วลีหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินมักถูกหยิบยกขึ้นมานิยามถึงอาชีพชาวนาผู้ปลูกข้าวหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทย และเป็นสินค้าเกษตรที่ส่งออกมาเนิ่นนาน แต่ดูเหมือนว่าคนไทยผู้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก จะรู้จักสายพันธุ์ข้าวอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ทั้งที่ความจริงแล้วในเมืองไทยนั้นมีข้าวอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ และแต่ละสายพันธุ์ก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัว

แต่กว่าจะสุกสวยเป็นข้าวในจาน เส้นทางของข้าวนั้นบรรจุเอาไว้ด้วยเรื่องราวมากมาย เพราะข้าวนั้นมีตัวแปรสำคัญคือดินฟ้าอากาศ การลงแรงกายแรงใจตั้งแต่เริ่มต้นเพาะปลูกไปจนถึงวันเก็บเกี่ยว ไปจนถึงศรัทธาความเชื่อที่ผูกต่อเป็นวัฒนธรรมของชาวนา ที่เกิดเป็นพิธีกรรมต่างๆ เช่น การสู่ขวัญข้าว พิธีแรกเกี่ยวข้าว ประเพณีตานข้าวใหม่ ที่แสดงความนบนอบต่อธรรมชาติและผู้ปกปักษ์รักษา และเฉลิมฉลองข้าวใหม่เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ด้วยการกินข้าวใหม่หรือทำบุญด้วยข้าวใหม่ 

เพื่อยึดโยงคนเมืองเข้ากับวิถีกสิกรรมของชาวนา และชวนให้คนไทยระลึกถึงความสำคัญของชาวนาและข้าวอินทรีย์ เทศกาลข้าวใหม่จึงเกิดขึ้นเป็นธรรมเนียมหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยแม่งานอย่างมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนร่วมกับโครงการสวนผักคนเมือง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเทศกาลข้าวใหม่ประจำปี 2565 นี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 มกราคม ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ไทรม้า จังหวัดนนทบุรี ในชื่องานว่าจากต้นทางหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ถึงข้าวใหม่กรุ่นกลิ่นในจานเพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของข้าวและชาวนา โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้านไทยที่เพาะปลูกตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีความหลากหลายทั้งเรื่องพันธุกรรม โภชนาการ รสชาติ ที่นับวันจะหล่นหายไปจากจานข้าวของคนไทย 

เรื่องราวของชาวนาและวัฒนธรรมต่างๆ ในท้องนา ถูกสื่อสารผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งวงเสวนาบทเรียนชาวนาที่ร่วมกันพูดคุยถึงการแก้ปัญหาการผลิต พูดคุยเรื่องที่มาของข้าวจากชาวนานักปรับปรุงพันธุ์ อนาคตของข้าวพื้นบ้านบนโต๊ะอาหารของคนรุ่นใหม่ กิจกรรมล้อมวงกินข้าว เล่าเรื่องในนา ที่ชวนนักวิชาการ นักเขียน เชฟ ชาวนา มาพูดคุยถึงประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการผลิตข้าวไทยอย่างยั่งยืน และมีเมนูอาหารพื้นถิ่นจากกลุ่มพี่น้องเกษตรอินทรีย์ 4 ภาค ที่ต้มยำทำแกงเมนูสูตรเด็ดของท้องถิ่นมาให้คนเมืองได้ชิมกับข้าวใหม่ในจาน

นอกจากการชวนคิดชวนคุย ในเทศกาลข้าวใหม่ยังมีเวิร์กช็อปที่สร้างความสนใจให้ผู้มาร่วมงานที่เป็นผู้บริโภคหลากหลายวัย ตั้งแต่เด็ก คนรุ่นใหม่รุ่นใหญ่ ที่ให้ความสนใจในเรื่องข้าว เช่น เวิร์กช็อปทำเส้นขนมจีนสดจากแป้งข้าวพื้นบ้าน การปรุงเมนูง่ายๆ จากข้าวพื้นบ้าน เพื่อให้ไอเดียในการใช้ข้าวพื้นบ้านมาปรุงอาหารได้อย่างอร่อยและหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงชวนเชฟรุ่นใหม่อย่างเชฟแม็กซีน อินธิพร แต้มสุขิน มาเปิดเวิร์กช็อปคนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานอาหารจากข้าวพื้นบ้าน

อีกหนึ่งไฮไลต์ในเทศกาลนี้ คือกิจกรรมชิมข้าวใหม่ ที่สะท้อนความหลากหลายของข้าวพื้นบ้านไทยมาให้ได้รับรู้  โดยรวบรวมสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกว่า 50 สายพันธุ์ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยจัดกิจกรรมมา และในความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวนั้นต่างก็มีเอกลักษณ์อยู่ที่กลิ่น รส และสัมผัส ขึ้นอยู่กับภูมินิเวศและกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันตามวัฒนธรรมท้องถิ่น และยังสะท้อนไปถึงผลลัพธ์ของการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่เครือข่ายชาวนาอินทรีย์ทำงานกันอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยในกิจกรรมชิมข้าวภายในงานได้เน้นรายละเอียดตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการผลิตข้าว เพื่อสะท้อนให้เห็นเรื่องราว ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับข้าวพื้นบ้านแต่ละตัว 

ในงานนี้มีสายพันธุ์ข้าวที่นำมาเปิดตัวที่เทศกาลข้าวใหม่สองสายพันธุ์ด้วยกัน คือข้าวชมนาด (หรือชำมะนาด) ซึ่งพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นโดยเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์  และข้าวเบายอดม่วง ที่ฟื้นฟูและพัฒนาโดยเครือข่ายตลาดกรีนชินตา จังหวัดตรัง เอกลักษณ์ของข้าวชมนาดนั้นอยู่ตรงสัมผัสที่นุ่มและหนึบ มีความมันของข้าวและรสหวานอ่อนๆ ส่วนข้าวเบายอดม่วงเป็นข้าวนาปีสายพันธุ์ท้องถิ่นที่พบมากในอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ให้สัมผัสร่วนแต่ยังคงความนุ่มเอาไว้คู่กัน

ไม่เพียงแต่นิทรรศการและกิจกรรมที่ทำให้เราได้รู้จักรสชาติและเส้นทางเรื่องราวของข้าวและชาวนาอินทรีย์ได้มากขึ้น เพราะตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่จัดขึ้นภายในสวนยังพร้อมไปด้วยข้าวพื้นบ้าน อาหารจากข้าวพื้นบ้าน พืชผักอินทรีย์ให้ได้จับจ่ายหยิบใส่ตะกร้ากลับบ้าน ทั้งหมดนี้คือสีสันของเทศกาลข้าวใหม่ ที่ให้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และความอร่อยแบบไม่มีตกหล่น