อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เคยบอกว่า ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์มีด้วยกัน 4 อย่างคือ อยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง พ้นจากความทะเยอทะยาน มีความคิดสร้างสรรค์ และรักใครสักคน

จะว่าไป ความสุขที่กามูกล่าวถึงนั้น มีความหมายเดียวกันกับคำว่า ‘ออร์แกนิก’ (Organic) ที่คนยุคนี้รู้จัก ซึ่งหมายถึง ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ทั้งอาหารที่มีต้นทางมาจากแหล่งปลูก และผลิตโดยปราศจากสารเคมี วิถีชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้เต็มกำลัง และสิ่งแวดล้อมที่ยังคงปราศจากมลพิษทั้งปวง สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนมากมายโหยหา และต้องการจะเขยิบเข้าใกล้ ‘วิถีออร์แกนิก’ มากขึ้น

เพราะวิถีออร์แกนิกไม่ได้ให้แค่ความสุขที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังให้โลกดีๆ แก่ลูกของเรา และชีวิตของเราทุกคน

 

ออร์แกนิกหมุนรอบตัวลูก

กามูส์ยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงบรรยากาศบ้านเล็กในหมู่บ้านต่างจังหวัด ที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ ที่นี่ยังคงความเป็นธรรมชาติอย่างที่เคยเป็นมา ราวกับนาฬิกาที่หยุดหมุนไปนาน มองไปทางไหนก็เห็นนาข้าวสุดลูกหูลูกตา มีแปลงผักปลอดสารเคมีที่ปลูกมากันตั้งแต่สมัยรุ่นทวด เดิมก็เป็นหนึ่งในแปลงผักสามัญประจำบ้าน เมื่อเหลือก็ขายจนกลายเป็นกิจการเล็กๆ ที่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

พื้นที่เหลือรอบบ้าน คือสนามเด็กเล่นธรรมชาติ ซึ่งกว้างมากพอที่จะให้ลูกชายวัยสองขวบของผู้เขียนได้ถอดรองเท้าวิ่งเล่น โบกมือ และปีนป่ายได้อย่างอิสระ แปลงผัก เล้าเป็ด และความเป็นธรรมชาติทั้งหมด ทำให้เกิดการเรียนรู้ และมีสุขภาพที่แข็งแรง พ้นจากมลพิษทางเสียงและอากาศ ก่อเกิดจินตนาการ และมีความรักที่บริสุทธิ์ให้กับธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อโลกใบเล็กของเด็กชายและโลกใบนี้ในอนาคต

โลกที่ไม่มีออร์แกนิก

บรรยากาศออร์แกนิกที่มีปู่ย่าใจดี มีพื้นที่ให้วิ่งเล่น มีอาหารแสนดีและอร่อยให้ได้กิน ยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงวรรณกรรมเยาวชนเล่มหนึ่งที่ชอบอ่าน อย่าง ‘โลกของมดแดงและแตงกวา (เอยด้วย)’ ของคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ

ในหนังสือได้เล่าเรื่องความสำคัญของโลกออร์แกนิกไว้ในชุมชนเล็กๆ ได้อย่างน่ารัก ที่มีทั้งแปลงผักออร์แกนิก สวนผลไม้ออร์แกนิก ฟาร์มวัวนมออร์แกนิก ที่ให้แม่วัวอารมณ์ดี กินอาหารจากธรรมชาติ ได้เล็มหญ้าที่ขึ้นจากดินที่ไม่เคยโดนสารเคมี ไม่ใส่ปุ๋ยมาอย่างน้อยสองปี และไม่ต้องกินอาหารที่เร่งการเจริญเติบโต หากป่วยก็รักษาด้วยสมุนไพร ทำให้ได้น้ำนมวัวที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งหมดดีต่อทุกคน โดยเฉพาะเด็กเล็ก และยังดีต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียนได้ค้นหาข้อเท็จ และพบกับข้อมูลที่น่าสนใจจาก Organic Village สหกรณ์เกษตรฟาร์มวัวนมอินทรีย์ของสหรัฐฯ มีการศึกษาข้อเปรียบเทียบระหว่างการผลิตนมอินทรีย์และอนินทรีย์ พบว่า

กรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีประโยชน์ต่อเด็กๆ นั้น ในนมอินทรีย์มีความเข้มข้นสูงกว่านมอนินทรีย์

ในขณะเดียวกันเด็กๆ ก็จะลดโอกาสเสี่ยงที่จะพบกับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวะที่เป็นอันตราย ซึ่งมาจากการเลี้ยงสัตว์ด้วยยาปฏิชีวนะทุกวันเพื่อเร่งการเติบโต

ทางสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐฯ ( American Academy of Pediatrics) ก็ยังได้ระบุไว้ตั้งแต่ปี 2012 ว่า สารเคมีจากการเกษตรเหล่านี้ จะกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลมาจากการสัมผัสและการกินที่ปนเปื้อนมากับอาหาร เนื่องจากเด็กเล็กๆ มีความอ่อนไหวต่อความเป็นพิษได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันกำลังพัฒนา และส่วนหนึ่งพวกเขายังสัมผัสกับสารเคมีตกค้างมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กเล็กๆ ก่อน 1 ขวบ กินได้ไม่กี่อย่างและแต่ละอย่างก็ยังกินเป็นประจำ โดยเฉพาะผลไม้

สารเคมีตกค้างเหล่านี้ยังส่งผลต่อไอคิวของเด็ก มีการศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และ Mount Sinai โรงเรียนการเรียนการสอนด้านการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ ได้ติดตามผู้หญิงที่สัมผัสกับสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในปริมาณที่สูงขึ้นขณะตั้งครรภ์ และพบว่า เมื่อเด็กเหล่านี้เข้าสู่วัยประถม กลับมีไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่าเพื่อนในวัยเรียนหลายเท่า

นอกจากนี้ในปี 2018 ก็มีรายงานจากศูนย์มะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (President’s Panel on Cancer) ให้ข้อมูลว่า ชาวอเมริกันแทบทุกคน รวมไปถึงคนทั่วโลก ต่างสัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตรกว่า 1,400 ชนิดเป็นประจำทุกวัน และสารเคมีเหล่านี้อาจก่อให้เกิดโรคที่เชื่อมโยงกับสมอง ระบบประสาทส่วนกลาง รวมไปถึงมะเร็งชนิดต่างๆ

ทางสายกลาง

ในความเป็นจริง อาหารและวิถีออร์แกนิกก็อาจทำได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ด้วยเหตุผลหลายประการ และปัจจัยที่ไม่เท่ากันของแต่ละครอบครัว ซึ่งทางทางศูนย์เกษตรกรรมยั่งยืนและทรัพยากรธรรมชาติที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ระบุว่า

ทุกวันนี้ยาฆ่าแมลงยังคงค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม นั่นเท่ากับว่าไม่มีอาหารใดที่ปราศจากสารตกค้าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยอาหารอินทรีย์ก็มีสารเคมีตกค้างต่ำกว่าอาหารทั่วไป

ทุกอย่างเริ่มต้นบนทางสายกลาง ด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกให้กับตัวเองและลูกน้อยบ้าง โดยเฉพาะอาหาร เพราะเข้าสู่ร่างกายโดยตรง อย่างผู้เขียน ระหว่างที่ตั้งท้อง เรื่องแรกคือ เลือกผักและผลไม้ออร์แกนิกจากสวนและแปลงผักของคนรู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ เลือกซื้อเท่าที่หาได้และพอมีกำลังจะจ่ายไหว ทำอาหารกินเอง และปรุงให้น้อยลง แต่ยังคงสารอาหารที่หลากหลาย และเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 4-6 เดือน ก็เลือกที่จะไปอยู่ในที่ที่ปลอดโปร่ง อากาศดี อย่างที่บ้านทุ่งโพธิ์ เพื่อรับออกซิเจนสะอาดๆ เข้าสู่ร่างกาย ให้เลือดไหลเวียนสะดวก อารมณ์แม่ดี ลูกในท้องก็มีพัฒนาการที่ดีตามไปด้วย

ส่วนผลิตภัณฑ์ภายนอก ก็เลือกที่จะไม่ใช้สิ่งใดเลย ยกเว้น น้ำมันมะพร้าวที่มาทาผิว ป้องกันผิวแห้งและแตกเท่านั้น อย่างน้อยเราก็มั่นใจว่า ไม่มีสารเคมีอื่นใด ที่ซึมเข้าสู่ผิวของแม่ แล้วอาจส่งผลเข้าไปถึงลูกในท้อง

เมื่อลูกถึงวัยที่กินอาหารคำแรก ออร์แกนิกฟู้ดฝีมือแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งข้าวออร์แกนิก เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ซื้อเพียงครั้งเดียว สามารถทำและแช่ฟรีซกินได้หลายมื้อ อาหารที่หลากหลาย และมีสีสันตามธรรมชาติ ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการกินของลูกในอนาคต ทำให้ลูกเป็นเด็กที่ไม่เลือกกิน และกินได้ง่ายขึ้น

กระทั่งเมื่อลูกโตขึ้น เริ่มตั้งแต่วัยอนุบาล นอกจากอาหารดีๆ แล้ว วิถีออร์แกนิกแบบคนเมืองก็ทำได้ ผ่านการเรียนรู้ในพื้นที่เล็กๆ หน้าบ้าน ในกระถางปลูกผักอินทรีย์ ชี้ชวนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพืชผักตั้งแต่ยังเป็นต้นอ่อน ไปจนถึงเก็บมาทำเป็นกับข้าวที่เขากินได้ เรื่อยไปจนถึงการชวนลูกเข้าครัว ทำกับข้าวจากผักต้นนั้นด้วยตัวเอง หรือการพาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพาไปดูนาข้าว ฟาร์มต่างๆ หรือแม้แต่ไปตลาดสด รวมไปถึงซูเปอร์มาร์เก็ต

ผู้เขียนเชื่อว่า การพาเอาวิถีออร์แกนิกเข้ามาอยู่ร่วมกับเรานั้นทำได้ไม่ยาก อาจจ่ายแพงขึ้นนิดหน่อย แต่ถือว่าคุ้มค่ากับสุขภาพในระยะยาว

ความ (ไม่) ลับของโลกออร์แกนิก

สิ่งสำคัญอีกอย่างของโลกออร์แกนิก นอกจากสุขภาพที่ดีของเด็กๆ แล้ว ออร์แกนิกยังดีต่อสุขภาพของสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ด้วย อย่างในวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง โลกของมดแดงและแตงกวา (เอยด้วย) ตอนความลับใต้ผืนทราย ว่าด้วยเรื่องของภารกิจสีเขียว ขยะ และรอยเท้านิเวศ (ecological footprint) ทั้งหมดเป็นผลมาจากผลพวงของอนินทรีย์ ที่เกิดจากน้ำมือของเราทุกคน รวมไปถึงภาคการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีสารเคมีปนเปื้อนติดมากับอาหารและในสิ่งแวดล้อม ระบบอุตสาหกรรมกับการปล่อยของเสียทั้งทางอากาศและน้ำ และการคมนาคมทั้งหลาย

สุดท้ายเมื่อโลกบอบช้ำซ้ำๆ ร่างกายของมนุษย์ก็คงไม่ต่างกัน

ที่มาข้อมูล
www.time.com
www.naturespath.com

ภาพถ่าย: ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล, 123rf