หลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อเสียงของสายพันธุ์ข้าวสังข์หยดกันมาบ้างแล้ว เพราะเมื่อนึกถึงจังหวัดพัทลุง สิ่งแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คือข้าวสังข์หยด ข้าวสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสีแดงโดดเด่น เป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่นิยมปลูกกันในแถบพื้นที่พัทลุงและลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามายาวนาน ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI (Geographical Indications) ดังนั้นความโดดเด่นในด้านรสชาติเมื่องหุงเป็นข้าวสุกเชื่อว่าหลายๆ คนคงได้สัมผัสกันมาแล้ว

วันนี้จึงอยากเสนออีกด้านของเมล็ดข้าวสีแดงสวยสดนี้ในรูปแบบของขนม เราจับเอาคุณประโยชน์และเอกลักษณ์ของข้าวสังข์หยด มาไว้ในแบบของขนมปังกล้วย ที่ใช้ส่วนผสมของแป้งข้าวสังข์หยด 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีส่วนผสมของแป้งสาลี

ขนมปังกล้วยจากแป้งข้าวสังข์หยดนี้ ถูกใจคนแพ้กลูเตนและเหล่านักสร้างสรรค์เมนูเบเกอรี่ ที่ชอบความแปลกใหม่อย่างแน่นอน

ในแถบพัทลุงจะเพาะปลูกข้าวสังข์หยดกันปีละหนึ่งครั้งในช่วงประมาณเดือนกันยายน เก็บเกี่ยวผลผลิตกันในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ช่วงนี้จึงเป็นฤดูกาลข้าวใหม่ที่ข้าวสังข์หยดมีความหอมนุ่มน่าหุงรับประทาน หรือจะเอามาแปรรูปเป็นขนมอย่างวันนี้ก็เข้าทีดีเหมือนกัน

ครั้งนี้เราได้รับข้าวใหม่มาจากโรงนาหลานย่าแดงซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของพัทลุงมาเป็นวัตถุดิบ โดยใช้เวลาทำไม่เกิน 1 ชั่วโมง เป็นได้ลิ้มรสขนมปังกล้วยเนื้อหอมๆ กันแน่นอน

ส่วนผสมขนมปังกล้วยแป้งข้าวสังข์หยด

แป้งข้าวสังข์หยด 220 กรัม

กล้วยน้ำว้าสุก 180 กรัม

นมถั่วเหลืองหรือนมธัญพืชอื่นๆ 180 กรัม

น้ำนันรำข้าวหรือน้ำมันมะพร้าว 48 กรัม

น้ำตาลทรายแดง 40 กรัม

ผงฟู 2 กรัม

เบกกิ้งโซดา 1 กรัม

เกลือ 1 กรัม

วิธีทำ

ในขั้นตอนแรก จัดการเปลี่ยนข้าวสารที่ได้มาแบบข้าวกล้องให้เป็นแป้งข้าวสังข์หยด ด้วยการนำเข้าเครื่องบด

เมื่อได้แป้งมาแล้ว ชั่งตวงส่วนผสมต่างๆ ไว้ให้เรียบร้อยก่อน ตามอัตราส่วนที่สูตรกำหนดไว้ ชั่งตวงเสร็จเรียบร้อยควรทบทวนความถูกต้องเพื่อความแน่นอนอีกรอบ จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการลงมือทำกันเลย ถ้าจะให้สนุกก็ชวนเด็กๆ หรือเพื่อนๆ มาร่วมทดลองทำไปด้วยกัน หรืออาจแอบทำคนเดียวเพื่อให้คนที่บ้านตื่นเต้นเล่นๆ ก็ไม่เลว

เริ่มจากนำกล้วยน้ำว้าที่เราชั่งตวงไว้แล้วมาหั่นเป็นแว่นเล็กๆ ที่พัทลุงขึ้นชื่อในเรื่องกล้วยน้ำว้ามีเมล็ดเยอะ จึงต้องจัดการเอาเมล็ดกล้วยอันไม่น่าอภิรมย์ออกเสียก่อน เสร็จแล้วให้ใช้ส้อมหรืออุปกรณ์สำหรับบดมันหรือบดกล้วยมาบี้ให้เนื้อกล้วยละเอียด หรือใครจะเอาเข้าโถปั่นก็ได้ แต่กล้วยที่เราใช้เป็นกล้วยน้ำว้าสุกจัดแค่กดๆ บี้ๆ ก็น่าจะไม่ยากเกินไป ถ้าให้เด็กๆ ได้ทำด้วยพวกเขาจะสนุกกับขั้นตอนนี้ไม่เบาเลย

พักเนื้อกล้วยที่บี้ละเอียดแล้วไว้ในภาชนะ จากนั้นจัดการกับส่วนผสมถัดไปคือ เติมน้ำตาลทรายแดงลงไป หรืออาจทดลองกับความหวานอย่างอื่นแทนน้ำตาลทรายแดงก็ได้ เพิ่มลดปริมาณได้ตามความชอบเช่นกัน ใช้ตะกร้อมือหรือไม้พายยางตีๆ คนๆ ให้เข้ากัน เติมน้ำมันรำข้าวลงไปแล้วคนแบบตะล่อมๆ เติมเกลือ ตามด้วยน้ำนมธัญพืชที่เตรียมไว้ คนส่วนผสมในส่วนของเหลวให้เข้ากันทั้งหมดเป็นอันเรียบร้อย

ต่อมาก็เป็นบทบาทของแห้งของเราบ้าง เริ่มจากนำผงฟูและเบกกิ้งโซดาเทลงในชามแป้งข้าวสังข์หยดที่เตรียมไว้ จากนั้นนำมาร่อนในตะแกรงเพื่อร่อนเศษผงหยาบทิ้งไป อีกทั้งขั้นตอนนี้ยังทำให้ส่วนผสมทั้งสามอย่างเข้ากันเป็นเนื้อเดียว ถึงตรงนี้เราได้แป้งที่พร้อมจะผสมกับของเหลวที่เตรียมไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ให้เทของแห้งลงผสมกับชามของเหลว คนแบบตะล่อมๆ ไม่ต้องแรงมาก เอาแค่ทุกอย่างเข้ากันได้ดีก็พอ

ระหว่างนี้เราทำขั้นตอนพื้นฐานของการขนมอบทั่วไปไปด้วย นั่นก็คือการอุ่นเตา โดยการอุ่นเตานี้เราจะใช้ความร้อนเดียวกับที่เราอบ นั่นคือ 180 องศาเซลเซียส ประมาณ 10-15 นาที ถ้าเราอุ่นเตาอบตอนที่ผสมของแห้งและของเหลว ก็จะได้เวลาที่เหมาะกันพอดี

ผสมทุกอย่างเข้าที่เข้าทางดีแล้ว ก็เตรียมพิมพ์ที่จะอบขนมปัง อาจจะเลือกพิมพ์ที่เป็นวัสดุฟอยล์สำเร็จรูป หรืออาจใช้พิมพ์โลหะอบขนมปังที่มีอยู่ โดยตัดกระดาษสำหรับรองอบรองลงในพิมพ์โลหะ เพื่อกันขนมติดพิมพ์อีกที

ตักส่วนผสมใส่พิมพ์เรียบร้อย เตาอบก็อุ่นได้ที่พอดีสำหรับการอบขนม โดยอบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 40 นาที เวลาอาจบวกลบได้ตามนิสัยของเตาอบแต่ละบ้าน เท่านี้ขนมปังกล้วยแป้งข้าวสังข์หยดของเราก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว

มีข้อแนะนำปิดท้ายว่า อบขนมเสร็จแล้ว อาจพักไว้ก่อนประมาณ 20 นาที ก่อนจะตัดแบ่งเป็นชิ้นเพื่อไม่ให้ขนมปังออกมาแฉะ เพราะวันนี้เราใช้แป้งข้าว 100 เปอร์เซ็นต์ อารมณ์ก็จะเหมือนเราหุงข้าวสวย ที่หลังจากข้าวสุกแล้วเราจะพักไว้สักครู่ข้าว แล้วข้าวที่หุงจะมีเนื้อสัมผัสน่ากิน ไม่แฉะหรือดิบนั่นเอง

ภาพถ่าย: Armya at Home