ช่วงสองสามปีมานี้เราเริ่มเห็นความคิดที่เปลี่ยนไปของคนเมือง ที่มองหาความมั่นคงและเรียบง่ายให้ชีวิต ด้วยการลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างการทำสวนปลูกผักสวนครัวในที่ดินของตัวเอง ซึ่งสำหรับคนที่พอจะมีเนื้อที่ข้างบ้าน ผืนดินหลังบ้าน หรือพื้นที่ว่างสักขนัด การทำสวนเป็นเรื่องไม่ยากเกินไปนักแม้จะเป็นมือใหม่หัดปลูก เพราะตำรับตำราต่างๆ หรือกระทั่งคอร์สสอนปลูกผัก มีให้เราเข้าไปได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ติดกรอบว่า ตัวเองไม่มีที่กว้างพอ หรือบางคนก็อาศัยอยู่ในตึกหรือคอนโด ความฝันที่จะมีสวนครัวกับเขาบ้าง จึงดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้

เราอยากให้ใครก็ตามที่อยากปลูกผัก ลืมข้อจำกัดเหล่านั้นไปเลย เพราะไม่ว่าจะมีเนื้อที่น้อยนิดสักแค่ไหน เราสามารถจัดสรรได้ด้วยการออกแบบสวนของเราให้เป็นสวนแนวตั้ง ที่อาศัยแอบอิงเนื้อที่บนผนัง ระเบียง หรือกำแพง ให้เป็นแหล่งอาหารที่เก็บกินและปลูกใหม่ได้ทุกวัน แต่นอกจากเป็นแหล่งอาหารที่เป็นเป้าหมายปลายทางของการปลูกแล้ว สวนเหล่านี้ยังเป็นหนึ่งไอเดียของการตกแต่งบ้านหรือห้องพักให้เขียวสบายตาน่าอยู่ ช่วยลดความร้อนให้กับตัวบ้าน และยังให้อะไรกับเราและโลกอีกหลายอย่าง แบบที่เราเองก็ไม่ทันได้คิด

สวนจิ๋วๆ แต่ประโยชน์ไม่จิ๋ว

ปลูกเอง กินเอง ก็ดีกับตัวเอง

ได้รับคำยืนยันจากนักกินแล้วว่า ผักผลไม้ที่ปลูกอย่างปลอดสารนั้น มักให้รสชาติที่ดีกว่าการปลูกที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเราสามารถลงมือทำได้เอง

การได้เด็ดผักสดจากต้นลงจานในทันทีนั้น ทำให้เราไม่ต้องสูญเสียวิตามินหรือแร่ธาตุของผักไประหว่างทาง

นับตั้งแต่วันที่ผักถูกเก็บเกี่ยว สู่ร้านค้า สู่ผู้ซื้อ ที่อาจจะเป็นอาหารได้เลย หรืออาจยังต้องเก็บไว้ในช่องแช่ผักของตู้เย็นอีก ผักที่ซื้อมากว่าจะกลายมาเป็นเมนูในหนึ่งมื้อ จึงเดินทางข้ามเวลามาหลายวัน ผักที่ปลูกเองจึงดีต่อสุขภาพโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านคนกลาง

เพิ่มมิตรและเพิ่มเงินในกระเป๋า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อผักที่บรรจุหีบห่อมาเรียบร้อยแล้วนั้น บางทีก็เหลือใช้เพราะได้มามากเกินจำเป็น เมื่อลองคำนวณผักที่ต้องเหลือทิ้งเป็นเงินแล้ว รวมๆ กันในเดือนหนึ่งก็อาจจะไม่น้อย การมีสวนแนวตั้งไว้ในบ้าน แล้วเด็ดมาใช้เท่าที่ต้องการ จึงช่วยให้เราลดค่าใช้จ่าย กระทั่งแบ่งปันเพื่อนบ้านได้อีก รวมถึงช่วยลดขยะอาหารที่จะเกิดขึ้นจากกรณีนี้ได้ ขณะเดียวกัน ขยะจากเศษอาหารยังสามารถแปรเป็นปุ๋ยในการบำรุงดูแลต้นผักของเราได้ เรียกว่ามีแต่ได้กับได้เลย

ลงมือทำ ได้บำบัดใจ

การได้ลงมือทำสวนนั้น เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่จะช่วยสร้างความผ่อนคลาย และละลายภาวะเครียดให้กับคนทั่วไปที่กำลังตกอยู่ในอาการวิตกกังวล หรือหม่นหมอง สวนบำบัด หรือ Horticultural Therapy นั้นถูกนำมาใช้ในกระบวนการบำบัดรักษามานานแล้วในแวดวงสุขภาพ ดร.เบนจามิน รัช บิดาแห่งจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา เคยเขียนบันทึกถึงผลดีจากการทำสวนว่า

ในช่วงปี ค.ศ.1940-1950 มีโรงพยาบาลบางแห่งฟื้นฟูสภาพจิตของทหารผ่านศึกด้วยแนวคิดสวนบำบัด และได้ผลดี กระทั่งหลายโรงพยาบาลนำมาปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วย

ซึ่งคำว่าสวนนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะสวนบนดิน แต่หมายความรวมถึงการปลูกต้นไม้สักต้น แม้จะในกระถางในบ้าน หรือริมระเบียงคอนโดก็ใช่เช่นกัน

ได้ฝึกทักษะการอยู่รอด

รู้สึกไหมว่าความสะดวกสบายที่ป้อนเข้ามาในชีวิตเรานั้น ทำให้เราขาดทักษะที่หลากหลายไป โดยเฉพาะทักษะพื้นฐานในการสร้างปัจจัยสี่ซึ่งเป็นความจำเป็นต่อชีวิต เพราะเราเคยชินและเชื่อมั่นเสมอว่ามีอาหารทุกชนิดรอเราอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตและช่องแช่แข็ง จนเมื่อไรก็ตามที่อาหารเริ่มขาดแคลน หรือเกิดวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้เราไม่มั่นใจในการติดต่อหรือสัมผัสกับผู้คน เราจึงนึกได้ว่า เราควรปลุกทักษะการสร้างแหล่งอาหารของตนเองขึ้นมา ใครที่ยังไม่เคยฝึกทักษะด้านนี้ เริ่มเสียตอนนี้ก็ยังไม่สาย

สวนเล็กๆ ก็รักษ์สิ่งแวดล้อมนะ

รู้สึกเหมือนเรากำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เล็กๆ ทว่าเมื่อลองดูเหตุผลแล้วก็ไม่เกินความจริงเลย เพราะการที่เราอยากได้ผักหรือพริกสักหนึ่งกำมือ แต่ต้องเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น หากไม่ได้ไปด้วยจักรยานหรือเดินเท้าแล้วละก็ นั่นหมายความว่า

ทุกครั้งที่เราเดินทางด้วยพาหนะใช้น้ำมัน เราต่างกำลังสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไว้กับโลก และการไม่ต้องออกไปซื้อนอกบ้าน เท่ากับเราได้ลดใช้พลังงานไปด้วย

ข้อดีประการที่สอง เกิดขึ้นได้แน่นอนจากการปลูกพืชผักด้วยวิธีธรรมชาติหรือออร์แกนิก เพราะผักส่วนใหญ่ในตลาดนั้นยากที่จะหลีกเลี่ยงเคมีได้พ้น จากการปลูกที่พึ่งพาสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช หรือเร่งผลผลิต ซึ่งการปลูกด้วยวิธีที่ไม่เป็นมิตรต่อธรรมชาตินั้น มีผลต่อการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน จากการรดน้ำที่ต้องชำระเอาสารเคมีเหล่านี้ซึมลงใต้ดิน แต่เมื่อไรที่เราไม่ใช้สารเคมีเหล่านั้นแล้ว เราจะรดน้ำอย่างสบายใจได้ทั้งเช้าทั้งเย็น

ดีประการที่สาม คือสวนผักแนวตั้งเล็กๆ ของเรา กำลังมีส่วนร่วมในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ถึงแม้ว่าสวนประเภทนี้จะไม่มีพื้นดินกว้างใหญ่เป็นรากฐาน แต่ผลผลิตของเราสามารถดึงดูดแมลงซึ่งมีบทบาทในการช่วยผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเราจะไม่เจอสิ่งเหล่านี้ในการปลูกแบบพึ่งพาสารเคมี

จะนิดจะน้อยก็สร้างความยั่งยืนได้เหมือนกัน

การทำเกษตรแบบอุตสาหกรรม ที่มีผู้ผลิตจำนวนน้อย แต่ใช้ทรัพยากรไปจำนวนมาก แลกกับการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินไปกับการเกษตรที่สะสมมลพิษ สร้างผลกระทบอย่างไรนั้นมีบทเรียนให้เห็นอยู่มากมาย แต่ถ้าเราทำในทางกลับกัน คือมีผู้ผลิตเกิดขึ้นจำนวนมาก แม้จะให้ผลผลิตจำนวนน้อย แต่ปลูกด้วยวิธีการที่ปฏิเสธสารเคมี ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยลดภาระที่โลกและสิ่งแวดล้อมได้รับได้

เตรียมก่อนตั้งสวน

ด้วยความนิยมปลูกผักกินเองของคนเมืองซึ่งมีพื้นที่จำกัดมีมากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงได้เห็นไอเดียในการทำสวนต่างๆ ออกมาให้นำมาประยุกต์ตามพื้นที่ที่ตัวเองได้มากขึ้น ข้อดีของการทำสวนแนวตั้งแบบนี้ก็คือใช้พื้นที่ไม่มาก เก็บเกี่ยวง่าย และดูแลรักษาได้ไม่ยากด้วย

ผนังแบบไหนที่ปลูกได้ดี

ผนังหรือกำแพงที่มีแสงแดดส่องถึง คือทำเลการปลูกที่เหมาะสม เราควรสร้างโครงสร้างให้สูงที่สุดเท่าที่เราจะเข้าถึงได้ สิ่งที่ควรคำนึงถึงนอกเหนือจากนั้นก็คือ ต้องสามารถรดน้ำได้ง่าย และสามารถเก็บผักหรือเด็ดยอดที่อยู่สูงที่สุดได้ง่าย ผนังที่จะใช้รองรับการปลูก จะต้องทนความชื้นได้มาก หรือแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ผ้าพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีน ที่มีคุณสมบัติทนต่อสภาวะอากาศ ทนความร้อน ไอน้ำซึมผ่านได้เล็กน้อย อากาศผ่านเข้าออกได้ มากั้นระหว่างกำแพงกับภาชนะปลูก เพื่อกันความชื้นที่จะมีผลกับผนัง

ปลูกอะไรถึงจะเหมาะ

ผักที่เหมาะกับการปลูกในสวนแนวตั้ง ควรเป็นผักที่ต้นไม่สูง ใช้พื้นที่น้อย หรือเป็นไม้เลื้อย ซึ่งสามารถปลูกได้หลากหลายชนิด ควรเลือกผักที่ตัวเองใช้บ่อย หรือใช้ครั้งละจำนวนไม่มาก เช่น ผักสลัดต่างๆ เคล คะน้า ผักกาด วอร์เตอร์เครส ต้นหอม กระเทียม ขึ้นฉ่าย มะเขือพันธุ์ต้นเตี้ย พริก พริกไทย มะเขือเทศ ฯลฯ ผักสวนครัว สมุนไพร เช่น กะเพรา โหระพา ผักชีลาว ตะไคร้ ว่านหางจระเข้ โรสแมรี่ ฯลฯ ผักหัว เช่น แครอต หัวไชเท้า เป็นต้น

ไอเดียสวนแนวตั้งที่น่าเอาอย่าง

สวนขวด

เป็นการใช้ประโยชน์จากขวดพลาสติกที่เหลือใช้ได้อย่างเต็มที่ เราสามารถใช้ขวดขนาด 1.5 ลิตรขึ้นไป โดยอาจใช้แผ่นไม้ยึดติดกับผนัง แล้วยึดขวดเข้ากับแผ่นไม้อีกที หรือทำชั้นแบบใช้เชือกผูกโยง โดยเจาะรูผ่านขวดและผูกปมล็อกเอาไว้ และเจาะรูระบายน้ำ เหมาะกับการปลูกผักประเภทกินใบต้นเล็กๆ

สวนแบบราง

รางน้ำฝนหรือท่อพีวีซีขนาดใหญ่ คือภาชนะปลูกที่เราสามารถกำหนดความยาวของกระถางได้ โดยเจาะรูระบายน้ำที่ด้านล่างเพื่อป้องกันน้ำขัง เหมาะกับการปลูกผักประเภทผักกาด ผักสลัด ผักเคล คะน้า

สวนไม้พาเลทหรือไม้ไผ่

เราสามารถไม้พาเลทที่มีขายในร้านขายเศษไม้ หรือใช้ไม้ไผ่มาต่อขึ้นเป็นโครง แล้วนำกระถางพลาสติกหรือถุงปลูกผักมาวางนอนเรียงเป็นชั้น ไว้ปลูกผักประเภทกะหล่ำปลี ผักกาด ผักสลัด สะระแหน่ หรือเพิ่มระยะห่างของชั้นให้มากกว่านั้น วางกระถางปลูกที่ขนาดสูงขึ้นมาสักหน่อย สำหรับปลูกผักที่มีลำต้นสูงประมาณพริก ตะไคร้ มะเขือพันธุ์ต้นเตี้ย หรือผักประเภทกินหัวได้ด้วยเหมือนกัน

สวนระแนงจากเชือก

หากผนังที่มีอยู่สามารถติดตั้งเพิ่มเข้าไปได้ระแนงได้ วิธีนั้นก็จะสะดวกสำหรับการปลูกผักชนิดเลื้อยอย่างถั่วฝักยาวหรือมะเขือเทศ แต่ถ้าพื้นที่ไม่อำนวย หรืออยากได้ความโปร่งกว่านั้น เราสามารถปรับวิธีโดยการใช้ไม้ขึ้นโครงกับกำแพงหรือผนัง แล้วใช้เชือกมัดโยงเป็นตาข่าย เพื่อให้ผักเลื้อยขึ้นแทนได้

ติดตะแกรงแขวนกระถาง

ใครที่ไม่อยากติดตั้งอุปกรณ์อะไรบนผนังมากนัก หรือมีพื้นที่เป็นรั้วระเบียงแบบมีราวกั้นแล้วปล่อยโล่ง วิธีที่น่าสนใจคือหาตะแกรงมาผูกติดกับราวระเบียง แล้วใช้กระถางแบบแขวนผนังมาแขวนขึ้นไปเป็นชั้นๆ สำหรับปลูกผักต้นเล็กหรือแบบเลื้อย ขึ้นกับขนาดกระถางและการจัดวาง

สำหรับใครที่ดูแล้วคิดว่ายากเกินไปในการ DIY แบบนี้ ก็สามารถมองหาสวนแนวตั้งสำเร็จรูปที่มีขายอยู่แล้วได้ หรืออาจใช้วิธีสั่งทำตามแบบ ก็จะได้สวนสวยถูกใจ และถ้าเป็นมือใหม่หัดปลูก เราขอแนะนำวิธีการปลูกแบบจับมือทำกันได้ในคอลัมน์ สวนผักริมเบียง

ที่มาข้อมูล:
www.homluv.com
www.organiclifestylemagazine.com
www.livewall.com
www.pedagogyeducation.com

เครดิตภาพ: 123rf