เสียงรบกวน ถือว่าเป็นมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมอีกรูปแบบหนึ่ง ที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึง และเป็นไปได้ว่าเพราะเราเจอปัญหาสภาพแวดล้อมด้านอื่นๆ ที่เห็นถนัดตากว่ามากๆ  เช่น น้ำเสีย ขยะ หรือแม้แต่มลพิษในอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมไปทั้งเมืองจนแทบไม่อยากออกจากบ้าน เป็นต้น (แอบคิดว่า นี่เราเจอมลภาวะในเมืองกันแทบทุกรูปแบบแล้วนะนี่ ไม่นับฝุ่นควันจากการเผาต่างๆ ที่เรามักจะเจอจนชินตาตามข้างทาง โดยเฉพาะเวลาที่ออกเดินทางไปต่างจังหวัด คนเมืองใหญ่นี่อึดในเรื่องไม่ควรอึดจริงๆ)

แต่เมื่อพูดถึงเรื่องของเสียงแล้วละก็ หงุดหงิด รำคาญ อารมณ์ไม่ดี คืออารมณ์ที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อหูของเราไปกระทบกับเสียงที่ไม่น่าพึงใจ เช่น เสียงเครื่องยนต์จากรถชนิดต่างๆ เสียงแตรรถในเมือง เสียงรถแข่ง (ที่แน่นอนว่าผิดกฎหมาย) บนท้องถนน ซึ่งระดับความหงุดหงิดรำคาญ ก็จะลดหลั่นกันไปตามระดับเสียงด้วย ส่วนเสียงบางประเภท เช่น เสียงที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร เสียงเจาะกำแพงของบ้านข้างๆ ก็สามารถกลายเป็นเสียงในระดับที่ทำลายสุขภาพจิต เช่น ทำให้เกิดความเครียดรุนแรง ทำให้อารมณ์แปรปรวน และลงเอยด้วยปัญหาทางสุขภาพกาย เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง บางคนเจอปัญหาประสาทหูเสื่อมไปเลยก็มี

แต่ต่อให้มันเป็นเสียงที่แย่ขนาดไหน มนุษย์เราก็ยังพอหาวิธีจัดการ หลีกเลี่ยง หรือถ้าหนักหน่อยก็ว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปตามครรลอง แต่ลองคิดดูว่า ถ้าหากบรรดาสัตว์ต่างๆ ต้องเจอกับเสียงที่น่ารำคาญ หรือสร้างความหงุดหงิด แถมยังไม่สามารถหลีกหนีไปจากพื้นที่ตรงนั้นได้ เพราะมันเป็นระบบนิเวศที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน ผลกระทบจะหนักหนาสาหัสและเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจขนาดไหน?

เรื่องนี้ไม่ใช่คำถามเล่นๆ แต่เป็นคำถามที่นำไปสู่การสำรวจกันจริงๆ จังๆ โดยกลุ่มนักวิจัยทางทะเล ที่ส่งทีมงานกระจายตัวกันไปเก็บข้อมูลจากทั่วโลก เพื่อสำรวจว่า เสียงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ สามารถส่งผลกับสัตว์ในทะเลและระบบนิเวศด้วยหรือไม่ แล้วก็พบว่า

เสียงส่งผลกระทบกับสัตว์ในทะเลและระบบนิเวศอย่างยิ่ง ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเลย

คณะวิจัยครั้งนี้นำทีมโดย ศาสตราจารย์คาร์ลอส เอ็ม ดูอาร์เต้ ศาสตราจารย์ดีเด่นจากมหาวิทยาลัย King Abdullah University of Science and Technology (KAUST) ได้ตีพิมพ์ผลงานการวิจัยในวารสาร Science ซึ่งถือว่าเปิดหูเปิดตาไม่เฉพาะในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ แต่ยังเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ผู้ที่ศึกษาเรื่องอันตรายและผลกระทบของเสียงที่เกิดในมหาสมุทร หรือ ocean noise อีกด้วย

กล่าวได้ว่า ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มนุษย์เราต่างก็สร้างมลภาวะทางเสียงให้กับโลกอย่างหนักหน่วงมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะการสร้างความหนวกหูให้กับระบบนิเวศในมหาสมุทร ผ่านกิจกรรมอย่าง การทำประมงที่เกินขีดจำกัด การขนส่งทางเรือ การพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ (การขุดเจาะน้ำมัน หรือการทำระบบโครงสร้างต่างๆ ในทะเล การพัฒนาชายฝั่ง) ถามว่าผลกระทบต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมคืออะไร ก็อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า แทบไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดกับคนนั่นแหละ เช่น ก่อให้เกิดความเครียด รบกวนชีวิตความเป็นอยู่ แต่มากไปกว่านั้น เสียงที่หนวกหูยังมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมสัตว์ เช่น การผสมพันธุ์ การอยู่ร่วมกันอีกด้วย

ถ้าเรายังจำวิชาวิทยาศาสตร์สมัยเรียนได้ ก็น่าจะพอนึกออกว่า เสียงจะเดินทางได้เร็วและไกลมากๆ เมื่ออยู่ใต้น้ำ และสัตว์ในท้องทะเลก็มีความอ่อนไหวต่อเสียงมากเป็นพิเศษ เพราะเสียงคือส่วนหนึ่งต่อการดำเนินชีวิตเลยก็ว่าได้ อย่าลืมว่าสัตว์เองก็มีการส่งคลื่นเสียงในการหาคู่ เช่น วาฬ โลมา ฯลฯ การเกิดเสียงที่หนวกหูในท้องทะเล จึงทำให้สัตว์อาจไม่ได้ยินคลื่นเสียงที่สัตว์อื่นส่งมา หรือแม้แต่สัตว์ที่ต้องทำหน้าที่นำฝูง ก็อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาได้ เพราะฝูงก็อาจไม่ได้ยิน ไหนจะสัตว์บางชนิดที่ต้องใช้เสียงล่อเหยื่อก็ไม่สามารถหาเหยื่อได้ หรือในทางตรงกันข้าม ก็ไม่สามารถรับคลื่นเสียงเพื่อหนีการถูกล่าจากสัตว์ที่เป็นผู้ล่าได้

ส่วนปัญหาที่มีมาก่อนหน้านี้เช่น ความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งอาหารในท้องทะเลเช่น ปะการัง หญ้าทะเล สาหร่ายน้ำลึก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากหลายๆ ปัจจัยเช่น การพัฒนาชายฝั่งทะเล การที่มนุษย์เข้ามารุกล้ำทำลาย ปัญหาสารเคมี น้ำมันรั่ว หรือปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหามลพิษทางเสียงในท้องทะเลเข้าไปอีก (ซึ่งเราอาจไม่เคยรู้) เพราะตามปกติแล้ว ในท้องทะเลที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ จะมีเสียงตามธรรมชาติซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัวที่ช่วยนำทางให้ฝูงปลาและสัตว์ต่างๆ ได้ค้นพบและปักหลักเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย แต่วันนี้ บ้านที่ส่งเรียกพวกเขา กลายเป็นเสียงที่พวกเขาไม่ได้ยินอีกต่อไป โดยเฉพาะในระบบนิเวศหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก

บางพื้นที่มีปัญหามลภาวะด้านเสียงเลวร้ายมากๆ ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย (อันที่จริง เสียงที่ดังมากเกินไป จนถึงขีดอันตรายก็คือคลื่นความสั่นสะเทือนที่รุนแรง และทำให้มนุษย์เครียดจัด หรือแก้วหูฉีกขาด หรือน็อกคนจนล้มคว่ำ กระทั่งเสียชีวิตก็เคยมีรายงานมาแล้ว)

คณะนักวิจัยจึงเห็นว่า นับจากนี้ไป มนุษย์ควรพึงระวังในเรื่องนี้ และให้ตระหนักเรื่องการสร้างมลภาวะทางเสียง เพราะถือว่าเป็นการรุกรานสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเลไปทั่วโลก และที่สำคัญ ควรมีนโยบายที่จะลดความรุนแรงในเรื่องนี้ลงอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้ร่วมทีมวิจัยหลักอีกคนของ KAUST อย่างเบน ฮาลเพิร์น และเป็นผู้อำนวยการของ The National Center for Ecological Analysis and Synthesis แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาร์บาร่า ผู้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ ย้ำกันชัดๆ ว่า

 “ภูมิทัศน์ทางเสียง หรือที่เรียกกันว่า soundscape เป็นตัวชี้วัดที่ทรงพลังของสุขภาพสิ่งแวดล้อม”

ลองนึกภาพมลภาวะด้านเสียงที่เกิดขึ้นกับเมืองบนพื้นแผ่นดินทุกวันนี้ แล้วคิดต่อไปว่า ถ้าเราเอาเสียงแบบนั้นใส่ลงไปในมหาสมุทร แล้วมันจะไม่พังทั้งบนบกและในน้ำได้ยังไง

คณะนักวิจัยจึงกระตุ้นให้เราเห็นความสำคัญของมลภาวะทางเสียงในมหาสมุทร เร่งฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของสัตว์ในท้องทะเลและระบบนิเวศ เพื่อที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรได้อย่างยั่งยืน ควรเพิ่มการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีแบบง่ายๆ ที่ช่วยลดเสียงที่เกิดจากใบพัดของเรือในมหาสมุทร ซึ่งเรื่องนี้ควรมีนโยบายผลักดันให้มีการใช้งานนวัตกรรมดังกล่าวอย่างจริงจังในอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือ รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพราะมลภาวะทางเสียง ถือเป็นสิ่งที่แก้ไขแล้วเห็นผลได้ง่ายและเร็ว (เช่น แค่ลดเสียง ก็ลดอันตรายได้ทันตาเห็น) ไม่เหมือนกับการกำจัดขยะพลาสติก การปล่อยสารเคมี หรือก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เวลากำจัดที่ใช้เวลานาน และมีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่ามาก

ทุกวันนี้ มนุษย์เรามีวิธีพักผ่อนเยียวยาจิตใจ สลายความเครียดได้สารพัดวิธี แต่การหันหน้าเข้าหาธรรมชาติ หรือการดื่มด่ำกับ soundscape ของป่าเขา ทะเล หรือแม้แต่เสียงลมพัด เป็นวิธีที่นอกจากจะเป็นเทรนด์แล้ว ยังเป็นการกลับไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างได้ผล

สิ่งที่ย้อนแย้งคือ เรากลับไม่รู้ตัวว่า เราเองในฐานะมนุษย์ ก็ไปสร้างเสียงที่รบกวนธรรมชาติด้วยเช่นกัน

เราต้องการความสงบ แต่ทำไมเราไม่คิดว่าสิ่งมีชีวิตอื่นก็ต้องการพื้นที่สงบเช่นกัน (และบางครั้งเรายังเข้าหาธรรมชาติเพื่อไปรบกวนมนุษย์ที่พยายามหาพื้นที่สงบในธรรมชาติด้วย ยิ่งย้อนแย้งเสียยิ่งกว่าสิ่งใด)

อย่างไรก็ตาม เรื่องมลภาวะเรื่องเสียงในท้องทะเล ยังเป็นเรื่องที่น้อยคนจะเข้าใจ เพราะขนาดนักรณรงค์ชาวฝรั่งเศส ที่จุดประเด็นเรื่องการลดมลภาวะการเกิดเสียงในมหาสมุทรมานาน ยังยอมรับว่า ถ้าไปถามคนตามท้องถนน จะพบว่ามีแค่ 1 ใน 5 คนเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้การศึกษาและสร้างความรับรู้อย่างหนักกันต่อไป

แต่อย่างน้อย เมื่ออ่านเรื่องนี้จบ เราก็ได้รู้และเข้าใจว่า ภายใต้มหาสมุทรที่ดูสงบเงียบนั้น มีสรรพสำเนียงมากมายซ่อนอยู่ ซึ่งหูของเราอาจไม่ได้ยิน แต่ไม่ใช่กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ที่แม้จะหนวกหู (แม้บางตัวจะไม่มีใบหู) แต่ก็ไม่รู้จะบอกใคร

ที่มาข้อมูล
www.sciencedaily.com
www.ifaw.org

เครดิตภาพ: Shutter Stock