“ตอนเริ่มต้นทำแบรนด์ FolkCharm เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดนั่นแหละ ว่าเราจะทำได้มั้ย เพราะนิสัยเราจะเป็นสายชิลล์ๆ แต่งานมันต้องเกี่ยวข้องกับคนเยอะมาก ทั้งคนทำงาน ชุมชน รวมไปถึงคนอีกจำนวนมากในกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายเพื่อนำมาขาย เพราะเราตั้งใจไว้เลยว่า ต้องเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ต้องมาจากฝ้ายที่ปลูกโดยคนในชุมชน และต้องปลอดสารเคมี 100% ด้วย เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ซื้อก็จริง แต่เราก็ต้องทำธุรกิจอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ด้วยการเข้าไปช่วยให้ความรู้ในการทำงาน เข้าไปสร้างความมั่นใจให้พี่ๆ ป้าๆ เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ให้คนซื้อได้รับรู้ที่มาของผ้า ว่าใครเป็นคนปลูกฝ้าย ใครเป็นคนทอผ้า ทั้งหมดนี้ไม่ง่ายเลย แม้บางช่วงอาจจะเจอโจทย์ยากๆ แต่เราก็เลิกทำไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเราอยากพิสูจน์ตัวเองว่าฉันทำได้ แต่เราอยากพิสูจน์ว่ากระบวนการที่เราคิด มันเป็นไปได้ เราสามารถช่วยเหลือคนจำนวนมากได้ รวมทั้งทำให้ธุรกิจนี้อยู่รอดได้ในระยะยาว

“ดังนั้นเรามักจะย้ำเสมอว่า เราเริ่มทำ FolkCharm จากแพสชั่น แต่การจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้ การมีแค่แพสชั่นมันไม่พอ แต่มันต้องมีวิชั่นหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและเหมาะกับตัวตนของเราด้วย ไม่ใช่มีวิชั่นที่ใหญ่เกินจริง เพราะมันจะทำไม่ไหว สำหรับเรา เราแค่มุ่งมั่นว่าจะทำสินค้าดีๆ ขาย ทำให้มันสวยงาม น่าใช้ไว้ก่อน คนซื้อจะได้ไม่ต้องมารู้สึกว่าต้องช่วยซื้อ เพราะคิดแบบนั้นมันจะไม่ยั่งยืน แต่เขาต้องซื้อเพราะของมันดี มันสวย ซื้อเพราะเห็นคุณค่า เข้าใจที่มาของสินค้า พร้อมกับอยากบอกต่อ แค่นั้นมันก็เปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา เราไม่ได้นึกถึงการเปลี่ยนโลกอะไรใหญ่โต แค่เปลี่ยนไปทีละเล็กละน้อย แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ และต้องไม่ขาดช่วง แล้วจากนั้นก็ต้องอดทน อึด ขยัน และเรียนรู้เร็ว ถ้าล้มก็ต้องลุกเร็ว และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้เร็วด้วย นั่นแหละถึงจะอยู่รอด”

 .

#CanChangeTheWorld ซีรีส์สัมภาษณ์ 12 บุคคล ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและโลกใบนี้ในแบบของตัวเอง พวกเขาไม่เพียงแต่มีความเชื่อ แต่ยังเริ่มต้นลงมือทำด้วยความไม่ย่อท้อ จนมีผลงานที่พิสูจน์ได้ว่า คนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่อยากเห็นได้จริงๆ | www.greenery.org/canchangetheworld

ภาพถ่าย: สุจิตรา นาคะศิริกุล