุดธรรมชาติที่อยู่ใจกลางเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อน”

เห็นแปลงเล็กๆ อย่างนี้ ผักในสวนของฝ้ายมีจำนวนไม่น้อยเลย ผักยืนแปลงอย่างผักสวนครัว จำพวกพริก ตะไคร้ กะเพรา โหระพา เป็นของขาดไม่ได้ ใบเตยและอัญชันต้องมีเพราะต้องต้มน้ำไว้ให้ผู้เข้าอบรมดื่มทุกเดือน ผักใบอย่างคะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ไปจนถึงผักสลัดในช่วงหน้าหนาว ช่วงไหนที่ปลูกผักได้ผลผลิตไม่ดีเพราะอากาศ ก็ยังมีเห็ดในโรงเพาะที่แค่รดน้ำเช้าเย็นให้อากาศชื้นก็มีเห็ดไว้ทาน

“เรามีไก่อยู่สองกรง เพิ่งเริ่มเอาเข้ามาสัก 3-4 ปีที่แล้ว ช่วงแรกๆ เราทำผักให้ดีก่อน และเราก็เริ่มทำเห็ด  มีปลูกข้าวในวงบ่อซีเมนต์ เราก็เริ่มทำเหมือนปลูกทำในนาจริงๆ หมักดินไว้แล้วเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวมาเพาะเอง พอได้ต้นอ่อนข้าวก็ไปดำ เกือบสองเดือนก็จะแตกรวงออกมา ผลผลิตยังไม่ดีเท่าไรแต่ว่าเรามีเครื่องสีรอแล้ว เรามีข้าว มีไข่ มีเห็ด มีผัก ก็ครบแล้วเรื่องอาหาร

“ผักยืนพื้นของเราเลยคือผักสวนครัว แล้วก็ปลูกผักใบสลับกันไป หลักการก็คือว่าเลือกผักใบ  ผักหัว  ผักที่กินผล และพวกไม้เลื้อยมาสลับ ผักกินผลอย่างพวกหัวไชเท้าหรือแครอต ถ้าเราปลูกสลับจะมีข้อดีคือ การชวนไชของรากจะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น เขาจะช่วยพรวนดินไปในตัว ธาตุอาหารที่อยู่ข้างล่างก็ค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าปลูกสลับพวกนี้ไปเรื่อยๆ ดินจะดีเอง ตั้งแต่สองปีแรกที่เรามาบูรณะมาเตรียมดินตรงนี้ หลังจากนั้นเราแค่เติมปุ๋ยเอง ไม่ต้องซื้อดินอะไรเข้ามาแล้ว”

ปุ๋ยที่เธอว่านั้นก็มาจากเศษอาหารและเศษผลไม้ภายในบ้าน

“ตอนนี้ทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง เอาเทคนิคของมหาวิทยาลัยแม่โจ้มา คือต้องทำสลับชั้นกันไป  มีเศษใบไม้แห้ง  มีเศษใบไม้สด เศษผักผลไม้ และพวกเศษอาหาร แต่ยกเว้นเนื้อสัตว์เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเน่าได้ ทำเป็นคอกสูงสักหนึ่งเมตร ประมาณหกสิบวันมันจะค่อยๆ ย่อยสลายได้ปุ๋ยที่ดีมาก แล้วเราเอาไปปลูกในแปลงต่อเลย

“เราก็หาเทคโนโลยีที่ง่ายๆ วิธีการที่ง่ายๆ มาประยุกต์นิดเดียว และก็สามารถจัดการภายในบ้านของเราได้ เราไม่ได้พูดถึงเทคโนโลยีที่ไฮเทค แต่เป็นเหมือนองค์ความรู้หรือเครื่องมืออะไรที่เอาเข้ามาเติม และช่วยบริหารจัดการ

“อย่างคอกไก่ที่เราทำเราก็ศึกษาหาความรู้มาจากหนังสือต่างประเทศด้วย แล้วเอามาประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบบ้านของเรา เช่น ตัวของกรงไก่เราก็ลองต่อข้างบนเป็นแปลงผักขึ้นไป กรงไก่ขนาดแค่ 1.5 ตารางเมตร คุณได้ไข่ คุณได้ผัก เราเอาความรู้มาลองยำๆ ผสมกันให้เข้ากับพื้นที่บ้าน หรือว่าให้เข้ากับคนเมือง เครื่องสีข้าวขนาดเล็กเขาก็มีขายในแวดวงของเทคโนโลยี เราก็เอามาประยุกต์ให้เข้ากับคนเมืองให้เห็นว่า ปลูกข้าวเสร็จ ข้าวไปไหน เราก็สีเองได้ โดยใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งภายในบ้านเชื่อมต่อกับแบตเตอรี่นี่แหละ

“การจัดการกับข้อจำกัดที่เรามีคือความท้าทาย และเราต้องอยู่กับมันได้”

“เราไม่ต้องขายบ้านแล้วหนีไปอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ตัวตนหรือชีวิตของเรา อย่างฝ้ายเองครอบครัวเราก็เป็นคนเมืองมาก เรายังใช้ชีวิตไปเดินห้าง ไปดูหนัง จะให้ไปอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ เราก็ทำไม่เป็น มันคนละแบบเลย ดังนั้นเราก็ทำให้เราอยู่แบบนี้ได้ และเป็นตัวอย่างหนึ่งให้คนเมืองหลายๆ คนได้”

ความท้าทายในวันที่ตึกสูงกำลังจะล้อมบ้าน

หัวใจหลักของสวนผักบ้านคุณตา คือการเผยแพร่ความรู้ตามเจตนาที่ต้องการให้บ้านหลังนี้ได้ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะประโยชน์ ทั้งในแง่การเปิดอบรมและเปิดบ้านให้คนที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมและไถ่ถาม จากการตั้งข้อสังเกตในช่วงที่ผ่านมา ฝ้ายมองว่าคนในยุคนี้สนใจเรื่องการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น

“ช่วงปีแรกๆ คนที่มาอบรมจะเป็นผู้สูงอายุ 50 ขึ้น เหมือนลูกหลานส่งมาเรียนเป็นงานอดิเรกไว้ทำอะไรเล่นยามว่าง แต่ตอนนี้ฝ้ายเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นมากๆ นับตั้งแต่น้ำท่วมมาก็ได้ค่ะ พลิกเลย คนที่มาอบรมกับฝ้ายเป็นวัยรุ่น เป็นครอบครัว ส่วนวัยผู้สูงอายุก็ยังมาอยู่เรื่อยๆ ยิ่งคนวัยทำงานมาเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ 80 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความคิดที่จะเกษียณตัวเองเร็วขึ้น หรือว่าหันมาสนใจในเรื่องนี้เร็วขึ้น

“ฝ้ายว่าตอนนี้คนหันกลับมามองเรื่องตัวเอง หนึ่งคือประหยัดค่าใช้จ่าย หลายๆ คนที่เข้ามาอบรมกับเรา เขาจะบอกว่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และสองเป็นเรื่องสุขภาพ คนเมืองมีกำลังในการซื้อของออร์แกนิกได้นะ แต่สิ่งที่เขาเป็นกังวลคือ ไม่รู้ว่าออร์แกนิกจริงไหม  สะอาดจริงไหม อันที่สามคือ มีพื้นที่ที่ต่างจังหวัด แล้วอยากออกจากชีวิตคนเมืองแล้ว อยากกลับไปทำเกษตร ปลูกผักกินเอง และคิดว่าจะมีแบบนี้เพิ่มขึ้น แล้วปัจจัยแบบนี้จะนำไปสู่สิ่งสุดท้ายคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของโลก เรื่องของรักษ์โลกอะไรต่างๆ  คือเมื่อได้กลับมาทำสิ่งนี้ เราจะรู้ว่าเราสามารถช่วยโลกได้หลากหลายวิธีเลย ไม่ว่าเรื่องการใช้ทรัพยากรน้อยลง การที่ใช้สารเคมีน้อยลง การหมุนเวียนทรัพยากร เรื่องลดขยะ มันจะเป็นไปเองโดยไม่ต้องรณรงค์ใช้ถุงผ้า รณรงค์การลดการใช้กระดาษทิชชู”

“การกลับมาเรียนรู้ด้วยตนเอง มันเหมือนว่าเราได้กลับมาสู่ธรรมชาติโดยตนเองโดยอัตโนมัติ”

คอร์สที่เปิดอบรมซึ่งสอดคล้องกับความต้องการ จึงเป็นเรื่องการทำเกษตรในเมือง การปลูกผักภายในบ้าน ปลูกผักปลอดสารเคมี การทำของใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ น้ำมันหอมระเหย ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ นอกจากนี้แล้ว สวนผักบ้านคุณตายังเป็นเหมือนแหล่งทัศนศึกษาให้เด็กนักเรียนหรือหน่วยงานที่สนใจ ทั้งหน่วยงานในประเทศและหน่วยงานต่างประเทศ

“เทรนด์หนึ่งที่ชาวต่างชาติสนใจและเข้ามาที่นี่ คือเขาอยากจะมาดูเรื่อง urban farm หรือ green space อยากดูพื้นที่สีเขียวในเมืองอะไรอย่างนั้น ฝ้ายก็ดีใจนะคะที่ประเทศไทยของเราเอง คนรุ่นใหม่ก็หันมาสนใจแนวนี้มากขึ้น และกลายเป็นเหมือนกระแส”

“ไม่ว่าจะเป็นความสนใจพื้นที่สีเขียวในเมืองตามแฟชั่นหรือไม่ตามแฟชั่น ฝ้ายถือว่าเป็นแนวโน้มที่เติบโตไปในอนาคตที่ดีขึ้น”

“ตอนนี้ความท้าทายที่เราเจอ คือรอบบ้านของเราที่มีตึกสูงขึ้นล้อมไปหมด แต่สิ่งที่ใจยังยืนหยัดทำอยู่ก็คือว่า ยังไงเราก็รักษาบ้านหลังนี้ไว้ แต่เราก็ต้องค่อยๆ ดูไปทีละสเต็ปว่าจะปลูกผักได้มากน้อยขนาดไหน จะคงรูปแบบแบบนี้ต่อไปได้อีกแค่ไหน แต่ยังไงก็จะคงคอนเซ็ปต์ในเรื่องการพึ่งพาตัวเองในเมืองแน่นอน และยังคงรักษาคอนเซ็ปต์ในการเปิดเพื่อให้เป็นสาธารณะประโยชน์ ให้คนอื่นได้เข้ามาใช้งาน ในอนาคตก็แน่ว่ามันอาจปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบของ co-working space หรือมีคาเฟ่ให้คนได้มาใช้เวลาได้มากขึ้น ก็ต้องดูในเรื่องสภาพแวดล้อมในอนาคตด้วย”

บ้านหลังนี้คือความสุขของคุณตากระทั่งบั้นปลายชีวิต ทุกครั้งที่ฝ้ายเล่าให้คุณตาฟังว่ามีคนมาที่บ้านเยอะแยะแค่ไหน หรือมีรายการเข้ามาถ่ายทำ เมื่อเปิดรายการให้ดู ความทรงจำเกี่ยวกับบ้านจะย้อนกลับมาให้คุณตายิ้มน้อยยิ้มใหญ่ แม้คุณตาเจ้าของบ้านเพิ่งจากไปในวัย 101 ปีเมื่อไม่กี่เดือนนี้ แต่ความงดงามของบ้านหลังนี้ จะยังคงอยู่ในการดูแลของหลานๆ ที่รักบ้านหลังนี้ไม่น้อยไปกว่าคุณตาผู้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา และยังทำประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไปตามเจตนาที่ตั้งใจ

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร