จุดเปลี่ยนของคนคนหนึ่ง อาจเกิดขึ้นได้ในหลายจุดตัด บางคนอาจเกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้รับมาจากคนที่ตนเองชื่นชม บางคนอาจเกิดจากแรงกระแทกบางอย่างที่เหวี่ยงชีวิตมาสู่ทางเดินใหม่ บางคนอาจมาจากเหตุการณ์ใดสักเหตุการณ์หรือคนที่มีความสำคัญต่อชีวิต ขณะที่บางคนก็อาจเกิดจากเพียงสิ่งเล็กๆ ทว่ากระทบใจมหาศาล กระทั่งเปลี่ยนความคิดของตัวเองไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

หนังสือ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainable Development’ ของ ป. อ. ปยุตฺโต หรือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  คือจุดตัดของการเปลี่ยนแปลง ที่คมกฤช ตระกูลทิวากร ผู้ก่อตั้ง ๑4๑ Social Enterprise ธุรกิจเพื่อสังคมที่ส่งมอบโอกาสผ่านของเล่นเพื่อเสริมสร้างจินตนาการ ได้อ่านเมื่อครั้งที่เขาไปเรียนต่อปริญญาโท ด้าน Automotive Design ที่มหาวิทยาลัยโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ การได้รู้จักคำว่า การดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน การอยู่อย่างเกื้อกูล เปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งที่เขากำลังเรียนอยู่ในขณะนั้น เขาผูกแนวคิดนี้ติดตัวมากระทั่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และลาออกมาก่อตั้งบริษัทออกแบบของเล่น ซึ่งเป็น ‘ทาง’ ที่เขา ‘เลือก’ และยืนยันอยู่กับแนวคิดนี้มามากกว่าสิบปี ทั้งทางเลือกของชีวิตที่อยากเป็น ทางเลือกในวิชาชีพ ทางเลือกในการกินการอยู่ และทางเลือกในการศึกษาที่เขามอบให้กับลูกแฝดที่ตอนนี้กำลังย่างเข้าวัยรุ่น

เรามีนัดกับคมกฤช ที่ ๑4๑ ในเช้าวันที่มีคนกลุ่มเล็กๆ กำลังเอนจอยกับ ‘วงแชร์’ ที่พูดคุยกันเรื่องซาวร์โดจ์ ซึ่งต่างคนต่างทำมาแบ่งปันกันชิม เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่อยู่ในวิถีของชุมชนเล็กๆ ที่มีสมาชิกเป็นผู้ปกครองนักเรียนทางเลือกของโรงเรียนปัญโญทัย ซึ่งอยู่ติดกับสตูดิโอ ๑4๑ ที่เป็นทั้งที่ทำงาน และเป็นตลาดแห่งการแบ่งปันอย่าง ‘ตลาดมานะ’ ที่จัดขึ้นตามวาระ

“ที่นี่มีแต่น้ำดื่มอุณหภูมิห้องนะ” คมกฤชรินน้ำใสใส่แก้วรับแขก พัดลมที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ปล่อยลมออกมาเมื่อเขากดปุ่ม ที่นี่ไม่มีน้ำเย็นและเครื่องปรับอากาศ สตูดิโอที่เป็นบ้านไม้สองหลังนั้นออกแบบให้รับลมได้เต็มที่ เขาบอกกับเราว่าตอนแรกเมื่อต้องเปลี่ยนมาอยู่กับความร้อนตามฤดูกาลนั้นก็ต้องอาศัยการปรับตัวเหมือนกัน จนนานเข้าก็ชินและอยู่กันอย่างนี้มาได้หลายปีแล้ว เป็นการอยู่ตามธรรมชาติ ที่ในที่สุดแล้วร่างกายก็จะยอมรับไปได้จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา

“เมื่อก่อนเราเป็นภูมิแพ้เพราะอากาศไม่ถ่ายเท และอยู่กับฝุ่น แต่พอมาอยู่ที่นี่ เรายังอยู่กับฝุ่น แต่อากาศมันถ่ายเท เหงื่อออกก็ให้ออกเป็นปกติ พอเราปรับตัวได้ เรารู้สึกว่าเราแข็งแรงขึ้น”

แล้วเรื่องราวของการเลือกทางให้ตัวเอง เพื่อหาสมดุลที่การใช้ชีวิตและแนวคิดของเขาเดินไปด้วยกันได้ ก็ได้ถูกถ่ายทอดให้เราฟังอีกครั้ง อย่างค่อยเป็นค่อยไป คล้ายๆ กับการเปลี่ยนแปลงของเขาที่ค่อยๆ เริ่มต้นจนเติมเต็มได้อย่างพอดี

หนังสือธรรมะ และงานออกแบบเพื่อป่าที่มาจากคำว่า ‘ยั่งยืน’

คมกฤชยังจำวันที่เขาพลิกอ่านตัวหนังสือในเล่ม ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ที่อาจารย์ท่านหนึ่งได้มอบให้เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนนั้นได้ “ผมอ่านหนังสือไม่ค่อยเก่ง แต่ผมอ่านมันจบในสามวันด้วยความสนุกมาก เรื่อง sustainable development เป็นประเด็นที่ใหม่มากในยุคนั้น เขาเปรียบเทียบอเมริกันชนในความเป็น frontier ที่ขยายเมืองด้วยการยึดครอง แต่ในทางพุทธนั้นพูดถึงการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน และการอยู่อย่างเกื้อกูล”

“มันทำให้เกิดความขัดแย้งในตัวเองระหว่างที่เรากำลังเรียนออกแบบ ที่ต้องทำให้มันงาม ทำให้มันเร้า ทำให้คนอยากซื้อ อยากได้อยากมี”

“สิ่งที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยสอนคือเรื่องสไตลิ่ง รสนิยม เราก็ต่อต้านในใจ ตอนเรียนจบก็ได้ทำโปรเจ็กต์ที่ไม่เหมือนใครเลย คือออกแบบรถสำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่ใช้แนวคิดความเรียบง่ายของเกวียนไทยที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน ทำให้มันง่าย เบา เพื่อไม่ให้รถคันนี้ไปทำลายป่า ปรากฏว่าการคิดแบบนี้ของเราได้รับการยอมรับจากอาจารย์ จากที่ผมเรียนลุ่มๆ ดอนๆ ก็ปรากฏว่าได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งกลับมาเพราะโปรเจ็กต์นี้”

อีกแรงผลักสำคัญ คือการได้ฟังรายการวิทยุ Business Connection ที่จัดโดยอาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย เมื่อเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่คำว่า Social Enterprise ได้ลอยเข้ามาให้ได้ยิน คมกฤชเล่าว่าเขาฟังเรื่องนี้ด้วยความตื่นเต้น จึงค้นข้อมูลเพิ่มเติม แล้วหยิบประเด็นนี้ไปเป็นโจทย์ให้นักศึกษาชั้นปีที่สี่ได้ทำงานในวิชา Product Design และเขาก็ได้เห็นแววตาของเด็กๆ ที่มีประกายกับเรื่องนี้

“เขาสนุก และสิ่งที่เขาทำมันมีคุณค่า เขาได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ว่างานออกแบบของเขาจะพัฒนาชีวิตของคนได้ยังไง แล้วเราก็ได้เชิญคนในแวดวงธุรกิจเพื่อสังคม เข้ามายกเคสและชวนส่งงานเข้าประกวดกัน”

การได้ใกล้ชิดกับผู้คนในแวดวงธุรกิจเพื่อสังคม ไม่เฉพาะแต่เด็กๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจ เพราะตัวคมกฤชเองก็ยิ่งเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และแผนธุรกิจที่เขาส่งเข้าประกวดในโครงการ Unlimited Thailand ก็ได้กลายมาเป็น ๑4๑ Social Enterprise ในวันนี้

ของเล่นที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และสอนให้ลงมือทำ

“ตอนที่เราลาออกจากการเป็นอาจารย์มาทำเรื่องนี้ เราไม่ได้เป็นนักธุรกิจ แต่ทำด้วยแพสชั่นนำ ทำให้เรามีแรงบันดาลใจ พอทำแล้วมีเสียงตอบรับที่ไม่น่าเชื่อขยายออกไป เพราะสิ่งที่เราตั้งใจทำอาจโดนใจใครบางคน พอเราไปเล่าเรื่องธุรกิจให้เขาฟัง เขาก็บอกมาขายที่งานเขามั้ย พอได้ไปออกงานแรกก็มีคนชวนกันต่อๆ ไป มีแต่สิ่งดีๆ มีการสนับสนุน แต่ถ้าเราทำธุรกิจอื่นที่หวังแต่รายได้เข้าตัวเอง ก็อาจเป็นการคุยในอีกมุมหนึ่ง

“เราเลยรู้สึกว่า เราอยากชูคำว่า การให้คือการได้รับที่ยิ่งใหญ่ เพราะว่าเรายิ่งให้ เรายิ่งได้รับโอกาส ได้รับความช่วยเหลือ เรามีความเชื่อเรื่องนี้มาตลอด สิ่งที่ทำทุกวันนี้ หลายอย่างมันได้กลับมาในรูปอื่น รายได้เราอาจไม่ได้เยอะ แต่เราได้มาในรูปของโอกาส ได้เพื่อน และมีสิ่งที่เข้ามาให้เราต่อยอดได้เรื่อยๆ”

กล้องถ่ายรูปไม้ จักรเย็บผ้า กี่ทอผ้า และของเล่นอื่นๆ ที่เห็นอยู่นี้ คือผลงานออกแบบอีกจำนวนหนึ่งที่เกิดจากไอเดียของคมกฤช ที่พัฒนาของเล่นไม้ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะและเป็นมิตรต่อเด็ก โดยมีหลักใหญ่อยู่ว่า ต้องไม่ใช่ของเล่นที่ตั้งอยู่ตรงหน้า เล่น แล้วจบอยู่ตรงนั้น

“ปัจจุบันเราตีความว่าเด็กเมืองมีปัญหาและขาดโอกาส ขาดโอกาสที่จะได้สัมผัสธรรมชาติ ขาดโอกาสที่จะได้เห็นความเป็นไปของโลกแห่งความจริง เขาอยู่กับหน้าจอ อยู่กับเทคโนโลยีซึ่งเร็วเกินไปสำหรับวัยเขา ถ้าเขาไม่มีภูมิคุ้มกัน เขาจะถูกดึงไปเป็นทาสเทคโนโลยีอย่างง่ายดาย”

“เราเลยออกแบบของเล่นที่ทำให้เด็กได้อยู่กับตัวเอง อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับจินตนาการ”

“อย่างชุดของเล่นไม้ เขาต้องออกไปตัดกิ่งไม้มาเสียบเป็นขาสัตว์ เขาสัตว์ ตัดใบไม้มาเป็นหู เป็นของเล่นชุดที่เราชอบมาก และอยากสื่อสารว่าอยากเอาเขาออกมาจากห้อง ออกมาจากหน้าจอ ออกมาอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งคนที่จะพาออกมาก็คือพ่อแม่ของเขา”

คมกฤชเล่าให้ฟังว่า โปรดักต์ของ ๑4๑ นั้นมีอยู่สามมิสชั่น หนึ่งคือการเป็นโปรดักต์แห่งการให้ ดังความหมายของชื่อ คือ one for another one ของเล่นชุดแรกของเขาจึงเป็นนาฬิกาหรือหนังสือที่มีช่องว่างแห่งการให้ มีของเล่นชุด DIY ที่เมื่อซื้อหนึ่งชิ้น จะนำอีกหนึ่งชิ้นไปบริจาคให้เด็กขาดโอกาส สองคือทำของเล่นให้คนเมือง ในคอลเล็กชั่นที่ชื่อว่า ‘Slow Play’ ที่เขาพยายามสื่อสารให้พ่อแม่ได้ตระหนักถึงการพาลูกออกมาจากเทคโนโลยี เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันก่อน ดังที่เล่าไปตอนต้น และสามคือ เรื่องการพึ่งพาตนเอง ที่เขาเชื่อว่า

“เด็กๆ หรือมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการลงมือทำ แต่ทุกคนละเลยมันไป และซื้อแต่ของสำเร็จมา”

“ของเล่นของ ๑4๑ ราว 70-80 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นของเล่นที่ไม่สำเร็จรูป เขาต้องไปลงมือทำเอง ไปขัด ไปลงสี อย่างมิวสิกบ็อกซ์เขาต้องประกอบเอง หรือกี่ทอผ้าที่เขาต้องไปทอเอง เราทำส่วนนี้ขึ้นเพื่อที่เขาจะได้กลับมาเชื่อในมือเขาว่าเขาทำได้ และไม่ใช่แค่ซื้อไปให้เด็กเล่น ผู้ใหญ่ก็ซื้อไปทำได้ อย่างกี่ทอผ้าก็จะมีของผู้ใหญ่ด้วย ของเด็กก็จะไซส์เล็กหน่อยเพื่อให้เขาทำเสร็จได้เร็ว ถ้านานไปเขาจะเบื่อแล้วหยุดไปเสียก่อน

“ชุด Slow Play เป็นงานที่เรารู้สึกภูมิใจ เป็นงานที่มีคนมาเห็นแล้วนำไปต่อยอดผลิตให้แมสขึ้น โดยทักษะทอย ซึ่งเป็นแบรนด์ของเล่นของไทย และทางบริติช เคาน์ซิลก็ได้มาเห็น จึงนำผลงานชิ้นนี้ไปเผยแพร่ออนไลน์ และตอนนี้มีกลุ่ม SE ที่เนเธอร์แลนด์ก็กำลังคุยโปรเจ็กต์นี้กับเราอยู่ ซึ่งเราโอเคทั้งนั้น เพราะถ้าเราทำเองเราก็ผลิตได้เท่านี้ โปรดักชั่นเราเป็นงานมือ ถ้าแนวคิดนี้มันถูกนำไปเผยแพร่ก็เกิดประโยชน์กับเด็ก”

ตลาดแห่งการแบ่งปัน ที่ชื่อว่า ‘มานะ’

หากใครได้เคยมาเยือนตลาดมานะ คงจดจำบรรยากาศได้ดี เพราะตลาดออร์แกนิกแห่งนี้ไม่เหมือนตลาดออร์แกนิกที่ไหน ในพื้นที่ขนาดเล็กที่เกินคาดว่าจะจัดตลาดได้อย่างสตูดิโอแห่งนี้ เคยบรรจุร้านค้าออร์แกนิกและงานฝีมือมาแล้วกว่า 40 ร้านอย่างไม่น่าเชื่อ เราจึงได้เห็นการแบ่งพื้นที่กันอย่างที่เรียกได้ว่าเบียดเสียดทว่าอบอุ่นนัก ของทั้งพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้าที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อร่างกายและเป็นมิตรกับโลกเป็นสื่อกลาง เหนืออื่นใดนั้น การเกิดขึ้นของตลาดมานะ ยืนอยู่บนคำว่า ‘การให้’ อย่างแท้จริง

“เราจัดตลาดนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้ชุมชนผู้ปกครองของนักเรียนได้มีอาหารและอะไรที่ดีๆ ต่อลูกๆ แต่ก็มีคนจากข้างนอกเดินทางมาที่ตลาดกันเยอะอยู่เหมือนกัน”

“ตลาดมานะมีประเด็นที่แตกต่างจากตลาดอื่นคือ ทุกคนที่มาจะระดมทุนช่วยเด็กๆ”

“ฉะนั้นการเปิดตลาดทุกครั้งจะมีเป้าหมายว่า ครั้งนี้เราจะช่วยใคร ซึ่งกลุ่มที่เราช่วยจะเป็นเด็กขาดโอกาสเป็นหลัก ครั้งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการระดมทุนช่วยเด็กกำพร้าไร้สัญชาติที่แม่สอด จังหวัดตาก ชื่อว่า Heavenly Home ที่นั่นมีทั้งเด็กพิเศษ เด็กที่แม่ไปคลอดทิ้งไว้ที่คลินิกแม่ตาวแล้วหายไปเลย ดังนั้นจึงไร้สัญชาติตั้งแต่กำเนิด การจะมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจึงตัดทิ้งไปได้เลย

“แต่บางครั้งเราก็ช่วยเหลือเด็กในชุมชนวอลดอร์ฟของโรงเรียนด้วย เช่น โครงการพลาทร ที่ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาแก่เด็กพิเศษได้เข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติ เราก็เอารายได้ที่มีคนหยอดกล่องทั้งหมดเข้าโครงการนี้เลย”

กล่องที่เขาว่า คือกล่องระดมทุนที่จะตั้งไว้สองใบในวันที่จัดตลาด กล่องหนึ่งสำหรับร่วมสมทบทุนโครงการที่จะช่วยเหลือเด็ก อีกกล่องเป็นค่าสถานที่สำหรับผู้ค้า “เราจะเขียนว่าค่าสถานที่ให้น้อยๆ ก็ได้ แต่ให้อีกกล่องเยอะๆ หน่อย (หัวเราะ)”

“ตลาดมานะไม่ได้นับเป็นธุรกิจ เพราะเราไม่ได้มีรายได้จากมันเลย แต่มันเป็นโอกาสที่ทำให้เราขายของของเราได้ หมายถึงเราจัดตลาด เราก็ขายของเล่นของเราด้วย และเราก็ได้น้ำใจจากเพื่อนๆ มาก บางคนมาขายผัก เราก็พลอยได้มีผักปลอดสารกินไปอีกอาทิตย์หนึ่ง บางคนให้โอเลี้ยง ให้ของกินที่เขาทำมาขาย

“จุดหนึ่งที่เราคิดตั้งแต่วันแรกเลยก็คือว่า ผมเองก็ได้ไปออกตลาดเยอะ ซึ่งเป็นโอกาสที่เราได้รับจากเพื่อนๆ จากคนที่เห็นว่าโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำจึงเป็นให้โอกาสคนอื่นกลับไปด้วย โชคดีเรามีโลเกชั่นที่ดี มีผู้ปกครองของนักเรียนทางเลือกที่เห็นคุณค่าของงานทำมือ อาหารออร์แกนิก บางคนที่มาขายก็เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากช่วยระดมทุนด้วย ทำของดีๆ มาขายไม่แพงด้วย เหมือนเอามาแบ่งปันกัน ฉะนั้นบรรยากาศก็จะกรุ่นไปด้วยความสุข อย่างมีครั้งหนึ่งมีคนที่เรียนจบวิดัล แซสซูน มาจากอังกฤษ เลิกตัดผมไปยี่สิบปีแล้ว พอมีตลาดก็เอาโต๊ะมาตั้งตัดผม ใครอยากให้เท่าไรก็ให้ วันนั้นตัดไปสิบเอ็ดหัว ได้มาเป็นพัน ใครทำอะไรได้ก็ทำ นวดก็มี ย้อมผมก็มี สารพัด

“ดังนั้นการจะเรียกว่าตลาดจึงอาจไม่ใช่ซะทีเดียว มันเป็นเหมือนคอมมูนิตี้หนึ่งที่เรามาจอยกัน อะไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้ปลอดภัยกับชุมชน อาหารก็ขอให้ปลอดภัย และสิ่งที่เราขอคือห้ามมีภาชนะหรือแพ็กเกจจิ้งที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง กำกับเลยว่าคนต้องหิ้วมา ตะกร้า ถุงผ้า แก้วน้ำ ปิ่นโต มีช้อนมีแก้วให้ยืมถ้าไม่มีมา แต่ต้องล้างคืนด้วย”

ตลาดนี้ไม่ได้มีถี่เหมือนตลาดออร์แกนิกหลายแห่ง เพราะเขาตั้งเอาไว้ว่าจะจัดเทอมละสองครั้ง ปีหนึ่งก็จะมีสักสี่ครั้ง แต่บางครั้งหากมีเด็กที่ไหนต้องการการระดมทุนเร่งด่วน ตลาดมานะก็จะเกิดขึ้นเป็นนัดพิเศษเพื่อช่วยกันระดมทุน

“ครั้งต่อไปที่จัดก็จะประมาณเดือนมิถุนายน เป็นตลาดมานะนัดพิเศษ ชื่อว่า มานะ re-owner เราเคยอบรมเรื่องการจัดบ้าน การปล่อยวางของที่ไม่ชอบแล้วแต่ยังเก็บอยู่ ในแนวทางของมาริเอะ คนโดะ แล้วเราก็พบว่าในคอมมูนิตี้ของเรามีคนแบบนี้เยอะไปหมด เลยจะทำตลาดนัดระดมทุน เอาของที่ไม่ใช้แล้วแต่จะทิ้งก็เสียดายมาปล่อยกัน”

จากตลาดมานะ สู่ ‘๑4๑ การกิน’

“เอาจริงๆ ที่ผ่านมาช่วงวัยรุ่นของเราจนถึงมีลูก เราอาจกินอะไรที่ไม่ดีเยอะ ลูกเลยรับผลนั้นไป การกินเป็นเรื่องหนึ่งที่เราเปลี่ยนแปลง เราตระหนักเรื่องนี้เพราะว่าลูกชายแพ้อาหารตั้งแต่เกิด แพ้นม แพ้แป้งสาลี เราลองคิดดูว่ารุ่นลูกเรามีปัญหา แล้วรุ่นถัดไปในอนาคตถ้าเขายังกินแบบนั้นอยู่จะเป็นยังไง เราก็เลยต้องเปลี่ยนเรื่องการกิน เราคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ลูกขวบหนึ่ง อะไรที่เป็นอันตรายกับลูกเราเอาออกหมดเลย แล้วเราก็ต้องกินเหมือนเขาด้วย บ้านเราจึงกินรสธรรมชาติที่สุด มีปรุงบ้างแต่ก็เลือก อย่างน้ำโคล่านี่ตลอดชีวิตตลอดชีวิตลูกเขาเคยได้กินถึงลิตรหรือเปล่าไม่รู้ ตามประสาเด็กเขาก็อยากกินแหละ แต่พอได้กินแล้วก็ไม่ได้อะไร เขาก็กินน้ำเปล่า อุณหภูมิห้อง”

การเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารการกิน ประจวบกับที่การจัดตลาดมานะ ทำให้คมกฤชได้รู้จักกับเกษตรกรผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ จึงเป็นจุดที่ทำให้เขาเติมเรื่องนี้เข้ามาในวิถีการกินของตัวเอง จากที่คุยกับเกษตรกรให้ช่วยปลูกข้าวอินทรีย์ให้ มาสู่การปลูกผักกาดเพื่อทำกานาฉ่าย ในทางกลับกันเกษตรกรแห่ง ‘พอพบสุข’ ที่นำผลผลิตมาขายในตลาดมานะด้วย ก็มีผลผลิตอื่นที่เก็บเกี่ยวไว้และยังไม่มีที่ขายอย่างกระเจี๊ยบสดที่ฟรีซเอาไว้ เขาจึงรับมาทำน้ำกระเจี๊ยบโซดา ไปขายในตลาดหนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์มที่อัมพวา ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างเพื่อน ไม่ว่าจะในฐานะผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้จัดตลาด เพราะเขาเองก็มีอาหารดีๆ กิน ขณะเดียวกันเพื่อนก็ขายผลผลิตได้

“เรียกว่าช่วยกันทั้งสองฝ่าย เราก็ได้อาหารดีๆ ที่ไม่ต้องพยายามหาหรือซื้อแพงๆ ทีนี้เราก็มาคุยกันในเชิงที่ว่าให้เขาส่งมาให้เราในราคาที่เราขายต่อได้ด้วย ๑4๑ การกินนี่เราจะใช้คำว่า ‘กินอย่างรู้ที่มา และอยู่ตามฤดูกาล’ เราคุยกันในชุมชนของเราว่าจะสั่งอาหารอินทรีย์อะไรกันมา แล้วแชร์ค่าขนส่ง เปิดพรีออร์เดอร์ มีการคุยกันต่อว่า เราอยากกินแบบนี้ ปลูกได้มั้ย ถ้าปลูกได้เดี๋ยวเราออร์เดอร์กับชุมชนเราให้ ก็เป็นหน่วยย่อยที่เราทำในภาพเล็กกันก่อน ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองทำอยู่”

คมกฤชเล่าความตั้งใจให้เราฟังอีกว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ที่นี่จะเปิดเป็นบาร์อาหารเช้าเล็กๆ คล้ายสภากาแฟ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ได้มานั่งทานอาหารเช้ากัน ด้วยวัตถุดิบดีๆ ที่ปลูกอย่างปลอดสารและรู้แหล่งที่มาของเกษตรกร ซึ่งจะทำให้ที่นี่กลายเป็นชุมชนกินดีย่อยๆ ที่ไม่ต้องลงมือทำในสเกลที่ยิ่งใหญ่ และเป็นไอเดียที่น่าเลียนแบบอยู่ไม่น้อย

ชีวิตจะกลมกล่อมพอดี หากรู้จักคำว่า ‘พอดี’ สำหรับตัวเอง

กว่าสิบปีแล้วที่คมกฤชลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และทำงานออกแบบของเล่นอยู่ที่นี่ ความลงตัวในชั้นแรก คือความตั้งใจที่จะส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนทางเลือกแห่งนี้ ขณะที่ผืนดินตรงนี้ก็ยังว่างรอให้มีเจ้าของมาลงหลักปักฐานทำอะไรสักอย่าง เขาจึงได้ที่ทำงานที่อยู่ติดกับโรงเรียนของลูก และได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพเต็มที่

“ก่อนที่ผมจะเปิด ๑4๑ ผมมีธุรกิจ design service มี fix cost มีค่าเช่าตึก มีค่าน้ำค่าไฟ ค่าแอดมิน มีดีไซเนอร์สี่คน เป็นความผูกมัดในการต้องหาโปรเจ็กต์เข้ามาเพื่อดูแลรายจ่ายตรงนี้ ตอนนั้นเป็นช่วงธุรกิจบูม ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย และเป็นที่ปรึกษาบริษัทไต้หวัน เป็นช่วงพีคของตัวเอง แต่ปรากฏว่าผมรู้สึกว่าผมทำสามอย่างนี้ได้ไม่ดีสักอย่าง แล้วพอมีลูก ผมรู้สึกว่าวิถีชีวิตแบบนี้มันไม่น่ารอด มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำทั้งหมดนี้ในเวลาเดียวกัน ก็ค่อยๆ ตัดออก จนตัดอาจารย์ออกเป็นอันสุดท้าย ตัดสินใจว่าทำ๑4๑ ดีกว่า ทุบหม้อข้าวเลย ด้วยความเชื่อที่ว่าสิ่งที่เราทำมันดี ช่วงแรกที่เริ่มทำและเริ่มขายเราติดตัวแดงอยู่สองปี”

“เป็นสองปีที่เราได้คุณภาพชีวิตกลับมา ถ้ายังทำอยู่แบบเดิมเราอาจจะไม่ได้เจอหน้าลูกเลย”

“ที่นี่ทุกหน้าที่เราทำเองหมด ก่อนหน้านี้มีคนงานหนึ่งคน แต่ช่วงโควิดรอบก่อนหน้านี้เขาก็ออกไปแล้ว ผมทำตั้งแต่ออกแบบ ผลิต กวาดถู แพกกิ้งของ ส่งไปรษณีย์ ทำเองหมดเลย ยังนึกไม่ออกว่าอันไหนไม่ได้ทำ” เขาเล่าพลางยิ้มอารมณ์ดี

“ถ้ามองการพัฒนาโปรดักต์ของ ๑4๑ จะเห็นว่าของเล่นของเราก็โตขึ้นเรื่อยๆ ตามวัยของลูกนี่แหละ และด้วยความที่เราเป็นนักออกแบบที่มีความคิดเรื่อง sustainability เรื่องการศึกษาทางเลือก แนวมนุษยปรัชญานี้ด้วย ก็ทำให้เราตกตะกอนมาเป็นของเล่น เป็นตลาด เป็นคอมมูนิตี้ เป็นการกิน และตอนนี้เรากำลังสร้างคอมมูนิตี้งานคราฟต์กับออร์แกนิก เชื่อมโยงกับสก็อตแลนด์ ผ่านบริติชเคาน์ซิล เดิมมีแพลนว่าจะต้องเดินทางไปสก็อตแลนด์กับลอนดอนเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องนี้กัน แต่ก่อนบินสักประมาณครึ่งเดือนโควิดก็มา เลยต้องสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาและแลกเปลี่ยนกันทางออนไลน์แทน สิ่งที่เราอยากเล่าในคอนเทนต์นี้ คือเรื่องราวของเพื่อนๆ เราที่ทำงานคราฟต์ งานออร์แกนิก งานที่เป็นเรื่อง sustainable หลายคนมีวิถีชีวิตที่น่าสนใจ ยิ่งช่วงนี้มีเรื่องแพนเดมิกด้วย เขาทำอะไรกันอยู่ ก็คิดว่าถ้าเราเชื่อมเครือข่ายนี้กับโปรเจ็กต์นี้ ก็จะเป็นโอกาสที่เราได้เชื่อมเครือข่ายกันด้วย”

ฟังดูแบบนี้ก็มองเห็นหนทางว่าธุรกิจเพื่อสังคมของ ๑4๑ กำลังไปได้ดี และมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะของเล่นที่สร้างสรรค์ของเขาก็ได้มีช่องทางในตลาดต่างประเทศแล้ว แต่เมื่อถามถึงการขยายการเติบโตของแบรนด์ คมกฤชนิ่งคิด แล้วบอกกับเราว่า

“ผมเคยคุยกับแพท (กฤติยา ตระกูลทิวากร-ภรรยา) ไว้ว่า ตอนที่มีคนถามเราว่าอยากสเกลอัพมั้ย เรากลับมาทบทวนและเราคิดว่า เราสามารถเป็นโอกาสให้คนอื่นได้ แต่เราไม่อยากขยาย ไม่มีอยากมีความวุ่นวายที่จะต้องทำอะใรให้เติบโต แล้วเราไม่ได้วิถีชีวิตแบบนี้ ผมรู้สึกว่าเรามีคุณภาพชีวิตที่มีจังหวะของการใช้ชีวิตที่ไม่ได้วุ่นวาย มันโอเคกับตัวเอง ทั้งสุขภาพ การได้ดูแลลูกๆ การได้ให้เวลากับอากงอาม่า กับคนที่บ้าน มันค่อนข้างลงตัว แต่ถ้าเราก้าวเลยจุดนี้ไปอีกสักระดับหนึ่ง สิ่งนี้อาจจะหายไปเลย ถ้าผมไปตั้งโรงงาน มันก็จะไม่เหมือนเดิม และเราจะรู้สึกว่ามันดาบสองคมเหมือนกัน เราขยาย เราเติบโต มันอาจช่วยคนอื่นได้มากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เราต้องขาดหายไปอาจจะไม่ใช่คำตอบ

“goal ที่เราตั้งใจไว้จึงเป็นรูปแบบของคอมมูนิตี้ที่เรามีเครือข่าย เรามีเพื่อน เราสร้างบรรยากาศ อย่างตั้งวงแชร์ซาวร์โดจ์ มันก็ช่วยให้เราเติมเต็มกันและกัน ทำให้เราได้มีแรง มีไดรฟ์ที่จะทำอะไรต่อไป พอเราตั้ง ๑4๑ การกิน ก็เหมือนอนุภาคมันมาจับกันมากขึ้น เรารู้สึกว่าคอมมูนิตี้ที่เราสร้างขึ้นมามันกำลังน่ารัก มันมีการแบ่งปันซึ่งกันและกัน ตลาดมานะเองที่เหมือนว่าอยู่ไกลเมือง แต่ก็มีคนมาอยู่เรื่อยๆ ถ้าเป้าหมายเรื่องอาหาร เรื่องการใช้ชีวิตที่เราตระหนักกันมันได้เผยแพร่ออกไป ก็อาจเป็นแรงบันดาลให้คนได้ลดสเกลตัวเองจนมีวิถีชีวิตที่อยู่ได้อย่างที่ตัวเองพอใจ

“ยิ่งวิกฤตนี้เราได้เห็นเลยว่า ใครที่มีอะไรต้องแบกอยู่เยอะๆ มีงานสเกลใหญ่ๆ คนเหล่านี้ถ้าล้มจะล้มดัง ล้มแรง”

“แต่สำหรับเราแทบไม่ได้รับความกระเทือนเท่าไร ถึงรายได้เราลด แต่เรายังมีวิถีชีวิตคล้ายเดิม ไก่ที่เราเลี้ยงไว้ยังออกไข่ให้เรา เรายังมีอาหารของเพื่อนๆ ที่แบ่งปันกัน ฉะนั้นมุมนี้ต่างหากที่มันยั่งยืน และสามารถเผยแพร่เรื่องรายละเอียดต่างๆ ทั้งเรื่องอาหารและการใช้ชีวิต หรือว่าเรื่องอื่นๆ มันได้ทุกเรื่อง ถ้าเรื่องของเรามันสามารถทำให้คนอยากปรับตัวหรือไปจนถึงปรับตัวได้ ก็เป็นเรื่องดี

“ตัวผมเอง ตั้งแต่วันที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นในวันนั้น ผมค่อยๆ ปรับตัว ค่อยๆ เปลี่ยนมาอย่างทำความเข้าใจและเรียนรู้หลายๆ เรื่องผ่านการลงมือทำ เรื่องแบบนี้มันไม่ใช่พูดว่าจะทำแล้วเปลี่ยนได้เลย มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะหลายอย่างเราต้องปรับตั้งแต่ฐานรากความคิด อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะทำได้มากหรือน้อย การเปลี่ยนก็เป็นเรื่องดี อย่างน้อยเขาจะไม่ทำร้ายโลกไปมากกว่านี้ ไม่ไปแย่งทรัพยากรของรุ่นลูกรุ่นหลานมาใช้กับตัวเองก่อน ดังนั้นถ้ายิ่งมีคนทำเรื่องนี้กันเยอะก็ยิ่งดี”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, Greenery.,  ๑4๑ Social Enterprise