เมื่อความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ความมั่นคงที่เคยคิดก็อาจไม่ใช่อย่างที่คิดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ (food security) ที่กลายเป็นประเด็นให้คนในแวดวงอาหาร ถกกันถึงความมั่นคงทางอาหารของโลกยุคหลังโควิด-19 ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ในเมื่อปรากฏการณ์ฝนตกทั่วฟ้าครั้งนี้ อาจทำให้ระบบอาหารทั่วโลกปั่นป่วนในระดับที่ FAO ประเมินว่าจะมีคนอดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นนับร้อยล้านคน และเป้าหมายการขจัดความหิวโหยที่ทั้งเป้าไว้ภายในปี 2050 อาจต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่เห็นเส้นชัย

ความปั่นป่วนดังกล่าว สะท้อนความเปราะบางของระบบอาหารในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ชนิดน่าเป็นห่วง เมื่อเหล่าประเทศร่ำรวยต่างพึ่งพิงการนำเข้าอาหารในสัดส่วนเกินครึ่ง

หลังเกิดวิกฤติซึ่งกระทบต่อระบบการขนส่งระหว่างประเทศ ราคาอาหารจึงถีบตัวขึ้นสูงอย่างไม่ต้องสงสัย

เป็นเหตุผลเดียวกันที่ทำให้รัสเซียประกาศแผนการกำหนดภาษีส่งออกธัญพืชและข้าวสาลี ซึ่งตนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อลดระดับราคาธัญพืชและข้าวสาลีในประเทศที่สูงขึ้นมากหลังเกิดโรคระบาด และข่าวการกำหนดภาษีส่งออกของรัสเซียซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ก็เป็นชนวนให้ตลาดอาหารในประเทศน้อยใหญ่ปั่นป่วนไม่น้อย โดยเฉพาะฝั่งยุโรปที่เป็นตลาดผู้บริโภคธัญพืชและข้าวสาลีรายใหญ่นั้น ถึงกับต้องหาทางรับมือกับความขาดแคลนอาหารที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าอย่างจริงจัง

หนึ่งในนั้นคือประเทศอังกฤษ ที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ เรื่องนโยบายการนำเข้าอาหารจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หลังตัดสินใจถอยออกจากการเป็นสมาชิกเมื่อปีก่อน และทำให้ราคาอาหารประเภทพืชผักผลไม้ที่มักนำเข้าจากประเทศใกล้เคียงขยับตัวสูงขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 ยิ่งทำให้อังกฤษต้องเจอกับโจทย์ใหญ่อีกข้อที่ท้าทายไม่แพ้กัน กว่านั้นยังทำให้อังกฤษหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตภายในประเทศมากขึ้น

และนั่นคือสิ่งที่ทั่วโลกเห็นตรงกัน

เมื่อความมั่นคงทางอาหาร ไม่ได้หมายถึง ‘ปริมาณ’ แต่เพียงอย่างเดียว

การแตกระแหงของสายพานการผลิตในปัจจุบัน ถือเป็นข้อดีเมื่อพิจารณาในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ อาหารสำเร็จรูปชนิดหนึ่งอาจมีส่วนผสมที่นำเข้าจาก 3 ประเทศ หรือการตั้งโรงงานผลิตอาหารในประเทศที่ระดับค่าแรงต่ำ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตอาหารอุตสาหกรรมนั้น ก็ทำให้คนนับพันล้านคนมีอาหารราคาถูกบริโภคกันอย่างต่อเนื่อง ทว่าโควิด-19 กลับทำให้เรามองเห็นเรื่องนี้ในอีกมุม เพราะเมื่อระบบการขนส่งชะงักงันจากมาตรการป้องกันการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ที่ทำให้ตลาดอาหารทั่วโลกชะงักไปด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบการสร้างอาหารและการกระจายอาหารมีประสิทธิภาพต่ำอย่างในแอฟริกาใต้

นั่นทำให้สปอตไลท์ฉายกลับมายังประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ทั่วโลกจับตามอง ทั้งแง่ของเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ และในแง่ของการบริหารจัดการอาหารในภาวะวิกฤติ ว่าเราจะเอาตัวรอดจากโจทย์ใหญ่ข้อนี้อย่างไรในฐานะครัวโลก

‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ที่บ้านเราพยายามสร้างมาตลอดนั้น จะลดหรือเพิ่มขึ้มอย่างไรท่ามกลางความอลม่านที่เกิดขึ้น

ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราต้องหันมาพิจารณามาตรวัดความมั่นทางอาหารกันให้ชัดเจน ด้วยความมั่นคงทางอาหารนั้นไม่เพียงผูกโยงกับปริมาณอาหารเท่านั้น แต่เชื่อมโยงกับความปลอดภัยในอาหาร (food safety) และความสามารถในการเข้าถึงอาหาร (food affordability) ของประชากรด้วย ฉะนั้นถึงแม้ภาวะโรคระบาดจะไม่กระทบต่อภาคการผลิตอาหารภายในประเทศเท่าไหร่ แต่ในแง่ความปลอดภัยของอาหารในบ้านเรานั้น ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานในหลายด้าน เมื่อพิจารณาจากการตรวจวัดสารเคมีในตลาดค้าส่งที่ยังคงสูง และอาจสูงขึ้นอีกหลังโควิด-19 เมื่อประเทศนำเข้าอาหารได้น้อยลง ทำให้ภาคเกษตรต้องเร่งผลิตอาหารให้ทันความต้องการของตลาด และอาจทำให้ปริมาณการใช้สารเคมีในการเร่งผลิตสูงขึ้นตามมาด้วย

วัตถุดิบพื้นบ้าน คือเกราะป้องกันความหิวโหย

อีกปัจจัยวัดความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘การเข้าถึงอาหาร’ ทั้งในแง่การสร้างอาหารกินเอง และในแง่ความสามารถในการจับจ่ายซื้อหาอาหาร โดยเฉพาะอาหารคุณภาพดี ที่มีแนวโน้มว่าประชากรจะมีรายได้ลดลงหลังเศรษฐกิจหดตัว ประเมินกันว่าความยากจนที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้การเข้าถึงอาหารคุณภาพดีจากตลาดโมเดิร์นเทรดอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้

ทว่าอย่าเพิ่งตระหนกจนเกินไป เพราะดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ชนิดในน้ำมีปลา ในนามีข้าวอย่างบ้านเรา ยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ด้วยเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงอาหารคุณภาพดีหลังจากนี้นั้นคือ

‘องค์ความรู้’ ในการเลือกกินเลือกใช้วัตถุดิบพื้นบ้าน ที่ไทยเราสั่งสมไว้ไม่เป็นรองใครในภูมิภาคนี้เลยทีเดียว

องค์ความรู้อย่างการทำความรู้จักผักพื้นบ้านให้หลากหลาย หรือการทำความรู้จักกันตลาดสดให้ดีขึ้น หรือเรียนรู้การเลือกซื้ออาหารสะอาด ความรู้ในการปรุงอาหารง่ายๆ เพื่อลดต้นทุนในการบริโภค และเพื่อลดการพึ่งพาอาหารอุตสาหกรรมและโมเดิร์นเทรด ที่อาจไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับการซื้ออาหารอีกต่อไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น บ้านเรายังมีระบบการกระจายอาหารที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งในแง่ของตลาดใหญ่ ตลาดนัด หรือกระทั่งรถขายอาหารสดหรือรถพุ่มพวงที่เป็นผู้ช่วยชั้นดี ในภาวะที่เราไม่สามารถก้าวออกจากบ้านกันได้พักใหญ่

กล่าวคือความปั่นป่วนของระบบอาหารที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งยังมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นหลังจากนี้ อาจคือจุดเปลี่ยนทำให้เรากลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องสามัญใกล้ตัว อย่างการสร้างอาหารภายในท้องถิ่น การรื้อฟื้นองค์ความรู้ด้านการเกษตรการการกินอยู่ เพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันความหิวโหยในอนาคตอันใกล้

ที่มาข้อมูล
www.blogs.ei.columbia.edu
www.ifpri.org
www.frontiersin.org
www.resourcetrade.earth

ภาพถ่าย: อรุณวตรี รัตนธารี