ถ้าเอ่ยชื่อ ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ หลายคนที่ได้ฟังอาจถึงต้องขมวดคิ้วเพราะไม่คุ้นหู แต่เมื่อไรที่เราพูดถึงเธอว่า น้านิต ผึ้งน้อย หรือภัทรจารีย์ อัยศิริ แทบทุกคนที่วัยเด็กเคยเฝ้าหน้าจอรอดูรายการสโมสรผึ้งน้อยเป็นต้องร้องอ๋อ แล้วร้องเพลงสักเพลงที่เคยติดหูขึ้นมา

“ย่านิตเปลี่ยนมาใช้นามสกุลนี้ ตั้งขึ้นมาใหม่ และยังใช้อยู่คนเดียว” ย่านิตเล่าด้วยน้ำเสียงสนุกแต่อ่อนโยน ใบหน้าแต้มยิ้มแบบที่เราคุ้นเคย เมื่อใครสักคนกระเซ้าว่านามสกุลนี้จำกัดสักกี่คน เธอรับมุกแล้วโยนกลับมาว่า “จะมาใช้ไหมล่ะ แต่ต้องเป็นคนสร้างสรรค์นะ”

คำว่า ‘นักสร้างสรรค์’ คือเนื้อในและตัวตนของย่านิต เพราะเธอทำแต่สิ่งสร้างสรรค์มาตั้งแต่ยังเป็นน้านิตของเด็กๆ ในยุคที่ทีวีคือความสุขใจเบอร์หนึ่ง จนถึงวันนี้ที่วัยล่วงสู่เลข 6 เธอเรียกแทนตัวเองว่าย่านิตกับเด็กรุ่นหลาน ก็ยังคงสื่อสารกับเด็กที่เชื่อว่าพวกเขาคือคนสำคัญของโลกนี้ และโลกต้องการพลังสร้างสรรค์ของพวกเขาในการเดินไปสู่อนาคต

เรามีนัดกับย่านิตในรังของ ‘ผึ้งน้อยนักสู้’ ซึ่งตั้งอยู่ในพึ่งสุขฟาร์มอินทรีย์ ย่านคลองหลวง บ้านดินหลังใหม่ซึ่งก่อผนังด้วยขวดพลาสอิฐ หรืออีโคบริกส์กำลังก่อตัวขึ้น และจะกลายเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มาทำกิจกรรมในอนาคต นอกเหนือไปจากประสบการณ์กลางแจ้งที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากของจริงในรังผึ้งแห่งนี้ และจะเป็นต้นแบบให้คนได้มาเรียนรู้เพื่อกลับไปทำอีโคบริกส์ใช้ในชุมชน เพื่อที่ขยะพลาสติกจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับชุมชนของตนเองได้

เด็กทุกคนคือพลังของการสร้างสรรค์โลก

โครงการ ‘ผึ้งน้อยนักสู้’ เป็นความฝันที่ก่ออยู่ในใจย่านิตมานานหลายปี ถ้าจะให้ย้อนกลับไปก็คือตอนที่ย่านิตทำรายการ ‘ผึ้งน้อยมหัศจรรย์’ ที่เธออยากให้เด็กได้มาใช้ชีวิตแบบที่มนุษย์ควรจะเป็น มากกว่าถูกขังอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม และจับจ้องอยู่ในจอสี่เหลี่ยม

“ไม่ว่าจะเด็กเมืองหรือเด็กไม่ก็ตาม ทุกคนนั่งๆ นอนๆ ถูกครอบงำด้วยสมาร์ตโฟน ไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาทำอะไร เราเลยคิดว่าต้องหาพื้นที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรม ให้ได้มาสร้างทักษะชีวิต เด็กต้องลงมือทำ ให้พวกเขาได้สัมผัสจริง ได้กินผักเราจริงๆ เขาเริ่มรู้สึก เขาทำ เขาเห็น และเขาเข้าใจ ไม่ใช่แค่บอก แต่ได้ลงมือทำจริงๆ”

ผึ้งน้อยนักสู้สร้างรังขึ้นที่นี่ได้ราวสองปี ด้วยความสนับสนุนของเจ้าของฟาร์มที่อยากให้ย่านิตได้มีพื้นที่เพื่อทำประโยชน์กับเด็ก ฟาร์มแห่งนี้ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงไก่ เพราะตั้งต้นกันด้วยว่าอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของการสร้างอาหาร และเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ไปด้วยในตัว

“ถ้ามีพื้นที่ให้เด็กอยู่แล้วให้เด็กมาสัมผัส ให้อิสระเขาในการเรียนรู้จากพื้นที่ที่เขามาแล้วมีความสุข ได้มาเล่นโคลน สไลด์ลงน้ำ แต่มันคงไม่ใช่แบบสวนสนุก เพราะที่นี่เขาจะสนุกอย่างเคารพในธรรมชาติ”

‘กิน ใช้ ให้ พวกเรา’ คือสี่คำที่เป็นคีย์สำคัญที่ย่านิตจะใช้สื่อสารกับหลานๆ ผึ้งตัวน้อย

“กิน คือกินอย่างไรให้เคารพในธรรมชาติ เราเน้นเรื่องความเคารพมาก เด็กต้องกินอย่างเคารพในสิ่งที่ตัวเองกิน ไม่ใช่ว่าหนูไม่ชอบก็เขี่ยทิ้ง หรือกินแล้วไม่เหลือไว้ให้ใครเลย เรื่องกินเรื่องเดียวจะให้อะไรเด็กได้เยอะมาก ให้กินอย่างปลอดภัย รู้ที่มาที่ไปของอาหาร

“ใช้ คือเรื่องแรกที่ย่าคิดว่าจะทำให้เด็กรับผิดชอบได้ เขาต้องใช้อย่างไรให้คุ้มค่า ก็ต้องใช้อย่างเคารพอีกเหมือนกัน ใช้กับทุกอย่างในชีวิตเลย คุณจะใช้อะไรคุณต้องประหยัด ใช้ไฟใช้น้ำก็ต้องประหยัด จะใช้ข้าวใช้ของก็ต้องรู้ว่ามีอะไรที่เหลือใช้มั้ย ไม่ใช่มีเงินแล้วซื้อได้ทุกอย่าง แล้วถ้าของเหลือใช้จะไปอยู่ที่ไหน ก็จะนำมาสู่เรื่องขยะ

“ส่วนคำว่าให้ จริงๆ คือเราสื่อเรื่องต้นไม้ เราอยากให้เด็กปลูกต้นไม้ เราใช้คำว่าให้เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าต้นไม้คือผู้ให้ เวลาเด็กมาที่นี่ย่าจะบอกเด็กว่าจงเป็นแบบต้นไม้ ให้ความร่มรื่น ให้ความร่มเย็น ให้ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ และต้นไม้คือเพื่อนของเรา เราก็มีเพลงต้นไม้คือเพื่อนของเรา เขาก็เรียนรู้ เขาก็เข้าใจ ย่าเคยพูดว่าหนูเคยเห็นต้นไม้ต้นไหนมาขอร้องหนูมั้ย ไม่เคยเลย ต้นไม้มีแต่ให้ แล้วถามเด็กว่าต้นไม้ให้อะไรบ้าง เด็กก็บอกว่าต้นไม้ให้โน่นให้นี่ ย่าไม่ต้องพูดอะไรมาก เขาก็รู้ว่าเออ ต้นไม้นี่ให้เขาจริงๆ ก็เลยบอกเขาว่า จงเป็นต้นไม้ให้ผู้อื่นบ้าง

“คำสุดท้ายก็คือ ‘พวกเรา’ เราจะยังไงต่อ เราจะทำดีไหม เราต้องทำไง ก็ตั้งแต่ต้นเลย กิน ใช้ ให้ แล้วทำให้ดี ย่าก็จะสอนในเรื่องที่ว่า คนเราทำดีต้องทำให้ถึงดี เพราะว่าบางทีเราทำไม่ถึงดี เราหยุด เราท้อไปก่อน เราเลิกทำ เป๋ไป แล้วบางคนก็ทำมากไปจนตัวเองเหนื่อย จนตัวเองรู้สึกว่าฉันทำดีไม่เห็นได้ดี คือจริงๆ มันทำมากไปไง”

Eco Bricks การลงมือเล็กๆ ที่ฝึกให้เกิดสำนึกและรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อเข้ามาในอาณาเขตของผึ้งน้อยนักสู้ เราจะเห็นบ้านดินเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทเดียวที่อยู่ในนี้ ทั้งบ้านดินแบบดั้งเดิมและหลังที่ก่อผนังด้วยอีโคบริกส์ ขวดอีโคบริกส์ที่ถูกส่งมาจากมือของฝูงผึ้งรวมกันอยู่ที่นี่เพื่อเตรียมก่อผนังให้กับอาคารดินอีกหลัง จุดเริ่มต้นของอาคารเหล่านี้ก็มาจากการสอดแทรกเรื่องการจัดการขยะพลาสติกให้กับเด็ก

“ยุคนี้เป็นยุคต้องฟังเด็กเยอะๆ ย่าต้องนั่งฟังเด็กว่าเขาต้องการอะไร คุยกันแบบว่าเรามาช่วยกันเถอะ ปรึกษาหารือกัน มอบหมายงานให้เขาทำ แล้วก็ต้องเชื่อใจเขาว่าเขาทำได้ อย่างเรื่องขยะ เราถามเขาว่า ถ้าทิ้งไปแล้วขยะจะไปอยู่ตรงไหน หนูต้องคิดนะคะ โอ้… อยู่ในถังขยะ แล้วขยะที่อยู่ในถังขยะจะไปไหนต่อคะ ก็…เดี๋ยวมีรถมาเก็บ แล้วรถเก็บไปมันจะไปไหนต่อคะ เราก็ถามไปเรื่อยเลย เราก็บอกว่ามันไปอยู่ในบ่อขยะ แล้วหนูรู้ไหมมันเกิดอะไรขึ้น เด็กไม่เข้าใจเรื่องบ่อขยะ เพราะมันไกลออกไปแล้ว

“แล้วที่บ้านน้ำท่วมไหม เวลาน้ำท่วมหนูเห็นอะไรบ้าง หนูเห็นเศษขยะ ถามว่าขยะมาจากไหน เขาก็ว่าบ้านหนูหรือเปล่า เราอึ้งเลย เขาเริ่มคิด เขาประมวลผลแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กลุกขึ้นมาทำเลยคือ เราฉายคลิปหลอดพลาสติกที่ดึงออกจากจมูกเต่าให้เด็กดู เด็กร้องไห้ตาม เขาสงสารเพราะกว่าจะเอาหลอดออกมาได้เต่าน้ำตาไหล เด็กเลยเก็ต ย่าบอกย่าไม่รู้นะว่าหลอดนั้นของย่าหรือเปล่า หรือของพวกเรา แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ามันไม่ใช่ ทุกคนรู้เลยว่าวิธีที่ง่ายที่สุดคือความรับผิดชอบ ย่าก็หยิบขวดอีโคบริกส์ขึ้นมาให้เขาดู ว่ากินขนมแล้วทำยังไงกับมัน กินแล้วก็แกะแล้วก็ใส่ลงไปในขวด”

การชวนให้ลงมือทำของย่านิต พาเด็กไปไกลกว่าการทำขวดอีโคบริกส์ เพราะเมื่อขยะพลาสติกถูกอัดแน่นจนขวดแข็งเหมือนอิฐ ก็สามารถเอาไปสร้างบ้านได้

“เด็กลุกฮือเลย เขาทึ่งมาก เพราะเราเกริ่นแล้วว่าถ้าทิ้งขยะแล้วเอามาใส่ขวดให้แข็งเป็นอิฐ มันเอาไปสร้างบ้านได้ แต่สิ่งที่เราต้องการจะบอกเขาก็คือ ขวดนี้เป็นขวดแห่งความรับผิดชอบ มันคือความรับผิดชอบต่อขยะที่เราทำมันขึ้นมา

“ขวดอีโคบริกส์คือการกำจัดขยะ ขยะต้องหายไป หรือต้องกลับมาใช้ใหม่ เราต้องสร้างสิ่งไร้ค่าที่คนทิ้งไปให้กลับมามีตัวตน ให้มันมีประโยชน์อีกครั้ง”

บ้านดินของที่นี่ จึงเป็นของจริงที่เด็กจะได้เห็นด้วยตา ว่าขวดอีโคบริกส์ที่พวกเขาทำขึ้นมานั้นใช้ประโยชน์อย่างไรต่อได้ ถึงตรงนี้เราขอให้ย่านิตอธิบายถึงวิธีการทำอีโคบริกส์ที่ถูกต้อง เพื่อจะได้สามารถนำมาใช้งานได้จริงอย่างแข็งแรง เพราะอายุแห่งการย่อยสลายของขวดอีโคบริกส์นั้นอีกหลายร้อยปี การสร้างก้อนอิฐจากพลาสติกให้แข็งแรงจึงเป็นพื้นฐานที่ต้องให้ความสำคัญ

พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ อย่างถุงพลาสติกแบบไม่ยืดจำพวกถุงขนม เศษฟอยล์ หลอดพลาสติก เทปกาวที่เป็นขยะจากสินค้าเดลิเวอรี่ และเศษพลาสติกอื่นๆ ถูกตัดให้เป็นชิ้นเล็กพอจะยัดลงขวดได้ โดยมีพลาสติกแบบยืดชิ้นใหญ่ทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมเศษพลาสติกชิ้นอื่นๆ ในขวดให้ประสานเข้ากันได้แน่นขึ้น ไม้กายสิทธิ์ที่ย่านิตเรียก คือไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งที่หุ้มปลายจับให้กระชับมือ คืออุปกรณ์สำคัญในการกดอัดพลาสติกในขวดให้แน่นเข้ากัน โดยต้องคอยหมั่นกดและออกแรงย้ำไปที่ข้างๆ ขวด ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ขวดอีโคบริกส์ที่แน่นและแกนขวดแข็งแรง และไม่ว่าจะเป็นขวดไซส์ไหนก็สามารถทำเป็นอีโคบริกส์ได้ทั้งนั้น

“ประเด็นคือย่าต้องการแก้ปัญหาของวัสดุที่เราไม่รู้จะจัดการกับเขายังไง ย่าไม่ทิ้งอะไรเลย กระดาษนี่เราแยกไปรวมไว้ รถขยะเขาจะเอาไปคัดแยก และเอาไปขาย เขารู้แหล่ง”

“เชื่อไหมว่าแค่เราทุกคนช่วยกันรับผิดชอบขยะในครัวเรือนตัวเอง มันจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นมหาศาล ถ้าเมื่อไรที่ประเทศนี้จัดการเรื่องการรับขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ เราจะไม่เหลือขยะทิ้งออกไปเลย”

สองมือของย่านิต ยังจับอยู่ที่เศษขยะและค่อยๆ ยัดลงขวดพลาสติกอย่างชำนาญระหว่างที่เรายังคุยกันไปพลาง “เรื่องขยะพลาสติกบ้านเราเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคนยังรักสบายกันอยู่ ตอนนี้ย่าอยากจะให้ลดทีละอย่าง เราต้องหยุดโฟมให้ได้ กล่องโฟมใส่อาหารนี่ต้องให้หมดไปจากโลกใบนี้ เราต้องหาวิธีการรับผิดชอบในการจัดเก็บทำลาย จะค้นคว้า ทำวิจัยอะไรก็ตามก็ต้องทำนะ บริษัทปิโตรเลียมทั้งหลาย คุณผลิตอะไรมา คุณช่วยรับผิดชอบหน่อยเถอะ ลงทุนกับมันหน่อยว่าถ้าใช้เสร็จแล้วจะรับผิดชอบอย่างไรต่อไป เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนใช้เองก็ต้องรับผิดชอบ ฉะนั้นการแยกขยะจึงสำคัญ

“เมื่อก่อนย่าแอนตี้เรื่องรีไซเคิลมาก เพราะย่ารู้สึกว่าการรีไซเคิลทำให้คนไร้ความรับผิดชอบ คิดว่าเดี๋ยวเขาก็คงนำไปรีไซเคิลเอง นึกออกไหม ‘เขา’ น่ะใคร แล้ว ‘เขา’ ทั้งหลายกลับไม่รีไซเคิล มันไปอยู่ในบ่อฝังกลบ เห็นไหมคะรถตักขยะที่ย้วยห้อยระโยงระยางนั่นคือพลาสติก ถุงพลาสติกทั้งนั้น สารพัดพลาสติกเลย”

“ต่อไปประเทศไทยต้องเริ่มเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรื่องการนำขยะพลาสติกกลับไปรีไซเคิล หรือการจัดเก็บอย่างถูกวิธี ขวดพลาสอิฐเป็นขวดที่สร้างจิตสำนึก”

“เพราะเรารู้ว่าพอทิ้งออกไป มันถูกไปฝังกลบแน่นอน มันไม่ย่อยสลาย แต่ถ้าเราเอาใส่ในนี้ แล้วก็นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทุกคนก็จะทำ พอทำแล้วมันก็สอนเราฝังใจ มันจะเกิดสำนึกเลยว่าฉันจะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก ฉันจะหลีกเลี่ยงการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น แล้วเราต้องกลับมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกน้อยที่สุด แล้วถ้าทำพลาสติกออกมาต้องคิดหน่อยว่า มันจะแตกกรอบง่าย แล้วกลายเป็นไมโครพลาสติก อันนั้นไม่ได้

“ย่ารู้สึกว่าต้องกลับไปยุคเดิมที่ทุกอย่างมันใช้ได้นาน มันทนทาน ขอเถอะว่าให้ทำทุกอย่างอย่าให้แตกหักง่าย เสียง่าย แล้วเราก็ต้องลดการใช้ ใช้ให้น้อยที่สุด ใช้เท่าที่จำเป็น จริงๆ เราหลีกเลี่ยงได้นะคะ อย่างย่าจะพกปิ่นโต เวลาจะซื้ออะไรจะเอาไปปิ่นโตไปใส่ เด็กๆ ที่เห็นเขาก็ชอบนะ ดูเท่มาก คนขายจะให้มากกว่าเดิม แล้วก็ชื่นชม เขาก็บอกว่าอยากให้ทุกคนเป็นอย่างนี้ มันคงจะดี คนขายก็ดูหล่อมาก (หัวเราะ)”

ทุกคนคือผึ้งน้อย ที่วันนี้ต้องลุกขึ้นมาเป็นนักสู้

ผึ้งน้อยในวันนี้ต่างจากผึ้งน้อยในวัยที่ผู้เขียนยังเด็กมากนัก ย่านิตซึ่งคลุกคลีอยู่กับเด็กมาทุกยุคทุกสมัย ผ่านรอยต่อของการข้ามผ่านมาไม่รู้กี่ร่องกี่รอยก็เห็นไม่ต่างกัน

“เด็กยุคแรกๆ นี่ถามอะไรจะเงียบ กลัว เขาไม่โต้ตอบ แล้วอีกอย่างเราเองก็ไม่เข้าใจเขา ผู้ใหญ่สมัยนั้นก็เลยต้องการให้เด็กต้องเก่ง ต้องกล้าแสดงออก ก็จะพยายามไปใส่กันตรงนั้น แต่เด็กเดี๋ยวนี้เขารู้เลยว่าเขาต้องการอะไร เด็กพูด เด็กแสดงออก เด็กรู้สิทธิของตัวเอง ฉะนั้นตอนผึ้งน้อยยุคแรกจึงทำเรื่อง เธอคือคนสำคัญ เธอมีตัวตน ประเทศนี้โลกนี้ถ้าไม่มีเธอจะต้องลำบาก หรือเธอต้องโตไปเป็นพลเมืองหรือประชาชนของโลก

“เวลาที่เด็กมาทำกิจกรรมด้วย ย่าจะมองเขาเป็นเพื่อนร่วมงาน สมัยทำรายการสโมสรผึ้งน้อย ก็จะบอกเขาว่ารายการนี้ไม่ใช่ของน้านิตนะ แต่เป็นของพวกเธอ ต้องช่วยกันทำให้เสร็จ เด็กก็จะรับผิดชอบได้อย่างดี เสียดายว่าในยุคนั้นเราไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาคิด มีแต่ให้เขาทำตามคำสั่ง แต่ถ้าเป็นเด็กยุคนี้ เขาจะแจกงานกันเองเลย เข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ มันจะเสียระบบนะคะ หนูบอกน้องไปแล้วว่าให้ทำแบบนี้ (หัวเราะ) นี่คือเด็กอายุ 13 ปี เขาถูกสอนมาให้มีการวางแผน ให้เด็กมีกระบวนการคิด การทำงาน”

แต่ไม่ว่าจะยุคน้านิต หรือย่านิต สิ่งที่เป็นแก่นในการสื่อสารของเธอ คือให้เด็กได้รู้จักคุณค่าของตัวเอง

“มันสำคัญที่สุด มนุษย์เกิดมาต้องรู้ว่าเรามีคุณค่า ถ้าเกิดมาแล้วเราไม่มีคุณค่าอะไรเลยแล้วเราจะเกิดมาทำไม มันน่ากลัวมากถ้าเด็กไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะเขาจะไม่รู้เลยว่าเขาสามารถทำอะไรได้อีกร้อยแปดอย่าง

“เวลาย่าอยู่กับเด็กย่าจะสร้างให้เขามองเห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่อยู่ในตัวเขา พวกเธอทำอะไรได้เยอะแยะเลยนะ บอกเด็กว่าต้องมองเห็นตัวเองนะ”

จากรายการ ‘สโมสรผึ้งน้อย’ ผ่านมาสู่ยุค ‘ผึ้งน้อยมหัศจรรย์’ จนมาถึงตอนนี้ที่งานของย่านิตเดินทางมาถึง ‘ผึ้งน้อยนักสู้’ นั้นดูจะซ่อนนัยอะไรเอาไว้ เราถามย่านิตว่ามันถึงเวลาแล้วใช่ไหม ที่เด็กๆ จะต้องลุกขึ้นมาสู้กับอะไรๆ ที่ทำให้ชีวิตอยู่ยากขึ้นกว่าเก่า

“ใช่ค่ะ ผึ้งน้อยต้องสู้แล้ว ถ้าหนูไม่สู้ ทุกเรื่องมันไม่สำเร็จ เราจะให้คนอื่นมาช่วยเราไม่ได้ ถ้าผึ้งหลายๆ ตัวช่วยกัน สังคมไปรอดนะ เดี๋ยวนี้เวลาไปพูดกับเด็กต้องขอโทษเขาก่อนเลย ย่านิดขอโทษที่ต้องพูดความจริง ไม่ใช่เล่านิทานเหมือนเมื่อก่อน บ้านใครน้ำท่วม ยกมือกัน แล้วลำบากมั้ย น้ำท่วมจะไปอยู่ที่ไหน ก็ไปอยู่ที่สูง แล้วอยู่ได้กี่วัน เด็กก็จะแสดงความคิดเห็นแก้ปัญหา สรุปแล้วทุกคนเข้าใจ เราก็บอกว่าชีวิตหนูจะอยู่ยากขึ้น วันนี้ยังลำบากเท่านี้ แต่ถ้าไม่ลงมือทำอะไร ต่อไปหนูจะอยู่กันลำบากมาก”

เราขอให้เธอสวมวิญญาณน้านิต ที่ตอนนี้แฟนคลับตัวน้อยในอดีตเติบโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ว่าหากน้านิตจะคุยกับพวกเขา จะเปิดเรื่องว่าอย่างไรดี

“ก็ต้องบอกว่า มันหมดเวลาของความสุขสบายของเราแล้ว เราใช้ช่วงเวลาของเราอย่างเต็มที่ เราใช้ทรัพยากรของเราอย่างเต็มที่ ตอนนี้เราต้องกลับมาสำนึกแล้วว่าเราจะเหลือไว้ให้กับเด็กๆ รุ่นต่อไปยังไง มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ขอเพียงเราลงมือวันนี้ ไม่สายหรอก เพราะโลกนี้มันมีไว้สำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ที่เคารพซึ่งกันและกัน

“และเด็กเป็นของสังคม สังคมต้องอุ้มชูกัน เราต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ เราต้องช่วยกันกล่อมเกลา ไม่ใช่ดีแต่บ่น เด็กมันอย่างนั้น เด็กมันอย่างนี้ ไม่ใช่… ผู้ใหญ่ต้องคิดดูสักนิดหนึ่ง พวกคุณทำอะไรไว้ คุณสร้างสิ่งแวดล้อมอะไรรอบๆ ตัวเด็กไว้บ้าง เพราะฉะนั้นอย่ามาบ่นว่าเด็ก”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร