ครบรอบหนึ่งปีที่ประเทศไทยเริ่มทดลองใช้นโยบายงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต หลังจากภาพของพลาสติกถูกวางตัวให้เป็นผู้ร้าย และกลายเป็นสิ่งที่นโยบายสาธารณะเลือกยิงทิ้งเป็นสิ่งแรกเพื่อหวังลดปัญหาขยะ หากแต่การแบนโดยปราศจากทางเลือกและมาตรการรองรับให้ผู้บริโภค ไม่อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ความสัมพันธ์ของคนกับการใช้พลาสติกฝังรากลึกในชีวิตประจำวัน และยิ่งจำเป็นมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หากเปรียบเรื่องนี้เป็นความรัก การออกนโยบายแบนถุงพลาสติกและการแบนพลาสติกออกจากวิถีชีวิต ก็ไม่ต่างจากการที่พ่อแม่บังคับให้ลูกวัยรุ่นเลิกกับแฟนแบบไม่อธิบายเหตุผล ความไม่เข้าใจนำพาให้ผู้ถูกสั่งเข้าสู่ลูปของอาการตัดไม่ขาด และขอให้ใครสักคนขี่ม้าขาวเข้ามาพาออกจากความเคยชิน ร้อยทั้งร้อยของนิยายรักสอนเราว่า ตอนจบจะแฮปปี้เอนดิ้งได้ก็ต่อเมื่อเกิดความเข้าใจ แล้วเราเข้าใจเหตุผลของการต้องบอกเลิกถุงพลาสติกนี้กันแค่ไหน?

ตอนจบของเกมกำจัดพลาสติกนี้จึงไม่ต่างจากความรัก เมื่อพระเอกที่ขี่ม้าขาวเข้ามาครั้งนี้ ชื่อ ‘พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ’ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผู้ผลิตเสนอทางเลือกที่รักษ์โลกมากขึ้นให้กับผู้บริโภค แต่สิ่งที่กำลังนิยมใช้แทนพลาสติกกันทุกวันนี้จะเป็นพระเอกที่นักวิทยาศาสตร์ส่งมา หรือแค่การตลาดในคราบอัศวิน ชวนมาทำความรู้จักพลาสติกชนิดนี้ให้มากขึ้น พร้อมสร้างความเข้าใจเพื่อสร้างตอนจบที่แฮปปี้ให้ทั้งเราทั้งโลกกัน

ทำความรู้จักกับ ‘พลาสติกชีวภาพ’ กันก่อน

บางครั้งบางคนเรียกพลาสติกย่อยสลายได้ว่า ‘ไบโอพลาสติก’ หรือพลาสติกชีวภาพ ซึ่งอาจทำให้สับสนระหว่าง bioplastics กับ biodegradable plastics

พลาสติกชีวภาพ (bioplastics) คือชนิดของพลาสติกที่ต้องมีคุณสมบัติหนึ่งในสองข้อ คือ หนึ่งผลิตจากชีวมวล (biomass) หรือมีวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิต (bio-based) เช่น มันสำปะหลัง ฟางข้าว อ้อย ข้าวโพด หรือสอง ต้องสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable) พลาสติกชนิดนี้ถูกคิดค้นเพื่อใช้วัตถุดิบที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ง่ายอย่างชีวมวล มาผลิตพลาสติก แทนการใช้ปิโตรเลียมที่เป็นทรัพยากรที่มีวันหมด และลดการใช้พลังงานในการผลิต

พลาสติกชีวภาพจึงไม่จำเป็นที่จะต้องย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และมีทั้งแบบที่ย่อยสลายในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติได้ และไม่ได้

พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ คืออะไรกันแน่

การสลายได้ (decompose) นั้นเป็นคุณสมบัติหนึ่งของพลาสติก (และสิ่งของทุกชนิด) อยู่แล้ว แต่การย่อยสลายของพลาสติกนั้นไม่สามารถย่อยได้ด้วยจุลินทรีย์เหมือนซากพืชซากสัตว์ ปัญหาคือเจ้าพลาสติกใช้เวลาย่อยนานหลายร้อยหรือหลายพันปี (จึงนิยมเรียกพลาสติกว่าย่อยสลายไม่ได้) และการสลายนั้นกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำในดินและวนกลับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ อีกทั้งระหว่างที่พลาสติกยังไม่ย่อยสลายนั้นสร้างปัญหาขยะมากมาย และเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลและสัตว์ป่าตามที่เราเห็นข่าวกันบ่อยครั้ง เพื่อแก้ปัญหานี้ ทางเลือกใหม่ที่เราได้ยินกันมากขึ้นวันนี้คือ ‘พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ’ ซึ่งเป็นการออกแบบวิธีเพื่อทำให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น เป็นพิษต่อธรรมชาติน้อยลง ด้วยตัวแปรที่แตกต่างกัน

การย่อยสลายได้ของพลาสติกที่เราพบเห็นบ่อย

ในการย่อยสลายของพลาสติกชนิดที่เราพบเห็นกันในชีวิตประจำวัน แบ่งออกได้เป็น 3 แบบคือ

ย่อยสลายไม่ได้ (ในความหมายนี้คือใช้เวลานานในการย่อยสลาย) หรือพลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียม

บางครั้งที่เราเห็นพลาสติกเสื่อมสภาพเมื่อโดนแดดเลีย นั่นคือกระบวนการ ‘Photodegradable’ หรือการเสื่อมสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์ โดย Photodegradable Plastic คือพลาสติกทั่วไปที่เติมสารที่มีความไวต่อแสง (รังสียูวี) ลงในพลาสติก เพื่อให้พันธะสลายตัวง่ายขึ้น และแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ คุณสมบัตินี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะการย่อยด้วยแสงอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี เเละการแตกตัวของพลาสติกนั้นอาจทำให้เกิดเป็นไมโครพลาสติกอยู่ดี รวมทั้งหากพลาสติกชนิดนี้หลุดไปยังหลุมฝังกลบที่ไม่ได้รับแสงหรือสภาพแวดล้อมมืดก็จะไม่สามารถย่อยสลายได้

ย่อยสลายได้บางส่วน คือพลาสติกที่แตกตัวได้ พลาสติกกลุ่มนี้มักถูกเรียกว่า พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมใช้และสร้างความเข้าใจผิดกันมาก ว่าการแตกตัวได้คือการย่อยสลายได้

Biodegradable Plastic หรือ ‘พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ คือพลาสติกผสมระหว่างพลาสติกกับวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเช่น อ้อย แป้งมันสำปะหลัง ฟางข้าวโพด ทำให้พลาสติกมีโครงสร้างเอื้อต่อการทำงานของเอนไซม์ในจุลินทรีย์ในธรรมชาติ จึงสามารถย่อยสลายเป็นน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และชีวมวลได้ โดยส่วนใหญ่จะย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ภายในหกเดือน (180 วัน) ในสภาวะที่เหมาะสมเท่านั้น เช่น ด้วยการจัดการด้วยจุลินทรีย์แบบเฉพาะ อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสมเท่านั้น หากพลาสติกชนิดนี้ถูกทิ้งที่หลุมฝังกลบก็สามารถย่อยสลายได้ แต่การปล่อยให้ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้รับการจัดการเฉพาะ การแตกตัวนี้จะปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศโลก ไม่ต่างจากขยะประเภทอื่นๆ ที่หลุมฝังกลบ

หากพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ รั่วไหลลงสู่ทะเล ก็จะเกิดการแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ และกลายเป็นไมโครพลาสติก ไม่ต่างไปจากพลาสติกทั่วไป

Oxo-degradable Plastic หรือ Degradable Plastic หรือ พลาสติกออกโซ
คือพลาสติกที่มีการเติมสารเติมแต่งจำพวกโลหะหนักลงไปในพลาสติกทั่วไป (PE, PP, PET, PVC) เพื่อให้พลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ได้เร็วขึ้น ในสภาวะที่มีแสงแดด ความร้อน หรือความชื้น แล้วแต่สารที่เติม พลาสติกชนิดนี้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในการผลิตถุงพลาสติก อุปกรณ์ประมง แห อวน เป็นต้น เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าย่อยสลายได้เป็นมิตรกับโลก แต่แท้จริงแล้วการแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ นี้สร้างไมโครพลาสติก ที่ทำให้การจัดการยากขึ้นกว่าเดิม มากกว่านั้นการสลายตัวนี้ยังปล่อยสารเคมีพวกโลหะหนักมาปนเปื้อนน้ำและดินอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ภาคธุรกิจ และองค์กรต่างๆ ในหลายประเทศกำลังเรียกร้องให้มีการแบนพลาสติกชนิดนี้

ย่อยสลายได้ 100% กลายเป็นปุ๋ย โดยมีมาตรฐานการย่อยสลายทางชีวภาพรับรอง

พลาสติกกลุ่มนี้ได้แก่ Compostable Plastic หรือ ‘พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ’ ซึ่งหมายถึง พลาสติกที่ทำมาจากพืช เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ทำให้สามารถสลายตัวเป็นแร่ธาตุและสารประกอบในธรรมชาติ หรือที่เรารู้จักกันในนามปุ๋ยหมัก โดยจะสามารถสลายตัวได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการหมักปุ๋ยระดับอุตสาหกรรมหรือเครื่องหมักปุ๋ยจากเศษอินทรีย์ โดยทั่วไประบบทำปุ๋ยหมักแบบอุตสาหกรรมจะใช้ความร้อน 55-60 องศาเซลเซียส หากหมักแบบครัวเรือนต้องใช้เวลานานขึ้น ซึ่งหากทิ้งพลาสติกชนิดนี้ไว้ในสภาพแวดล้อมทั่วไปก็จะไม่สามารถย่อยสลายได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าพลาสติกที่เราใช้ย่อยสลายได้จริงไหม

มักมีความเข้าใจผิดระหว่าง ‘พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ (biodegradable) กับ ‘พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ’ (compostable) ซึ่งมีข้ออธิบายดังนี้ว่า พลาสติกแบบ biodegradable คือพลาสติกที่มีส่วนผสมที่ย่อยสลายได้ ซึ่งต้องได้รับการจัดการในสภาพแวดล้อมพิเศษ ส่วนพลาสติกแบบ compostable คือวัสดุทดแทนพลาสติกที่ทำมาจากพืช สามารถทิ้งรวมกับเศษอาหารและหมักเป็นปุ๋ยได้ แต่ควรได้รับการจัดการผ่านกระบวนการทำปุ๋ยหมักร่วมกับการจัดการเศษอาหารเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน เพื่อทำให้ย่อยสลายได้แบบปลอดภัยต่อโลกร้อยเปอร์เซ็นต์

* ทั้งนี้ความหมายและการใช้สื่อสารนั้นอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการขยะและการผลิตวัสดุในประเทศนั้นๆ และในไทยยังไม่มีคำแปลอย่างเป็นทางการ

นอกจากความใกล้เคียงของการย่อยสลาย 100% กับการแตกตัวมาย่อยสลายบางส่วน ที่สร้างความสับสนในการใช้ให้ผู้บริโภคแล้ว หน้าตาและสัมผัสของพลาสติกทั้งสองชนิดนี้นั้นเหมือนพลาสติกทั่วไปและพลาสติกรีไซเคิล ทำให้ยากต่อการแยกทิ้งซึ่งส่งผลอย่างมากต่อระบบการจัดการขยะ เพราะแม้พลาสติกหลายประเภทจะย่อยสลายได้ แต่แต่ละชนิดจะย่อยได้ดีเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเท่านั้น การทิ้งผิดที่ผิดถังจึงอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนได้

ในประเทศที่มีระบบการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง จึงนิยมและขอความร่วมมือทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ใช้แบบ Compostable มากกว่า และต้องมีมาตรฐานรับรองการย่อยสลายด้วย

ดังนั้นเพื่อส่งเสริมทางออกในการจัดการขยะ จึงมีการสร้างมาตรฐานในการผลิตเพื่อการจัดการที่ถูกทาง และมีฉลากบอกประเภทพลาสติกแก่ผู้บริโภคเพื่อทิ้งให้ถูกถัง เพื่อรับรองพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ หากอยากมั่นใจว่าของที่เราใช้นั้นย่อยสลายได้จริง ให้มองหาสัญลักษณ์ ISO 17088, มอก.17088-2555, ในสหรัฐอเมริกาใช้ ASTM D6400 หรือในยุโรปใช้ EN 13432

และด้วยเหตุนี้ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ) จึงบัญญัติศัพท์ Environmentally Degradable Plastic (EDP) โดยให้นิยามว่า “กลุ่มสารโพลีเมอร์ธรรมชาติและโพลีเมอร์สังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีภายใต้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีจะต้องตามด้วยการย่อยสลายและการดูดซึมของจุลินทรีย์จนได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ การย่อยสลายและการดูดซึมนี้ต้องเกิดขึ้นได้รวดเร็วเพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดการสะสมของสารในสภาวะแวดล้อม” หรือ “กลุ่มพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ คือสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และต้องสลายตัวทางชีวภาพกลายเป็นปุ๋ยได้ด้วย”

 เมื่อพลาสติกย่อยสลายได้กลายเป็นปัญหาใหม่

ปัจจุบันตลาดพลาสติกแบบย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegrable) นั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะประเทศที่มีความตื่นตัวเรื่องมลภาวะพลาสติก อาทิ ฝั่งยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น จากรายงาน ปี 2019  มูลค่าการตลาดของพลาสติกชนิดนี้อยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027 การเติบโตนี้แง่หนึ่งนั้นเป็นข่าวดีที่ปัญหาขยะพลาสติกได้รับการแก้ปัญหา แต่อีกแง่หนึ่งนั้น สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เพียงเปลี่ยนวัสดุแต่ไม่ได้ใช้น้อยลง หรืออาจใช้มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

การใช้พลาสติกนั้นฝังรากลึกอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะพลาสติกนั้นทำให้ชีวิตประจำวันของเราสะดวกสบายขึ้น และยิ่งตอบโจทย์ชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เราต้องเว้นระยะห่าง และรักษาความสะอาดมากขึ้นอีก ปริมาณขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์อาหารและการส่งสินค้าจากการสั่งซื้อออนไลน์จึงพุ่งสูง ทางเลือกแทนการบอกเลิกกับพลาสติกที่กวาดความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกในวันนี้ คือการเปลี่ยนมาใช้พลาสติกแบบย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพราะแค่ได้ยินว่าย่อยสลายได้ ก็สบายใจไปครึ่งหนึ่งแล้ว

แต่คำว่า ย่อยสลายได้ ก็อาจกลายเป็นดาบสองคม เพราะเมื่อใครหลายคนกล้าใช้และรู้สึกสบายใจที่จะใช้มากขึ้น ก็ส่งผลให้การใช้พลาสติกแบบย่อยสลายได้นั้นพุ่งสูง

ทั้งที่ความจริงแล้วการย่อยสลายได้ ไม่ได้แปลว่าย่อยที่ไหนก็ได้ และใช้เท่าไหร่ก็ได้ เพราะการย่อยสลายทางชีวภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสมเท่านั้น ดังนั้นหากในประเทศไม่มีโครงสร้างระบบการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ หรือการจัดการขยะภายในประเทศยังไม่รองรับและปรับตัวตามไม่ทัน พลาสติกเหล่านั้นกลับกลายเป็นสร้างปัญหาใหม่ขึ้นอีก

และในบางแห่ง ถึงจะมีระบบการจัดการขยะอินทรีย์ แต่ผู้บริโภคยังมีความสับสนระหว่าง biodegradable กับ compostable อยู่ดี ทั้งนี้ก็เกิดจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน การขาดมาตรฐานและการออกแบบฉลากที่เข้าใจง่ายจากผู้ผลิต การขาดการบังคับใช้กฎหมายและบังคับให้ผู้ผลิตผลิตอย่างมีมาตรฐานและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไปจนถึงความสับสนของการแยกประเภทขยะที่ต่างกันไปในแต่ละประเทศ หรือเมืองที่อยู่อาศัย เช่น ในอเมริกา เมืองนิวยอร์ก พลาสติกแบบ biodegradable ต้องทิ้งถังขยะทั่วไป ส่วนพลาสติกแบบ compostable ต้องทิ้งถังขยะอินทรีย์ ในขณะที่บางรัฐก็ไม่มีถังขยะอินทรีย์ เป็นต้น

ปริมาณขยะพลาสติกชีวภาพเกินกำลังการจัดการในประเทศ

ในประเทศที่มีระบบการจัดการแต่ขยะมีมากเกินกำลังกำจัด เช่น ประเทศจีน นับเป็นประเทศที่มีการผลิตและใช้งานพลาสติกมากที่สุดของโลก ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ลดใช้ ปี 2018 สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงประกาศถึงความเร่งด่วนในการช่วยกันลดประมาณขยะและลดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างจริงจัง และประกาศนโยบายแบนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยพลาสติกแบบย่อยสลายได้ในธรรมชาติเข้ามาเป็นตัวเลือกทดแทน ที่รัฐบาลจีนส่งเสริมการผลิตมากขึ้น

จากรายงานของกรีนพีซ มีโรงงานผลิตพลาสติกแบบย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 36 บริษัท ซึ่งเพิ่มกำลังการผลิตพลาสติกประเภทนี้ได้ถึง 4.4 ล้านตันต่อปี และคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 การเติบโตของการซื้อขายออนไลน์จะยิ่งทำให้ตลาดพลาสติกนี้โตขึ้นและสร้างขยะพลาสติกแบบย่อยสลายได้นี้ถึงปีละ 5 ล้านตัน อุตสาหกรรมพลาสติกแบบย่อยสลายได้จึงขยายตัวขานรับอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เมืองใหญ่ๆ ของจีนยังขาดระบบการจัดการขยะแบบย่อยสลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ปัจจุบันจีนต้องเผชิญกับปัญหาขยะย่อยสลายได้ที่ประเทศกำลังย่อยสลายไม่ไหว

ส่วนในไทย ปัญหาของเรานั้นคือยังไม่มีโครงสร้างการรับขยะอินทรีย์จากครัวเรือนเพื่อไปทำปุ๋ยหมักแบบอุตสาหกรรม มีเพียงการรับขยะจากศูนย์รวมขนาดใหญ่ เช่น ตลาดสด ตลาดนัด เพื่อไปทำปุ๋ยหมักที่สำนักเขต การทำปุ๋ยหมักระดับครัวเรือนหรือธุรกิจรายย่อย จึงยังเป็นการลงทุนและรับผิดชอบต่อสังคมโดยสมัครใจของฝั่งประชาชนและภาคเอกชนที่ร่วมมือกัน อีกทั้งเครื่องกำจัดเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับครัวเรือนปัจจุบันมีราคาสูง ฉะนั้นหากถามว่าที่ไทยขยะที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติต้องทิ้งที่ไหน คำตอบในวันนี้คือถังขยะทั่วไป กล่าวคือ ถึงเราจะเข้าใจและพร้อมแยก ก็ไม่มีถังขยะสำหรับขยะที่เราแยกแล้ว หรือทางไปต่อให้ขยะที่ย่อยสลายทางชีวภาพของเราได้ย่อยสลายอย่างสมบูรณ์อยู่ดี

Dr.Molly Zhongnan Jia นักวิจัยเรื่องพลาสติกของกรีนพีซเอเชียตะวันออก กล่าวว่า “การปราศจากกฎการควบคุมมาตรฐาน และความสามารถในการจัดการขยะแบบย่อยสลายได้ สุดท้ายแล้วพลาสติกส่วนใหญ่ลงเอยที่หลุมฝังกลบ หรือแย่กว่านั้น ไปลงที่แน่น้ำ และมหาสมุทร”

“และการเปลี่ยนการใช้จากพลาสติกชนิดหนึ่งไปสู่อีกชนิดหนึ่ง ไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษทางพลาสติกได้”

ปัญหาของเรื่องนี้ จึงไม่ใช่ พลาสติกแบบย่อยสลายได้ เป็นพระเอกหรือตัวร้าย หากแต่เป็นการจัดการที่ไม่เหมาะสม การไม่มีระบบรองรับเพื่อจัดการอย่างประสิทธิภาพ และความเข้าใจผิดของผู้บริโภค ที่ทำให้พลาสติกแบบย่อยสลายได้นั้นอยู่ผิดที่ผิดทาง และกลายเป็นปัญหาใหม่ในเกมการจัดการขยะ เรื่องการกำจัดขยะพลาสติกนี้จะจบลงอย่างไร เราทุกคนมีส่วนร่วมในการเขียนตอนจบนี้

ตอนจบที่ยังไม่ Happy Ending

พลาสติกนั้นย่อยสลายได้ แต่ต้องใช้เวลานานนับพันปี และการย่อยสลายนั้นสร้างมลพิษต่อธรรมชาติ วัสดุทดแทนพลาสติก หรือพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงสร้างมาเพื่อลดระยะเวลาการย่อยสลายและลดมลพิษที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลาย ซึ่งการย่อยสลายในธรรมชาตินั้นยังมีข้อจำกัดอยู่ คือต้องการการจัดการใน ‘สภาพแวดล้อมพิเศษ’ ที่เหมาะกับพลาสติกแต่ละชนิด และไม่ควรทิ้งรวมกับพลาสติกทั่วไป

หากพลาสติกที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ก็จะสร้างมลพิษไม่ต่างจากพลาสติกทั่วไป ซึ่งตัวอย่างจากหลายประเทศที่พยายามแก้วิกฤตขยะชี้ให้เห็นว่า

ปัญหาหลักของเกมการจัดการขยะนั้น ขึ้นอยู่กับโครงสร้างระบบการจัดการขยะอย่างถูกวิธีในประเทศ มาตรฐานการผลิต และการให้ความรู้ความเข้าใจต่อผู้บริโภคให้ใช้อย่างพอดี

ทั้งพลาสติกและพลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ไม่มีใครเป็นพระเอกหรือตัวร้าย หากเราเข้าใจคุณลักษณะของวัสดุแต่ละชนิด ใช้อย่างเหมาะสม ทิ้งอย่างถูกทาง และมีระบบการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งต้องการการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งโรงงานผู้ผลิตสินค้า ผู้บริโภค และภาครัฐ เพื่อสร้างตอนจบที่แฮปปี้เอนดิ้งของปัญหาการจัดการขยะสำหรับทุกคน

หรือถ้าเลือกได้ ก็ควรเลือกพลาสติกที่รีไซเคิลได้จะดีที่สุด 🙂

ที่มาข้อมูล
ขอขอบคุณ คุณวรุณ วารัญญานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste
www.edepot.wur.nl
www.burnside.sa.gov.au
www.pttgcgroup.com
www.encyclopedia.com
www.ecostandard.org
www.scimath.org
www.capacitydevelopment.unido.org
www.bbc.com

เครดิตภาพ: Shutter Stock