“เกือบสามสิบปีก่อน ป้ายอมลาออกจากงาน และกลับไปสกลนคร โดยตั้งใจจะหาอาชีพที่ยั่งยืนทำ เลยคิดจะฟื้นภูมิปัญญาและวิถีการทำผ้าย้อมคราม ที่เคยหายไปจากสังคมหรือประเทศไทยเกือบ 60 ปีมาแล้ว คนเกิดร่วมยุคอาจจะพอจำได้ แต่คนที่เพิ่งเกิดมาทีหลัง เขาจะไม่รู้เลยว่า การย้อมครามทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ เราก็ต้องพยายามทำให้มันฟื้น ให้มันเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อที่เราจะได้ใส่เสื้อผ้าที่ไม่มีสารเคมี ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม หรือทำร้าย ดิน น้ำ อย่างที่เคยเป็นมา

“เรารู้แล้วว่าผ้าย้อมครามเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นยากแค่ไหนเราก็ต้องทำ และเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ แม้ว่าคนรอบข้างอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะเขามองว่าต้องใช้เวลานานเป็นปีกว่าจะได้เสื้อย้อมครามดีๆ สักตัว แล้วมันก็ดูไม่น่าจะขายได้ เพราะใครๆ ก็ซื้อเสื้อผ้าตามตลาดนัดกันหมด แต่เมื่อตรวจสอบด้วยตัวเองแล้วว่ามันดี เราก็ทำต่อไปอย่างที่เราเชื่อ จากนั้นถึงได้มีคนซื้อที่เริ่มมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ และให้กำลังใจเรา เราก็เริ่มเชื่อมั่นมากขึ้นไปอีก ในที่สุด สิ่งที่เราทำก็ค่อยๆ ไปเปลี่ยนความคิดของคนที่อยู่รอบข้าง ซึ่งเคยไม่เชื่อในตัวเรา เพราะเขาเห็นว่าผ้าย้อมคราม สร้างอาชีพและรายได้ที่ดี เราต้องการปรับความคิดของคนรอบข้าง เพียงแต่เราไม่ได้พูด เราเลือกที่จะทำให้ดูไปเลย เริ่มต้นทำด้วยตัวคนเดียว ใครว่าบ้าก็ไม่สนใจ เพราะเราเชื่อว่ามันดี มันไม่ได้เบียดเบียนใคร ถ้าถามตัวเองแล้วว่า ทำแล้วมันไม่ได้มีข้อเสียเลย ทำไมจะไม่ทำล่ะ”

.

#CanChangeTheWorld ซีรีส์สัมภาษณ์ 12 บุคคล ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและโลกใบนี้ในแบบของตัวเอง พวกเขาไม่เพียงแต่มีความเชื่อ แต่ยังเริ่มต้นลงมือทำด้วยความไม่ย่อท้อ จนมีผลงานที่พิสูจน์ได้ว่า คนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่อยากเห็นได้จริงๆ | www.greenery.org/canchangetheworld

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร