วันที่ 7 มิถุนายนของทุกๆ ปี เป็นอีกหนึ่งวันที่เกิดการเคลื่อนไหวในแวดวงอาหาร เพราะเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้มีมติในเวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 73 ที่มหานครนิวยอร์ก เมื่อปี 2018 ประกาศให้เป็นวันนี้เป็น ‘วันความปลอดภัยอาหารโลก’ ที่ถึงรอบปีนี้ก็เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการทำงานที่เป็นไปค่อนข้างเงียบไปสักนิด จากปีแรกที่เพิ่งตั้งไข่ในปี 2019 เข้าปี 2020 ก็เจอโควิด-19 เข้ามากระทบอย่างจัง และยังลากยาวมาถึงปีที่สามคือปีนี้ แต่ภายใต้ความเงียบนั้น ความเคลื่อนไหวก็ยังดำเนินอยู่ผ่านแคมเปญที่กำหนดขึ้นในแต่ละปี

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่าอะไรก็ตามที่ถูกยกให้มีความสำคัญ นั่นหมายความว่าเรื่องนั้นกำลัง ‘อาการน่าเป็นห่วง’ ใช่หรือไม่ แล้วเรื่องอาหารปลอดภัยกำลังน่าเป็นห่วงที่ตรงไหน ถึงต้องมีการประทับวันเพื่อให้ถูกพูดย้ำและตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร เราจึงต้องกลับไปดูที่ต้นสายก่อนจะไล่ไปสู่ปลายเหตุ ว่าทำไมเรื่องอาหารปลอดภัยจึงกลายเป็นวาระระดับโลก ที่หลายองค์กรต้องร่วมกันออกมา call out

เรื่องนี้ต้องอ้างอิงไปถึงข้อมูลที่เปิดเผยขึ้นเมื่อปี 2015 ขององค์การอนามัยโลก ว่าในโลกเรานั้นมีผู้ป่วยด้วยโรคที่มีต้นเหตุมาจากอาหารสูงถึง 600 ล้านคนต่อปี เสียชีวิต 420,000 คนต่อปี และเมื่อตีกรอบแคบเข้ามาที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็พบว่ามีคนป่วยจากอาหารที่รับประทานมากถึง 275 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตมากถึง 225,000 คนต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชายของและกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กเล็ก คือกลุ่มที่ต้องประสบปัญหาความเจ็บป่วยเนื่องจากอาหารที่ไม่ปลอดภัย หรือมีคุณภาพไม่ดีมากที่สุด

ตัวเลขนี้นำมาสู่การเจรจาอย่างเข้มข้น บนโต๊ะประชุมระหว่างองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CAC) กระทั่งกำหนดให้มีวันความปลอดภัยอาหารโลก เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกของ FAO เกือบ 200 ประเทศ ให้ความสำคัญในการปรับปรุงด้านความปลอดภัยของอาหาร และยกระดับการบริโภคอาหารของประชากรโลกให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น เพราะความปลอดภัยด้านอาหารส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ FAO ด้วย

ความปลอดภัยของอาหารนั้นหมายถึง การไม่มีอันตรายในอาหาร ซึ่งเป็นอันตรายนั้นหมายถึงอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

สำคัญกว่านั้นคือ อันตรายจากอาหารเหล่านี้เกิดจากเชื้อที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ในปีแรกที่มีการคิกออฟแคมเปญ จึงมีการกำหนดธีมของการรณรงค์ว่า ‘Food safety, everyone’s business’ หรือความปลอดภัยของอาหาร เป็นหน้าที่ของเราทุกคน และธีมนี้ยังถูกใช้ต่อเนื่องมาถึงปี 2020

โดยหน้าที่ในการสร้างความปลอดภัยของอาหารที่ว่านั้น ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ เกษตรกร และผู้บริโภค โดยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นด้วยการกำหนดกฏเกณฑ์มาตรฐานและบังคับใช้ ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารแก่เกตรกร ผู้ผลิต ไปจนถึงผู้จำหน่าย ส่วนเกษตรกรหรือผู้ผลิตเองก็ต้องนำมาตรฐานการเกษตรไปเป็นธงในการพัฒนาให้ผลผลิตของตนมีความปลอดภัย และผู้บริโภคเองก็ต้องระมัดระวังเอาใจใส่ในการเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ

ในปี 2020 ที่ยังคงธีมต่อเนื่องจากปี 2019 การรณรงค์ขยายขอบเขตออกไปกว้างขึ้น โดยความปลอดภัยของอาหารนั้นเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงด้านอาหาร และวางแนวทางไปสู่การให้ความสำคัญที่รอบด้านกว่าเดิม ทั้งในเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล เรื่องการทำความสะอาด ที่เหตุผลหนึ่งก็จากการระบาดของโควิด-19 ที่กระบวนการทำความสะอาดฆ่าเชื้อเข้ามาอยู่โปรแกรมอย่างเจาะจง รวมไปถึงสุขอนามัยของสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นไปที่โรงงานแปรรูปอาหาร และการเกษตรแบบปลอดสารเคมี ที่เข้ามาแทนที่การผลิตแบบเดิมเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการขยะอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดพาหะที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของอาหาร

ล่าสุดในปี 2021 วันความปลอดภัยอาหารโลก มาด้วยธีม ‘Safe food now for a healthy tomorrow’ ที่เน้นความสำคัญของการผลิตและการบริโภคอาหารปลอดภัย

ซึ่งจะมีผลระยะยาวต่อผู้คนบนโลกนี้ทั้งในแง่สุขภาพและความแข็งแรงทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงความเชื่อมโยงระบบระหว่างสุขภาพของคน สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยปีนี้ได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการลงมือของหลายภาคส่วน โดยมีคำว่า ‘ปลอดภัย’ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ด้วยข้อเสนอ 5 ประการคือ

1. มั่นใจได้ว่าปลอดภัย โดยภาครัฐจะต้องทำหน้าที่รับรองอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับทุกคน

2. เติบโตอย่างปลอดภัย นั่นคือผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร จะต้องนำแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานการเกษตร และมีความปลอดภัย

3. รักษาให้ปลอดภัย ซึ่งแนวทางนี้จะเน้นไปที่ผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ต้องให้ความสำคัญและแน่ใจว่าอาหารที่อยู่ในการควบคุมดูแลของตนนั้นมีความปลอดภัย

4. รู้ว่าอะไรปลอดภัย โดยบทบาทนี้จะอยู่ที่ตัวผู้บริโภค ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และมีความรู้ในการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร ไปจนถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

5. ร่วมมือกันเพื่อความปลอดภัยของอาหาร เพราะการจะไปถึงความปลอดภัยของอาหาร และได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างรอบด้านของทุกตัวละครในห่วงโซ่ของระบบอาหาร

เรียกได้ว่าเราได้เห็นการออกมาเคลื่อนไหว และเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติเพื่อนำมาสู่ความปลอดภัยด้านอาหาร ที่ให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนทั้งวงจร ตั้งแต่การผลิต การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การเก็บรักษา การกระจาย ไปจนถึงการบริโภค ที่แม้ตอนนี้การรณรงค์ต่างๆ จะเป็นไปอย่างขลุกขลักเพราะยังคงสื่อสารกันได้เพียงผ่านออนไลน์ แต่หลังจากโลกกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อไร เราคงได้เห็นการออกมาขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะที่สุดแล้ว อาหารคือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต อย่างที่เราได้เห็นกันอย่างชัดเจนแล้วโดยเฉพาะในยามที่วิกฤตมาเยือนแบบนี้

และหากอาหารนั้นมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับโลกได้เลย

ที่มาข้อมูล:
www.fao.org
www.who.int
www.newsd.in
www.indianexpress.com
www.parenting.firstcry.com
www.foodsafetynews.com

เครดิตภาพ: 123rf