การพัฒนาระบบอาหารไม่ใช่เพียงเป้าหมายของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ทว่าคือเป้าหมายร่วมของประชากรโลก คือเหตุผลของการเกิดขึ้นของเวทีการหารือสาธารณะ อิ่ม ดี มีสุข: สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UNFSS Independent Dialogue in Thailand) หัวข้อ ผักจะเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร? ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ในความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พืชผักโลก (World Vegetable Center: WorldVeg)

เป้าหมายของการจัดเวทีในครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของผักผลไม้ให้เป็นวาระแห่งชาติ

ใจความสำคัญของการหารือที่ผ่านมา อยู่ตรงการตั้งคำถามถึงความสำคัญของผักผลไม้ในหลายมิติ ไม่ใช่เพียงมิติด้านสุขภาพที่เป็นประเด็นสำคัญหลักเท่านั้น แต่รวมถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการประเมินจากองค์การอนามัยโลกว่า 1 ใน 5 ปัจจัยหลักที่ทำให้คนทั่วโลกเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรังนั้นมีสาเหตุมาจากการบริโภคผักและผลไม่ไม่เพียงพอ ซึ่งปริมาณขั้นต่ำของผักผลไม้ที่ควรบริโภคต่อวันนั้นองค์การอนามัยโลกระบุว่าอยู่ที่ 400 กรัม แม้จะเป็นปริมาณที่ดูเหมือนไม่เกินกำลังในการบริโภค แต่ในความเป็นจริงแล้วประชากรโลกรวมถึงคนไทยยังคงบริโภคได้ไม่ถึงเกณฑ์

หนึ่งในตัวแทนของภาคีผู้เข้าร่วมหารือในครั้งนี้อย่าง ผศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อสรุปจากการประชุม Global Panel on Agriculture and food systems for Nutrition ปีที่ผ่านมา พบว่าข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบอาหาร 2 ใน 10 ข้อนั้นเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคผักผลไม้ ในกรอบของการผลักดันการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย และการเพิ่มปริมาณการบริโภคผักผลไม้ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก

นอกเหนือกว่านั้น การสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักผลไม้ยังเป็นแรงผลักดันการพัฒนาในกรอบที่กว้างกว่าประเด็นสุขภาพ ด้วยรวมถึงความมั่นคงทางด้านอาหารและความมั่นคงระดับฐานรากของชาติด้วย เนื่องจากหลักการสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารนั้น หมายรวมถึงคุณภาพของอาหารและปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อจำนวนประชากร

การเพิ่มระดับการผลิตผักผลไม้ที่มีคุณภาพสูง จึงสอดคล้องกับการเพิ่มระดับความมั่นคงทางด้านอาหารของชาติ

มากไปกว่านั้น การสนับสนุนการบริโภคผักผลไม้ยังเป็นปัจจัยเสริมศักยภาพของประชากรโดยเฉพาะวัยแรงงานในอีกทางหนึ่งด้วย เพราะเมื่อประชากรมีสุขภาพดี ย่อมส่งผลให้ศักยภาพในการทำงานย่อมมีประสิทธิภาพดีขึ้นตามมา รวมถึงยังส่งผลต่อระดับความมั่นคงของระบบสาธารณะสุขในทางอ้อมเช่นกัน ทว่าเมื่อพิจารณาถึงกระบวนการส่งเสริมดังกล่าว ตัวแทนจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ต้องผลักดันการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ด้วยการมองการพัฒนาประเด็นผักผลไม้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒาระบบอาหารที่ต้องให้ความสำคัญในทุกจุดของห่วงโซ่การผลิต กว่านั้นยังควรส่งเสริมให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ผนวกเข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ในภาพใหญ่ไปด้วยกัน


ทางด้านอีกหนึ่งภาคีผู้เข้าร่วมเวทีสนทนาในครั้งนี้ อย่างกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า

แผนการสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักผลไม้นั้นต้องผลักดันอย่างเป็นองค์รวม คือมองการพัฒนาอย่างรอบด้านตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

อาทิ การสนับสนุนการผลิตผักผลไม้ปลอดสารเคมีให้มีมาตรฐานสากล และสามารถเข้าถึงประชากรได้ในวงกว้าง รวมถึงการพัฒนาระบบการกระจายสินค้าเกษตรและอาหารไปพร้อมๆ กันด้วย

นั่นเท่ากับว่าทุกภาคส่วนในสังคม ย่อมมีส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาดังกล่าวไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะปัจจัยเชิงสถาบัน อาทิ นโยบายรัฐ ที่ควรจัดสรรให้การผลิตและบริโภคผักผลไม้ไว้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ และมองการพัฒนาเป็นภาพใหญ่ ผ่านการสนับสนุนให้สถาบันที่เกี่ยวโยงกับชีวิตประชาชน มีส่วนสนับสนุนการผลิตและการบริโภคผลไม้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสนับสนุนให้โรงเรียนและโรงพยาบาลเป็นแหล่งกระจายผักผลไม้สู่ประชาชน ผ่านการสนับสนุนให้สถาบันเหล่านั้นรับซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัยมาใช้ปรุงอาหารภายในองค์กร เช่น อาหารกลางวันของนักเรียน หรืออาหารคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนให้เกิดการบริโภคทางตรงแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งรายได้ที่มั่นคง ที่จะส่งผลต่อความยั่งยืนในการพัฒนาการผลิตอาหารปลอดภัยต่อไปในระยะยาว

นอกจากนั้น ภาคส่วนของ Non-health Sector เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ สื่อสารมวลชนที่ช่วยสร้างการตระหนักรู้ด้านอาหาร (food literacy) ให้กับสังคมอย่างถูกต้องและแพร่หลาย รวมถึงช่วยสร้างบรรยากาศสนับสนุนให้การบริโภคผักและผลไม้ของประชาชนดำเนินไปอย่างมีความเข้าใจ รื่นรมย์ และมองเห็นประโยชน์ของการกินผักผลไม้ในมุมกว้าง

กล่าวได้ว่า ประเด็นสำคัญของเวทีการหารือหัวข้อ ผักจะเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร?’ คือการกลับมาตั้งคำถามกับทิศทางการพัฒนา ระบบอาหาร (food system) ของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ด้วยผักผลไม้ไม่เพียงสำคัญในมิติสุขภาพ หากเกี่ยวข้องกับมิติด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ดังนั้นการผลักดันการพัฒนาระบบการผลิตและบริโภคผักผลไม้ให้ก้าวหน้า ย่อมเท่ากับการพัฒนาอย่างสังคมอย่างรอบด้านไปพร้อมกัน และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมผักผลไม้จึงควรกลายเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ

ภาพถ่าย: 123rf,  Greenery.