หากได้เดินเข้าไปเดินในโซน Ecotopia บนชั้น 3 ของสยามดิสคัฟเวอรี่วันนี้ แล้วได้ลองสำรวจพื้นที่ในโซนป๊อปอัพสโตร์ จะพบว่ามีสินค้ารักษ์โลกหลากหลายผลิตภัณฑ์ มาจัดวางจำหน่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และหนึ่งในนั้นก็มี ‘ลอง·เขียว·ดู’ ร้านที่เลือกผลิตภัณฑ์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาให้นักช้อปฯ ได้จับจ่าย เพื่อให้สายกรีนมือใหม่ไปจนถึงสายกรีนเข้มข้น ได้มาเขียวกันดูกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้

ลอง·เขียว·ดู เป็นโปรเจ็กต์ของชาว Little Green Project ที่ก่อตั้งโดยเชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ และกอล์ฟ-รัฐวุฒิ ชัยวงศ์ขจร เพื่อสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม และชักชวนให้ทุกคนมาเริ่มต้นกระทำความ ‘เขียว’ เพื่อให้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เชอรี่กล่าวกับผู้ร่วมงานที่ไปร่วมยินดีในวันเปิดป๊อปอัพสโตร์แห่งนี้ว่า “ทุกวันนี้เราหลีกเลี่ยงการสร้างขยะได้ยาก แต่ถ้าดูกันจริงๆ มันจะมีขยะที่จำเป็นต้องสร้าง กับขยะที่ไม่จำเป็นต้องสร้าง ดังนั้นถ้าเราลดขยะที่ไม่จำเป็นที่ต้องสร้างได้ จะช่วยลดขยะได้เยอะมาก ซึ่งลองเขียวดูก็อยากจะเป็นทางเลือกทางหนึ่ง ที่เหมือนเป็นโปรเจ็กต์ทดลองของพวกเราด้วยเหมือนกัน ในการเลือกสินค้าแฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์ ที่สามารถลดขยะได้ เพราะทุกขั้นตอนในการคิดคอนเซ็ปต์ของร้าน เราไม่อยากสร้างขยะใหม่เลย เราตกแต่งร้านโดยไม่ซื้ออะไรใหม่หรือสร้างอะไรเพิ่มเติม รวมไปถึงแพ็กเกจจิ้งเราก็นำถุงส่วนตัวที่เรามีอยู่มาไว้ให้ลูกค้าใส่ของกลับ หรือเป็นถุงที่คนที่อยากร่วมบริจาคให้กับเราใช้ในร้าน”

เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่เลือกมาวางจำหน่ายในร้าน ก็ล้วนแต่มีเรื่องราวในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบหลักมาจากวัสดุที่ถูกมองข้ามแล้วสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าใหม่ซึ่งตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยส่งเสริมในด้านสังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย

เริ่มจากข้าวแบรนด์ ‘สิริไท’ ที่มีทั้งข้าวฮางงอกอินทรีย์ ข้าวก่ำน้อยอินทรีย์ และข้าวสามสีอินทรีย์ของเชอรี่เอง กว่าจะเห็นเป็นเม็ดเรียงตัวอยู่ในขวดแก้วใสนี้ ก็มีที่มาที่น่าสนใจไม่น้อยเลย อย่างที่เจ้าตัวเล่าว่าเป็นความตั้งใจที่อยากจะสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร เพราะความยั่งยืนของเกษตรกรจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องป่าไม้ได้

“เรามองหาชุมชนที่ปลูกข้าวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ด้าน และช่วยดูแลป่าไม้ในบริเวณนั้น จนไปเจอเกษตรกรที่สกลนคร เขาใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการผลิต ตั้งแต่การปลูกการดูแลที่ไม่ใช้เคมีเลย และเขายังดูแลป่าไม้รอบๆ ด้วย วัสดุที่ใช้ในแพ็กเกจจิ้งเราใช้ขวดที่ไม่ติดสติกเกอร์เพื่อจะได้ไม่ยากต่อการรีไซเคิล แล้วใช้กระดาษหุ้มซึ่งก็เป็นกระดาษที่ผ่านการรีไซเคิลมา ใช้ฟางข้าวแทนบับเบิล กระทั่งการ์ดที่ผูกกับขวดก็เป็นกระดาษฟางข้าวที่มีเมล็ดผักกวางตุ้งให้เอาไปปลูกต่อได้ ทุกขั้นตอนเราคิดหมดว่าจะลดขยะได้ยังไง และการทำแบบนี้มันสร้างมูลค้าเพิ่มให้กับข้าวด้วย”

เสื้อยืด ลอง·เขียว·ดู ที่มีสามสี คือสีน้ำเงิน เทา และดำ เป็นเสื้อยืดที่ Little Green Project ทำงานร่วมกับ Moreloop โดยนำผ้าที่เหลือหรือถูกละทิ้ง ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ มาตัดเย็บเป็นเสื้อยืดเนื้อนิ่ม ที่อย่างน้อยก็ไม่เกิดกระบวนการย้อมทอของผ้าใหม่ ในคอนเซ็ปต์ที่คล้ายคลึงกัน ยังมีแบรนด์แฟชั่นจัดอย่าง Wonder Anatomie ซึ่งนำเสื้อผ้าจากคอลเล็กชั่นเก่า (dead stock) ที่ไม่ได้วางขายแล้ว มาตัดเย็บด้วยดีไซน์ใหม่ โดยไม่ต้องผลิตผ้าเพิ่ม ส่วน The Remaker ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ผลิตกระเป๋าหนังจากวัสดุรีไซเคิล คราวนี้มาพร้อมกับไอเดียให้ลูกค้าได้เลือกเสื้อหนังเก่าที่แขวนอยู่ มาสั่งตัดเป็นกระเป๋าที่ทำแบบ made to order ชอบเสื้อหนังตัวไหนสีไหน ก็เลือกและสั่งตัดได้ตามชอบใจ

พรมผืนหนาที่แขวนอยู่บนราว คือพรมของ Swoon ใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ทอจากขวดพลาสติกในทะเล โดยพรมผืนหนึ่งจะใช้ขยะขวดพลาสติกประมาณ 230 ขวด และหากว่ากันด้วยขยะจากท้องทะเลแล้ว จึงย่อมต้องเห็นแบรนด์ Rereef อยู่ในร้านนี้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย โดยมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ถุงเท้าลวดลายพิเศษ ‘ขยะในมือเรากับเหล่าชีวิตสัตว์ทะเล’ ที่ออกแบบโดย วิชญุตร์ ลิมังกูร บุณยเนตร สื่อถึงอนาคตและชะตากรรมของสัตว์ทะเลที่อยู่ในมือมนุษย์ผู้สร้างขยะพลาสติก โดยใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต เพื่อลดการสร้างขยะให้ได้มากที่สุด

ส่วน Laika เป็นแบรนด์อาหารสุนัขที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์คนทั่วไป เพราะอยู่เหนือการคาดคิดว่าจะมีคนทำอาหารสุนัขที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ Laika คือการใช้โปรตีนจากแมลงที่ให้โภชนาการสูงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดูแลน้อยมาก และยังเป็นแมลงที่ถูกเลี้ยงด้วยผักผลไม้ปลอดสารที่เป็นส่วนเกินจากการผลิต เพื่อช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์

นอกจากจะได้สัมผัสและจับจ่ายผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ ทุกคนที่มาเยี่ยมชมร้านสามารถรับน้ำดื่มจากจากน้ำดื่ม TBC Ball ที่กระป๋องอะลูมิเนียมเหล่านี้สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ แถมมาในคอลเล็กชั่นพิเศษที่ออกแบบลวดลายบนกระป๋องโดย ครูโต-หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ ได้ยินหลายคนพึมพำว่าน่ารักจนไม่อยากดื่ม แต่อยากจะเก็บไว้เป็นของสะสมแทนไปซะอย่างนั้น

ใครที่อยากจะไปเยือน ร้าน ลอง·เขียว·ดู ร้านทางเลือกใหม่ที่จะชวนให้ทุกคนมาลองเลือกใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพดี และสามารถช่วยลดการเกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ขอบอกว่าจะต้องรีบหน่อย เพราะร้านจะตั้งอยู่ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2563 นี้เท่านั้น ถ้ามัวเผลอรีรออาจไม่ทันใครเขาได้

เครดิตภาพ: Little Big Green