“เรื่องดอกไม้กินได้เป็นภูมิปัญญาสมัยดั้งเดิมนะ ถ้าเป็นไข้หัวลมหรือไข้เปลี่ยนฤดู แกงส้มดอกแคต้องมาแล้ว เพราะดอกแคช่วยแก้พิษไข้ ดอกไม้หรือใบไม้หลายอย่างเมื่อก่อนกินได้ แต่พอมีเคมีเข้ามา เรากินไม่ได้แล้ว”

อ้อ-ถนอมวรรณ สิงห์จุ้ย เล่าเรื่องนี้ให้เราฟังหลังวางมือจากกรรไกรเล่มเล็กคมกริบ ที่เธอใช้ตัดก้านดอกไม้ที่เห็นในถาด ทุกเช้าจรดเที่ยง ชีวิตของเธอจะขลุกอยู่กับดอกไม้ใบไม้สารพัดชนิดที่คนงานเก็บจากสวนมาส่งให้เธอตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนแพ็กลงกล่องเก็บความเย็น เพื่อจะส่งต่อไปยังลูกค้าซึ่งเป็นเชฟทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเชฟร้านอาหาร เชฟคาเฟ่ เบเกอรี่ ไปจนถึงบาร์เทนเดอร์ ที่ออร์เดอร์ผลผลิตของเธอมาล่วงหน้าตามกติการะหว่างลูกค้ากับคนขาย การจะสั่งปุบปับนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะดอกไม้ในฟาร์มจะถูกแพลนการเก็บเอาไว้ล่วงหน้า และการจะบังคับให้ดอกไม้ออกดอกหรือกลีบบานพร้อมใช้แบบสั่งได้ทุกเมื่อนั้น ก็เป็นเรื่องเกินธรรมชาติของต้นไม้ที่ปลูกด้วยวิถีอินทรีย์แบบนี้

อ้อเริ่มต้นธุรกิจดอกไม้กินได้ หรือ edible flowers มาได้ 4 ปีแล้ว หลังจากที่คลุกคลีอยู่ในภาคการเกษตรอยู่นาน เธอเล่าว่าก่อนจะมาทำงานกลางแดดเช่นนี้ เธอเคยทำงานอยู่ในภาคการศึกษาคือกระทรวงศึกษาธิการมาก่อน เมื่อออกจากงานราชการก็มาเป็นเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ แล้วก็ผันตัวเป็นเกษตรกรเมื่อความคิดมาถึงจุดเปลี่ยน เคยทำสวนเกษตรมากกว่าร้อยไร่ และยังเป็นอดีตนักขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย กรมส่งเสริมการเกษตร และภาคประชาสังคม ซึ่งเธอยอมรับอย่างไม่ปิดบังว่า กว่าจะมาพบทางที่ถูกต้องอย่างวันนี้ ก็เคยเดินพลาดมาหลายครั้ง และช้ำมาหลายหน กับกลไกของโครงสร้างในภาคการเกษตร ที่ฉุดความฝันของเกษตรกรให้ไปไม่ถึงฝั่ง

กระทั่งวันหนึ่งที่เธอได้คำตอบว่า อะไรก็ตามจะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อวางอยู่ถูกที่และถูกเวลา

แน่นอนว่า เธอกำลังพูดถึง ‘ฟาร์มสุข’ ฟาร์มขนาดย่อมในจังหวัดสมุทรสาคร ที่เรากำลังนั่งสนทนากันท่ามกลางดอกไม้พื้นบ้าน ที่อวดคุณค่าได้เต็มตัวเมื่อได้วางอยู่เคียงข้างอาหารที่ปรุงมาอย่างประณีตของเชฟกว่า 100 คน ที่นำผลผลิตในฟาร์มของเธอไปประดับและเสริมรสชาติ

ฟาร์มสุขของคนปลูก ความสุขของคนปรุง ความฟินของคนกิน

ดอกเล็กๆ ของพวงชมพูทิ้งช่อลงบนพุ่มสีเขียวที่วางตัวเป็นแนวกำแพง จะมีใครสักคนที่รู้ว่าดอกไม้ชนิดนี้ไม่ได้มีแต่สีชมพูอย่างที่คุ้นเคย แต่มี ‘พวงขาว’ ที่ออกเป็นดอกสีขาวด้วย จึงมีชื่อเรียกตามลักษณะ และมักพบบ่อยในการใช้ประดับอาหารคาวและขนมหวาน ชบาเมเปิ้ลมีใบสีแดงคล้ำ มองดูคล้ายทั้งเมเปิ้ลและกระเจี๊ยบ ดอกสวยคล้ายชบา ติดลูกจิ๋วๆ คล้ายลูกกระเจี๊ยบแดงย่อส่วน เมื่อเด็ดชิมใบดูจึงรู้ถึงรสเปรี้ยว เราจึงยกให้เป็นแฝดน้องของกระเจี๊ยบแดงมากกว่า เชฟมักใช้วางประดับในแก้วเครื่องดื่มเพราะรูปทรงของใบและมีสีสวย ส่วนดอกหางนกยูงที่ยืนต้นออกดอกเป็นทิวนั้น นั้นมองเผินๆ ดูไม่ต่างกัน แต่คนที่อยู่กับดอกไม้ทุกวันเด็ดมาให้เราเทียบเฉดสี เราจึงถึงบางอ้อว่าในกลีบเล็กๆ บางๆ นั้นมีรายละเอียดให้ได้สังเกต

“ดอกไม่สวยมันก็มีเหมือนกัน แต่เราไม่เก็บ เราเก็บแต่ดอกที่สวยๆ สมบูรณ์ ไม่อย่างนั้นลูกค้าจะเอาไปใช้ไม่ได้ ทุกดอกที่เราส่งไปต้องพร้อมใช้ทั้งหมด ไม่ช้ำ ไม่เหี่ยว”

“เห็นว่าดอกไม้มีอยู่เท่านี้ แต่เก็บวันนี้พรุ่งนี้ก็บานให้เก็บได้อีก มีให้เก็บได้ตลอด”

“เราจะวางล่วงหน้าเลยว่าอีกกี่วันต้องใช้ ต้องแพลนว่ารายอาทิตย์เท่าไร เมนูนี้ของเชฟรันกี่เดือน แล้วจะต้องใช้ของยังไง ถ้ามีเชฟที่ต้องการของแบบเดียวกัน เราก็จะปลูกเพิ่ม ต้องวางแผนทั้งหมด อย่างตอนนี้เปิดจองสำหรับปีหน้าแล้วนะคะ นี่คือการแพลนสำหรับลูกค้าใหม่ เพราะลูกค้าเก่าเราจะรู้กันอยู่แล้ว จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากเปลี่ยนเชฟคนใหม่ ได้เชฟคนใหม่มาก็ต้องมาเริ่มกันใหม่ทุกครั้ง”

ดอกไม้กินได้ของฟาร์มสุข จะแบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่ หนึ่งคือดอกไม้ที่ได้จากต้นผัก เช่น ดอกกวางตุ้ง ดอกกุยช่าย ดอกหอม สองคือดอกที่ได้จากต้นผลไม้ เช่น ดอกมะขาม ดอกมะม่วง สามเป็นดอกไม้จากต้นสมุนไพรหรือผักสวนครัว เช่น ดอกโหระพา กะเพราแดง ดอกข่า ดอกกะทือ ดอกผักเผ็ด และดอกไม้ที่ได้จากไม้ดอกไม้ประดับ อย่างดาวกระจาย หางนกยูง พวงชมพู กระทั่งดอกบานไม่รู้โรย บางชนิดเราเคยกินกันมาบ้าง แต่บางชนิดนั้น การได้มาฟังเรื่องราวที่นี่ก็เท่ากับได้เปิดโลกใหม่

“หมวดดอกไม้จากไม้ดอกไม้ประดับ เราต้องดูประเภทที่ไม่มียาง ไม่มีกลิ่นไซยาไนด์ เพราะกินแล้วจะแพ้ ถ้าเด็ดออกมาแล้วมียางก็ไม่ควรเสี่ยงเลย เพราะเราใช้ดอกสด ไม่ได้เอาไปทอดหรือผ่านความร้อน ดอกไม้บางชนิดเราก็ต้องเลือกว่าจะใช้คุณค่าของเขาทางไหน เพราะบางอย่างเราปลูกพืชหวังผล เช่น ดอกพริก หรือดอกมะม่วง พอเราเก็บดอกแล้วเราก็จะไม่ได้ผลเลย ตอนทำแรกๆ ทะเลาะกับแม่บ้านแทบแตก เพราะเราจะขายดอกพริก เขาไม่เคยเห็นตลาดตะมุตะมิแบบนี้ เขาจะขายเม็ด (หัวเราะ)”

คำว่า ‘ตะมุตะมิ’ ที่เธอเปรียบนั้น หลายคนคงผ่านตากันอยู่บ้างในเมนูของร้านอาหารร่วมสมัย ที่เชฟรุ่นใหม่สาดไอเดียกับการดีไซน์อาหารกันอย่างเต็มที่ แต่ใช่ว่าจะมีเพียงแค่ดอกไม้ที่เธอส่งขึ้นไปวางเคียงข้างอาหาร เพราะใบไม้ฟอร์มสวยและบางชนิดก็ดูกระจุ๋มกระจิ๋มน่ารัก อย่างใบกระเจี๊ยบ ใบผักกาดที่เพิ่งงอกออกมาเป็นใบอ่อน กระทั่งใบมะระขี้นก หรือใบพืชผักชนิดอื่นที่กินได้ ก็ได้ทำหน้าที่นั้นเหมือนกัน

“เรียกว่าเราทำงานด้วยกัน เวลาเชฟคิดเมนูขึ้นมาใหม่ เขาก็จะคุยกับเรา จริตของเชฟแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นรูปแบบอาหารก็จะต่างกัน สมมติถ้าเป็นร้านอาหารมิชลิน การเอาไปแต่งจานจะไม่ใช่แค่เรื่องสวย แต่จะต้องมีมิติ ส่งเสริมรสชาติไปกับจานนั้นด้วย”

เธอยื่นใบกระเจี๊ยบแดงให้เราชิม รสชาติเปรี้ยวนวลๆ อย่างเดียวกับผลกระเจี๊ยบ และความเปรี้ยวแบบนี้แหละที่ทำหน้าที่เสริมรสชาติอาหารจานนั้นให้พิเศษยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้คนปลูกต้องมีความรู้ความเข้าใจในคุณสมบัติของไม้ดอกไม้ใบ คนปรุงก็ต้องมีไอเดียที่จะพลิกแพลงดอกไม้เหล่านี้ได้อวดตัวเองมากกว่ามีดีแค่สวย เพื่อสุดท้ายแล้วจะได้เป็นที่จดจำของคนกินที่เป็นปลายทางของความสร้างสรรค์ทั้งหมด

ผู้หญิงเก็บดอก (ไม้)

อ้อหัวเราะร่วนเมื่อเล่าให้เราฟังถึงตอนที่ว่าก่อนจะตั้งชื่อสวนดอกไม้ว่า ‘ฟาร์มสุข’ ซึ่งมีความหมายถึง ฟาร์มของเกษตรกรที่มีความสุขใจในการทำอาชีพเกษตร แล้วส่งต่อวัตถุดิบดีๆ ให้เชฟมีความสุขใจในการส่งต่อความสุขให้ลูกค้า เธอคิดกับเพื่อนว่า จะตั้งชื่อโปรเจ็กต์ฟาร์มดอกไม้นี้ว่า ‘ผู้หญิงเก็บดอก’ แต่ฟังดูแล้วก็เข้าใจยากสักหน่อยกับลูกค้าของเธอที่เริ่มต้นด้วยเชฟฝรั่งถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ชื่อกลางๆ ฟังดูเรียบง่ายสไตล์อบอุ่นอย่างนี้จึงน่าจะเหมาะกว่า

“เราเกิดมาในครอบครัวที่ทำเกษตร แต่เราก็ถูกฝังหัวมาจากแม่ว่าให้ขยันเรียน เรียนสูงๆ จะได้ไม่ต้องมาลำบากทำงานตากแดด ตอนนั้นอาชีพเกษตรกรเลยไม่ได้อยู่ในหัวเราเลย แต่สามีเราเขาทำสวนมะลิ เราเห็นเขามีเงินสดเข้ามาในมือทุกวัน แล้วเราก็เริ่มเห็นว่าชีวิตเขาดีจังเลย สโลว์ไลฟ์ ในขณะที่เรากลับบ้านดึกๆ ดึกแค่ไหนระบบคอมพ์ของลูกค้ามีปัญหาก็ต้องออกไปแก้ จนปีที่น้ำท่วม พ.ศ.2554 เราเห็นคนกักตุนอาหารกัน แย่งกัน เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราจะอยู่กันยังไง” อ้อเล่าถึงเหตุผลที่ว่าทำไมถึงเปลี่ยนตัวเองมาอยู่ในแวดวงการเกษตร ทั้งในวงวิชาการและเกษตรกรอินทรีย์ที่ปลูกพืชผักป้อนตลาด กระทั่งปักหลักตัวเองอยู่ที่ดอกไม้สีสวยล้วนกินได้เหล่านี้

“เราตั้งโจทย์เลยว่าเมื่อเป็นอาชีพแล้วก็ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้ได้ หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ทำแล้วไม่รวยไม่เอา เราว่าสุดท้ายแล้วเราต้องย้อนกลับมาดูตัวเองก่อนว่าเราอยู่ในโซลูชั่นไหน ความพร้อมอยู่ตรงไหน ที่ทำแล้วไม่รวยก็เพราะไม่รู้จักต้นทุน ไม่รู้จักอะไรเลย ไม่รู้จักลูกค้า ไม่รู้จักวางแผน ขาดทุนก็ทำ เพราะไม่รู้จะทำอะไร แต่ถ้ารู้ว่าต้องทำยังไง เขาจะเห็นความสำเร็จนะ

“ก่อนหน้าที่จะทำเรื่องดอกไม้ เราก็ทำเกษตรอินทรีย์นี่แหละ ขายผักกับผลไม้เป็นหลัก ขายผักตามฤดูกาลบ้าง ทำ box set ให้คนเมืองบ้าง เดิมทีตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการพืชชุมชน เพราะอ้อทำงานกับทีมจังหวัด”

“อ้อเป็นคนรุ่นใหม่ที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นวิทยาศาสตร์ต้องตอบโจทย์อ้อให้ได้ว่าผลเป็นบวกหรือเป็นลบ เราเลยสนใจการใช้พวกจุลินทรีย์ เพื่อพิสูจน์ว่าทำได้จริงไหม”

“เมื่อก่อนตรงนี้น้ำเน่ามาก และเคยเป็นสวนจำปีเก่า เขามารื้อแล้วปลูกสร้อยทอง แต่พอเรามาปลูกผัก เราก็ศึกษาเพิ่มเติม เขาก็บอกว่าตรงนี้ทำไม่ได้หรอก ที่มันล้อมด้วยอุตสาหกรรม ไปซื้อที่ใหม่ทำเถอะ แต่เราไม่ได้มีเงินมากพอที่จะไปซื้อที่แบบนั้น ก็คิดว่าแล้วเราจะทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้เหรอ ทำไมเราไม่ปรับเปลี่ยน ทำไมไม่หาวิธีแก้ เราสู้มาหมดเพื่อที่จะทำให้ได้ จนเราได้มาตรฐานอินทรีย์มา”

สำหรับอ้อแล้ว หากคิดจะทำอาชีพเกษตรให้มั่นคง ผักผลไม้อินทรีย์ยังให้คำตอบเธอไม่ได้ในเวลานั้น เพราะยังมีเรื่องของกลไกตลาดที่เธอเห็นปัญหาเรื่องการแบ่งวรรณะให้กับสินค้าเกษตร

“เราคิดว่าทำไมเกษตรกรไม่ผลิตให้เป็นสินค้าพรีเมียมทุกตัวไปเลย คือดีที่สุดของความสามารถที่เกษตรกรจะทำได้ ไม่ต้องมีสินค้าหลายเกรด เพราะคนทำภาคเกษตรทุกคนตั้งใจจริง เขาประคบประหงมพืชผักของเขาอยู่แล้ว แต่สุดท้ายพอเราผลิตสินค้าพรีเมียมออกมาได้ เมื่อไปวางอยู่ในโมเดิร์นเทรด สินค้าเราวางอยู่กับชั้นวางสินค้าเคมี ไม่มีอะไรแตกต่าง นั่นสมัยแรกนะ เราก็เลยคิดว่าไม่ได้แล้ว เพราะทำดีแค่ไหน แต่สินค้าไปวางอยู่ในชั้นวางที่ไม่มีการแยกหรือบอกกล่าวเรื่องราว ก็ไม่มีคนรู้ และสุดท้ายก็ถูกกดราคา

“พอมาทำดอกไม้ เราก็ยังยืนยันเรื่องการทำพรีเมียม เพราะเมื่อไรที่ของของเราสามารถบอกกับทุกคนได้ว่ามันเสมอภาคกันหมดนะ พรีเมียมหมด ไม่ว่าคุณจะลูกค้าเกรดไหนหรือกลุ่มไหน คุณได้ของดีเหมือนกันหมด ขายราคาเดียวกัน ไม่มีแบ่งเกรดสินค้าเพราะเราคัดให้หมดแล้ว เป็น niche market ใน ‘need’ คือตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยตรง เชฟสามารถระบุไซส์ได้ตามความต้องการ นั่นหมายความว่าซื้อไปแล้วไม่มีอะไรที่ต้องทิ้ง”

ดอกไม้กับอาหาร เป็นเรื่องของภูมิปัญญา

อ้อทำงานร่วมกับเชฟตั้งแต่คราวที่ยังปลูกผักผลไม้อินทรีย์อย่างเดียว และทำการตลาดแบบ B2C (Business to Customer) ซึ่งไม่ถูกจริตของตัวเองนัก เมื่อคิดจะเบนเข็มมาทำตลาดแบบ B2B (Business to Business) คือมีเชฟหรือธุรกิจอาหารเป็นคู่ค้าโดยตรง เธอจึงตั้งคำถามกับเชฟว่า มีอะไรที่ตลาดเชฟต้องการบ้าง

“เขาก็ลิสต์มาให้ มีผัก เนื้อสัตว์ ของจากป่า ซึ่งมันไกลตัวเรา เราก็เลยมาที่ของตกแต่งที่กินได้ด้วย พอเราอยากได้ข้อมูลด้านนี้เราก็ต้องลุย แล้วเราก็ได้เห็นว่า chef’s table หรือ foodie (นักชิม) เขามีวัฒนธรรมยังไง”

“ถ้าเราอยากรู้อะไรเราก็ต้องเอาตัวเองไปอยู่สังคมนั้น มันมีจริตยังไง กลุ่มผู้บริโภคเป็นยังไง”

“เราเลือกดอกไม้ไทยเพราะว่าตลาดบ้านเรามีรายใหญ่ที่ผลิตสินค้าเป็นไม้นอกอยู่แล้ว และเขาเน้นกลุ่มลูกค้าแบบ B2C เราจึงเอาช่องว่างตรงนั้นว่าเขายังขาดอะไรอยู่ อะไรที่เขาไม่มี และเราอยากทำเรื่องวัตถุดิบไทยกับลูกค้าฝรั่ง เพราะลูกค้าเราช่วงแรกเป็นเชฟฝรั่งเป็นหลัก มีลูกค้าไทยอยู่แค่ 20 เปอร์เซ็นต์เอง เชฟต้น (ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร) กับเชฟแทน (ภากร โกสิยพงษ์) เป็นเชฟสองคนแรกที่ทำกับเรามาจนทุกวันนี้ เชฟแทนนี่แหละเป็นคนจุดประกาย เขามาบอก พี่อ้อ ผมอยากได้ดอกบัว อยากได้เกสรชมพู่”

ด้วยวิสัยที่ชอบทำอะไรแบบลงลึก อ้อบันทึกทุกอย่างลงเป็นข้อมูลเก็บไว้อย่างละเอียดเพื่อเป็น ‘คัมภีร์’ ส่วนตัว และหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการลงทำงานวิจัยกับอภัยภูเบศร ที่ทำงานวิจัยสมุนไพรไทย เพื่อหาความรู้เรื่องสมุนไพร และทำถึงขั้นนำดอกไม้ใบไม้บางชนิดไปตรวจแล็บโดยการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เราจึงพลอยได้รู้เรื่องราวมหัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่ในดอกไม้ใบไม้เหล่านี้ไปด้วย

“ถามว่าดาวกระจายกินได้ไหม กินได้ แต่มีรสชาติฝาดเฝื่อน เพราะเบสเขาเป็นสมุนไพร ช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้ พวงชมพูก็ไม่ใช่แค่สวยนะ เขามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ กินเป็นยา สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาสมัยดั้งเดิม ที่พอมีเคมีเข้ามาเรากินไม่ได้ หรืออย่างกระเจี๊ยบคนบอกกินมากไม่ได้ เราก็ต้องหาข้อมูลมาดูว่า กินได้ แต่ต้องกินไม่เกิน 400 กรัม เราใช้นิดเดียวไม่เป็นอันตราย ใบฟิกนี่เห็นไหม คนเขาปลูกเพื่อให้ได้ลูกฟิกกินผลกัน เราไม่เอา เราขายใบ”

“เชฟเขาจะเอาใบฟิกไปเผาเพื่อให้เป็นกลิ่นมะพร้าวคั่ว มีงานหนึ่งเราส่งไปให้เขายัดในตัวปลาแล้วเผา มันจะทำให้มีกลิ่นหอม”

“ถ้าอยากได้ดอกมะม่วง แต่เราอยากเก็บมะม่วงไว้กินผล เราใช้มะตูมแขกแทน กลิ่นจะเหมือนเกสรมะม่วงอ่อนๆ ลูกออกมาเป็น pink pepper corn เหมือนพริกไทยผสมผลไม้ ในมุมเชฟเขาชอบกันมาก ทำเรื่องดอกไม้ถ้าเอาแค่สวยมันก็สวย แต่ถ้าข้อมูลเชิงลึกไม่มี มันก็ไม่ได้องค์ความรู้ และสิ่งที่ก๊อปปี้ไม่ได้คือองค์ความรู้กับคอนเน็กชั่นนี่แหละ เชฟอยากได้อะไรบอกมา เราช่วยคิดว่าจะมีดอกอะไรหรือใบอะไรที่ให้สิ่งที่เขาต้องการได้

“เราทำงานในเชิงลึก ทำแม้กระทั่งเรื่องเบสสี ร้านกลางคืนที่มืดทึบเราก็ใช้ดอกไม้สีสว่าง โหมดแม่สี คิดละเอียดขนาดนั้น สมัยแรกๆ มีคนว่าเสียเวลา แต่เราว่าการทำอะไรที่เป็นเชิงลึก ทำให้เรามีข้อแตกต่างจากที่อื่น น่าสนใจมากขึ้น เราไม่ได้หวังผลแค่เชฟในเมืองไทย เราหวังผลกับเชฟต่างประเทศด้วย”

ต้นไม้ในฟาร์มสุขแห่งนี้ อ้อดูแลด้วยการให้ธรรมชาติจัดการระบบนิเวศกันเอง มีให้ปุ๋ยอินทรีย์และดึงหญ้าออกเมื่อขึ้นรกจริงๆ และไม่ได้มีการยกร่องปลูกเป็นแถวเป็นแนว มองดูแล้วจึงเหมือนขึ้นเองตามอำเภอใจเสียมากกว่า

“เพื่อนถามว่าทำไมเราถึงไม่ปลูกในโรงเรือน ถ้าเป็นไม้นอกอ้อปลูกโรงเรือนแน่นอน นี่เป็นไม้ไทย เขาอยู่ในอากาศแบบนี้อยู่แล้ว ถ้าปลูกในโรงเรือน ไม่ได้รับแสง ต้นไม้จะอ่อนแอ แต่ตอนนี้อ้อกำลังทำ EVAP  (Evaporative Cooling System หรือโรงเรือนปรับอุณหภูมิ) ที่ห้องหน้าบ้านนะ เพราะสภาพอากาศตอนนี้มันเปลี่ยน การจัดการต้นไม้พวกนี้นี่สามฤดูแตกต่างกันเลย คนบอกว่าหน้าหนาวปลูกอะไรก็งาม ไม่จริงเลย หน้านี้จัดการยากสุด เพราะหน้าหนาวไม่มีความชื้น อากาศแห้งเร็ว ถ้าเป็นดอกไม้คือเหี่ยวเลย

“อ้อไม่ได้ปลูกเองคนเดียว ยังมีของคนอื่นที่เราใช้วิธีการแชร์กัน ปลูกไม่ให้ของทับไลน์กัน เราไปวางแพลนให้เขาว่าปลูกอะไรเท่าไร และไม่ใช่ว่าบ้านนี้ปลูกคนเดียว บ้านอื่นไม่ต้องปลูก ไม่ได้ เพราะว่าถ้าบ้านนี้เกิดมีหนอนลงหมด หมายความว่าเราจะไม่มีของ เราต้องกระจายความเสี่ยง”

ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ในฐานะที่ได้อยู่กับข้อมูลและลงมือปฏิบัติเอง เธอแย้งว่า “ถ้าคิดจะทำเรื่องดอกไม้ ให้ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งก่อนว่า ตรงนั้นมีร้านอาหาร มีโรงแรม มีคาเฟ่ไหม ร้านนั้นเขาขายอาหารให้กับคนเจนไหน และพื้นที่ต้องไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพราะเราต้องส่งของได้เร็ว ไม่ใช่ว่าทุกจังหวัดทำแล้วจะสำเร็จนะ ประเด็นคือมีร้านอาหารหรือโรงแรมห้าดาวอยู่ในเมืองหรือเปล่า แม้แต่เชียงใหม่ก็ยังยาก เพราะเชียงใหม่เป็นสังคมสโลว์ไลฟ์ คนไปเที่ยวจะไปกินอาหารพื้นเมือง โรงแรมก็ไม่ได้เน้นขายอาหาร ขายแต่ห้องพัก ฉะนั้นแต่ละพื้นที่ต้องใช้บริบทของพื้นที่เป็นตัวตั้งแล้วค่อยวางแผน นี่คือหัวใจหลักสำคัญ

“อ้อไม่กลัวคนก๊อปปี้ ตอนนี้มีคนขายดอกไม้กินได้เยอะขึ้น อ้อว่าดี ทุกวันนี้ก็ยังทำรีเสิร์ชบางตัวอยู่ เราต้องทำตัวเองให้เป็นเทคโนโลยี ถ้าเมื่อไรเราหยุดพัฒนา เราจะไม่มีลูกเล่นใหม่ๆ มีคนถามว่าถ้าธุรกิจถูกก๊อปปี้พี่อ้อไม่กลัวเหรอ เมืองนอกจะร่วมทุนทำไมพี่อ้อไม่เอา ทั้งที่ไม่ต้องลงทุนเองเลยนะ เรารู้สึกว่าการที่เราทำเอง สิ่งเหล่านี้มันยังเป็นตัวเรา เมื่อไรที่เราใช้เงินลงทุนจากคนอื่น ในพื้นที่เราก็ตาม ถ้าเขาเปลี่ยนมุมมองในการทำธุรกิจไป มันก็ไม่ใช่ตัวเรา แล้วเราจะโดนกลืน”

เดี๋ยวนี้ตลาดดอกไม้กินได้ของอ้อ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เชฟและร้านอาหารในเมืองไทยแล้ว เพราะดอกไม้กินได้ของเธอได้เดินทางข้ามแดนไปแล้ว 4 ประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเก๊า ด้วยสายสัมพันธ์จากเชฟที่ร่วมงานกันมา เมื่อนึกย้อนไปถึงที่เธอเคยบอกกับเราว่า หากตั้งอาชีพเกษตรกรเป็นโจทย์แล้ว ก็ต้องเป็นอาชีพที่ทำให้ชีวิตมั่นคงได้ สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเป็นคำตอบได้แล้ว

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร