เล่าเรื่องเมืองครั้งนี้ มีเรื่องการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ริมถนนในเขตพื้นที่จตุจักร-ประชานิเวศน์ ผ่าน ‘จตุจักรโมเดล’ มาบอกเล่ากันสักนิด เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนรักต้นไม้ และอยากเห็นต้นไม้ได้เติบใหญ่ในเมืองที่รักบ้าง เพราะเห็นต้นไม้โดนกุดทีไร ก็เสียกำลังใจกันทุกที

โมเดลนี้เริ่มจากพลเมืองที่รักต้นไม้ทั่วไปที่อาศัยในละแวกนั้น ร่วมมือกันทำงานกับกลุ่ม BIG Trees สำนักงานเขตจตุจักร กระจายความรู้เรื่องการตัดแต่ง การดูแลต้นไม้ที่ถูกต้อง เกิดผลขยายกว้างไปถึงการรับรู้ของกรุงเทพมหานคร และเกิดการเซฟต้นไม้ริมทางจนเห็นผลที่งดงาม เมื่อต้นไม้เหล่านั้นได้พากันออกดอกสะพรั่งเมื่อช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน

เราเห็นเพจ BIG Trees แชร์ภาพต้นตาเบบูญ่าออกดอกสีชมพู กับต้นประดู่สีเหลืองสวยงามตามแนวริมถนนสวนจตุจักร สวนรถไฟในเดือนก่อน จึงได้ตามแฮชแทก #จตุจักรโมเดล ไปจนเจอเฟสบุ๊กของคุณตุ๊ก-พรรณิดา แก้วปทุมทิพย์ ประชาชนคนธรรมดาผู้ขับเคลื่อนเรื่องการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ จึงได้ติดต่อไปเพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไป การทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ทั้งกับเพื่อนๆ ประชาชนในพื้นที่ องค์กรภาคสังคม และภาครัฐ ในการช่วยกันทำให้ต้นไม้ริมถนนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ เพื่อให้มีร่มเงา เพิ่มความสวยงามให้กับถนนสายหลักของเขตจตุจักรอย่างที่เห็น

“ประชาชนในกทม.ทุกเขต สามารถมาเป็น active citizen ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูการตัดต้นไม้ในเขตของตนได้ ถ้าเห็นการตัดกุดต้นไม้ สามารถโทรแจ้งไปที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของทางเขตได้เลย เดี๋ยวนี้ทางเขตพร้อมรับฟังและดำเนินการให้ถูกต้องแล้วค่ะ” คุณตุ๊กชี้เป้าให้กำลังใจ ว่าพวกเราทุกคนล้วนเป็นผู้พิทักษ์ต้นไม้ได้ ดังที่จตุจักรโมเดลได้พิสูจน์ให้เห็นกันแล้ว

เธอเล่าให้เราฟังว่า เรื่องนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงหน้าร้อนปี 2559 ซึ่งก็เป็นเวลา 5 ปีมาแล้ว ที่คุณตุ๊กได้สังเกตเห็นการตัดต้นไม้ริมถนนในกรุงเทพมหานครหลายเส้นทาง และเกิดความสงสัยมากว่า ทำไมเมืองของเราถึงมีการตัดต้นไม้ในหน้าร้อน พรากเอาร่มเงาไปจากท้องถนนทำไมกัน และหากจะตัดจริงๆ ทำไมถึงต้องตัดแบบฆ่าหั่นศพต้นไม้กันเลยทีเดียว คือตัดเอากิ่งก้านใบไปหมดแบบไม่เหลือเลย และการตัดต้นไม้แบบนี้เกิดขึ้นกับทุกเขตในกรุงเทพฯ

อย่างตัวคุณตุ๊กเองซึ่งบ้านอยู่ในพื้นที่แถวเขตบางซื่อและเขตจตุจักร ก็เห็นว่ามีร่องรอยการสังหารโหดต้นไม้ไม่แพ้ที่อื่น ซึ่งเมื่อได้ขับรถผ่านถนนเทศบาลสงเคราะห์ ที่ต้นไม้ถูกตัดให้กุด ก็รู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เธอจึงได้โทรศัพท์หาเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่รักต้นไม้เหมือนๆ กันมาเป็นแนวร่วม รวมตัวกันไปสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้มาทำการตัดต้นไม้ จนได้ติดต่อไปถึงทางสำนักงานเขต และได้ทำการนัดหมายเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้มาดูการตัดต้นไม้ด้วยกัน

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘จตุจักรโมเดล’ โดยมีคุณตุ๊ก-พรรณิดา แก้วปทุมทิพย์ และคุณแจ๊ค-ปริพัตร บูรณสิน เจ้าของร้านจักรยานในละแวกนั้น ผู้ซึ่งดูแลอุโมงค์ต้นไม้อันร่มรื่นและเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านประชานิเวศน์ เป็นผู้นำของฝ่ายประชาชนในพื้นที่ กลุ่ม BIG Trees นำโดยคุณปุ้ม-อรยา สูตะบุตร ทำหน้าที่นำรุกขกรมาสอนวิธีการตัดต้นไม้ที่ถูกต้องให้กับองค์กรต่างๆ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของบริษัทผู้รับเหมาตัดต้นไม้ โดยมีการประสานงานกับทางเขตจตุจักร และสส.เขต ผู้เป็นตัวแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เมื่อต้องตัดต้นไม้ ใครบ้างคือผู้เกี่ยวข้อง

เมื่อคุณตุ๊กได้ไปคุยกับเขตจตุจักร จึงทราบว่าการตัดต้นไม้ตามถนนหนทางต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เกิดจากหลายฝ่ายความรับผิดชอบ เช่น ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ซึ่งบางทีมีผู้ร้องเรียนเข้ามาว่าต้นไม้กิ่งหักและรกเกินไป จึงต้องส่งคนมาตัดทิ้ง ทางการไฟฟ้าก็จะต้องเข้ามาตัดต้นไม้หากกิ่งก้านไปเกี่ยวพันสายไฟ หรือทางการประปาที่ตัดต้นไม้ริมคลองเพราะเกรงว่ากิ่งไม้ใบไม้จะร่วงลงไปในน้ำ ไปจนถึงสำนักระบายน้ำของกทม. ซึ่งเวลาต้องทำการขุดลอกคูคลองก็ต้องมีการตัดต้นไม้ทิ้ง

เมื่อการตัดต้นไม้ไม่ได้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรใดองค์กรเดียว จึงทำให้มีอุปสรรคในการสื่อสาร

รวมถึงการให้ความรู้ ความเข้าใจ ไปจนถึงการปฏิบัติจริงหน้างาน เพื่อให้เกิดการตัดแต่งดูแลต้นไม้ที่ถูกต้อง

กว่าต้นไม้จะได้โตต่อ

“นอกจากปัญหาเรื่องการมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่ต้องตัดต้นไม้ตามความรับผิดชอบของตน แต่อาจจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่น่าหนักใจคือ ในภาคประชาชนเองก็มีอีกกลุ่มซึ่งมีความกังวลเรื่องกิ่งก้านของต้นไม้จะตกหล่นลงมา และทำให้เกิดอันตราย หรือต้องการให้ตัดต้นไม้บนฟุตบาทส่วนรวมทิ้ง เพราะรากของต้นไม้ชอนไชเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัยของตน

“ซึ่งเรื่องการตัดต้นไม้ พวกเราประชาชนชาวจตุจักรทั้งผู้ที่ไม่อยากให้ตัด และผู้ที่อยากให้ตัด ก็ได้มีการนัดเจอกัน และได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เขต และสส.เขต รวมถึงเชิญตัวแทนทำงานจากกลุ่ม BIG Trees และเจ้าหน้าที่รุกขกรผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดแต่งดูแลต้นไม้ และนักวิชาการผู้มีความรู้เรื่องต้นไม้จริงๆ มาลงพื้นที่ด้วยกันที่ถนนเทศบาลสงเคราะห์ เพื่อให้รุกขกรได้สาธิตการตัดต้นไม้อย่างถูกวิธีให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้ดู และให้ประชาชนผู้ร้องเรียนได้เข้าใจด้วย หลังจากนั้น ทางสส.เขตจตุจักรในขณะนั้น จึงได้นำเรื่องเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อจะได้ประสานงานแจ้งเขตทุกเขต ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการตัดแต่งต้นไม้ให้ถูกวิธี โดยให้มีการปรึกษาหารือกับทางรุกขกรก่อนทุกครั้ง”

ตัดอย่างไรให้ถูกวิธี

วิธีการที่ถูกต้องที่ได้รับคำแนะนำจากรุกขกรในการตัดแต่งต้นไม้คือ เราควรตัดแต่งต้นไม้เพื่อป้องกันอันตราย แต่ไม่ควรอย่างยิ่งในการตัดโขลน (เป็นศัพท์ของทางรุกขกร แปลว่า ตัดแบบเอาถึงตาย) โดยตัดตรงคอกิ่งเพื่อให้แผลสมานกันเอง ไม่ควรตัดกุด หรือมีวิธีการตัดควบคุมเรือนพุ่ม โดยคุณปุ้ม-อรยา สูตะบุตร ตัวแทนหลักกลุ่ม BIG Trees ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมกับทาง Greenery. ว่า

“ขนาดของรากนั้นมีความสัมพันธ์กับขนาดของพุ่มไม้ ถ้าเราได้จำกัดขนาดของพุ่มต้นไม้ให้เหมาะสมแล้ว รากต้นไม้ก็มักจะไม่เติบโต ซึ่งประชาชนทั่วไปควรมีความรู้เบื้องต้นไว้ช่วยกันดูแลต้นไม้ โดยทางกลุ่ม BIG Trees ได้ทำ Infographic บอกวิธีการตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้องไว้ให้ดูอย่างง่ายๆ ใน BIG Trees Project ด้วย”

จุดพีคของปัญหา กว่าชาวจตุจักรจะได้มีต้นไม้สวยงามไว้ชื่นชม

ในขณะที่ทางกลุ่ม BIG Trees และกลุ่มจตุจักรโมเดล กำลังช่วยกันประสานงานกับหลายฝ่าย ในการสร้างความเข้าใจในการตัดต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักรุกขกรรม คุณอุ๊-ช่อผกา วิริยานนท์ ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกัน จึงได้ชักชวนทางกลุ่ม BIG Trees นำโดยคุณปุ้ม และทางกลุ่มจตุโมเดล ซึ่งนำโดยคุณตุ๊ก คุณแจ๊ค และผู้ร่วมแนวคิดอีกจำนวนหนึ่ง ร่วมกันก่อตั้งเพจเครือข่ายต้นไม้ในเมืองขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ด้านรุกขกรรม ตลอดจนคอยโพสต์รายงานการตัดต้นไม้ที่ไม่ถูกต้องตามที่ต่างๆ ในกทม. นอกจากนั้น ทางเพจยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ ในการให้ความรู้และอนุรักษ์ดูแลต้นไม้ในเมืองอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย

กระทั่งเดือนมิถุนายน 2559 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำในขณะนั้น ก็ได้มาดูการขุดลอกคูคลองในพื้นที่เขตจตุจักร และมาเยี่ยมชมอุโมงค์ต้นไม้อายุเกือบ 30 ปี ที่ชาวหมู่บ้านประชานิเวศน์ช่วยกันดูแล แต่หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ก็มีรถแบ็กโฮพร้อมกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของสำนักระบายน้ำ มาทำการโค่นต้นไม้ริมคลองบางส่วนทิ้ง และรถได้ไถฟุตบาทจนพัง ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่มานานก็ถูกล้ม โดนถอนรากถอนโคนไปหลายต้น อย่างต้นมะขามยักษ์ก็ลำต้นถลอกปอกเปิก กิ่งหักสะบั้นลงมา ทางกลุ่มจตุจักรโมเดลจึงได้ถ่ายรูปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กเพื่อรายงานข่าว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้

จากโพสต์นี้เองที่นำมาสู่การแชร์ออกไปเกือบ 3,000 แชร์ โดยเพื่อนๆ ในโซเชียลที่สนใจประเด็นต้นไม้ในเมืองเช่นเดียวกัน และมีสำนักข่าวเข้ามาช่วยทำข่าว เสียงนี้จึงมีพลังและดังยิ่งขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน คุณแจ๊คก็ได้รับการติดต่อจากผู้แทนสำนักระบายน้ำและผู้แทนสำนักสิ่งแวดล้อม มาเจรจาพูดคุยกันกับทางเจ้าหน้าที่กทม. ซึ่งก็ยอมรับข้อผิดพลาดในการทำงาน และตกลงมาทำการแก้ไขพื้นที่คืนให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ทั้งยังได้รับปากกับชาวหมู่บ้านประชานิเวศน์ว่า ต่อจากนี้จะทำการอบรมและติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการให้ใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีอย่างนี้อีก

เปิดใจรับฟัง ยอมรับ และแก้ปัญหา

ในกรณีของอุโมงค์ต้นไม้หมู่บ้านประชานิเวศน์ และต้นไม้ริมถนนเทศบาลสงเคราะห์

เมื่อภาคประชาชนได้มีการร้องเรียน และภาครัฐได้เปิดใจรับฟัง ยอมรับ และพร้อมแก้ไขปัญหา จึงสามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยดี

ทางกลุ่มจตุจักรโมเดลก็ได้ช่วยกันติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการต่อไป โดยการไปช่วยกันดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้รับเหมามาตัดต้นไม้ จนตอนนี้ทางประชาชนในพื้นที่และผู้รับเหมามีความสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และมีความวางใจให้ทำการตัดแต่งต้นไม้ โดยผู้รับเหมาของทางเขตที่มาตัดต้นไม้เป็นประจำ ได้นำใบรับรองการอบรมการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธีจากสมาคมรุกขกรรมไทยมาให้ดูด้วย

“ทางภาคประชาชนก็ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ท่าน ซึ่งในปีนี้ทราบมาว่าทางเขตบางซื่อซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน บริเวณเส้นถนนเลียบคลองประปา ก็มีเจ้าหน้าที่กับเหล่ารุกขกรเข้ามาดูพื้นที่ และปรึกษากันถึงวิธีการตัดแต่งกิ่งต้นไม้แล้ว และตอนนี้ก็ยังคอยดูการประสานงานของทางกทม.กับการไฟฟ้าในการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ เพราะเป็นสองหน่วยงานที่แยกกัน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นนิมิตใหม่ของพื้นที่จตุจักร ในการประสานความร่วมมือกันของประชาชน องค์กรภาคสังคม และภาครัฐ ในการยุติการตัดต้นไม้แบบสังหารโหด และหันมาดูแลต้นไม้ใหญ่แบบถูกต้องได้สำเร็จ” คุณตุ๊กกล่าวชื่นชม

การทำงานของกลุ่ม Big Trees หลังเคสจตุจักรโมเดล

คุณปุ้ม-อรยา สูตะบุตร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทาง BIG Trees ได้อบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการไปแล้วราว 10 รุ่น เป็นจำนวน 30-60 คนต่อรุ่น ซึ่งหลังจากทำงานกับเขตจตุจักร ก็ได้เดินหน้าทำงานต่อกับทางเขตอื่นๆ ในการให้บริการอบรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ โดยทางเขตจะส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมหลักสูตร 6 วัน จนได้ใบรับรองจากทางสมาคมรุกขกรรมไทย อย่างเช่นล่าสุดมีเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ชุมชนนางเลิ้ง และเขตปทุมวัน

นอกจากนี้ ทาง BIG Trees ยังได้ทำงานกับเขตและรุกขกรในการประเมินความเสี่ยงของต้นไม้ ส่วนกับทางกทม. ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ช่วยกันเขียนร่างกำหนด TOR ในการดูแลต้นไม้ขึ้นมาใหม่จากที่เมื่อก่อนไม่เคยมี และการทำงานกับเมืองในเรื่องต้นไม้ก็ดีขึ้นมาก จากในเคสจตุจักรที่ BIG trees จะทำงานกับชุมชนเป็นหลัก และอาศัยสื่อช่วยเป็นกระบอกเสียง ตอนนี้ได้อบรมรุกขกรไปมากขึ้นแล้ว จึงสามารถให้รุกขกรกับประชาชนเป็นผู้ช่วยกระจายความรู้ต่อไป มีการจัดสอบเป็นรุกขกรมืออาชีพ ซึ่งตอนนี้มีสอบผ่านแล้ว 10 กว่าคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของกทม.เองก็มีผู้สอบผ่านแล้ว 1 คน

“เราได้คุยกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในการขึ้นทะเบียนรุกขกรเป็นอาชีพ เพราะก่อนหน้านี้ในประเทศไทยยังไม่มีการบรรจุรุกขกรเป็นสายอาชีพจริงๆ เลย นอกจากนั้น BIG Trees ได้มีการวางระบบการติดต่อการใช้บริการรุกขกรที่ผ่านการอบรมไปแล้วให้สามารถหางานได้ อย่างเช่นไปทำงานกับเขต บริษัทผู้รับเหมาตัดต้นไม้ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงแรม คอนโด ห้างสรรพสินค้า ในการตัดแต่งต้นไม้ พร้อมกับสร้างเครือข่ายอาสาสมัครรุกขกรดูแลต้นไม้ไปด้วย”

ใครที่สนใจเรื่องงานรุกขกรหรือการจ้างงานรุกขกร สามารถติดตามกิจกรรมและการทำงานได้ที่ สมาคมรุกขกรรมไทย และ BIG Trees

ข้อแนะนำสำหรับประชาชนผู้รักต้นไม้ในเขตอื่นๆ

เมื่อถามถึงข้อแนะนำเพื่อเป็นแนวทางให้กับประชาชนคนรักต้นไม้ ที่ไม่อยากเห็นต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะถูกกุดต้นอีก แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงในการแสดงตัวและออกเสียงเพื่อรักษาต้นไม้เหล่านั้นเอาไว้ คุณตุ๊กกล่าวว่า

“ประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ มีสิทธิที่จะเรียกร้องการมีพื้นที่สีเขียว การมีร่มเงาให้กับถนนหนทาง ตรอกซอยต่างๆ เพื่อนๆ ประชาชนในเขตอื่นที่รักต้นไม้ และอยากเห็นกรุงเทพฯ ร่มรื่นเหมือนเขตจตุจักร สามารถเริ่มติดต่อพูดคุยกับทางเขตทุกเขตได้โดยตรง เพราะตอนนี้หลายฝ่ายก็ได้มีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้นแล้ว และทางรุกขกรก็มีเจ้าหน้าที่ที่มีความพร้อมในการให้บริการมากขึ้น

“เราสามารถช่วยกันสอดส่องการตัดต้นไม้ในเขตของตัวเอง ถ้าพบเจอการตัดต้นไม้ที่ไม่ถูกต้อง ให้โทรแจ้งที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะของเขตนั้น ในปัจจุบันนี้เชื่อว่าทางเขตพร้อมจะรับฟังและดำเนินการให้ถูกต้อง ตลอดจนช่วยกันติดตามดูผลการปฏิบัติงาน และช่วยกันสอดส่องดูแลผู้รับเหมาในความดูแลของเขตเป็นระยะ

“หากทุกเขตมี active citizen คอยช่วยกันดูแลสอดส่อง เชื่อว่าเราจะได้เห็นการตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้อง งดงาม ทั่วทุกเขตในกทม.ค่ะ จตุจักรโมเดลได้พิสูจน์แล้วว่าประชาชนตัวเล็กๆ นี่แหละ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

ที่มาข้อมูล:
www.facebook.com/hashtag/จตุจักรโมเดล
www.bigtreesthai.com/

เครดิตภาพ: พรรณิดา แก้วปทุมทิพย์, ภูษณิศา กมลนรเทพ