เราขอเริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยการชวนสังเกต ว่าในหนึ่งวันคุณใช้กระดาษกันกี่แผ่น?

หากพูดถึงกระดาษ เชื่อว่าทุกคนต้องได้เห็นได้จับกระดาษอย่างน้อยหนึ่งชนิดทุกวัน กระดาษอยู่กับเราในหลากหลายกิจกรรม ทั้งทิชชูในห้องน้ำ ทิชชูในครัว บนโต๊ะอาหาร แก้วกาแฟ หลอดกระดาษ ห่ออาหารในตู้เย็น กองเอกสารบนโต๊ะทำงาน ซองจดหมาย การ์ดเชิญสารพัดอีเวนต์ พัสดุจากการช้อปปิ้งออนไลน์ ใบเสร็จในกระเป๋า ไปจนถึงหนังสือที่อ่านก่อนเข้านอน

ในหนึ่งวันเราต่างมีกระดาษเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งนั่นหมายถึงกระดาษจำนวนมหาศาลที่กลายเป็นขยะหลังการใช้งาน

ทางเลือกที่ช่วยลดขยะได้ดีที่สุดคือการลดการใช้ แต่เราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่ากระดาษยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ยังต้องใช้อยู่ วันนี้เลยชวนมาลดปริมาณขยะกระดาษด้วยการใช้กระดาษรีไซเคิล ที่มีมากกว่ากระดาษสีน้ำตาลที่เราคุ้นกัน และบางชนิดเป็นการเปลี่ยนขยะให้กลายมาเป็นกระดาษ ที่รักษ์โลกแบบคูณสอง พร้อมวิธีอื่นๆ ที่ช่วยให้กระดาษใช้แล้วของเรากลายไปเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น

กระดาษรีไซเคิล ไม่จำเป็นต้องเป็นสีน้ำตาลเสมอไป

กระดาษทิชชูสีชมพูบนโต๊ะอาหาร

กระดาษทิชชูสีชมพูที่เราคุ้นตาในร้านอาหารริมทาง หรือเห็นบ่อยบนโต๊ะจีนนั้น คือกระดาษรีไซเคิลจากกระดาษ A4 เปื้อนหมึก  พูดแบบนี้บางคนอาจจะตกใจจนไม่กล้าใช้เพราะสงสัยในความสะอาด ในขั้นตอนการรีไซเคิลนั้น เขาจะนำกระดาษที่ใช้แล้วมาผสมกับน้ำ ผ่านการต้มเพื่อดึงเอาหมึกออกและเพื่อสลายเส้นใย ใส่สารฆ่าเชื้อโรค และฟอกขาวเพื่อให้ดูสะอาด จนได้ออกมาเป็นเยื่อกระดาษ (เยื่อกระดาษเวียนใหม่) แล้วนำไปผสมกับเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ หรือเยื่อที่ได้จากต้นไม้ ส่วนการใส่สีชมพูนั้น ก็มาจากการที่กระดาษต้นทุนต่ำไม่สามารถฟอกให้ขาวได้ พอเป็นสีเทาๆ แล้วดูไม่สะอาด ก็เลยย้อมเป็นสีชมพูซะเลย

กระดาษสีขาวม้วนยาวในห้องน้ำ

และไม่เพียงแค่กระดาษทิชชูสีชมพู กระดาษทิชชูม้วนยาวเนื้อหยาบที่เรามักเจอในห้องน้ำสาธารณะหรือกระดาษเช็ดปากสีน้ำตาล ก็ทำมาจากการรีไซเคิลกระดาษด้วยเหมือนกัน

กระดาษทิชชูส่วนใหญ่นั้น ทำมาจากกระดาษเอสี่ที่ใช้งานแล้ว (สังเกตเนื้อกระดาษทิชชู หากคุณภาพต่ำ เราจะเห็นจุดสีๆ เล็กๆ ในเนื้อกระดาษ) โดยนำมาผสมกับเนื้อเยื้อไม้ในปริมาณที่แตกต่างกัน ทิชชูที่มีคุณภาพดี จะมีสัดส่วนการผสมของกระดาษน้อย มีส่วนของเยื่อไม้ปริมาณมาก

กระดาษทิชชูที่ยิ่งนุ่ม คือการยิ่งใช้ปริมาณเยื่อไม้มาก จึงยิ่งมีราคาแพง

กระดาษทิชชูที่มีส่วนผสมของกระดาษรีไซเคิลเหล่านี้ จึงมีเนื้อหยาบและสีที่ไม่ขาวนวล แต่นั่นไม่ได้แปลว่ามีคุณภาพน้อย กระดาษเหล่านี้ เพราะไม่ว่าจะเนื้อสัมผัสด้อยกว่ายังไง ก็ยังพร้อมซับรอยเปื้อนให้เราเสมอ อยู่ที่เราเลือกใช้ให้เหมาะกับโอกาสและสภาพพื้นผิวเท่านั้นเอง

กระดาษสารพัดสี ที่เปลี่ยนขี้ช้างให้กลายเป็นงานศิลปะ

ทั้งภาพและผิวสัมผัสของกระดาษประเภทนี้ไม่ต่างจากกระดาษสา แต่จริงๆ แล้วทำมาจากขี้ช้าง

ช้างเป็นสัตว์กินพืช ในหนึ่งวันต้องกินอย่างต่ำ 200 กิโลกรัม ในปางช้างและศูนย์อนุบาลช้างจึงต้องรับมือกับขี้ช้างวันละหลายร้อยกิโลกรัม ซึ่งการปล่อยให้ย่อยสลายเองในธรรมชาตินั้นใช้เวลานานและอาจปล่อยก๊าซมีเทน (เช่นเดียวกับขยะเศษอาหาร) ที่มีผลร้ายต่อชั้นบรรยากาศโลก นอกจากเปลี่ยนมูลของเจ้าสัตว์มีงาเหล่านี้มาเป็นปุ๋ย อีกหนึ่งนวัตกรรมคือการนำมาทำกระดาษ เพราะในมูลช้างมีกากใยของพืช นำมาทำเป็นกระดาษแทนการใช้ปอสาอีกด้วย ขั้นตอนการทำเริ่มจากนำมูลมาตากแห้ง ต้มด้วยน้ำอุณหภูมิ 105 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อโรค และแยกเศษดิน ใบไม้ กรวดที่ปนเปื้อนออก เพื่อให้เหลือเฉพาะส่วนเส้นใยพืช จากนั้นต้มจนเปื่อยจนได้เป็นเยื่อกระดาษสีขาวขุ่น ใส่สีผสมอาหาร หรือใช้เยื้อกระดาษรีไซเคิลที่แยกสีมาผสมให้ได้สีตามต้องการ นำเยื้อกระดาษมาแผ่บนตะแกรง ตากให้แห้ง ก็จะได้กระดาษทำมือที่ปลอดสารเคมี แถมช่วยลดขยะ

กระดาษชนิดนี้มีให้เลือกใช้ทั้งสมุดพร้อมจดงาน โปสการ์ด กระดาษสำหรับตกแต่ง การ์ด กระดาษห่อของขวัญและอีกสารพัดไอเดียสร้างสรรค์ที่สวยแถมรักษ์โลกแบบคูณสอง ใครอ่านแล้วสนใจผลิตภัณฑ์กระดาษจากขี้ช้าง สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.poopoopaperpark.com

กระดาษสีเขียวที่ช่วยเกี่ยวเก็บผักตบชวาออกจากคลอง

ผักตบชวา เป็นพืชใบเขียวที่แผ่อาณาจักรเหนือน้ำอย่างรวดเร็วและสร้างมลภาวะในแหล่งน้ำ จนต้องมีนวัตกรรมมากมายที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับวายร้ายสีเขียวนี้ ทั้งการเปลี่ยนมาก้านผักตบชวามาเป็นผลิตภัณฑ์ถักสาน อย่างหมวก กระเป๋า ไปจนสารพัดนวัตกรรม หนึ่งในนั้นคือ การนำมาทำเป็นกระดาษรูปแบบเดียวกับการทำกระดาษสา โดยนำผักตบชวามาตัดรากออก นำแค่ใบกับลำต้นมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาด 5-6 เซนติเมตร จากนั้นนำไปต้มจนเปื่อย แล้วปั่นให้ได้เนื้อละเอียด นำเนื้อที่ได้บีบน้ำออกปั้ นเป็นก้อนแล้วนำไปละลายในน้ำสะอาด นำตะแกรงหรือบล็อกสำหรับทำกระดาษมาช้อนแล้วผึ่งลมให้แห้ง ก็จะได้กระดาษผักตบชวาสีเขียวสดมาใช้ หรืออยากได้สีอื่นก็ใส่สีตามต้องการ เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่ได้กระดาษสาแบบไม่ต้องใช้ปอสาและช่วยกำจัดพืชขยะด้วย

กระดาษใช้แล้วนำไปรีไซเคิลและสร้างประโยชน์ต่อได้

นอกจากหันมาใช้กระดาษรีไซเคิลให้มากขึ้นแล้ว เรายังสามารถนำกระดาษที่ใช้แล้ว ส่งต่อให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นต่อได้

 เปลี่ยนกระดาษใช้แล้วเป็นนิทาน

รวบรวมกระดาษใช้แล้วส่งให้มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งที่นี่รับบริจาคกระดาษทุกประเภท รวมทั้งหนังสือเพื่อส่งต่อส่วนที่ใช้ได้ให้ผู้ด้อยโอกาส และส่วนที่ใช้ไม่ได้จะถูกจัดการ คัดแยก และรับซื้อโดยบริษัท SCG เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยทางSCG ทำสัญญารับซื้อจากมูลนิธิโดยให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด ส่วนรายได้จากการขายกระดาษ ทางมูลนิธิกระจกเงาจะนำเข้าโครงการอ่านสร้างชาติ เพื่อนำมาทำนิทานท้องถิ่น ซึ่งเป็นการหยิบเอาเรื่องเล่าในหมู่บ้านและชุมชนที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น มาทำเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็ก จัดพิมพ์เพื่อส่งต่อให้เป็นสมบัติของชุมชนและส่งต่อเรื่องเล่าไปยังเด็กๆ ชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่ห่างไกลด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมคลิกเข้าไปดูได้ที่โครงการอ่านสร้างชาติ www.read4thai.mirror.or.th

เปลี่ยนใบเสร็จเป็นสมุดเพื่อน้อง

ใบเสร็จ สลิป หรือกระดาษใช้แล้วทุกชนิด สามารถเก็บรวบรวมแล้วส่งไปให้ โครงการ ‘สมุด Green way’ เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นสมุดให้น้องๆ ที่ขาดแคลนทั่วประเทศ โดยโครงการนี้เป็นของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ร่วมกับศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เปิดรับบริจาคกระดาษเพื่อนำไปรีไซเคิลโดยมีจุดรับกว่า 20 แห่งทั่วกรุงเทพฯ หรือสามารถส่งไปที่ แผนกสื่อสารองค์กร บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง 40/40 ถ. วิภาวดีรังสิต เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ 10210  ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 792 6500

ลดการใช้กระดาษ ลดขยะจากต้นทาง

การลดขยะจากต้นทางคือวิธีการจัดการขยะที่ดีที่สุดเสมอ อยากจะชวนมาสำรวจกันว่า เราสร้างขยะกระดาษมากที่สุดที่จุดไหน และจะลดได้อย่างไรบ้าง

วิธีการจ่ายเงิน มีผลต่อจำนวนใบเสร็จ

เมื่อเราจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต เราจะได้ใบเสร็จรับเงินหนึ่งใบและสลิปบัตรเครดิตหนึ่งใบ ซึ่งเท่ากับสร้างขยะสองชิ้น หากเปลี่ยนมาจ่ายด้วยเงินสด จะเหลือใบเสร็จแค่ใบเดียวเท่ากับช่วยลดขยะได้หนึ่งชิ้น หรือเปลี่ยนมาจ่ายแบบออนไลน์ ไม่รับใบเสร็จ

บางที่ที่มีบริการจ่ายและให้ใบเสร็จออนไลน์ จะยิ่งช่วยตัดขั้นตอนการพิมพ์ใบเสร็จทำให้ไม่สร้างขยะเลยสักชิ้น

เปลี่ยนจากสั่งของออนไลน์ไปส่งถึงหน้าบ้าน เป็นเลือกรับสินค้าที่ร้าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการช้อปปิ้งสมัยนี้นั้นแสนสะดวกสบายและง่ายเพียงปลายนิ้วแตะ แถมยังมีโปรโมชั่นลดราคาเรียกเงินในกระเป๋าดีกว่าหน้าร้าน แต่ถ้าหากว่าเราสะดวกจะไปรับที่ร้านหรืออยู่ในทางผ่านอยู่แล้ว นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เราได้ทั้งโปรโมชั่นออนไลน์ ประหยัดเวลา และลดการสร้างขยะไปในตัว แม้ปัจจุบันทางเลือกนี้จะยังมีให้บริการเพียงไม่กี่ร้าน แต่เราเชื่อว่าหากทุกคนหันมาใช้ทางเลือกนี้มากขึ้น ก็นับเป็นการส่งเสียงจากผู้บริโภค เพื่อให้ร้านค้าทั้งร้านหันมาให้บริการเลือกรับสินค้าที่หน้าร้านมากขึ้นในอนาคตได้นะ

เปลี่ยนจากจดหมายเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันเราสามารถรับข่าวสารได้รวดเร็วผ่านทางอีเมล์ หรือกล่องข้อความ และไม่ใช่แค่จดหมาย แต่เปลี่ยนสารพัดบัตรเชิญ ทั้งงานแต่ง งานบวช งานวันเกิด หรือการ์ดอวยพร ก็เปลี่ยนมาเป็นคำเชิญออนไลน์ที่สะดวกมากขึ้นและไม่สร้างขยะด้วย

ใช้ผ้าเช็ดโต๊ะแทนกระดาษทิชชู

กระดาษทิชชูเป็นกระดาษที่เกิดเป็นขยะมหาศาลและยากต่อการจัดการ เราสามารถช่วยลดได้หลายทาง เช่น เปลี่ยนมาใช้ผ้าเช็ดโต๊ะแบบซักได้ แทนการใช้กระดาษเช็ดโต๊ะ ดึงกระดาษในห้องนำอย่างพอดีเท่าที่จำเป็น หลังล้างมือเปลี่ยนจากการใช้ทิชชูมาใช้ลมเป่าแห้ง มีผ้าเช็ดมือแขวนไว้ใกล้อ่างล้างมือ หรือ พกผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

แม้การทำกระดาษ จะเป็นทางหนึ่งในการรีไซเคิลขยะให้กลายมาเป็นประโยชน์อีกครั้ง แต่กระบวนการทำกระดาษและรีไซเคิลกระดาษนั้นยังคงสร้างขยะมหาศาล รวมทั้งการตัดต้นไม้และใช้น้ำจำนวนมากในการผลิต

ทางที่ดีที่สุดคือการกลับมาใช้เท่าที่จำเป็น และเลือกใช้กระดาษให้เหมาะสมกับกิจกรรมหรือความต้องการในการใช้

และสุดท้าย อย่าลืมว่าแม้บรรจุภัณฑ์กระดาษจะรีไซเคิลได้ หรือให้ความรู้สึกเป็นมิตรต่อโลกมากกว่า แต่ไม่ใช่ทุกอย่างจะได้รับการรีไซเคิลที่เหมาะสมหากการแยกขยะและระบบการรีไซเคิลในบ้านเรายังขาดประสิทธิภาพ

และบางทีการใช้แก้วกระดาษหรือหลอดกระดาษ ก็อาจไม่ได้แปลว่ารักโลกมากกว่าการใช้พลาสติก

ที่มาข้อมูล
www.madehow.com
www.poopoopaperpark.com

ภาพถ่าย: Parppim Pim, Unsplash