ถ้าพูดถึงเรื่องการพัฒนาเมืองแบบองค์รวม ไม่ใช่การทำลายทิ้งแล้วสร้างใหม่ ไม่ได้เป็นการทำเพื่อกำไรในภาคธุรกิจแบบสุดโต่ง แต่เป็นไปเพื่อดูแลทุกฝ่ายให้อยู่ดีมีสุข ในเวลานี้หลักการที่ควรนำมาใช้ประกอบการวางแผนงานก็คงต้องมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ (UN’s Sustainable Development Goals) มาไว้เป็นแนวทางระดับปฏิบัติการที่นานาชาติยอมรับ

ในเป้าหมายข้อที่ 11 นั้น ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) ตอบสนองทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

ซึ่งก็รวมถึงสุขภาวะที่ดีขึ้นทั้งกายและใจของผู้อยู่อาศัยดั่งเดิมในพื้นที่และผู้มาอยู่ใหม่ พอเจาะจงลงไปอีก ก็พบว่าจะมีเป้าประสงค์กับตัวช่วยชี้วัดวิธีการดำเนินการ เหมือนเป็นแผนที่การเดินทางไปให้ถึงความเป็นเมืองที่ยั่งยืนไว้ให้ ซึ่งข้อปฏิบัติหนึ่งในนั้นคือ การอนุรักษ์โบราณสถานในย่านต่างๆ รวมไปถึงการอนุรักษ์วัตนธรรม ความเป็นอยู่ของชุมชนดั่งเดิม และเรื่องราวของพวกเขาไว้ เพื่อการไปต่อข้างหน้าด้วยกัน

การอนุรักษ์นั้นมีความสำคัญและเป็นตัวช่วยในการพัฒนาอย่างไร แล้วจะเป็นไปเพื่อผู้คนในเมืองได้จริงมั้ย ในที่นี้ผู้เขียนขอพูดถึงโดยอิงจาก 3 เสาหลักของบ้าน SDGs คือเสาสังคม สิ่งแวดล้อม แล้วก็เศรษฐกิจ เพื่อให้เราเห็นภาพตามได้ง่ายขึ้น

เสาต้นที่ 1 สังคมและสุขภาวะ

การเก็บไว้และไม่ทำลายของเดิม จะทำให้เมืองนั้นมีความสมดุลระหว่างผู้คนท้องถิ่นเดิมและผู้มาอยู่ใหม่ สิ่งก่อสร้างเดิมเมื่อได้รับการปรับปรุง และมีพื้นที่เชื่อมต่อกับสิ่งใหม่ ทั้งทางกายภาพและทางความรู้สึก เวลาเรามองดูเมืองจากจุดที่เราอยู่แล้วมีอาคารสูงบ้าง เตี้ยบ้าง แซมกันไป จะช่วยบาลานซ์สายตาเรา และส่วนประกอบของเมืองเหล่านี้ ทั้งอาคารสมัยใหม่กับอาคารแบบคลาสสิกเก่าแก่สวยงาม ก็ช่วยบาลานซ์การดำเนินชีวิตในย่านด้วย และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ยังทำให้ชุมชนมีความภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง ทำให้คนในชุมชนเดิมอยากออกมามีส่วนร่วมในขั้นตอนการพัฒนาเมืองและดูแลสถานที่

เมื่อการพัฒนาเกิดจากชุมชนเพื่อชุมชน จึงจะทำให้การพัฒนามีประโยชน์จริงในระยะยาว

เพราะการให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีอยู่เดิม ถือเป็นการพัฒนาเมืองและย่านที่ให้ผู้คนเป็นศูนย์กลาง พูดอีกอย่างคือการพัฒนาเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนจริงๆ การทำงานแบบนี้จะช่วยเชื่อมโยงประชาชนกับรัฐให้ใกล้กันมากขึ้น ให้คนในพื้นที่ไม่ต้องย้ายที่อยู่ การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมแต่ได้รับการดูแล ปรับปรุงไปตามกาลเวลา ช่วยให้คนในท้องถิ่นไม่รู้สึกถึงการแบ่งแยก ยังไปมาหาสู่กันได้ตามเดิม ช่วยดูแลกันและกันแบบเดิมได้ ไม่มีใครถูกทอดทิ้งเนื่องจากการพัฒนา

เสาต้นที่ 2 สิ่งแวดล้อมกับผลกระทบทางสุขภาวะ

การทุบทิ้ง สร้างใหม่ เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งทางสิ่งแวดล้อมและแรงงานคน เพราะเราได้เสียทรัพยากรไปแล้วในการสร้างครั้งแรก แล้วต้องมาเสียเพิ่มในการรื้อถอนทิ้ง ขนย้ายออก ใช้ทรัพยากรใหม่ แรงงานคนใหม่ เพื่อมาสร้างใหม่อีกครั้ง การอนุรักษ์ไว้จึงเป็นข้อดีมากกว่าทั้งด้านกายภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพทางกายของผู้คน เพราะการไม่สร้างใหม่ทำให้ไม่เกิดมลพิษทางฝุ่นจากการก่อสร้าง มลพิษทางกลิ่นจากสีหรือวัสดุก่อสร้าง มลพิษทางเสียงรบกวน หรือเศษปรักหักพังจากการก่อสร้าง มารบกวนการใช้ชีวิตในชุมชน เรื่องของความผูกพันทางใจกับสถานที่และเรื่องราวไม่สูญเสียไป และยังมีเรื่องขององค์ความรู้ท้องถิ่นในชุมชน ที่สามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นปัจจุบันและอนาคตได้รับรู้ สิ่งเหล่านี้คือมรดกชั้นดี ที่ต่อยอดให้ชุมชนสร้างเนื้อสร้างตัวได้ในขณะที่เมืองก้าวต่อไป


เสาต้นที่ 3 เศรษฐกิจกับความเป็นอยู่ของชุมชน

เมื่อการพัฒนาเมืองทำไปพร้อมกับการอนุรักษ์มรดกทางชุมชน วัฒนธรรมของท้องที่ สถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิมได้รับการเก็บ ซ่อมบำรุง และมีวิธีการเล่าต่อของเรื่องราวร่วมสมัยของสถานที่และความเป็นไปของชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งพร้อมก้าวไปข้างหน้าแบบดูแลตัวเองได้

การอนุรักษ์สร้างโอกาสในการเสริมสร้างสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง ทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนในชุมชนเดิม

เราสามารถชุบชีวิตตึกเก่าที่อาจเคยเป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์กลางกิจกรรมของคนในย่านสมัยก่อนขึ้นใหม่ แล้วทำเป็นพื้นที่สาธารณะแบบมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมเดิม ให้คนรุ่นใหม่ ผู้มาเยือน และคนในท้องที่มาใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมร่วมกันได้ ต่อยอดให้ย่านเก่าและละแวกใกล้เคียงมีสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับการอยู่อาศัย ทำมาหากินและดึงดูดสายงานอาชีพใหม่ๆ ให้เข้ามาในพื้นที่

แล้วกรุงเทพฯ ของเราอยู่ตรงไหนในเรื่องนี้

และเสาหลักทั้ง 3 ต้นของการพัฒนาเมืองแบบทั่วถึง (Inclusive Development) ที่ว่ามานี้ กรุงเทพฯ ของเราก็ได้ดำเนินการแล้วภายใต้โครงการ ‘กรุงเทพฯ 250’ เนื่องด้วยในปีพศ. 2575 จะเป็นปีที่กรุงเทพฯ ของเรามีอายุครบ 250 ปี ไล่เลี่ยกับปีพ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งเป็นปีที่หมุดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของ UN มาบรรจบพอดี จึงเป็นวาระสำคัญของกรุงเทพฯ ในการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองแต่ละย่าน ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ดำเนินการคือพื้นที่ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ย่านกะดีจีน-คลองสาน ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาดั่งเดิมฝั่งธนบุรี มาเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนากรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับทิศทางความเป็นไปในการพัฒนาเมืองในอนาคต

โดยหัวใจของการดำเนินงานอนุรักษ์เพื่อพัฒนานี้ คือกระบวนการหารือร่วมกันกับทุกฝ่าย อย่างภาคประชาชน นำทีมโดยปราชญ์ชุมชนที่เต็มไปด้วยความรู้และภูมิปัญญาเก่าแก่ องค์กร NGO มูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่มาช่วยจัดการถ่ายถอดองค์ความรู้สนุกๆ ส่วนภาครัฐนั้นนำทีมโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) มาวางกลยุทธ์รวมเสาหลัก มีทุนและทีมสนับสนุนจากธุรกิจเอกชนในพื้นที่ ภาคีมหาวิทยาลัย หน่วยงานด้านสุขภาวะอย่าง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)  และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ อีกมากมายมาหนุนเสริม

ย่านเก่าแก่นำร่องอนุรักษ์ กะดีจีน-คลองสาน

พื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน มีจุดที่เด่นมากคือเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายแบบ 3 ศาสนา 4 ความเชื่ออยู่รวมกันในย่านเดียว มีสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้กระจายอยู่มากกว่า 30 แห่ง ทั้งวัดไทย วัดจีน โบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงตลาดชุมชน โรงเกลือเก่า ร้านขนมโบราณ แต่ยังขาดการผนวกเข้ากับทิศทางของอนาคตที่ผู้คนจะเน้นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ย่านกะดีจีน-คลองสาน จึงมีทั้งเสน่ห์และโอกาสในการเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับส่งต่อความรู้พื้นถิ่นให้คนทุกวัย

ทีมทำงานจึงได้คิดกิจกรรมที่ผสานสาระด้านวัฒนธรรมชุมชนและอาหารที่มีความโดดเด่น สามารถเป็นกิมมิกสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนพร้อมกับได้เก็บอัตลักษณ์ไว้ หรือโครงการที่ผนวกรวมกันระหว่างการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและสุขภาวะ

เช่น ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในโรงเรียนสอนศาสนาให้ผู้คนภายนอกชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ชีวิตดั่งเดิม ฟื้นฟูพื้นที่โรงเกลือเก่าริมน้ำมาเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง หรือรีโนเวตโกดังเก่าซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์ของพื้นที่เอาไว้มาเป็นพื้นที่สาธารณะ เชื่อมต่อเรื่องราวของชุมชนกับผู้คนภายนอกและผู้เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งคอนโดใหม่ริมน้ำ ห้างสรรพสินค้า หรือธุรกิจร้านค้า คาเฟ่ ซึ่งสามารถมาอยู่ร่วมกันได้ ผ่านการจัดสรรพื้นที่การเดินทางไปมาหาสู่กัน และกิจกรรมนันทนาการที่ส่งเสริมให้เชื่อมโยงกัน

เก่าไม่ต้องไป ใหม่ก็มาได้

เพราะสภาพแวดล้อมรอบด้านเป็นเรื่องสำคัญที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยอย่างมีความสุข การอนุรักษ์ปรับปรุงพื้นที่เก่าที่ไม่ได้ใช้งานของชุมชนให้เป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์แบบใหม่ เช่น โครงการพื้นฟูตึกแถวเก่าบริเวณสะพานข้ามคลองให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง สำหรับกิจกรรมสันทนาการส่งเสริมสุขภาพ เพียงแค่เดินผ่านมาเห็นก็ช่วยให้บรรยากาศในการอยู่ในพื้นที่ดีขึ้นแล้ว ด้วยความที่พื้นที่ริมน้ำของย่านนี้เป็นพื้นที่แห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่สามารถมองเห็นยอดวัด ยอดเจดีย์ ของศาสนสถานต่างๆ ซึ่งสูงกว่าบ้านเรือนโดยรอบ ทั้งทางเดินเชื่อมตรอกซอยเล็กๆ ก็มีเอกลักษณ์บอกเล่าเรื่องราวในอดีต

นอกจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการร่วมกันกำหนดกฎหมายการควบคุมดูแลแบบเฉพาะของพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีการก่อสร้างสิ่งใหม่ไปทำลายความเป็นชุมชนเดิม มีการควบคุมความสูงของอาคารใหม่ การกำหนดโทนสีที่ใช้ทาอาคารบ้านเรือนให้กลมกลืน เพื่อส่งเสริมภูมิทัศน์ที่ดีและคงกลิ่นอายวิถีชีวิตของย่านไว้ ผ่านการจัดทำแผนงานและแผนแม่บทที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์เพื่อการพัฒนาเมือง ให้ชุมชนคงอยู่ได้ภายในระบบนิเวศที่ดี ส่งเสริมสุขภาพทางกายและใจในการดำเนินชีวิต ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนไปต่อและดีขึ้นได้ พร้อมกับสังคมและสภาพแวดล้อมเดิมก็ไม่ถูกทำลาย เป็นไปเพื่อเชื่อมโยงคนในชุมชนและผู้มาใหม่ได้อย่างสมดุลกัน

ขอบคุณ คุณอรุณวตรี รัตนธารี ผู้จัดการมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน

ที่มาข้อมูล
www.completecommunitiesde.org
www.cmc.bangkok.go.th
www.historichawaii.org
www.thaipost.net
www.un.org
www.workpointtoday.com

ภาพถ่าย: ภูษณิศา กมลนรเทพ, มูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน