“จุดเริ่มต้นที่มาทำตลาดฟาร์มฝัน ปันสุข เริ่มมาจากผมอยากกินผักที่ดีและสะอาด เพราะที่ผ่านมามักจะเห็นภาพครอบครัวซื้อผักจากตลาดเหมือนคนอื่นๆ แล้วก็เอาผักมาล้างเป็นชั่วโมงเพื่อจะได้ล้างผักให้สะอาดที่สุด ผมสังเกตเห็นว่านี่เป็นขั้นตอนที่นานมากสำหรับการทำอาหารสักมื้อ สุดท้ายผมก็เลยคิดเรื่องการปลูกผักทานเอง โดยที่ไม่ได้จบการเกษตรอะไรมาเลย เพียงแค่อยากจะปลูกผักสะอาดปลอดภัยให้คนที่บ้านได้ทาน ทั้งที่อาชีพหลักคือขายอะไหล่รถยนต์หรือทำเซียงกงของที่บ้าน ดังนั้นครูคนแรกที่สอนผมก็คือกูเกิ้ลนั่นเอง

“ผมหาข้อมูลต่างๆ เองทุกอย่าง ทำปุ๋ยหมัก เตรียมดิน ปลูกผักที่ใส่กระถางไว้ที่ตึกที่ทำร้านทุกวันนี้ ตอนแรกก็ปลูกออกมาดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ก็พยายามไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งคิดว่าถ้าเราอยากกินผักให้หลากหลายกว่านี้จะทำยังไงดี ก็เลยมองรอบๆ ตัวว่าที่นครสวรรค์บ้านผม มีทางเลือกอะไรบ้าง มีวัตถุดิบจากที่ไหนบ้าง เริ่มมองหาเท่าไหร่ก็ไม่มี ทั้งที่นครสวรรค์ก็เป็นเมืองเกษตรกรรมแท้ๆ แต่ไม่มีตลาดเขียว หรืออาหารทางเลือกเลย ผมเลยขับรถเข้ากรุงเทพฯ ไปเดินตลาดสีเขียว แล้วก็ไปเจอตลาดแบบ ‘ปันอยู่ปันกิน’ ที่มีเรื่องราว ความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงของผู้ผลิต ผู้บริโภคอยู่ในนั้นด้วย ผมว่ามันน่ารักดี นั่นแหละคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากมีตลาดแบบนี้ที่นครสวรรค์บ้าง

“ผมก็เลยกลับมาหาแนวร่วม เริ่มเสาะหาเกษตรกรด้วยตัวเอง ไปมาเกือบทุกอำเภอในนครสวรรค์ ไปเจอคนมากมาย ก็ชักชวนให้มาทำตลาดทางเลือกด้วยกัน ไปดูตลาดต้นแบบที่อื่นด้วยกัน สุดท้ายทุกคนอยากทำจริงๆ เลยมานั่งคิดชื่อกัน ได้ชื่อออกมาเป็น ‘ฟาร์มฝัน ปันสุข และเริ่มต้นทำในเดือนพฤศจิกายนปี 2559 มีเวลาสองเดือนในการโปรโมต ผมก็เริ่มตั้งโต๊ะเล็กๆ หน้าร้านขายอะไหล่’ เอาสินค้าของเกษตรกรที่เพิ่งรู้จักกันมาวางขาย แล้วก็สื่อสารเรื่องราวของสินค้าและเกษตรกรให้คนซื้อได้ฟังทุกวัน จากวันนั้นที่มีแค่โต๊ะเล็กๆ หน้าบ้าน กลายเป็นร้านที่ทุกคนเรียกติดปากว่า ‘ร้านขายอะไหล่ ข้างในมีผัก’ พอเราเริ่มต้นทำตลาดในปี 2559  ทุกคนมีแค่โต๊ะคนละตัว ร่มคนละคันมาเปิดตลาด ผมไม่รู้คนจะมามากแค่ไหน แต่แค่อยากให้เกษตรกรรู้จักกันมากขึ้น ลูกค้าเข้ามามากหรือน้อย ก็เป็นกำไรแล้ว แต่ปรากฏว่าคนให้ความสนใจเยอะมาก เป็นแรงกระเพื่อมให้เกษตรอินทรีย์ในนครสวรรค์เริ่มขยับมากขึ้น

“จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นปีที่ 5 แล้ว เรารักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยกิจกรรมหลายอย่าง เรามีไลน์กลุ่มของลูกค้า ที่เอาไว้สื่อสารกัน มีอยู่วันหนึ่งลูกค้าที่เคยสั่งซื้อผักให้คนที่บ้านที่ป่วยด้วยโรคร้าย ไลน์มาบอกว่า คนที่กินผักในกลุ่มนี้ เขาไม่อยู่แล้วนะ แต่ขอบคุณที่ทำอาหารดีๆ และปลอดภัยให้คนที่เขารักกินจนวาระสุดท้าย มันเลยทำให้ผมเข้าใจว่า ผมควรทำแบบนี้ไปเพื่อใคร ผมบอกพี่น้องเกษตรกรทุกคนในกลุ่มว่า เรากำลังทำอะไร ทำไมเราต้องซื่อสัตย์ มาตรฐานที่เราใช้ควบคุมมันเป็นแค่เครื่องมือ แต่ความซื่อสัตย์นี่แหละที่เป็นมาตรฐานที่แท้จริง ลูกค้ารักเรามากแค่ไหน เราต้องรักเขาให้มากกว่า ผมไม่รู้ว่าฟาร์มฝันปันสุข จะอยู่ได้นานอีกแค่ไหน แต่วันนี้พื้นที่นี้เกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มันเกิดความสัมพันธ์บางอย่างขึ้นแล้ว ผมคิดว่านั่นแหละคือความยั่งยืนที่จะทำให้เส้นทางนี้ ก้าวต่อไปได้อย่างชัดเจน นั่นคือ เน้นในเรื่อง ซื้ออย่างรู้คุณค่า กินอย่างรู้ที่มา คุณค่าที่ว่าคือคุณค่าของเรื่องราวที่เกษตรกรมี และที่มาก็คือ แหล่งที่มาของสินค้า ดังนั้นเงินทุกบาทที่คนซื้อจ่ายไป จึงมีคุณค่าและคุ้มค่ากว่าที่เขาคิด”

.

#CanChangeTheWorld ซีรีส์สัมภาษณ์บุคคลที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและโลกใบนี้ในแบบของตัวเอง พวกเขาไม่เพียงแต่มีความเชื่อ แต่ยังเริ่มต้นลงมือทำด้วยความไม่ย่อท้อ จนมีผลงานที่พิสูจน์ได้ว่า คนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่อยากเห็นได้จริงๆ | www.greenery.org/canchangetheworld

ภาพถ่าย: Greenery.