เพลานี้ราชาผลไม้อย่าง ‘ทุเรียน’ มีวางขายกันเต็มตลาด แถมยังมีสายพันธุ์ให้เลือกซื้อหามารับประทานมากมาย ซึ่งผลไม้มีหนามกลิ่นหอมที่บางคนบ่นว่าเหม็นนี้ นับเป็นของกินชั้นดีที่ชาวสยามกินกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโน่น เรียกได้ว่ากลิ่นรสของทุเรียนเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน นานาสารพัดเรื่องราวของทุเรียนจึงถูกอัดแน่นซุกซ่อนเอาไว้หลายแง่มุม ไม่แพ้จำนวนหนามแหลมบนเปลือกผล ครั้งนี้จึงขอหยิบยกเรื่องราวของเจ้าทุเรียนในบางประเด็น ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาเล่าสู่คุณฟัง ว่าแล้วอย่ารอช้า ไปปอกทุเรียน เอ๊ย! ไปฟังเรื่องราวของทุเรียนกันเลย

ออ..เจ้า เอย เคยรู้หรือไม่ คนกรุงศรีฯเขาก็มี ‘ทูลเรียน’ กิน

อย่างที่เกริ่นไว้ว่าทุเรียนอยู่คู่ชาวสยามมายาวนาน หลักฐานที่พอจะอ้างอิงได้ก็คือ บันทึกของลาลูแบร์ หนึ่งในคณะราชทูตจากฝรั่งเศส ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมายังสยามเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ในช่วงปี พ.ศ.2228 โดยเขาได้บันทึกเอาไว้ว่า

ดูเรียน (Durion) ชาวสยามเรียกว่า ‘ทูลเรียน’ (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้า ไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไป ก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมาก แต่เมล็ดใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่า ยิ่งมีเมล็ดในน้อย ยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า ๓ เมล็ดเลย’

แสดงว่าสมัยกรุงศรีฯ เหล่าออเจ้าทั้งหลายก็มีทุเรียนกินกันแล้ว แต่จะเป็นสายพันธุ์ใดนั้น ในบันทึกไม่ได้กล่าวถึง

ทุเรียน ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์

ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เล่ม 1 และ 2 ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับทุเรียนไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุถึงทุเรียนในกรุงเทพฯ ดังนี้

‘ทุเรียนนี้เป็นของชุมมีราคาที่ในกรุงเทพฯ แบ่งเป็น ๒ บาง ทุเรียนบางบน บางล่าง ทุเรียนบางบนนั้น ยวงใหญ่เนื้อหยาบสีเหลืองงาม รศมันมากกว่าหวาน ทุเรียนบางล่างผลย่อมเนื้อเลอียด บางมีรศหวานมากกว่ามัน ทุเรียนทั้ง ๒ บางนี้มีชื่อต่างๆ กันโดยมาก ถ้าปล่อยไว้ให้สุกจนหล่นเองมีกลิ่นกล้กมีธาตุกำมะถันในตัว เปียกเละไม่น่ารับประทานทั้งรูปและกลิ่น …ฉนันที่สุกเองโดยไม่มีกลิ่นและสวยไม่เปียกก็มีชื่อว่า ก้านยาว, เขียวตำลึง, การเกด, ทองสุกทองย้อย เป็นต้น แต่มีชื่อว่าอีกบ ฤาเล็ดในกบเป็นเปียกเละไป’

ทั้งนี้คำว่า ‘กล้ก’ ที่พิมพ์ในตำรา ผู้เขียนสันนิษฐานว่า แท้จริงแล้วเป็นคำว่า ‘กล้า’ แต่อาจมีความผิดพลาดในการพิมพ์ นอกจากนี้ ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เล่ม ๒ ยังมีหัวเรื่องชื่อ ‘ตำบลที่เกิดผลไม้อย่างดี’ ซึ่งได้กล่าวถึงทุเรียนเอาไว้ว่า

‘ทุเรียนนั้นที่ชั้นบางขุนนน แต่ละต้นผลดกใจหาย ทั้งรศหวานเนื้อดีไม่มีระคาย จะซื้อขายแคล่วคล่องเป็นของดี’

นับเป็นอีกหนึ่งบันทึกข้อมูลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และองค์ความรู้ที่สำคัญของไทย

ทุเรียน ให้พลังงานสูง VS มีสารแอนติออกซิแดนต์สูง

ทุเรียน 1 ผลเล็ก (น้ำหนักประมาณ 600 กรัม) จะให้คุณค่าทางโภชนาการเป็นพลังงาน 600 กรัม คาร์โบไฮเดรต 163.1 กรัม มากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน มีไขมัน 32.1 กรัม ส่วนใหญ่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นไขมันดีที่สามารถช่วยลดไขมันเลวได้ นอกจากนี้ก็มี เส้นใยอาหาร โพแทสเซียม วิตามินซี และอาหารชนิดอื่นๆ อาทิ โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินเอ และแคลเซียม

ถึงแม้ทุเรียนจะมีสารอาหารสำคัญมากมาย แต่ทุเรียนก็ให้พลังงานต่อร่างกายสูงมาก ซึ่งนั่นอาจส่งต่อรอบเอวของคุณได้ โดยทุเรียนผลใหญ่ 1 กิโลกรัม จะให้ปริมาณพลังงานมากถึง 1,350 กิโลแคลอรีเลยทีเดียว (พลังงานที่ผู้ใหญ่ต้องการต่อวัน อยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรีเท่านั้น) เมื่อเทียบเคียงพลังงานที่ต้องการต่อวันและพลังงานจากทุเรียนแล้ว ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า

เราท่านไม่ควรบริโภคทุเรียนหมดผลคนเดียวในมื้อเดียวเด็ดขาด โดยปริมาณที่แนะนำคือ 2-3 เมล็ดต่อครั้ง  ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ก็ต้องลดปริมาณลงไปอีก

อย่างไรก็ดี ทุเรียนมีก็มีด้านบวก คือคอเลสเตอรอลเท่ากับศูนย์ เพราะคอเลสเตอรอลจะพบในอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ทว่าไขมันที่มีในทุเรียนเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งกลับเป็นผลดีที่จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้

ข้อดีที่ว่าเชื่อมโยงกับผลงานวิจัย ของ ศ.ดร.ชีล่า โครินสไตน์ (Professor Dr.Shela Gorinstein) นักวิทยาศาสตร์สายเภสัชศาสตร์ระดับโลก จากมหาวิทยาลัยฮิบรู ประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นนักวิจัยอาคันตุกะของคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของงานวิจัยเรื่อง ‘สารแอนติอออกซิแดนต์ในผลไม้เมืองร้อน:ประโยชน์และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต’ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของไทยมาเกือบ 10 ปี

โดยผลสรุปของผลงานวิจัยส่วนหนึ่ง ระบุถึงปริมาณสารแอนติออกซิแดนต์ ซึ่งมีประโยชน์ในด้านช่วยลดคอเลสเตอรอล เปรียบเทียบกันระหว่างทุเรียน 3 สายพันธุ์ คือ หมอนทอง ชะนี และก้านยาว โดยพบว่า

ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่สุกพอดี จะมีสารแอนติออกซิแดนต์สูงที่สุด สามารถช่วยลดคอเรสเตอรอลในเส้นเลือดได้

นอกจากนี้ยังมีสารโปรตีนพิเศษเควอร์ซิติน (quercetin) ในปริมาณสูง สามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบและโรคมะเร็ง

ขณะที่ข้อมูลจากตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป เภสัชกรรม ระบุว่า เนื้อในลูกทุเรียน มีธาตุกำมะถัน รับประทานมากๆ ทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย แก้โรคผิวหนัง และขับพยาธิไส้เดือนในท้องได้

เรียกได้ว่า ทุเรียนนั้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบต่อสุขภาพ ดังนั้นเราท่านก็ควรเลือกบริโภคให้เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย  

รวมความเชื่อสารพัดวิธีแก้ร้อนใน จากการกินทุเรียน

ฉันได้คุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนฝั่งธนบุรีแต่กำเนิด เขาเล่าว่า สมัยเด็กๆ พอถึงเวลาที่ทุเรียนเมืองนนทบุรีออกผล ผู้ใหญ่จะพาไปกินทุเรียนกันที่สวนของญาติ พอไปถึง สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำคือ จะต้องดื่มยาเขียวต้ม ที่ผู้ใหญ่เตรียมไว้ ก่อนกินทุเรียนเสมอ เพื่อเวลากินทุเรียนแล้วจะได้ไม่ร้อนใน ก็นับเป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะยาเขียวเองก็มีฤทธิ์เย็น และสามารถใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำได้

นอกจากนี้ ก็มีอีกหลากหลายวิธีทีว่ากันว่าจะช่วยแก้ร้อนในจากทุเรียน อาทิ การกินมังคุดหลังจากกินทุเรียน เพราะเชื่อว่ามังคุดนั้นเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น หากรับประทานคู่กันก็จะปรับสมดุลร้อนเย็นได้ ทั้งนี้รวมไปถึงผลไม้และพืชผักฤทธิ์เย็นต่างๆ ด้วย อาทิ แตงโม หรือน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น อาทิ น้ำเก๊กฮวย น้ำหล่อฮังก๊วย น้ำใบเตย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ที่กล่าวมายังไม่มีผลงานวิจัยใดยืนยัน แต่ที่แน่ๆ ถ้าเรากินทุเรียนแต่พอดี ไม่กินมากเกินไป อาการร้อนใน ก็คงไม่ถามหา

เช็กลิสต์ 5 จุด เลือกทุเรียนแบบนี้ไม่มีพลาด

ปัญหาซื้อทุเรียนมาแล้วสุกเกินไปบ้างจนเละเป็นปลาร้า หรือยังดิบเกินไป มักเกิดกับมือใหม่หัดกินทุเรียนเสมอ เราก็เลยขอนำเสนอวิธีเลือกทุเรียนให้ได้เนื้อสุกหวานอร่อยแบบพอดิบพอดี ซึ่งแนะนำโดยกรมวิชาการเกษตร ให้คุณสามารถเลือกทุเรียนได้ไม่พลาด โดยมีจุดสังเกต 5 อย่าง ดังนี้

1. ปากปลิง ปากปลิงหมายถึง จุดเชื่อมระหว่างก้านขั้วผลทุเรียน ทุเรียนที่สุกพอดี จุดเชื่อมที่ว่าจะบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน

2. ก้านผล ให้ดูที่สี และสัมผัสที่ผิวก้านผล หากมีสีเข้ม ผิวสากมือ นั่นแหละมาถูกทางแล้ว

3. หนาม ปลายหนามทุเรียน ต้องมีสีน้ำตาลเข้ม แห้ง เปราะแตกง่าย

4. ร่องหนาม ทุเรียนสุกพอดี ร่องหนามจะห่างกัน เพราะพูด้านในขยายตัวเต็มที่ และเมื่อลองใช้มือบีบหนามสองด้านเข้าหากัน จะรู้สึกว่ามีสปริง บีบเข้าหากันได้ และเด้งกลับคืนได้

5. พู ให้สังเกตว่าแต่ละพูมีรอยแยกชัดเจน

หากผลทุเรียนที่คุณเลือกซื้อมีคุณสมบัติ ครบ 5 ข้อที่บอก ก็มั่นใจว่าทุเรียนผลนั้นสุกพอดีและอร่อยแน่นอน

8 ทุเรียน GI ไทยแลนด์

สินค้า GI ในที่นี้หมายถึง Geographical Indication แปลเป็นไทยก็คือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นเครื่องหมายที่ได้รับจากการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา  ซึ่งประเทศไทยมีทุเรียนที่ได้ขึ้นทะเบียน GI อยู่ทั้งสิ้น 8 แหล่งได้แก่


1. ทุเรียนนนท์ ในที่นี้หมายถึง ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกในเขตเมืองนนทบุรี ว่ากันว่า นนทบุรีคือพื้นที่ที่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้ดินมีแร่ธาตุสำคัญมารวมกัน ทุเรียนในพื้นที่นี้จึงมีความอร่อย เนื้อดี สีเหลืองสวย กลิ่นหอม

2. ทุเรียนป่าละอู ของดีเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ทุเรียนหมอนทอง และทุเรียนชะนี ที่ปลูกในพื้นที่ป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน เอกลักษณ์คือมีเนื้อหนาสีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียนละเอียด กลิ่นไม่แรง รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบ ออกให้ชิมในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม

3. ทุเรียนปราจีน หมายถึงทุเรียนพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ที่ปลูกในเขตพื้นที่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมหาโพธิ์ และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เอกลักษณ์ของทุเรียนปราจีนคือ เนื้อหนา เส้นใยน้อย หวานมัน และที่สำคัญคือเนื้อทุเรียนแห้ง ซึ่งเป็นผลจากสภาพดินและน้ำ

4. ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีรสชาติดี ทรงผลกลม หรือกลมรี ขนาดเล็ก เปลือกบาง เนื้อมาก เนื้อแห้งละเอียดเหนียว สีเหลืองเข้ม เมล็ดลีบ มีกลิ่นอ่อน ปลูกในเขตพื้นที่ อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์

5. ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์ อีกหนึ่งทุเรียนแรร์ไอเท็มจากอุตรดิตถ์ เป็นทุเรียนที่นำเมล็ดมาปลูกแล้วออกผลมารูปร่างแปลกกว่าแม่พันธุ์ ทั้งยังมีรสอร่อย โดยผลรูปทรงกระบอก เปลือกบาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เส้นใยน้อย เนื้อละเอียดเนียนเหนียวแห้ง รสหวานมัน กลิ่นอ่อน จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนพบว่า พูทุเรียนชนิดนี้จะเล็กแบน เป็นทุเรียนที่ปลูกในเขตพื้นที่ อำเภอลับแล อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลา ของจังหวัดอุตรดิตถ์

6. ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ หมายถึงทุเรียนพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอขุนหาญ อำเภอกันทรลักษ์  และอำเภอรัตนคีรี จังหวัดศรีสะเกษ เอกลักษณ์คือ สีเนื้อเหลืองสม่ำเสมอทั้งผล รสหวานมัน (ค่อนไปทางหวาน) กลิ่นหอมปานกลาง เส้นใยเนื้อละเอียด เนียนนุ่มเหนียว แห้ง กลิ่นหอมไม่ฉุนมาก ซึ่งเอกลักษณ์เหล่านี้เป็นผลมาจากแร่ธาตุในดินที่ปลูก ซึ่งเป็นแหล่งภูเขาไฟโบราณที่ผุพังจากหินบะซอลต์

7. ทุเรียนสาลิกาพังงา เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ปลูกในพื้นที่ อำเภอปะกง จังหวัดพังงา ทรงผลกลม เปลือกบาง หนามสั้นและถี่ แกนกลางเปลือกทุเรียนมีสีแดงสนิม เมล็ดลีบ รสชาติหวาน

8. ทุเรียนในวงระนอง หมายถึง ทุเรียนหมอนทอง ที่ปลูกในพื้นที่ ตำบลในวงเหนือ ตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง เอกลักษณ์คือ ทรงผลกลมรี มีร่องพูชัดเจน เปลือกบาง หนามสั้นถี่สีเขียว เนื้อในมีรสชาติหวานหอมมัน  เนื้อหนาเนียนละเอียดสีเหลืองทอง เนื้อกรอบ เมล็ดลีบ กลิ่นไม่ฉุน

อ่านจบตรงนี้ คุณก็คงจะมีข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนมากพอตัว แต่นอกจากความรู้แล้ว ขอให้เพิ่มเติมสติกำกับลงไปด้วยสักหน่อย เพราะเวลาเจอความอร่อยของทุเรียนตรงหน้าจะได้ยั้งใจบริโภคแต่พอดีได้ เพื่อสุขภาพของตัวคุณเอง ขอให้ทุกท่าน เอนจอยกับฤดูทุเรียนปี 64 นี้นะครับ

เอกสารอ้างอิง
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 28 เรื่องที่ 4 ทุเรียน / ประวัติของทุเรียนในประเทศไทย
หนังสือ ‘ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม’ โดยกองประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
www.pobpad.com
www.prachachat.net

ภาพประกอบ: Paperis