อย่างที่หลายคนทราบว่า การขนส่ง โดยเฉพาะรถยนต์นั้น เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ใช้น้ำมันจำนวนมหาศาลต่อปี และปล่อยไอเสียออกมา ทำให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างเช่น PM 2.5 ที่พวกเราต้องเผชิญกันทุกปี รวมถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นอีกมากมาย ทำให้นักวิทยาศาสตร์และค่ายรถยนต์เองก็พยายามที่จะแก้ปัญหานี้กันอย่างจริงจัง โดยหนึ่งในทางเลือกที่จะมาช่วยลดปัญหานี้ที่ทุกคนพูดถึงอย่างมากก็คือ EV-Electric Vehicle หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเทรนด์ของโลกในการพัฒนารถ EV นี้ก็ก้าวไปไกลมากแล้ว หลายคนที่สนใจรถใหม่ๆ ตอนนี้ไปเดินโชว์รูมก็อาจจะงงที่เมื่อก่อนมีรถให้เลือกเป็นดีเซล หรือเบนซิน หรือ CNG แต่เดี๋ยวนี้มีทั้ง HEV, PHEV, BEV และอาจจะรวมไปถึง FCEV ด้วย มันคืออะไรบ้าง ต่างกันอย่างไรวันนี้เลยอยากมาแชร์ให้ทุกคนฟังเบื้องต้นครับ

เริ่มจากตัวที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือ HEV (Hybrid Electric Vehicle) หรือที่เรานิยมเรียกติดปากกันว่า ‘ไฮบริด’ เจ้ารถไฮบริดนี้จะมีการทำงานคู่กันระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายในไม่ว่าจะเป็นเบนซิน หรือดีเซล ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยการออกแบบระบบของผู้ผลิตก็จะมีต่างกันอีก คือบางรุ่นเครื่องยนต์จะมีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อน และมอเตอร์ไฟฟ้าชาร์จกระแสไฟฟ้ามาเก็บในแบตเตอรี่ และนำมาใช้ช่วยขับเคลื่อน ส่วนอีกแบบระบบจะกลับกัน คือมอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่หลักขับเคลื่อน และเครื่องยนต์จะทำหน้าที่เป็น Generator ในการปั่นกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่

ข้อดีของรถไฮบริดคือค่อนข้างไม่ต่างจากเดิมมากนักสำหรับคนมีรถใช้น้ำมันหรือก๊าซอยู่แล้ว คือไม่ต้องชาร์จไฟ เติมน้ำมันเหมือนปกติ

ทำให้ไม่ต้องห่วงกังวลในเรื่องที่ชาร์จ การออกต่างจังหวัด รวมถึงประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น ในตลาดมีให้เลือกหลายรุ่นตั้งแต่รถเล็กราคาจับต้องได้ ไปจนถึงรถยนต์รุ่นหรู แต่เนื่องจากยังใช้งานเครื่องยนต์สันดาปอยู่ ก็หมายความว่ายังมีการใช้น้ำมัน ยังปล่อยไอเสียและก๊าซอยู่ แต่ว่าลดลงไปมาก

ต่อมาคือ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) โดยพื้นฐานก็มีความคล้ายกับรถไฮบริด คือมีเครื่องยนต์สันดาปภายใน มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่เหมือนกันแต่ลูกใหญ่กว่า รวมถึงระบบนั้นสามารถนำมาเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ตามชื่อ เมื่อมีแบตเตอรี่ลูกใหญ่กว่าจึงทำให้สามารถขับในระบบไฟฟ้าได้เลย โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะช่วยทั้งชาร์จกระแสไฟฟ้าและขับเคลื่อน ซึ่งสามารถขับในระบบไฟฟ้าไปได้ไกล แต่เมื่อกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่หมด เครื่องยนต์ก็จะเข้ามารับหน้าที่ต่อในการขับเคลื่อน

แม้ว่า HEV และ PHEV จะยังมีการใช้น้ำมัน และปล่อยก๊าซไอเสียออกมาเมื่อเครื่องยนต์ทำงาน ไม่ได้เป็น Zero Emission Vehicle (ZEV) เหมือนกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเหมือนอีกสองตัวที่เราจะพูดถึงต่อไป แต่รถไฮบริดนี้ก็เป็นทางเลือกดี เข้าถึงได้ และผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลมากนักกับพฤติกรรมการใช้รถที่อาจจะต้องวางแผนเรื่องการชาร์จ ระยะเวลา และจุดชาร์จ

ส่วนพระเอกที่หลายคนนึกภาพเวลาพูดถึงรถ EV อย่างเช่น รถ Tesla ของคุณอีลอน มัสก์ นั้น จะจัดอยู่ในประเภทของ BEV (Battery Electric Vehicle) หรือบางคนก็เรียก 100% EV หรือ Pure Electric Vehicle รถประเภทนี้จะไม่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน และไม่มีการใช้น้ำมันเลย ใช้เพียงแค่แบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น เป็นส่วนประกอบหลักในการขับเคลื่อนรถยนต์ไปข้างหน้า

ดังนั้นก็สามารถพูดได้เลยว่ารถประเภทนี้ไม่ปล่อยมลพิษจากการขับขี่เลย (อาจจะมีจากชิ้นส่วน การประกอบอื่นๆ อยู่บ้าง และการกำจัดที่ต้องติดตามกันต่อไป)

แต่ทั้งนี้รถ BEV ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง หลักๆ ก็คือเรื่องของแบตเตอรี่เองที่เป็นหัวใจของรถที่จะต้องเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้วิ่งได้ระยะทางไกลๆ และให้แรงขับที่ดีตลอดทาง ก็จะต้องแลกมากับขนาดที่ใหญ่และน้ำหนัก รวมถึงการชาร์จที่ยังมีสถานีค่อนข้างกระจุกตัวและใช้เวลานาน ข่าวดีก็คือทุกค่ายรถยนต์ก็พยายามที่จะพัฒนาเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดตรงนี้กันอย่างเต็มที่

โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบางแบรนด์นั้นสามารถขับได้ไกลมากถึง 400-600 กิโลเมตร ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเลยทีเดียว

รวมถึงหลายๆ บริษัทเองก็หันมาลงทุนเรื่องแท่นชาร์จสาธารณะมากขึ้นด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เทคโนโลยีน่าจะพัฒนาได้ดีมากขึ้นและราคาถูกลงในอนาคตอันใกล้

นอกจาก BEV ยังมีรถ Zero Emission Vehicle อีกประเภทหนึ่งที่ในไทยอาจจะยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนักคือ FCEV หรือ Fuel Cell Electric Vehicle ซึ่งจริงๆ เทคโนโลยีนี้มีการพัฒนาและนำมาใช้มานานแล้ว แต่ว่าไม่เป็นที่นิยมมากนักสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล จึงมักจะถูกนำไปใช้กับรถสาธารณะเพราะการสร้างและควบคุมสถานีเติมไฮโดรเจนได้ง่าย โดยโครงสร้างขอ FCEV จะมีแผงเซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel Cell Stack และถังแรงดันสูงเพื่อเก็บไฮโดรเจนในรูปแบบของเหลว เพื่อส่งไฮโดรเจนและอากาศที่มีออกซิเจนเข้าไปสู่แผงเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อทำปฏิกิริยากันในการสร้างกระแสไฟฟ้าไปขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า และชาร์จแบตเตอรี่

ทั้งนี้เราจะเห็นว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบที่ไร้มลพิษนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างทั้งในด้านของเทคโนโลยี และอาจจะรวมถึงราคาด้วยเช่นกัน แต่ทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐในบ้านเราก็มีความพยายามที่จะพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าฝีมือคนไทย เพื่อให้มีราคาต้นทุนที่ถูกลง ให้คนไทยสามารถเข้าถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น และช่วยกระตุ้นการเติบโตของการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ อย่างเช่น บริษัท ไทยอีวี ที่ร่วมกับ ขสมก. (องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ) ในการนำรถยนต์โดยสารพลังงานไฟฟ้ามาใช้งานบริการประชาชน หรือบริษัท Sakun C Innovatioin ที่กำลังพัฒนานำรถเมล์ยูโรสีส้มที่เราคุ้นตากันมาแปลงโฉมให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าใหม่โดยมีการสนับสนุนจากทั้ง กฟน. (การไฟฟ้านครหลวง) และ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) อีกด้วย รวมถึงบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่พัฒนาทั้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จเพื่อที่จะให้ระบบนิเวศของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศเรานั้นแข็งแรงขึ้น

นอกจากนี้หลายคนยังอาจจะไม่ทราบว่า เราสามารถเอารถคันเก่าของเราไปเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ด้วยเช่นกัน หรือที่บางคนเรียกว่ารถดัดแปลงไฟฟ้า

คอนเซ็ปต์เหมือนกับการเอารถไปติดแก๊สตามอู่ที่รับทำ แต่อู่ที่รับดัดแปลงรถยนต์พลังงานไฟฟ้านี้ยังมีไม่เยอะมาก เพราะงานที่ทำต่อคันนั้นใช้เวลานาน และราคายังค่อนข้างสูงมากอยู่ (ราคาอยู่ระหว่าง 300,000 และอาจสูงถึง 700,000 บาทต่อคัน) โดยปกติทางอู่จะรับประกันระบบให้ 2-3 ปี โดยมีวิศวกรเซ็นรับรองแบบให้ โดยอัตราภาษีรถประจำปีที่ต้องชำระให้กับกรมขนส่งทางบกก็จะถูกลงเมื่อเราไปทำการเปลี่ยนเป็นระบบเครื่องยนต์ไฟฟ้า เป็นการสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงานอีกด้วย ถ้าใครสนใจอาจจะลองหาดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ EV Car Thailand Community เป็นต้น

โดยสรุปก็จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันเราก็มีทางเลือกอยู่บ้างพอสมควรในการที่จะเลือกเดินทางโดยที่สร้างมลพิษให้น้อยลง สำหรับคนที่ต้องใช้รถ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งไฮบริดและ BEV ก็อาจจะตอบโจทย์คนแตกต่างกันไป ใครที่สนใจก็ลองดูให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานของแต่ละท่าน และหวังว่าทางภาครัฐเองจะเข้ามาช่วยผลักดันให้การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นมีราคาที่เข้าถึงได้มากกว่านี้ในอนาคตอันใกล้ ไม่เพียงแต่รถยนต์ส่วนบุคคล แต่รวมถึงขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์พลังงานไฟฟ้า หรือรวมไปถึงเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าด้วยเช่นกัน เพราะถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะปล่อยมลพิษน้อยกว่า แต่ก็อย่าลืมว่าไฟฟ้าก็เป็นพลังงานที่เราดึงมาจากธรรมชาติเช่นกัน

ถ้าช่วยกันลดได้ และใช้ขนส่งสาธารณะร่วมกัน ก็จะเป็นทางเลือกที่กรีนมากขึ้นครับ 🙂

ภาพประกอบ: missingkk