ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีนั้นเป็นกระแสที่ทั่วทั้งโลกให้ความสนใจอย่างมาก นั่นเพราะการที่เราเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า ส่งผลดีหลากหลายอย่างต่อโลก ทั้งช่วยลดมลภาวะทางอากาศ วิกฤตพลังงานในอนาคตจากการขาดแคลนน้ำมันหรือน้ำมันมีราคาแพง แม้กระทั่งมลภาวะทางด้านเสียงของเครื่องยนต์ก็จะลดลงอย่างมากเลยทีเดียว

แต่ในเมื่อมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย นั่นคือราคาที่ยังค่อนข้างแพง สถานีชาร์จไฟที่ยังมีไม่ครอบคลุม ปัญหาด้านการชาร์จไฟที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ถึงแม้ว่าจะสามารถชาร์จไฟฟ้าเองที่บ้านได้ แต่ในหลายๆ กรณีก็ยังไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่าไรนัก รวมถึงมลภาวะในกระบวนการผลิตและกำจัดแบตเตอรี่อีกด้วย แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นสามารถแก้ไขจัดการได้ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

ซึ่ง ณ ห้วงเวลานี้ พวกเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยแห่งยานยนต์ หลายต่อหลายค่ายพยายามสร้างรถยนต์ลูกผสมออกมา เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การขับขี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยปราศจากข้อเสียที่กล่าวไปข้างต้น นั่นคือการพยายามเอาพลังงานอื่นๆ มาเสริมจุดด้อยของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งพลังงานเท้าถีบ ใช่ครับ ปั่นไปขับไป เมื่อยก็หยุด แบตเตอรี่เริ่มหมดก็ปั่นใหม่ ได้ออกกำลังกายไปด้วยในตัว

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เพียงช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหานี้แต่ก็สร้างปัญหาใหม่ ยกเว้นพลังงานอีกอย่างหนึ่งที่จะสามารถต่อยอดรถยนต์ไฟฟ้าไปอีกขั้น นั่นก็คือพลังงานจากไฮโดรเจน พลังงานแห่งอนาคต

ถึงแม้จะกล่าวว่าไฮโดรเจนเป็นพลังงานแห่งอนาคตก็ตาม แต่ก็เริ่มใช้งานจริงในหลายประเทศแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์

เท้าความมาเสียยืดยาว พอเห็นถึงเหตุผลและแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง ก็ได้เวลาเข้าเรื่อง เกี่ยวกับการทำงาน และความเป็นไปได้ของเจ้าไฮโดรเจนตัวนี้แล้ว

ในอนาคต ไฮโดรเจนจะก้าวเข้ามามีบทบาทนำทางด้านพลังงานในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่แนวพระเอกซูปเปอร์ฮีโร่ที่จะเก่งคนเดียว ฉายเดี่ยว กระทืบเหล่าร้ายเป็นฝูงแต่อย่างใด หากแต่เป็นทีมฮีโร่เรนเจอร์หลากสี ที่ต่างรวมพลังกันกอบกู้โลกต่างหาก ตามลักษณะจำเพาะที่เหมาะสมกับพลังของมัน

• ไฮโดรเจน เอกอุทางด้านการสร้างกระแสไฟฟ้า เป็นแหล่งพลังงานน้องใหม่ไฟแรงที่ปลอดภัยกว่า

• แบตเตอรี่ เลิศภพจบแดนด้านการเก็บกักพลังงานไว้ใช้ในทุกสถานการณ์ เป็นผู้ควบคุมสมดุล

• น้ำมัน เสือเฒ่าอดีตแม่ทัพแห่งโลกพลังงานยังไม่ทิ้งลายในอดีต มีพลังจุดระเบิดสร้างพลังงานไฟฟ้าในแบบที่ราคาถูก และช่างซ่อมรถทั่วไปต่างเข้าใจในกลไก ถึงน้องๆ ในทีมจะผิดพลาด บกพร่องตรงไหน พี่ใหญ่น้ำมันพร้อมช่วยเหลือเสมอ ในฐานะผู้เติมเต็มในจุดที่ขาด

• ไฟฟ้า แกนหลักแห่งทีม ทุกๆ อย่างจะดำเนินไปผ่านทางแหล่งพลังงานนี้เป็นหลัก

ตัวอย่างสถานการณ์ ยามพลบค่ำเราชาร์จไฟจากที่บ้านให้เต็ม พอรุ่งเช้าก็ขับรถออกไปทำภารกิจต่างๆ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล เมื่อไฟฟ้าในแบตเตอรี่ลดลงถึงเกณฑ์ที่กำหนด เชื้อเพลิงไฮโดรเจนหรือน้ำมันก็พร้อมสร้างพลังงานเข้าไปเติมแบตเตอรี่ตลอด

น้ำมันหรือไฮโดรเจนจะทำหน้าที่คล้ายเป็นเชื้อเพลิงสำรอง หากเราไม่มีเวลาจอดรถเพื่อชาร์จไฟนานๆ พลังงานสำรองเหล่านี้ก็พร้อมถูกเรียกใช้งานได้ทุกเมื่อ

การทำงานเป็นทีมของแหล่งพลังงาน จะส่งผลให้ระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ในยุคหน้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสมดุล ประหยัด และยังรักษาสภาพแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างลงตัวในทุกๆสถานการณ์ สถานที่และโอกาส

คราวนี้มาถึงเรื่องความปลอดภัยกันบ้าง ไฮโดรเจนเองก็เป็นก๊าซไวไฟอย่างหนึ่งเช่นกัน เมื่อก่อนมีการเอาไปเติมใส่ลูกบอลลูน เพราะคุณสมบัติที่เบากว่าอากาศมันจึงสามารถดึงมนุษย์ขึ้นสู่ท้องฟ้าได้หากมีปริมาณที่มากพอ แต่สุดท้ายก็ บูมมมมม… กลายเป็นภาพจำที่หลอกหลอนมนุษยชาติให้ตื่นกลัวต่อก๊าซไวไฟเสมอมา

แต่นั่นมันในอดีตอันไกลโพ้น เพราะปัจจุบันมีการคิดค้นถังไฮโดรเจนที่มีความทนทานเป็นอย่างมาก ขนาดที่เอาปืนมายิงถึงจนทะลุก็ยังไม่ระเบิด ก๊าซแค่รั่วออกมา แล้วลอยขึ้นฟ้าไปอย่างรวดเร็ว ไม่เจิ่งนองกองเต็มพื้นแบบน้ำมัน นอกเหนือจากนั้น กระบวนการจ่ายพลังงานของไฮโดรเจนก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประกายไฟ มันคือการทำปฏิกริยาเคมีต่อกัน ไม่มีประกายไฟมาเป็นตัวจุดระเบิด จึงทำให้สามารถกล่าวได้ว่าพลังงานไฮโดรเจนมีความปลอดภัยที่มากกว่าน้ำมันด้วยซ้ำไป

ส่วนตัวผู้เขียนเองคิดว่าน้ำมันก็คงไม่หายไปไหน แต่จะถูกใช้งานลดลง ลดบทบาทลง มลพิษก็จะลดลงด้วย โปรดอย่าเข้าใจผิด ผู้ร้ายไม่ใช่คาร์บอน แต่คาร์บอนที่มากเกินไปต่างหากที่ทำร้าย การใช้งานอย่างฉลาดและสมดุลจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ปฏิบัติตามได้ง่ายกว่า และยั่งยืนมากกว่า

ที่มาข้อมูล
www.dede.go.th
www.fuelcell.co.th

ภาพประกอบ: missingkk