‘รถพุ่มพวง’ ที่บ้านเราคุ้นเคยกันดี ได้กลายเป็นช่องทางที่หลายประเทศนำไปใช้กระจายสินค้าสู่ชุมชนด้วยเช่นกัน ไอเดียของรถพุ่มพวงในต่างประเทศเป็นอย่างไร และในบ้านเรามีรถพุ่มพวงคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ขยับตัวไปถึงไหนแล้ว เราอยากชวนมาออกเดินทางตามรอยล้อไปด้วยกัน

บ้านเราคงจะรู้จักคุ้นเคยกับรถขายกับข้าว หรือที่เราชอบเรียกติดปากกันว่า ‘รถพุ่มพวง’ กันเป็นอย่างดี ถ้าใครยังงงๆ กับชื่อนี้อยู่ ก็ขออธิบายเพิ่มว่า เป็นรถกระบะที่เสริมท้ายแล้วมีแม่ค้าขายของนั่งอยู่ มีผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ของสด ของแห้ง ไข่ไก่ ข้าวสาร น้ำปลา ต่างๆ วิ่งมาให้เลือกซื้อถึงหน้าบ้านโดยที่เราไม่ต้องออกไปซื้อกับข้าวข้างนอกไกลๆ หรือถ้าเราอยากได้วัตถุดิบอะไรเป็นพิเศษก็สามารถตีซี้กับคนขายบนรถแล้วบอกให้นำของมาให้ในครั้งต่อไปได้

น่าเสียดายที่รถพุ่มพวงนี้ไม่ได้มีเส้นทางที่เข้าถึงทุกตรอกซอย ทางเลือกที่พอมีสำหรับบ้านที่รถพุ่มพวงเข้าไม่ถึง คือการต้องออกไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อแทน ซึ่งร้านเหล่านี้ทำให้เราสะดวกซื้อของก็จริง แต่ผลเสียที่ตามมาก็คือ ทำให้เรามีตัวเลือกจำกัดในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และหลากหลาย เพราะทุกสิ่งถูกกำหนดด้วยราคา ทำให้เกษตรกรที่มีผลผลิตดีๆ ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ ถ้าไม่ได้ผ่านธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ตัวเลือกของวัตถุดิบและอาหารจะจำกัดอยู่ที่สิ่งที่ผู้ค้ารายใหญ่เลือกมาให้แล้ว ซึ่งจะมีเรื่องของการค้าและผลกำไร มากกว่าประโยชน์ต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ของผู้ผลิตกับผู้บริโภค

ไอเดียของ Fresh Food Truck หรือรถขายกับข้าวแนวใหม่จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งในต่างประเทศและที่เมืองไทย เพื่อนำพาผัก ผลไม้ วัตถุดิบดีๆ จากฟาร์มและแหล่งปลูกมาสู่ผู้บริโภค โดยไม่ต้องไปหาซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตเพียงตัวเลือกเดียวเท่านั้น

Mobile Good Food Market

โมเดล Fresh Food Truck แบบเดลิเวอรี่นี้ มีประโยชน์มากกับผู้คนหลากหลายกลุ่ม อย่างเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ที่เกิดการริเริ่มจากองค์การสาธารณสุขโตรอนโต (Toronto Public Health) ได้ทำ Food Asset Maps ขึ้นมาดูว่า ประชากรในพื้นที่ไหนอยู่ห่างไกลจากแหล่งซื้อหาอาหารที่ใกล้ที่สุดเกินกว่า 1.5 กิโลเมตร พื้นที่ตรงนั้นถือเป็น Food Desert Zone เปรียบเหมือนพื้นที่ทะเลทรายที่ผู้คนเข้าถึงแหล่งอาหารได้ยาก เช่นพื้นที่โซนนอกเมือง ที่ผู้อยู่อาศัยต้องขับรถออกไปซื้อของกินของใช้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เท่านั้น หากไม่มีรถยนต์ หรือสุขภาพไม่แข็งแรง ก็จะกลายเป็นผู้เปราะบางจากการเข้าถึงวัตถุดิบอาหารที่ดี หรือย่านชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองซึ่งตัวเลือกในการบริโภคอาหารที่ดีมีจำกัด โครงการ Mobile Good Food Market จึงเกิดขึ้นในปี 2010  รูปแบบของโครงการนี้คือ

บริษัทขนส่งของเมือง จะนำรถบัสที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาออกแบบปรับปรุงใหม่ให้เป็นรถมินิซูเปอร์มาร์เก็ต

เอาเก้าอี้ที่นั่งออก เปลี่ยนเป็นชั้นวางตะกร้าใส่ผัก ผลไม้ และรถบัสก็มีขนาดกว้างพอให้ผู้คนเดินขึ้นมาเลือกซื้อวัตถุดิบในราคาถูก โดย Mobile Good Food Market คันนี้จะมีจุดจอดตามชุมชนที่อยู่ห่างไกล ตามสถานดูแลผู้สูงอายุ สถานพักฟื้นผู้ป่วยระยะยาว ซึ่งช่วยให้ผู้คนกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงแหล่งอาหารที่ดีในราคาที่สามารถจ่ายได้ ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ในระยะสั้นจะช่วยให้ชาวเมืองได้เข้าถึงวัตถุดิบที่มีสารอาหารที่หลากหลาย และในระยะยาวจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ป่วยเรื้อรัง และช่วยให้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จากที่อาจจะไม่รู้จักกันเลย มาได้เจอหน้า พูดคุยกันระหว่างรอเลือกซื้ออาหาร ส่วนทางสาธารณะสุขผู้ดูแลโครงการนี้ ก็ได้พบปะกับคนในพื้นที่ไปด้วย

The Fresh Truck

ส่วนที่เมืองบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา มีบริษัทสตาร์ตอัพชื่อว่า Fresh Truck มีที่มาจากกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น (Northeastern University) ที่ได้ไปทำงานด้านโภชนาการที่ศูนย์สุขภาพ แล้วพบว่าผู้ป่วยและครอบครัวประสบปัญหาการหาอาหารรับประทานตามโภชนาการที่คุณหมอแนะนำ เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดได้ปิดปรับปรุงเป็นเวลา 1 ปี ทีมผู้ก่อตั้งจึงได้ปิ๊งไอเดีย นำรถรับส่งนักเรียนคันใหญ่มารีโนเวตเป็นรถขายผัก ติดตั้งตู้เย็นสำหรับใส่วัตุดิบที่ต้องแช่เย็นไว้อย่างเนื้อสัตว์ นม เนย ต่างๆ มีเครื่องชั่งน้ำหนัก และมีอาสาสมัครของโครงการผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นแคชเชียร์ ช่วยจัดจำนวนวัตถุดิบใส่รถให้ และนำวัตถุดิบอาหารที่หลากหลายมาให้คนเมืองกลุ่มเปราะบาง เพื่อที่จะช่วยให้ชุมชนย่านต่างๆ ในเมืองที่ไปซูเปอร์มาร์เก็ตได้ลำบากมีช่องทางการเข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณภาพ

จากนั้นทีม Fresh Truck ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปถึงคนทั่วไปในเมืองและนักเรียนตามโรงเรียน โดยไปออกงานอีเวนต์ช่วงสุดสัปดาห์เพื่อโปรโมตเรื่องการทำฟาร์มแบบยั่งยืน การได้ผลผลิตที่ปลอดสารมารับประทาน ที่มาของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ได้รับการเลี้ยงดูแลที่ดี การได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และตรงตามโภชนาการสำหรับเด็กๆ และคนแต่ละช่วงวัย ซึ่งถ้าเวลาไปเยี่ยมตามโรงเรียนหรืองานอีเวนต์ที่มีเด็กๆ มาด้วย นอกเหนือจากการขึ้นไปเลือกซื้อผัก ผลไม้สดบนรถ Fresh Truck จะมีโต๊ะมาตั้งเพิ่มเพื่อจัดกิจกรรมสอนเด็กๆ ให้ทำของว่างเพื่อสุขภาพด้วยตัวเองไว้รับประทานหลังเลิกเรียน

ทีม Fresh Truck ตั้งใจให้ความรู้กับเด็กๆ และคนทั่วไปว่าสิ่งสำคัญคือการรู้ที่มาของอาหารที่เรากินเข้าไป

เช่น ใครเป็นคนเลี้ยงสัตว์ เขาเลี้ยงอย่างไร มีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือฉีดฮอร์โมนมั้ย เพราะอะไร ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรตั้งคำถาม และคนเมืองควรนำประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาพูดคุยกัน ซึ่งในปี 2018 Fresh Truck ก็ได้ขยายโปรเจ็กต์ไปถึงการทำแพลตฟอร์มนำวัตถุดิบอาหารปลอดภัยมา เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ให้ออกใบสั่งโภชนาการอาหารเหมือนการออกใบสั่งยาให้กับผู้ป่วย

Happy Grocers

ที่กรุงเทพฯ ตอนนี้มี Happy Grocers เป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ส่งตรงถึงบ้านและที่ทำงาน ที่ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ ก่อตั้งโดยสองสาวเพื่อนร่วมรั้วธรรมศาสตร์ภาคอินเตอร์ฯ ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด และยังรู้จักคุ้นเคยกับเกษตรกรเป็นอย่างดี ทั้งคู่ได้ก่อตั้งสตาร์ตอัพนี้ขึ้นมาเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ให้มีช่องทางจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่ไม่ถูกเอาเปรียบ และเพื่อให้เพื่อนๆ ผู้บริโภคชาว Expat ที่ต้องการหาซื้อวัตถุดิบออร์แกนิกแต่ไม่ต้องการจ่ายในราคาที่สูงเกินไป และอยากหลีกเลี่ยงการมีพลาสติกห่อหุ้มของผลผลิตออร์แกนิก ที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตในเมือง

วิธีการคือผู้บริโภคสามารถดูรายการสินค้าอินทรีย์ได้ก่อนทางเว็บไซต์ แล้วออร์เดอร์ของที่ต้องการไว้ล่วงหน้า

ซึ่งจะมีสินค้าอินทรีย์ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ เบเกอรี่ และอาหารทะเล จากนั้นรถ Service Truck ของทาง Happy Grocers ก็จะยกเอาฟาร์มขนาดย่อมขึ้นรถไปให้ผู้บริโภคถึงที่ ซึ่งตอนนี้มีจุดจอดรถตามคอนโดมิเนียม ตึกที่ทำงานกว่า 20 แห่งทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งโรงแรม และสถานทูต ซึ่งลูกบ้านแต่ละคอนโดฯ หรือบริษัทต่างๆ ในตึกสำนักงานใกล้เคียงสามารถรวมกลุ่มกันและระบุวันที่สะดวกให้ทาง Happy Grocers นำฟาร์มเคลื่อนที่มาจำหน่ายสินค้าได้

รถขายผักถึงที่แบบนี้สามารถสร้างคอมมูนิตี้ของผู้บริโภคอินทรีย์ในเมือง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันความรู้เรื่องอาหารการกินด้วยกัน ต่อยอดมาถึงจัดเป็นเวิร์กช็อปสอนทำอาหารเมนูใหม่ๆ จากวัตถุดิบอินทรีย์ที่มีตามฤดูกาล ทั้งยังได้สนับสนุนเกษตรกรโดยตรง ได้วัตถุดิบที่ดีและปลอดภัยแบบรู้ที่มา ช่วยลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ต และยังได้สินค้าที่ราคาถูกกว่าในห้าง ช่วยฉีกภาพลักษณ์ของสินค้าออร์แกนิกราคาสูงสำหรับผู้บริโภคคนไทย

ซึ่งตอนนี้ Happy Grocers ก็ได้เข้าถึงผู้บริโภคคนไทยมากขึ้นจากการไปจอดตามคอนโดต่างๆ โดยมีตารางจอดรถแต่ละอาทิตย์ให้ติดตามไปอุดหนุนได้ทางเฟสบุ๊ก Happy Grocers

บ้านไร่ ไออรุณ

มาถึงรถพุ่มพวงที่สวยที่สุดในเมืองไทยตอนนี้ของบ้านไร่ ไออรุณ ซึ่งคุณเบสเจ้าของฟาร์มสเตย์สุดอบอุ่นแห่งจังหวัดระนองได้คิดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากทางจังหวัดได้มีการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองที่ผ่านมา ทำให้ทางฟาร์มขาดรายได้จากนักท่องเที่ยว คุณเบสจึงนำผักออร์แกนิกที่ปลูกในไร่ออกขายให้ลูกค้าถึงที่ซะเลย โดยใช้รถกระบะเก่าของทางไร่นำมาปรับปรุงเป็นรถพุ่มพวงสีฟ้า-ขาวสบายตา พร้อมราวไม้ไผ่ไว้แขวนตะกร้าสานใส่ผักสีเขียวห่อใบตอง ผลไม้สีต่างๆ หลากหลายดูสดชื่นน่านำไปรับประทาน ทั้งยังนำกระบุง ตะกร้าสาน ใส่บนหลังคารถเพื่อให้ผู้ที่มาอุดหนุนได้ซื้อตะกร้าใส่ผักกลับบ้านโดยไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกแต่อย่างใด

และเพราะเมืองระนองมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามอยู่แล้ว รถพุ่มพวงจากบ้านไร่ ไออรุณจึงมีจุดจอดที่ไม่เหมือนใคร คือจอดเวียนไปตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งชายหาด น้ำตก คาเฟ่ยอดฮิตในเมือง

จับมือกับเพื่อนผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กและร้านอาหารในระนอง เพื่อนำรถไปจอดขายผักให้ผู้เข้าพัก

ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากจังหวัดใกล้เคียงและชาวเมืองระนอง ให้ได้ซื้อผัก ผลไม้สดที่ปลอดภัย ราคาย่อมเยา ทั้งยังได้รับรอยยิ้มจากทั้งผู้ขายและลูกค้าคนอื่นๆ กลับไปบ้านด้วย

เรียกได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ตั้งแต่โซน Food Deserts ที่ห่างไกลจากแหล่งอาหาร ในเมืองใหญ่ระดับโลกที่ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง เป็นนักเรียนในโรงเรียน หรือทำงานและอาศัยอยู่คอนโดกลางเมือง ไปจนถึงอยู่อาศัยในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม รถพุ่มพวงแนวใหม่นี้สามารถมาเป็นช่องทางให้ทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิตได้เชื่อมถึงกัน

หากเรารู้จักกลุ่มผู้บริโภคของเราเป็นอย่างดีแล้วว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ และหน่วยงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง จะจัดสรรการเข้าถึงวัตถุดิบอาหารที่ดีและปลอดภัย ในราคาที่ทุกๆ คนในสังคมสามารถเข้าถึงได้ ไปให้สะดวกซื้อถึงที่และดีต่อสุขภาพ

ที่มาข้อมูล
www.inhabitat.com
www.cpha.ca
www.wcvb.com
www.aboutfresh.org
www.facebook.com/thefreshtruck
www.agtech4otop.nia.or.th
www.facebook.com/grocershappy
www.baanlaesuan.com
www.facebook.com/baanraiiarun

เครดิตภาพ: Mobile Good Food Market, Fresh Truck, Happy Grocers, บ้านไร่ ไออรุณ